หากพูดถึงค่ายเกมที่ได้พัฒนาเกมเพื่อตลาด Casual ที่มีความเจ๋งและสร้างสรรค์ในช่วงปี 2000 แล้ว ในบรรดาค่ายเกมเหล่านั้นต้องมี “PopCap” อยู่ในอันดับต้น ๆ อย่างแน่นอน ด้วยเอกลักษณ์และเกมการเล่นที่น่าจดจำ ทำให้เกมของค่าย PopCap ไปอยู่ในความทรงจำของเกมเมอร์รุ่นเก่า-รุ่นกลาง หลาย ๆ คน
แม้เกมเมอร์ยุคใหม่หลาย ๆ คนจะมองว่าเกมเหล่านี้เป็นเกม “ปัญญาอ่อน” ไปเสียแล้ว แต่ยังไงก็ตาม เกมเหล่านี้ก็มีเกมการเล่นที่สร้างสรรค์ มีความสนุก และมอบความทรงจำดี ๆ ให้กับเหล่าเกมเมอร์มานับไม่ถ้วน
วันนี้ทาง GamingDose จึงมาขอมาย้อนดูความทรงจำของวงการเกม ในสมัยที่ PopCap ยังเป็นค่ายเกมที่อยู่ได้ด้วยตัวเองและสร้างสรรค์ผลงานเกมใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ ให้เหล่าเกมเมอร์ได้ลิ้มลอง จนหลาย ๆ เกมอาจจะยังอยู่ในหัวใจและความทรงจำของใครหลาย ๆ คน ก่อนที่จะถูกอารยธรรมของ Electronic Arts (EA) กลืนกินในช่วงหลัง ๆ และนี่ก็คือ “10 เกมค่าย PopCap ในความทรงจำของเหล่าเกมเมอร์” จะมีเกมไหนที่คุณเคยเล่น หรือเคยได้ยินกันมาบ้าง มาดูกันเลยครับ
Insaniquarium (2002)
เรื่มที่เกมแรกกับเกมที่น่าจะได้รับความยอดนิยมในระดับนึงเลยทีเดียว สำหรับเจ้าเกมเลี้ยงปลาที่มีเกมการเล่นอันเป็นเอกลักษณ์อย่าง “Insaniquarium” และเกม ๆ นี้น่าจะเคยดูดวิญญาณของใคร ๆ หลาย ๆ คนในช่วงเด็กหรือวัยรุ่นกันมาบ้างแล้ว และได้ข่าวว่าหลาย ๆ คนก็มักเอาเกม ๆ นี้ไปแอบเล่นในคาบคอมบ่อย ๆ ด้วย (เด็กดีไม่ควรทำนะ…)
Insaniquarium เป็นเกมที่ให้คุณได้เลี้ยงปลาในตู้ปลาแห่งนึงที่ดูเหมือนว่าจะมีอะไรบางอย่างที่ไม่ธรรมดา โดยคุณจะต้องคอยเก็บเหรียญ เก็บเพชร เก็บของ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้คุณได้เงินในการปลดล็อคไอเทมระดับขั้นต่อ ๆ ไป จนถึงในส่วนของ “Pet Egg” ที่จะต้องใช้เงินที่เราหามาได้ซื้อเพื่อเข้าสู่ด่านต่อไป โดยเมื่อเข้าสู่ด่านต่อไปเรื่อย ๆ เราจะได้ “Pets” ที่เปรียบเสมือนว่าเป็นผู้ช่วยในการเล่นของเรา โดยเราสามารถเลือกได้สูงสุด 3 ตัว ซึ่งตัวที่ยอดนิยมที่สุดก็หนีไม่พ้นเจ้า “โลมา” ที่มีความสามารถในการบอกรายละเอียดที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการเล่น
