BY KKMTC
13 May 19 6:20 pm

ไขปริศนา เกมเก่าเล่นยากจริงหรือคิดไปเอง ?

12 Views

เกม Dark Souls หรือจะสู้ความยากของเกมเก่าที่หลายคนต้องยกนิ้วว่าเป็นเกมยากสูงสุดตลอดกาล ? ซึ่งแน่นอนว่าเกมเมอร์อีกหลายท่านมักกล่าวว่าวิดีโอเกมในอดีตเล่นยาก เป็นเพราะผู้เล่นยังอ่อนประสบการณ์หรือเล่นเกมยังไม่เป็น จึงทำให้โดนภาพลวงตาว่า Contra หรือ Punch Out! เป็นเกมยาก เพียงเพราะเล่นไม่เก่ง

แต่น่าเสียดายที่เกมคลาสสิกเหล่านั้นไม่สามารถหาเล่นอย่างง่ายดาย จึงเป็นคำถามที่เกมเมอร์หลายท่านสงสัยว่า เกมเก่าเล่นยากจริงหรือคิดไปเอง ? แล้วคำตอบคืออะไร บทความนี้จะช่วยไขปริศนาให้กระจ่างแน่นอน

การควบคุมแข็งกับ Hitbox หลวม

Punch Outย้อนกลับสมัยช่วง PlayStation 1 – ถ้าหากผู้เล่นไม่เคยสัมผัสคอนโทรลเลอร์ Dualshock รุ่นแรก ซึ่งยังไม่มีปุ่ม L3 กับ R3 จะพบว่าการสั่งให้ตัวละครเคลื่อนไหวด้วย D-Pad รู้สึกกยากลำบากมาก เพราะมันทำให้ผู้เล่นรู้สึกเจ็บนิ้วโป้งจากการไถ และสร้างความขัดใจและหงุดหงิดในการเล่นเกมใช้ได้เลยด้วย

แต่สำหรับเคสนี้ ไม่มีช่วงไหนเลวร้ายกว่าเกมยุค Retro ที่ระบบการเล่นหลายอย่างมีขีดจำกัดเยอะมากมาย

ช่วงปี 1980′ เครื่องเกม NES ของบริษัท Nintendo กำลังครองตลาดเกมคอนโซล ซึ่งหนึ่งในฟีเจอร์หลักของ NES คือคอนโทรลเลอร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างปุ่ม B A ด้านขวา และมี D-Pad ด้านซ้าย โดยจุดเด่นหลักคือสามารถใช้งานง่ายมาก จึงกลายเป็การสร้างมาตรฐานปุ่มเกมที่บริษัทอีกหลายเจ้าต้องทำตามต่อกันมา

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะออกแบบจอยคอนโทรลเลอร์ให้ใช้งานง่ายแค่ไหน แต่ดูเหมือนว่าผู้พัฒนายังคงประสบปัญหาสร้างเกมให้มีความสมดุล หรือให้ผู้เล่นรู้สึกสะดวกสบายระหว่างการเล่น โดยเฉพาะการควบคุม, การวางปุ่มคำสั่ง และ Hitbox

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความทรงพลังของฮาร์ดแวร์กับ Hitbox ยังไม่ล้ำสมัย ทำให้การโปรแกรมเกมในสมัยก่อนค่อนข้างซับซ้อนยุ่งยากกว่าเกมปัจจุบัน โดยทีมผู้พัฒนาแม้จะพยายามทำเกมอย่างสุดความสามารถ ซึ่งบางเกมสามารถออกแบบปุ่มได้ดี (เช่น Contra) แต่เกมอีกหลายเจ้าก็วางปุ่มแย่จนเกินทนก็เยอะไม่ใช่น้อยเช่นกัน

