Epic Games Store ที่ทุกคนยี้กันอยู่ในทุกวันนี้ พวกเรารู้ตัวหรือไม่ ว่าเรายี้กันมาเกือบปีนึงได้แล้ว เพราะแพลตฟอร์มนี้เปิดตัวในงาน The Games Award ปี 2018 เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว แม้จะยังไม่ครบ 1 ขวบเต็ม แต่ก็ถือว่าใกล้เคียงแล้ว หลายคนที่เพิ่งมาติดตามข่าวสารวงการเกม อาจจะยังไม่รู้ว่าเพราะอะไรทำไมแพลตฟอร์มนี้ถึงโดนยี้กันขนาดนี้ วันนี้เราจะพามาระลึกความหลังกัน รวมไปถึงงัดแพลตฟอร์มนี้มาให้ดูกันตรง ๆ เลยว่า 1 ปีผ่านไป เขาพัฒนาอะไรมาไกลแค่ไหนกันบ้าง
การเปิดตัวพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่า ‘Exclusive Game’
เกมแรกที่เปิดตัวในฐานะเกม Exclusive ของ Epic Games Sore เลยก็คือเกม Hades ผลงาน Hack & Slash ผสมกับเกิดตายวนเวียนของทีมผู้พัฒนา Super Giant ในตอนแรกนั้นแพลตฟอร์ม Epic Games ไม่ได้โดนดราม่า หรือโดนรุมด่าอะไรมากนัก เพราะมันก็เหมือนแพลตฟอร์มขายเกมอื่น ๆ ที่มีเกมพิเศษขายเฉพาะร้านตัวเองเป็นสิ่งดึงดูด ในตอนนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ Discord เองก็เปิดตัวเกมแรกที่ขายแบบ Exclusive นั่นคือ Last Year : Nightmare ทำให้มันดูเป็นการตลาดที่ไม่มีอะไรมากนัก
ตัวแพลตฟอร์มในตอนแรกเริ่มนั้น ก็คือไม่มีอะไรเลยนอกจากหน้าร้านขายเกมที่ตอนนั้นมีเกมอยู่เพียงไม่กี่เกม หลัก ๆ ก็เป็นเกมจากค่ายพาร์ทเนอร์ที่ประกาศร่วมงานกันในตอนนั้น แต่จุดที่ทำให้ Epic Games Store เริ่มได้รับเชื้อไฟดราม่า มันเริ่มตรงเกมนี้ เกมที่ชื่อ Metro Exodus
ประกายไฟแห่งดราม่าถือกำเนิด เมื่อเหล่าผู้พัฒนา “กลับลำ”
Metro Exodus ถือเป็นเกมฟอร์มยักษ์ช่วงต้นปีที่หลายคนรอคอยกันมาอย่างยาวนาน เพราะสองภาคก่อนหน้านั้นทำออกมาได้ดีมากจึงทำให้ภาคนี้กลายเป็นเกมที่หลายคนตั้งตารอคอย กำหนดการเดิมของเกมนี้นั้นจะปล่อยให้เล่นกันบน Steam ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2019 แต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ วันแรกของเดือนก็มีข่าวที่ทำให้วงการเกมสั่นสะเทือนระลอกใหญ่นั่นคือ
Metro Exodus จะถูกถอดออกจากร้านค้า Steam และไปวางจำหน่ายให้กับ Epic Games Store แบบ Exclusive เป็นเวลา 1 ปี
แน่นอนว่าเมื่อข่าวนี้ออกมา กระแสต่อต้านก็ตามมาระลอกใหญ่เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นกระแสยี้ Epic Games Store ที่ตอนนี้เริ่มปะทุ รวมไปถึงการด่ากราดเหล่าผู้พัฒนาที่เห็นแก่เงิน เพราะในตอนนั้นมีกล่องเกมที่ปล่อยออกมา และพบว่ามีการแปะสติ๊กเกอร์ Epic Games ทับกับ Steam นั่นหมายความว่าเป็นการตัดสินใจแบบกะทันหันจนผลิตกล่องเกมแบบใหม่ไม่ทัน
ในเดือนต่อมา ค่ายเกมยักษ์ใหญ่ที่น่าจะเป็นรายแรกเลยที่ถอนการขายเกมบน Steam และไปลงให้กับ Epic ก็คือ Ubisoft แต่เพราะรายนั้นมี Uplay ที่เป็นแพลตฟอร์มของตัวเองอยู่แล้ว มันจึงกลายเป็นเหมือนกับว่าเป็นการบังคับให้ไปใช้ Uplay ทางอ้อมนั่นเอง
ไฟไหม้ลามทุ่ง เมื่อเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้ตั้งใจ
