BY France
4 Aug 21 7:12 pm

10 สิ่งที่ควรดูก่อนเลือกซื้อทีวีเพื่อการเล่นเกมในปี 2021

234 Views

การซื้อทีวีมาเพื่อดูสื่อบันเทิงและเล่นเกมในทุกวันนี้ถือว่าเป็นที่นิยม เพราะด้วยหน้าจอที่ใหญ่ และเทคโนโลยีที่ให้มาในทุกวันนี้ที่ตัวทีวีสามารถทำงานได้เหมือนกับมือถือหรือคอมพิวเตอร์ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเบราว์เซอร์ , การเชื่อมต่อภาพจากมือถือหรือคอมพิวเตอร์และลูกเล่นต่างๆที่หลายแบรนด์ทีวีพยายามใส่เข้ามาเพื่องัดจุดเด่นของตัวเอง และด้วยความหลากหลายที่มีของทีวี ทำให้บางครั้งเราตัดสินใจซื้อทีวีได้ยาก หรือซื้อมาแล้วรู้สึกไม่คุ้มเพราะตัวเองไม่ได้ใช้งานตัวทีวีที่เต็มประสิทธิภาพของมัน วันนี้เรามาดูกันว่าถ้าเราจะซื้อทีวีสักเครื่องเพื่อเอามาเล่นเกม ต้องดูอะไรบ้าง

1. ขนาดหน้าจอทีวีและตำแหน่งการวางในห้อง

ปกติแล้วหน้าจอทีวีจะมีขนาดตั้งแต่ 26-80 นิ้ว ในการเลือกทีวีให้เข้ากันกับห้องที่เราเลือกก็ต้องมาคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง เช่น 

  • ขนาดของห้องที่จะวางทีวี
  • ห้องขนาดเล็ก หรือคอนโดโดยทั่วไป : ด้วยขนาดของห้องที่ไม่ได้กว้างมากนัก การเลือกใช้ทีวีขนาด 26-42 นิ้ว จึงเหมาะสมทั้งเรื่องที่ตั้งที่มีจำกัด ระยะห่างทีวีที่ต้องนั่งในระยะที่ใกล้ การเลือกขนาดทีวีที่ใหญ่เกินไปอาจใช้งานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพนัก
  • ห้องขนาดกลาง : ไม่ว่าจะเป็นบ้านชั้นเดียว หรือบ้านสองชั้นขนาดกลาง หรือคอนโดที่มีห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ การเลือกใช้ทีวีขนาด 47-55 นิ้ว ถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม
  • ห้องขนาดใหญ่ : เนื้อที่กว้างขวาง นั่งมุมไหนก็รับชมภาพทีวีได้ ระยะห่างทีวีที่มากพอ สามารถเลือกใช้ขนาดจอได้ใหญ่ถึง 60 ขึ้นไป ไม่ต้องกังวลว่าจะดูได้ไม่เต็มศักยภาพของทีวี
  • ระยะที่เราควรจะนั่งห่างจากทีวี

มีความสำคัญมาก เพราะถ้าเราจ้องจอทีวีใกล้เกินไป อาจจะทำให้เกิดอาการตาเมื่อยล้า หรือปวดตา นอกจากนี้ยังทำให้ดวงตาได้รับแสงสีฟ้าที่มากเกินความจำเป็นอีกด้วย

  • ทีวีขนาด 56 นิ้วขึ้นไป ระยะห่างควรอยู่ที่ 3 เมตรขึ้นไป
  • ทีวีขนาด 46-55 นิ้ว ระยะห่างควรอยู่ที่ 2.5 ถึง 3 เมตร
  • ทีวีขนาด 40-45 นิ้ว ระยะห่างควรอยู่ที่ 2 ถึง 2.5 เมตร
  • ทีวีขนาด 32-39 นิ้ว ระยะห่างควรอยู่ที่ 1.5 ถึง 2 เมตร
  • ทีวีขนาดต่ำกว่า 32 นิ้ว ลงมา ระยะห่างควรอยู่ที่ 1.5 เมตร หรือน้อยกว่านั้น
  • ตำแหน่งการวางทีวีบนที่วางทีวี

