เกมเมอร์ส่วนใหญ่ มีความเห็นตรงกันว่าเอฟเฟกต์วิดีโอเกมที่เกลียดมากที่เป็นอันดับหนึ่งคือ Motion Blur สิ่งแรกที่ผู้เล่นต้องทำก่อนเริ่มเล่นเกมคือ เปิด Subtitle, ปิด Vsync ตามด้วยปิด Motion Blur ไม่ว่าจะเกมไหนก็ตาม
และแน่นอนว่า ผู้พัฒนาเกมเองก็ทราบดีว่าผู้เล่นเกลียด Motion Blur มากแค่ไหน แต่ทีมงานก็ยังคงมองว่าเอฟเฟกต์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเป็นในวิดีโอเกม แล้วมีสาเหตุอะไรบ้าง นี่คือบทความ ไขปริศนา ทำไมเกมต้องมี Motion Blur?
ทำไมเกมเมอร์ถึงเกลียด Motion Blur ?
ก่อนที่พวกเราจะเข้าเรื่อง ต้องรับรู้ถึงปากกระบอกเสียงของฝั่งเกมเมอร์ซะก่อนว่า ทำไมถึงเกลียด Motion Blur
เกมเมอร์หลายคนชื่นชอบเล่นเกมที่มีภาพกราฟิกคมดั่งใบมีดมากกว่าภาพมัวหรือเบลอ และนอกจาก Motion Blur จะมีส่วนช่วยทำให้กินทรัพยากรเครื่องโดยไม่จำเป็นแล้ว คุณภาพกราฟิกของเกมก็แย่ลงกว่าเดิมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาพ Texture, ฉากหลัง หรือรายละเอียดอื่น ๆ ต้องสังเกตเห็นว่าโดนลดทอนหรือโหลดไม่ทัน เมื่อหันมุมกล้องไปมา
ที่สำคัญที่สุด สำหรับเกม Multiplayer ตัว Motion Blur ถือว่าระบบกราฟิกที่ต้องปิดเป็นตัวแรก เพราะสามารถบดบังวิสัยทัศน์จากการหันซ้ายขวาด้วยภาพเบลอได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้เล่นเสียเปรียบจากผู้เล่นฝ่ายอื่นที่ไม่เปิด Motion Blur เลย
และเอฟเฟกต์นี้ถือเป็นต้นตอของอาการ Motion Sickness หรืออาการคลื่นไส้จากการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วในเกมอีกด้วย จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไม Motion Blur ถึงเป็นรังเกียจสำหรับนักเล่นเกมหลายคน
การเคลื่อนไหวของตาเสมือนจริง
เอฟเฟกต์ Motion Blur มีติดตัวตั้งแต่เกิดแล้ว ให้คุณลองสะบัดหน้าหันซ้ายหรือขวาแรง ๆ จะสังเกตได้ว่าการเคลื่อนไหวของดวงตาจะเกิดอาการ Motion Blur ขึ้น ฉะนั้น ผู้พัฒนาเกมจึงใส่เอฟเฟกต์ Motion Blur เพราะต้องการให้ผู้เล่นรู้สึกเหมือนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกวิดีโอเกม
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพราะเกมในยุคปัจจุบัน หรือย้อนอดีตกลับช่วง PlayStation 2 ครองโลก เกมเมอร์เริ่มให้ความสนใจกับภาพกราฟิกมากยิ่งขึ้น ทีมงานจึงต้องการพยายามผลักดันสร้างเกมให้รู้สึก ‘สมจริง’ ที่สุด จนกลายแกนหลักของการพัฒนาเกมวิดีโอเกมไปโดยปริยาย
แต่ในอดีต เทคโนโลยีเอนจินเกมที่ไม่ทันยุค การใช้ Motion Blur จึงมีข้อจำกัดมากมาย และส่วนใหญ่ทีมงานเลือกใช้ ‘เบลอทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ทั่ว Frame’ และเดิมที วิดีโอเกมมีเคลื่อนไหวทางสายตาค่อนข้างเร็วกว่าสายตามนุษย์อยู่แล้ว ทำให้ผลลัพธ์ออกมาให้ความรู้สึกว่าผู้เล่นกำลังรับบทเป็นคนเมาที่มีสายตามัว งุนงง และเกมเมอร์ก็จะรู้สึกเมาหัวตามเกมไปด้วย
กลายเป็นว่า Motion Blur นอกจากทำให้เกมไม่สมจริง เพราะภาพมัวหรือเบลอเกินไปแล้ว ยังทำให้เกมเมอร์ต้องเสียสุขภาพด้านสายตา
แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีเกมมีความล้ำสมัยมากขึ้น ทำให้ผู้พัฒนาเริ่มเข้าใจทฤษฎีการเคลื่อนไหวของสายตา และพร้อมพัฒนาระบบ Motion Blur ให้ผู้เล่นรู้สึกสบายตามากขึ้น จึงเริ่มเป็นที่ยอมรับสำหรับหมู่เกมเมอร์บางส่วน