สำหรับประเด็นนี้ ที่ทำให้ Epic Games โดนยี้มาจนถึงทุกวันนี้ คือประเด็นที่ทาง Epic Games ได้เข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งาน Steam โดยไม่ได้ตั้งใจ (คลิกอ่านข่าวนี้) และนี่คือต้นเหตุที่ทำให้ทุกวันนี้ Epic Games ยังคงได้รับการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากเหล่าเกมเมอร์ทั่วโลก ในส่วนนี้เราคงไม่สามารถชี้วัดหรือตัดสินใจได้ว่าใครผิดใครถูกแบบ 100% แต่ที่แน่ ๆ สิ่งที่เราควรจะจับตาดูหลังจากตอนนี้เลยก็คือ ฟีเจอร์ของแพลตฟอร์ม Epic Games Store ว่า จนถึงตอนนี้แล้วมันมีฟีเจอร์อะไรที่โดดเด่นขึ้นมาบ้างในตอนนี้
Feature ณ ตอนนี้ (พฤศจิกายน 2019)
ก่อนอื่นเราคงต้องพูดกันตรง ๆ เลยว่า จนถึงตอนนี้แล้ว Epic Games Store ก็ยังขาดฟีเจอร์อยู่อีกมาก และมันยังไม่อาจสู้กับ Steam ได้แม้แต่น้อย แต่หากมองว่ามันเริ่มต้นมายังไง ฟีเจอร์ที่มีทั้งหลายในตอนนี้ ก็ถือว่าพวกเขามาไกลพอสมควรเลยทีเดียว โดยมันเริ่มจาก
- Cloud Save : นี่คือฟีเจอร์ที่คนเล่นเกมสาปส่งกันมากที่สุด เพราะถือว่าเป็นฟีเจอร์ที่ควรจะมี เพื่อไม่ให้การย้ายเครื่องเล่นเกม หรือการลงวินโดว์ใหม่สะดวกสบายมากขึ้น แต่เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ก็ได้อัพเดทระบบนี้เข้ามาบ้างแล้ว
- การแบ่งหมวดหมู่เกมในหน้าร้านค้า : เป็นอีกฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามาไม่นาน ใช้ในการแยกย่อยหมวดหมู่ของเกมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น ผจญภัย , ยิง , วางแผน
- ภาษาไทย : อันนี้อาจจะไม่ใช่ฟีเจอร์ที่แปลกใหม่อะไรนัก แต่ก็ถือว่าน่าสนใจที่มีการรองรับภาษาไทยแล้ว และการแปลตอนนี้ก็ไม่ได้แย่จนเกินไปนัก ยังสามารถอ่านเข้าใจได้อยู่
- Time Play Tracking : เป็นอีกระบบที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาได้ไม่นาน และแม้มันอาจจะไม่สำคัญนัก แต่อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ว่าเราเสียเวลาหรือเล่นเกมเกมนั้นไปกี่ชั่วโมงแล้ว
ถึงแม้จะพัฒนามาพอสมควร แต่หลายฟีเจอร์ก็ยังขาดไปอยู่มาก หรือบางฟีเจอร์ก็ยังไม่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Friend List ที่ดูแล้วจืดชืดไร้ราคาสุด ๆ รวมไปถึงไม่มีระบบ Cart หรือการนำสินค้าใส่ตะกร้า ทำให้การซื้อเกมทีละหลายเกมนั้นลำบากพอตัว (ปัญหาสำหรับคนมีเงิน หรือซื้อเกมในเทศกาลลดราคา) นอกจากนั้นหากเราอยากเห็นข้อมูลเกมเกมนั้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของเกม เล่นไปแล้วกี่ชั่วโมง , เปิด-ปิดคลาวด์เซฟหรือไม่ เราก็จำเป็นจะต้องลงเกมในเครื่องก่อนถึงจะดูได้ รวมไปถึงยังไม่มีระบบที่เอาไว้อวดคนอื่นหรือทำให้ภาคภูมิใจอย่างระบบ Archievement อีกด้วย
สรุปว่า มันมาไกลแค่ไหนจากตอนแรกเริ่ม
ถ้าตัดปัญหาที่พูดได้ยากในเรื่องของการล้วงข้อมูลออกไปนั้น ถือว่าฟีเจอร์ของแพลตฟอร์มนี้ก็พัฒนามาไกลพอสมควรแล้ว แม้ว่าจะยังห่างชั้นกับ Steam มาก แต่อย่างน้อยการมี Cloud Saves ที่ทำให้การใช้งานคล่องตัวขึ้นในการย้ายเครื่องก็ถือว่าโอเคมากแล้ว ซึ่งคาดว่าอีกไม่นาน ก็น่าจะมีฟีเจอร์เทียบเท่า Steam แม้มันจะต้องใช้เวลาอยู่สักหน่อยก็ตาม
จริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายเรื่องที่ Epic Games Store นั้นทำเรื่องเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น CEO ปากจัด Tim Sweeney และเรื่องของการกลับลำของผู้พัฒนาอีกหลายราย แต่สำหรับพวกเราเหล่าเกมเมอร์แล้ว การได้เล่นเกมที่ดีอย่างไรเสียก็น่าจะมีความสุขมากกว่า เรื่องพวกนี้ติดตามไว้พอหอมปากหอมคอจะดีกว่า