ตำแหน่งในการวางทีวีจะช่วยในเรื่องของมุมในการมองจอทีวีที่จะต้องไม่ก้มหรือเงยมากเกินไป โดยระยะที่เราแนะนำคือควรจะวางทีวีให้อยู่สูงกว่าพื้นประมาณ 1.2 – 1.5 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะสายตาที่เหมาะสมของแต่ละคน แต่เวลาจะดูความสูงที่จะใช้ก้ให้ยึดตามความรู้สึกของตัวเองที่มองจอทีวีแล้วผ่อนคลายที่สุดส่วนระยะในการวางทีวีให้ห่างจากผนังก็แนะนำให้ห่างอย่างน้อย 15 ซม. เพราะทีวีจะได้ไม่มีความร้อนสะสมหลังตัวเครื่องและช่วยยืดอายุการใช้งานอีกด้วย

2. ความละเอียดของหน้าจอ

เพื่อความเข้าใจในคำว่าพิกเซล เราขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ แบบนี้ก่อน ทีวีสามารถแสดงภาพออกมาได้โดยผ่านตัวที่แสดงสีตัวเล็กๆ ที่อยู่ใต้หน้าจอ เจ้าตัวเล็กๆอันนี้เราเรียกมันว่าเม็ดพิกเซล และเมื่อเม็ดพิกเซลแต่ละเม็ดแสดงสีที่ต่างกันและนำมารวมกันมันก็จะได้ภาพและเมื่อภาพเกิดการเปลี่ยนหรือมีการเคลื่อนไหว เม็ดพิกเซลแต่ละเม็ดก็จะเปลี่ยนสีสันไปตามนั้นเช่นกัน และความละเอียดที่ต่างกันคือการบ่งบอกว่าหน้าจอทีวีนั้นๆ มีเม็ดพิกเซลเยอะมากแค่ไหน ยิ่งมีเยอะ ก็ยิ่งให้ภาพที่ละเอียดไปถึงรูขุมขน แต่ถ้ามีน้อย ภาพก็จะดูชัดน้อยตามไปด้วยเช่นกัน ความละเอียดของหน้าจอที่มีในตลาดก็จะมีตั้งแต่ Full HD(1920 x 1080) , 4K หรือ Ultra HD (3840 x 2160) และ 8K (7680 x 4320) และเราขอแนะนำให้ซื้อความละเอียด 4K เป็นขั้นต่ำ เพราะด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและสื่อหลายสื่อที่นิยมถ่ายบนความละเอียด 4K กันแล้ว

3. ชนิดและเทคโนโลยีของจอภาพ

จอทีวีที่เราเห็นตามห้างหรือที่วางขายตามร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ถ้าเราจำตอนเด็กๆที่เราจะชอบไปยืนดูทีวีหลายเครื่องแต่แสดงภาพหรือวิดีโอตัวเดียวกัน ตอนนั้นเราก็อาจจะดูเพราะมันสวยและใหญ่ดีเฉยๆ  แต่จริงๆแล้วทางร้านค้าต้องการให้เราเห็นถึงความแตกต่างของชนิดจอภาพ ซึ่งมีด้วยกัน 2 แบบคือ