โดยยกตัวอย่างเกมที่ใช้ระบบ Motion Blur ได้เหมาะสมที่สุดคือ DOOM 2016 ที่จะเบลอเฉพาะส่วนที่เป็นวัตถุเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเท่านั้น ซึ่งนอกจากทำให้เกมเมอร์รู้สึกสบายตาแล้ว ทำให้การเล่นเกมรู้สึกเร้าใจยิ่งขึ้นอีกด้วย (เดิมที DOOM เป็นเกมที่ต้องเคลื่อนไหวเร็วอยู่แล้ว)
ให้มีความรู้สึกเป็นภาพยนตร์มากขึ้น
ภาพยนตร์หรือสื่อส่วนใหญ่จะจับภาพความเร็วอยู่ที่ 24 fps ซึ่งหนังบางฉากจะมีการเคลื่อนไหวภาพเบลอบางส่วน ไม่ใช่เพราะมันดู ‘เท่’ อย่างเดียว แต่บางครั้ง การถ่ายทำหนังจำเป็นต้องใช้ความรวดเร็ว โดยเฉพาะฉากแอคชั่นต่าง ๆ จึงทำให้ภาพยนตร์มีความสมจริงยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนเราเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมเหตุการณ์ที่สามารถติดตามตัวละครได้อย่างใกล้ชิด
แต่น่าเสียดายที่ Motion Blur กลับใช้ไม่ได้ผลในโลกวิดีโอเกม เพราะเกมส่วนใหญ่จะจับภาพเคลื่อนไหวที่ 30-60 fps โดยมาตรฐาน และ ‘เกมเมอร์’ เป็นคนควบคุมสื่อแบบเต็มรูปแบบ ไม่เหมือนกับภาพยนตร์ที่เพียงนั่งดูเฉย ๆ ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ Motion Sickness เพราะผู้เล่นต้องเล่นเกมไปด้วย เพ่งเล็งหน้าจอไปด้วย ปวดหัวยิ่งกว่าเดิม!
แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่า Motion Blur ทำให้ฉากคัตซีนในเกมมีความสมจริง และให้ความรู้สึกเป็นภาพยนตร์มากขึ้น ก็ต้องบอกเลยว่ามันไม่ได้เลวร้ายไปหมดซะทีเดียว
สร้างภาพลวงตาให้รู้สึกว่าภาพลื่นในยาม Frame rate ต่ำ
เคสนี้สามารถพบเห็นบ่อยตามเครื่องคอนโซลบ้านที่เกมส่วนใหญ่จะรันที่ 30 fps ได้แค่นั้น เนื่องจากประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์มีจำกัด ทำให้ตัวเกมบางช่วงอาจมีโอกาสค่า fps ดรอปลง อย่างเช่น ฉากระเบิดแอคชั่นตูมตามทั่วจอ, หันมุมกล้องไปยังจุดที่มีฉากรายละเอียดเยอะ และอื่น ๆ อีกมากมายที่ต้องใช้ทรัพยากรเครื่องเยอะ
เพื่อเป็นการซุกจุดด้อยของเกมไว้ใต้พรม ทางทีมงานจึงเลือกใช้ Motion Blur เพื่อใช้เป็นภาพลวงตากลบข้อผิดพลาด โดยยังคงความสวยงามและความลื่นไหวของภาพกราฟิกไว้
นี่คือแอนิเมชันทั้งสองภาพ มีค่า fps เท่ากัน ด้านซ้ายเป็นภาพเคลื่อนไหวตามปกติ ส่วนอีกภาพเป็นการเสริมเอฟเฟกต์ Motion Blur เข้าไป จะสังเกตเห็นชัดว่าภาพขวามีความลื่นไหลกว่าภาพซ้ายหลายเท่า
เป็นการพิสูจน์ว่า Motion Blur สามารถทำให้ภาพดูลื่นขึ้นจริง และใช้ได้ผลกับวิดีโอเกมเหมือนกับพลังเวทมนตร์
สุดท้ายแล้ว ถึงแม้ว่าเอฟเฟกต์ Motion Blur จะเป็นที่รังเกียจสำหรับหลายคน แต่สำหรับมุมมองของผู้เขียนแล้ว Motion Blur ไม่ค่อยมีความจำเป็นขนาดที่ต้องตั้งค่าเป็น Default, ติดตัวเกมไปตลอด และไม่สามารถปรับระดับความหนาของเอฟเฟกต์
อย่างน้อย ผู้พัฒนาก็ควรมีออฟชั่น เปิด/ปิด ระบบ Motion Blur เพื่อให้เกมเมอร์ทุกคนสามารถเลือกปรับแต่งสไตล์กราฟิกที่ตนเองชื่นชอบ เพราะผู้เขียนก็เชื่อว่ายังมีเกมเมอร์บางส่วนยังคงหลงใหลในเอฟเฟกต์ดังกล่าว และถ้าจะให้ดี ควรใส่ Slider เพื่อปรับแต่งความหนาของเอฟเฟกต์ เหมือนกับเกม DOOM 2016 กับ Crysis ที่ผู้พัฒนาควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างไว้ครับ