เกมส่วนใหญ่เป็นแนวอาร์เคด

Contraเนื่องจากช่วงปลายปี 70′ จนถึงต้นยุค 80′ เป็นยุคทองของตู้เกมอาร์เคด ทำให้สภาพสังคมยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้คนวัยทำงานหรือวัยเด็กนักเรียนทุกคน ต่างล้วนใช้เวลาว่างหลังทำธุระเสร็จประจำวัน มารวมตัวกันที่อาร์เคดเซนเตอร์ เพื่อนัดเล่นเกมหรือเป็นสถานที่นัดพบ

แม้ว่าเครื่องคอนโซล Atari 2600 สามารถสร้างปรากฏการณ์แก่อุตสาหกรรมเกม โดยมอบนิยามให้ว่า “เกมตู้อาร์เคดสำหรับบ้านพัก” แต่ตลาดเกมตู้อาร์เคดโดยภาพรวมยังเติบโตตลอดเวลา ทำให้เกมประเภท Platformer ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งเหมือนกับกล่าวข้างต้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพลังฮาร์ดแวร์ของเครื่องคอนโซลยังคงมีข้อจำกัดมากมาย ฉะนั้นเกมประเภท Platformer ส่วนใหญ่ยืมโครงสร้างจากโมเดลเกมตู้อาร์เคดเกือบทั้งหมดมาพอร์ตลงตลับเกมเกือบดื้อ ๆ  ไม่ว่าจะเป็นเกมเพลย์แบบตะลุยด่าน, โดนยิงครั้งเดียวตาย, มีระบบ Continues หรือ Credits จำนวนจำกัด

เกมเก่า ในอดีตจึงมีระดับความยากท้าทายจนถึงยากแบบเป็นไปไม่ได้ เพราะเกม Retro ยังคงมีโครงสร้างจากเกมตู้อาร์เคดซะส่วนใหญ่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาเล่นหรือฝึกฝนเป็นอย่างมาก

และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมบางทีมผู้พัฒนาเกมจึงแอบตั้งใจใส่ระบบเกมอาร์เคดสุดหิน เพราะเพื่อต้องการให้ผู้เล่นใช้เวลากับเล่นเกมนาน ๆ จนคุ้มกับเงินที่เสียไปนั้นเอง

ไม่มีระบบเซฟเกม

ghouls n ghostsผลต่อเนื่องมาจากพลังฮาร์ดแวร์ของเครื่องคอนโซลมีจำกัด และเกมเก่าส่วนใหญ่นำโมเดลจากเกมตู้ ซึ่งมีระยะเวลาการเล่นเกมที่สั้นมาก ทำให้ระบบเซฟเกมยังไม่ถือกำเนิดขึ้นบนช่วงยุค 80′

จนกระทั่งปลายปี 80′ จนถึงต้นปี 90′ (หรือวิดีโอเกมยุคเจเนอเรชันที่สี่) ซึ่งหมดช่วงยุคทองของเกมตู้อาร์เคดมาสักพักแล้ว เกมคอนโซลจึงรับความนิยมมากขึ้น และไอเดีย “เกมตู้อาร์เคดสำหรับบ้านพัก” โดย Atari เริ่มพังทลายลงช้า ๆ จึงเป็นเหตุให้เกมมีความหลากหลายมากขึ้น

ซึ่งแน่นอนว่าองค์ประกอบวิดีโอเกมก็ต้องเติบโตขึ้นตามมา ผู้เล่นเริ่มให้ความสำคัญกับภาพกราฟิกและเนื้อหาของเกมมากขึ้น ทำให้ระบบเซฟเกมมีความสำคัญ เพราะตัวเกมไม่สามารถเล่นจบภายในวันเดียวอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะที่วิดีโอเกมมีความซับซ้อนกับเนื้อหามากขึ้น แต่โครงสร้างเกมอาร์เคดยังคงอยู่ต่อไป ทำให้หลายเกมถูกบรรจุว่ามีความยากในระดับเป็นไปไม่ได้ เพราะเกมมีระยะเวลาการเล่นที่ยาว แต่กลับไม่มีระบบเซฟเกม เพื่อกลับมาเล่นต่อในวันหน้า หรือไม่ก็หากผู้เล่นตาย Game Over ก็จะสูญเสีย Progress และต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่แรก