  • LCD : จอ LCD หรือเรียกเต็มๆว่า Liquid crystal Display ตัวจอจะใช้หลอดไฟเล็กๆด้านหลังจอภาพปล่อยแสงสีขาวผ่านชั้นกรองแสงแล้ววิ่งไปหาคริสตัลเหลวที่เรียงด้วยสี 3 สีคือแดง , เขียวและนำเงิน จอ LCD มีข้อดีตรงที่ราคาถูก , จอจะเกิดการเสียหายหรือเบิร์นได้ยากกว่าจอ OLED จอ LCD สามารถแบ่งตามจัดเรียงผลึกคริสตัลได้ 2 แบบคือ
    • VA Panel :  ย่อมาจาก Vertical Alignment ซึ่งเป็นการจัดเรียงตามแนวตั้ง มีอัตราส่วนความคมชัดมากกว่า IPS แต่ก็สว่างน้อยกว่า เมื่อมองจากมุมข้างสีจะเพี้ยนได้ง่ายกว่า แถมยังแข็งแรงน้อยกว่าจอ IPS ด้วย
    • IPS Panel : ย่อมาจาก In-Plane Switching ซึ่งเป็นการจัดเรียงผลึกในแนวราบหรือแนวนอน มีสีสันที่สดใสกว่า VA สว่างกว่า แต่อัตราส่วนความคมชัดน้อยกว่า นอกจากนี้ยังแข็งแรงและทนทานมากกว่าจอ VA

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีต่างๆที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาจอ LCD อีกหลายตัว เช่น

  • QLED : Quantum Dot (ควอนตัม ดอท) เป็นสารเรืองแสงที่มีอนุภาคขนาดเล็กมากๆ มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 2-10 นาโนเมตร โดยโครงสร้างของสารนี้จะเป็นจุดๆ จึงเป็นที่มาของชื่อ Quantum Dot ความแตกต่างของสีสันจะเปลี่ยนไปตามขนาดของจุดที่อยู่ในสาร โดยจุดขนาดเล็กจะให้แสงสีน้ำเงินลอดผ่านได้ (ตามขนาดของความยาวคลื่น), ส่วน Quantum Dot ขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะส่งผลให้แสงสีเขียว และแสงสีแดงลอดผ่านออกมาได้ เป็นต้น ขนาดของจุดนี้จะคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้สีที่เปล่งออกมามีความเสมอภาค และสมดุล จอทีวี Quantum Dot มีข้อดีตรงที่สามารถถ่ายทอดความสว่างได้มากกว่าเดิม ที่ทำให้ภาพแบบ HDR แสดงออกมาได้เต็มประสิทธิภาพ
  • Nano Cell TV : Nano Cell คือ แผ่นฟิล์ม Polarized ขนาดเล็กและบางเพียง 1 นาโนเมตร ที่เคลือบอยู่บนชั้นคัลเลอร์ฟิลเตอร์ RGB แม่สีในแต่ละเม็ดพิกเซลบนจอทีวี ทำหน้าที่ช่วยกระจายแสง ช่วยให้มุมมองในการมองหน้าจอกว้างมากขึ้นถึง 178 องศา และลดเงาสะท้อนซึ่งมาจากเทคโนโลยีการดูดซับการแทรกแซงของแสง ทำให้ดูได้ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงจ้า , ไฟนีออนหรือแสงจ้าจากดวงอาทิตย์
  • Mini LCD : Mini LED คือ หลอด LED Backlight รูปแบบล่าสุด สำหรับใช้งานร่วมกับจอ LCD หรือ LED TV ที่เรา ๆ ท่าน ๆ เรียกกันติดปาก ความพิเศษคือ ขนาดของหลอด Mini LED ถูกพัฒนาให้เล็กลงและบางมาก สามารถจัดวางเรียงรายได้ถี่ละเอียด และมีระยะติดตั้งที่ “แนบชิด” เหมือนผสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับ LCD Panel มีข้อดีตรงที่หน้าจอจะบาง , มีความสว่างสูงขึ้น และประหยัดไฟมากขึ้นไปด้วย
  • OLED : จอ OLED หรือ Organic Light Emitting Diodes เป็นจอภาพที่คล้ายแผ่นฟิล์ม มีส่วนประกอบของสารอินทรีย์ที่เปล่งแสงได้เอง ไม่ต้องพึ่งแสงจากหลอดไฟทำให้ประหยัดพลังงาน และได้สีที่สดกว่า แต่ก็มาพร้อมกับปัญหาเรื่องเงาสะท้อนที่มีมากกว่า ส่วนใหญ่จอทีวีบางๆที่เราเห็นกันจะเป็นจอชนิด OLED กันหมดแล้ว