ตัวเกมอาจจะฟังดูง่าย ๆ ชิว ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ตัวเกมกลับมีการไต่ระดับความยากที่ค่อนข้างเป็นมิตรต่อผู้เล่นเป็นอย่างมาก ทำให้ตัวเกมถึงแม้จะมีเกมเพลย์ที่ดูเล่นง่าย แต่กลับสร้างความท้าทายได้แบบไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการเลี้ยงปลา ที่เมื่อเข้าไปในด่านหลัง ๆ คุณอาจจะไม่สามารถใช้เทคนิคเดิมได้ และที่โดดเด่นก็คือ “มันมีเอเลี่ยนบุก” ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันเข้าไปในตู้ปลาได้ยังไง แต่เจ้าพวกนี้แหละที่จะคอยทำลายและฆ่าปลาของเรา และเราจะต้องทำการ “กระหน่ำคลิก” เพื่อปราบเอเลี่ยนลงก่อนที่มันจะไปกินปลาของคุณเสียก่อน
ส่วนตัวสำหรับผู้เขียนแล้ว Insaniquarium ถือว่าเป็นเกมอันดับที่ 2 ของ PopCap ที่ครองใจผู้เขียนได้แบบไม่ยากเย็น ด้วยงานศิลป์ที่ดูสวยและลงตัว ตลอดจนเกมเพลย์ที่สนุกและมีความท้าทาย ทำให้ผู้เขียนหลงรักเกมนี้มากในยุค ๆ นั้น และยังทิ้งความประทับใจในความทรงจำจนมาถึงทุกวันนี้
เกร็ดความรู้ :
– Pets และ Aliens ในเกมแทบทุกตัวล้วนจะมีเนื้อเรื่องปูมหลังให้เราได้อ่านด้วย โดยคุณจะได้เนื้อเรื่องเหล่านี้จากการเล่นโหมด “Challenge”
Bookworm Adventures (2003)
เขาว่ากันว่าการเล่นเกมนั้นทำให้เราได้ทักษะอังกฤษที่มากขึ้น แต่ก็ไม่ทั้งหมดเพราะถ้าหากไม่ได้เลือกเกมที่เหมาะสมที่จะฝึกฝน หรือไม่ได้ใส่ใจอะไรกับมัน วีดีโอเกมก็จะไม่ได้ให้ทักษะภาษาอะไรกับคุณหรอก
แต่สำหรับกับเกมนี้ คงไม่มีใครกล้าเถียงว่า “เล่นแล้วไม่ได้ภาษา” เพราะนี่คือเกม “หนอนหนังสือผจญภัย” หรือ “Bookworm Adventures” เกมที่ผสมผสานระหว่างความสนุกในรูปแบบเกมแคชชวลของทาง PopCap กับเกมเพื่อการศึกษาได้อย่างลงตัวและบันเทิงเป็นอย่างยิ่ง
เราจะได้รับบทเป็น “หนอนหนังสือ” ที่ไม่ใช่แค่คำเรียกที่ใช้เรียกคนที่บ้าหนังสือเท่านั้น แต่มันคือ “หนอน” จริง ๆ ในการผจญภัยไปโลกกว้าง ซึ่งระหว่างทางเราจะต้องพบกับอุปสรรคมากมายที่เข้ามาหาตัวของเรา โดยวิธีการฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านี้นั้น เราจะต้องใช้ “ตัวอักษรภาษาอังกฤษ” ที่มีให้ ในการประกอบเป็น “คำศัพท์” เพื่อสร้างความเสียหายให้กับศัตรู โดยความเสียหายที่เราทำได้นั้น จะจะแปรผันกับความยากและความยาวของคำศัพท์ที่เราได้ประกอบขึ้น