ผู้เล่นหลายคนจึงเรียกร้องให้ผู้พัฒนาเกม สร้างระบบบันทึกข้อมูลเพื่อให้มีความสะดวกมากในการเล่นหรือแฟร์มากขึ้น จึงเป็นได้กำเนิดระบบบันทึกเซฟเกมแบบรหัสขึ้นมาบนช่วงปลายปี 80′

และก็ถือว่าโชคดีอีกครั้งหนึ่ง เพราะวิดีโอเกมยุคเจเนอเรชันที่ห้าได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จนเข้าสู่ยุคเกมภาพกราฟิกแบบ Polygon หรือ 3D และพร้อมกับ ตัวระบบเซฟเกมที่บันทึกโดย Memory Card โดย PlayStation 1 หรือบันทึกผ่าน Rom ของที่ติดมาจากแผ่นตลับรุ่นใหม่ ซึ่งผู้เล่นไม่จำเป็นต้องหัวร้อนหรือสูญเสียกำลังใจจากการพบฉาก Game Over อีกต่อไป

ไม่มีเลือกระดับความยาก

Wolfensteinในยุคปัจจุบัน วิดีโอเกมมักจะมีตัวเลือกระดับความยากสำหรับเกมมอร์ทุกสาย ตั้งแต่ระดับมือใหม่จนถึงมือโปร โดยผู้เล่นอยากเล่นเกมแบบไหนก็สามารถเลือกเล่นตามอัธยาศัย

แต่สำหรับวิดีโอเกมในอดีต เกมมอร์ทุกคนมีความเท่าเทียมกันหมด ตัวเกมจะไม่มีระดับ Easy, Normal, Hard หรือ Very Hard ให้เลือก แต่ผู้เล่นจะต้องฝ่าฟันด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นเกมยันตอนจบโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น

ทำให้เกมการเล่นสมัยก่อนจะเน้นความยากแบบฉบับทดสอบความ “อดทน” เป็นหลักมากกว่าการใช้ฝีมือจริง

สรุป เกมเก่าเล่นยากจริงหรือไม่ ?

หลังจากหัวข้อที่กล่าวมาทั้งหมด ก็สามารถยืนยันได้อย่างมั่นใจเลยว่า เกมเก่า เล่นยากจริง ๆ ซะส่วนใหญ่ เนื่องจากเครื่องเล่นเกมหรือ PC ในปัจจุบันเติบโตไปไกลมาก ทั้งคุณภาพฮาร์ดแวร์และเทคโนโลยีภาษาคอมพิวเตอร์

แตกต่างจากอดีตที่เครื่องเกมคอนโซล (หรือ PC) มีไอเดียจำกัดเพียงแค่ว่า “เกมตู้ติดบ้าน” และภาพกราฟิกกับคุณภาพฮาร์ดแวร์จำกัด ซึ่งร้ายแรงที่สุด คือโครงสร้างเกมไม่มีความเอื้ออำนวยเหมือนกับปัจจุบัน ทำให้เกมหลายเกมในอดีตจะเป็นแนว Platformer ที่มีระบบการเล่นคล้ายเกมตู้อาร์เคดมาพอร์ตลงเครื่องเล่นเกม

จึงไม่แปลกใจเท่าไหร่นัก ที่เกมมอร์ยุคปัจจุบันบางส่วนจะไม่ค่อยถูกโฉลกกับเกมประเภท Retro หรือย้อนยุค 90′ เนื่องจากระบบเกมหลายอย่างล้าสมัย, ยากแบบไร้สาระ, หรือเน้นความอดทนมากกว่าฝีมือจริง ฉะนั้นความคิดเห็นที่ว่า “ทำไมผู้เล่นแสดงความเห็นว่าเกม Retro ถึงน่าย้อนวัยกลับไปเล่นอีกครั้ง แต่เล่นไม่สนุกสนาน เพราะความยาก” ก็ถือว่ามีความสมเหตุสมผลพอสมควรครับ

SHARE

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top