แต่ถ้ามองในความเป็นจริง เราคงเลือกซื้อทีวีโดยใช้งบเป็นตัวตัดช้อยส์หรือตัวเลือกไปเรื่อยๆ เพื่อหาทีวีที่ถูกใจเราที่สุด ดังนั้น เราขอแบ่งชนิดและเทคโนโลยีของจอตามเรทราคาซึ่งราคาก็จะเปลี่ยนไปตามขนาดและความละเอียดของจอด้วยเช่นกัน โดยเราจะยึดสเปกหน้าจอที่มีขนาด 55 นิ้ว , ความละเอียด 4K ให้เหมือนกัน ซึ่งได้ราคามา 3 ช่วงนั่นคือ

  • ราคาเริ่มต้น : จะเป็นจอ LED และจอที่มีเทคโนโลยี Nano Cell ซึ่งมีราคาที่ไม่แตกต่างกันมาก เช่น LG LED กับ LG Nano Cell จะมีราคาต่างกันเพียง 4,000 บาท ดังนั้น
  • รุ่นราคากลาง : ช่วงราคานี้จะเป็นจอ QLED หรือเทคโนโลยี Quantum Dot นั่นเอง ราคาจะประมาณ 20,000 – 30,000 บาท ก็สามารถซื้อทีวี QLED ได้แล้ว แต่แนะนำให้เพิ่มเงินเพื่อไปซื้อ OLED จะดีกว่า
  • รุ่นราคาสูง : สำหรับใครที่มีงบไม่อั้น ตัวเลือกที่เรามีให้คือจอ Mini LED และ OLED ซึ่งงบประมาณระดับนี้และความคุ้มค่า เราขอแนะนำให้เลือก OLED จะดีกว่าเพราะได้สีสันที่สดใส ชัดเจนมากกว่า mini LED 

4. หน้าจอที่ให้ Frame Rate สูง

จอทีวีสมัยนี้มีการพัฒนามาไกลมาก และเพื่อตอบโจทย์คนที่ชอบเล่นเกมผ่าน Xbox , Playstation หรือ Nintendo Switch หลายแบรนด์เลยให้หน้าจอที่มี Frame Rate หรือการเคลื่อนไหวของภาพภายใน 1 วินาที เช่น หน้าจอทีวีที่มี Frame Rate 60Hz หมายถึงใน 1 วินาที จะมีภาพที่ถูกเปลี่ยนไป 60 ภาพ หรือถ้าเป็น 120Hz ก็จะมีภาพที่ถูกเปลี่ยนไป 120 ภาพภายใน 1 วินาที ซึ่งละเอียดกว่า 60Hz ในความเป็นจริง ความแตกต่างระหว่าง 60Hz และ 120Hz สามารถดูได้จากความลื่นของภาพที่เราขยับภายในเกม ดังนั้น ถ้าจะเลือกจอสำหรับเล่นเกมหรือเผื่อไว้เล่นเกมเมื่อมีโอกาส ก็แนะนำให้เป็น 120Hz จะดีที่สุด