โดยตัวเกมจะใช้การต่อสู้แบบ Turn-Based ที่แต่ละเทิร์นเราจะมีตัวอักษร 16 ตัว เพื่อใช้ในการประกอบคำศัพท์ และบางครั้งตัวอักษรก็จะมีความสามารถพิเศษด้วย เช่นทำให้ศัตรูถูกแช่แข็งเป็นต้น ซึ่งด้วยระบบของเกมที่ได้ถูกนำเสนอแบบนี้ ทำให้ Bookworm Adventures เป็นเกมที่สนุกอย่่งไม่น่าเชื่อ แถมเรายังได้คำศัพท์ใหม่ ๆ อีกบาน และทักษะการเล่น “Anagram” หรือเกมสร้างคำศัพท์อีกด้วย เรียกได้ว่าหากเล่นเกมนี้จบแล้ว ก็เอาไปแข่งงานโรงเรียนได้เลย
เกร็ดความรู้ :
– จริง ๆ แล้ว Bookworm Adventure ไม่ใช่ภาคแรก โดยภาคแรกก่อนหน้านั้นใช้ชื่อว่า “Bookworm” (เฉย ๆ) แต่ด้วยเรื่องของความน่าจดจำทั้งในแง่ของการออกแบบเกมการเล่นตลอดจน “เพลงประกอบ” ที่ดีงามและติดหู ทำให้ Bookworm Adventure เป็นที่จดจำมากกว่า Bookworm เป็นอย่างมาก
Bejeweled (2001)
หรือชื่อเรียกในไทยที่มักจะชอบเรียกกันว่า “เกมเรียงเพชร” (ไม่ต้องต่อคำลงท้ายนะ ไม่นั้นเดี๋ยวมันจะกลายเป็นอีกเกม) โดยเห็นเกมมันเป็นแค่เกมเรียงเพชรแบบนี้ แต่จริง ๆ แล้วนี่ถือว่าเป็นอีกเกมที่สร้างชื่อให้กับค่าย PopCap เลยทีเดียว สำหรับเจ้าเกมเรียงเพชรอย่าง Bejeweled นี้
Bejeweled ถือว่าเป็นเกมที่เป็นต้นแบบให้กับเกมเรียงเพชรหลาย ๆ เกมหลังจากนั้นเลยก็ว่าได้ ด้วยระบบที่สามารถเข้าใจง่าย ดูดีและลงตัวกับทั้งเกมมือถือและเกมคอมพิวเตอร์ แต่ก็มีความยากและต้องใช้สมองไหวพริบในการเล่นไม่แพ้เกมใหญ่ ๆ ที่มีระบบซับซ้อนเลย ทำให้เกมนี้ได้รับความนิยมในหมู่รุ่นป้ารุ่นลุงที่มักจะชอบกดเกมนี้เล่นบนคอมพิวเตอร์ ที่ขอเล่น (แย่ง) มาจากหลานของพวกเขาและติดงอมแงมกันจำนวนมาก
น่าจะไม่ต้องสาธยายเกี่ยวกับเกมนี้ให้มากความ เพราะนี่น่าจะเป็นเกมที่ขึ้นชื่ออันดับต้น ๆ ของทาง PopCap เลยก็ว่าได้ ที่นึกถึงค่ายนี้ก็ต้องมีชื่อเกม Bejeweled ขึ้นมาในหัวอันดับต้น ๆ เสมอครับ
เกร็ดความรู้ :
– Bejeweled มีภาค Spin-Offs ออกมาด้วย โดยใช้ชื่อว่า “Bejeweled Twist” ที่เปลี่ยนจากการเรียงเพชรแบบเส้นตรงสี่ทิศ กลายเป็นการหมุนแบบวงกลมสี่มุม ที่สามารถสร้างความแปลกใหม่ในการเล่นได้พอสมควร
Zuma (2003)
หรือในชื่อไทยที่รู้จักกันดีว่า “เกมกบยิงลูกแก้ว” โดยสำหรับเจ้าเกม Zuma นั้นถือว่าเป็นอีกเกมนึงที่ค่อนข้างฮิตของทาง PopCap เลยทีเดียว แถมยังมีภาคต่อออกมาอีกด้วยอย่าง Zuma’s Revenge และสนุกไม่แพ้ภาคแรกอีกต่างหาก อีกทั้งเจ้า Zuma นี่ถือว่าเป็นอีกเกมนึงที่เด็กในยุคนั้นมักจะชอบแอบเล่นในห้องคอมพิวเตอร์ และที่หนักไปกว่านั้นคือเจ้าเกมกบบ้านี่ทำให้เด็กในยุคนั้นโดนแม่ของตนเองแย่งเล่นคอมพิวเตอร์มานักต่อนักแล้ว