5. หน้าจอควรจะรองรับเทคโนโลยี HDR

HDR หรือ High Dynamic Range ซึ่งจะมีชื่อในการเรียกที่แตกต่างกันตามผู้ที่พัฒนาเทคโนโลยี HDR เช่น HDR10 , 4K Premium หรือ Dolby Vision โดยความสามารถของ HDR คือการแสดงเฉดสีที่กว้างกว่าทีวี 4K ทั่วไปหรือเรียกง่ายๆว่าสีสดมาก สดเหมือนของจริงมาอยู่ตรงหน้าเราเลย รวมไปถึงความแตกต่างของสีขาวและดำ (Contrast) ที่กว้างกว่าเดิม นั่นคือ ถ้าภาพมีส่วนของสีดำก็จะดำสนิท ส่วนของสีขาวก็ขาวสว่างให้เราได้เห็นกันไปเลย ในการเปิดทีวีครั้งแรก เราจะต้อง Set ค่า HDR หรือเรียกว่าการ Calibrate ให้ HDR สามารถแสดงผลได้เต็มประสิทธิภาพซึ่งมีอยู่ในทีวีและเครื่องเกมคอนโซลอยู่แล้ว โดยการตั้งค่าจะแตกต่างกันตามเครื่องเกมหรือทีวีที่ใช้งาน แต่ก็มีหลักการที่คล้ายกันนั่นคือ

  1. ตั้งค่าโดยให้เราดูวัตถุแล้วปรับความมืดและความสว่าง โดยส่วนใหญ่จะปรับให้มีความมืดจนเราเกือบจะไม่เห็นวัตถุและสว่างจนเกือบจะไม่เห็นวัตถุ เช่นการ Calibrate HDR บน Playstation 5
  2. เป็นการปรับหาค่ากลาง โดยหาจุดที่เราคิดว่าความสว่างเท่านี้คือกลางแล้วไม่สว่างหรือมืดไป เช่นการ Calibrate ความสว่างใน Resident Eviil Village

แต่ทีวีแบบไหนถึงจะมี HDR ที่ดีหล่ะ? ทีวีที่มี HDR ควรจะมีค่าความสว่างมากกว่า 540 nits และระดับความดำที่วัดแล้วต้องไม่เกิน 0.0005 nits แต่ถ้าจอทีวีรุ่นไหนที่มีความสว่างมากกว่า 1,000 nits ค่าความดำจะต้องไม่เกิน 0.05 nits เพื่อให้มีแสงสว่างสู้กับแสงไฟนีออน หรือแสงสว่างจ้าจากดวงอาทิตย์ที่เข้ามา

6. เทคโนโลยี VRR และ ALLM เพื่อการเล่นเกมบนทีวี

เทคโนโลยี VRR หรือ Variable refresh rate คือเทคโนโลยีสำหรับการป้องกันการฉีกขาดของภาพ โดยกรณีที่จะเกิดการฉีกของภาพคือการที่ตัวเครื่องเกมของเราส่งภาพมาด้วย refresh rate 144Hz แต่ตัวจอทีวีมันรับ Refresh rate ได้เพียง 120Hz นั่นจะทำให้บางครั้งเราอาจจะเคยเห็นภาพครึ่งบนของหน้าจอเป็นภาพหนึ่งแต่ภาพของหน้าจอครึ่งล่างเป็นอีกภาพหนึ่ง ตัว VRR ก็จะมาช่วยจัดการและทำให้ภาพเกิดการฉีกขาดน้อยที่สุด เทคโนโลยีนี้ก็ถูกเรียกแตกต่างกันออกไปตามแบรนด์ผู้พัฒนาเช่น G-sync จากฝั่ง Nvidia หรือ Freesync จาก AMD นั่นเอง

ส่วน ALLM หรือ Auto Low Latency Mode คือเทคโนโลยีที่จะช่วยให้การสลับโหมดภาพจากปกติไปเป็นโหมดเกมได้อัตโนมัติเมื่อมีการตรวจพบเครื่องเกมคอนโซล ซึ่งจะช่วยให้ความล่าช้าในการส่งข้อมูลจากตัวเครื่องเกมไปยังหน้าจอทีวีลดลงอีกด้วย ทำให้การเล่นเกมของเราไม่เกิดอาการกระตุก

7. พอร์ตที่ให้มากับเครื่อง

สำหรับหน้าจอทีวีสมัยนี้ก็ต้องให้พอร์ต HDMI 2.1 ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของ HDMI ที่สามารถส่งผ่านข้อมูลได้เร็วสูงสุด 48Gbps ซึ่งมากกว่า HDMI 2.0 ที่ตันแค่ 18 Gbps และยังสามารถส่งผ่านภาพความละเอียดถึง 10K และ Frame Rate 120Hz ด้วย นอกจากนี้ตัว HDMI 2.1 ยังรองรับเทคโนโลยีต่างๆที่สำคัญ เช่น VRR , ALLM , ARC ,eARC เป็นต้น ซึ่ง ARC และ eARC คือเทคโนโลยีที่ทำให้ HDMI สามารถส่งข้อมูลเสียงผ่านสาย HDMI ได้นั่นเอง แต่เราก็ต้องมีสาย HDMI Ultra High Speed เพื่อใช้ในการส่งผ่านข้อมูลที่รวดเร็วด้วยเช่นกัน

อีก 1 พอร์ตที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือช่อง Optical ที่มีหน้าตาเหมือนบานพับที่มีแสงเลเซอร์สีแดง พอร์ตนี้เกิดขึ้นมาเมื่อปี 1983 นิยมใช้กันในเครื่องเสียงของยุคนั้นและได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน โดยช่องนี้จะเป็นช่องสำหรับส่งผ่านข้อมูลเสียงโดยใช้สาย Fiber Optic และแสงเลเซอร์ที่ทุกวันนี้ยังมีการใช้งานกันอยู่บ้าง เช่น ลำโพงโฮมเธียเตอร์หรือลำโพงยุคเก่าๆ

8. ระบบเสียงและจำนวนลำโพงที่ให้มา

หลายคนอาจจะมีลำโพงโฮมเธียเตอร์ที่พร้อมจะเชื่อมต่อกับจอทีวีตัวใหม่ที่กำลังจะเข้าบ้าน แต่บางคนก็คาดหวังกับพลังเสียงที่ทีวีจะมอบประสบการณ์ให้ เพื่อประหยัดงบที่จะต้องซื้อลำโพงหรือ soundbar ด้วย นอกจากเรื่องของลำโพงแล้ว เราขอพูดถึงเทคโนโลยีการส่งข้อมูลเสียงผ่านช่อง HDMI อย่าง ARC และ eARC เลย

ARC หรือ Audio Return Channel คือเทคโนโลยีในการส่งข้อมูลเสียงผ่านช่อง HDMI และ eARC คือ Enhanced Audio Return Channel ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่ปรับปรุงแล้วของ ARC นั่นเอง เพราะ ARC จะมีปัญหาในเรื่องไม่สามารถรองรับสัญญาณเสียงรายละเอียดสูงหรือสัญญาณเสียงที่มีบิตเรทสูง ๆ ได้ อย่างมาตรฐาน Dolby Atmos และ DTS:X เจ้า ARC และ eARC จะแตกต่างกันในเรื่องของแบนด์วิดท์และความเร็ว โดย eARC จะมีแบนด์และความเร็วที่มากกว่า ARC ซึ่งแบนด์วิดท์ที่สูงบ่งบอกว่ามีความสามารถในการส่งข้อมูลสูงนั่นเอง ทำให้เราสามารถเพลิดเพลินกับความลุ่มลึกของ เสียงเซอร์ราวด์รอบทิศทางระดับโรงภาพยนตร์จาก รูปแบบข้อมูลต่าง ๆ เช่น DTS:X และ DOLBY ATMOS เนื่องจากข้อจำกัดของ ARC แบบธรรมดา จึงมีเฉพาะ eARC เท่านั้นที่ตอนนี้สามารถดำเนินการกับฟอร์แมตเหล่านี้ได้

9. OS ของทีวี

การใช้งาน Smart TV ต่างจากทีวีธรรมดาตรงที่ตัวทีวีสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต , เปิดแอปพลิเคชันสำหรับสื่อวิดีโอต่างๆหรือเพลงได้ และในปัจจุบัน Smart TV หลายตัวมีการใส่ OS หรือระบบปฏิบัติการมาให้ พร้อมทั้งหน้าต่าง UI หรือหน้าเมนูที่เราสามารถเลือกใช้งานได้ง่ายขึ้น ซึ่ง OS ของทีวีมีด้วยกันหลายตัวและแบ่งออกได้ดังนี้

  • Android TV : เป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้งานกันบน Smart TV ทั่วไป รองรับการใช้งานแอปพลิเคชันเหมือนมือถือและแท็บเล็ต ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลูกเล่นที่สามารถ Cast หรือส่งภาพจากหน้าจอมือถือและแท็บเล็ตไปยังหน้าจอทีวีได้ พร้อมทั้งยังสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันผ่าน Play Store ได้อีกด้วย โดยตัวแอปพลิเคชันสำหรับการดูหนังและวิดีโอส่วนใหญ่ก็มีหมดแล้ว เช่น Youtube , Netflix ,  iFlix , Line TV หรือ True ID แต่แอปฯที่ไม่มีให้คือ AIS Play และ Apple Tv นั่นเอง 
  • Web OS : Web OS เป็น OS บนทีวีของ LG หลักการของการเลือกเนื้อหา, การเปลี่ยนเเปลงเนื้อหา, การควบคุมอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ และ User Interface ที่ให้ความง่ายต่อการใช้งาน และมีความสวยงาม มีเมนูต่างๆ ในรูปแบบของการ์ด แสดงตัวอย่างเนื้อหาก่อนเข้าชมได้ รองรับการทำงานแบบ Multitasking  สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อย่างสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตได้ พร้อมทั้งดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มเติมเพื่อใช้งานบน Smart TV ได้จาก LG  Store ซึ่งมีแอปฯที่ไม่รองรับบน OS นี้คือ HBO Go , We TV , iQiY , Line TV , True ID TV , Mono Max , Doonee , Loox tv และ AIS Play
  • Tizen OS : เป็นระบบปฏิบัติการของทีวี Samsung ที่มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต สามารถเชื่อมต่อและแชร์คอนเทนต์ระหว่างอุปกรณ์พกพาและ Smart TVได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วภายในคลิกเดียว พร้อมนำเสนอความง่ายที่จะทำให้การเข้าถึงเมนูต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวก อีกทั้งยังต่อยอด Smart Hub ฟีเจอร์ที่ช่วยยกระดับประสบการณ์การใช้งาน ทั้งการค้นหาคอนเทนต์ใหม่ๆ รวมถึงแอปพลิเคชันต่างๆ ให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ตัวแอปที่ไม่มีใน OS นี้คือ HBO Go , We TV , iQiY , Line TV , True ID TV , Mono Max , Doonee และ Loox tv แต่จุดสังเกตคือมี AIS Play มาให้ด้วย 
  • FireFox OS / My home Screen : หลายคนอาจจะรู้จัก FireFox ว่าเป็นเว็บเบราว์เซอร์ที่มีลูกเล่นในการปรับแต่งธีมของเบราว์เซอร์ได้ แต่ทาง FireFox ก็มี OS สำหรับทีวีเหมือนกัน โดยแบรนด์แรกๆที่ใช้งาน FireFox  OS บนทีวีคือ Panasonic มีจุดเด่นต่างๆ เช่น ฟีเจอร์ Voice Assistant Pro การสั่งงานด้วยเสียง ซึ่งระบบจะจดจำข้อมูลการใช้งานของแต่ละยูสเซอร์ไว้ เพื่อแสดงข้อมูลที่ตรงตามความต้องการของยูสเซอร์รายนั้น มีแอปฯ ที่ไม่รองรับคือ Apple TV , Google play Movie & TV , HBO Go , viu , WeTV , iQiY ,  Line TV , True ID TV , Doonee , Loox tv และ AIS Play

10. ไฟ Backlight และเทคโนโลยี Local dimming 

ไฟ Backlight คือแหล่งกำเนิดแสงให้กับจอ LCD ที่ทำให้หน้าจอทีวีของเรามีการสีสันที่สวยงาม เพราะจอ LCD ไม่สามารถเปล่งแสงได้ด้วยตัวเอง จึงต้องอาศัยไฟจาก BackLight ซึ่งมีด้วยกัน 3 ประเภทคือ

  • Edge LED Backlight : จะเป็นการวางหลอดไฟตามขอบและมี Light Guide Plate ทีวีที่ใช้ Edge LED  Backlight จะมีตัวเครื่องที่บาง และสามารถทำให้การแสดงผลของสีดำได้ดี แต่ก็ยังไม่ดีเท่า Full Array หรือ Mini LED
  • Full Array LED : คือการวางหลอดไฟ LED ไว้ทั่วพื้นที่ข้างหลังจอ ซึ่งมีจำนวนของหลอดไฟมากกว่า edge LED ทำให้แสดงภาพได้คมชัดมากกว่า และมีความสามารถในการปรับความสว่างของหลอดไฟแต่ละจุดให้สัมพันธ์กันความสว่างของภาพในพื้นที่นั้นๆ ทำให้การควบคุมความดำของภาพได้ดีกว่า Edge LED , มี Contrast มากกว่านั่นเอง
  • Mini LED Backlight : เป็นการพัฒนามาจาก Full Array ที่ลดขนาดหลอดไฟ LED ทำให้สามารถใส่หลอด LED ได้เป็นจำนวนมากกว่า Full Array และการทำ Local dimming ยังมีประสิทธิภาพมากกว่าเพราะสามารถควบคุมความสว่างของหลอดไฟตามพื้นที่ได้ละเอียดกว่า Full Array LED มีความดำที่พอๆกับ OLED และถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่สามารถสู้กับจอ OLED ได้อย่างสูสีเลยทีเดียว

ตัวอย่าง Local Dimming ใน Full Array LED และ mini LED

ทีวีซัมซุง Neo QLED นวัตกรรมจอภาพที่ยกระดับประสบการณ์รับชมไปอีกขั้น – Samsung Newsroom ประเทศไทย

 

11. ซื้อทีวีมาแล้ว อย่าโดนทีวีรุ่นใหม่ล่อลวงผ่านช่องทางต่างๆ เด็ดขาด

ขอแถมอีกข้อที่แนะนำแบบสุดๆ เพราะมาจากประสบการณ์ตรงของทีมงาน GamingDose นั่นคือ ถ้าซื้อทีวีที่เราต้องการแล้วให้เรารีบออกจากกลุ่ม Community ทีวีและงดการรับข่าวสารทั้งหมดเกี่ยวกับทีวี เพราะไม่งั้น เราจะกังวลกับทีวีรุ่นใหม่ที่ออกมาหลังจากที่เราซื้อทีวีมาแล้ว อยากเปลี่ยนทีวี แล้วสุดท้ายก็เปลี่ยนทีวีแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง ข้อนี้ถือว่าแนะนำแบบคนเคยโดนแล้วกันนะ 55555

และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ควรดูก่อนซื้อทีวีในปี 2021 ซึ่งเรารวบรวมมาเพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถเลือกทีวีที่ตัวเองต้องการแล้วคุ้มกับเงินที่เราลงทุนไปมากที่สุด อาจจะเพื่อเอาไปเล่นเกมที่ตัวเองชอบหรือดูหนังฟังเพลงก็แล้วแต่บุคคลนะ

SHARE

ปณต ประจันตะเสน

Back to top