ซึ่งผู้เขียนตอนแรกก็ไม่เชื่อนะว่าที่เขาบอกว่า “แม่ชอบแย่งเล่นคอมเพื่อเล่นเกมนี้” แต่พอผู้เขียนได้นำเจ้าเกมนีัมาเล่นอีกครั้งในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ โดยทันทีแม่ของผมเห็น แม่ของผมก็มาขอนั่งเก้าอี้เพื่อเล่นเกมนี้ซะงั้น เรียกได้ว่าหากไม่เจอกับตัวก็คงไม่เชื่อแน่นอน
ส่วนเกมเพลย์ของเจ้า Zuma นั้น แค่เห็นภาพก็น่าจะนึกกันออกแล้วว่ามันเล่นกันยังไง โดยเราจะต้องทำการ “ยิงลูกแก้วสี” ให้ไปโดนสีเดียวกันสามลูกหรือมากกว่า เพื่อให้ได้คะแนนแถบเหลืองมากพอที่จะเข้าสู่ด่านถัดไป ซึ่งเห็นเกมเพลย์ดูเรียบง่ายแบบนี้ แต่หากคุณไม่มีไหวพริบและมีความประมาท เกมนี้ก็พร้อมที่จะทำให้คุณหัวร้อนได้อย่างคาดไม่ถึง
ความยากที่แท้จริงของเกมนี้อยู่ที่ด่านหลัง ๆ ของ Adventure Mode และ Survival Mode และเรียกได้ว่าไม่ได้ยากธรรมดา มันยากแบบนรกแตกกันเลย เพราะว่าเจ้าลูกแก้วมันจะเคลื่อนที่มาเร็วเหนือแบบโลกมาก เพียงไม่กี่วินาที เจ้าลูกแก้วพวกนี้ก็ใกล้ถึงเจ้าหลุมอาทิตย์แล้ว แถมด่านหลัง ๆ จะไม่มีการชะลอความเร็วเมื่ออยู่จุดลำบาก และพวกจะพุ่งเข้าสู่หลุมอาทิตย์ด้วยความเร็วปกติของมันโดยที่ไม่แคร์อะไรทั้งสิ้น ซึ่งเอาง่าย ๆ หากคุณเล่น Zuma ใน Survival Mode ให้ได้ซัก Sun God 300-400 โดยที่ไม่มีการโกงได้ คุณน่าจะมีสมาธิและไหวพริบเหนือกว่ามนุษย์เกมเมอร์มากกว่าครึ่งโลกแล้วล่ะ
เกร็ดความรู้ :
– Zuma หรือตัวละครหลักที่เราได้เล่นนั้นมีเนื้อเรื่องด้วย โดยมันเป็นรูปปั้นกบที่มีชีวิตที่อาศัยอยู่ในพิระมิดของชาวมายา โดยภารกิจของเขาคือการพยายามปกป้องดินแดนของเขาจากพวก “Evil Tiki”
– ตัว Zuma เองก็มีแฟนด้วยเหมือนกันนะ โดยแฟนของเขามีชื่อว่า “Mrs. Zuma” (ง่ายดีเนอะ) ซึ่งเธอถูกจับตัวไว้โดยวายร้ายอย่าง “Zhaka Mu” ในเหตุการณ์ของภาคต่ออย่าง “Zuma’s Revenge” นั้นเอง
Plants vs Zombies (2009)
หนึ่งในเกมของทางค่าย PopCap ที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จมากที่สุด จนกลายมาเป็นเฟรนไชส์ทำเงินให้กับบริษัทในเวลาต่อมา กับเกมที่ได้รับแรงบันดาลจากเกมแนว Tower Defense อย่าง “Plants vs Zombies”
ด้วยอาร์ตสไตล์ที่ลงตัวและเป็นเอกลักษณ์จากทางค่าย PopCap กับเกมเพลย์ที่เป็นการนำเกมแนว Tower Defense มาลดสเกลให้เล็กลงและเข้าถึงง่ายขึ้น แต่ยังคงอัดแน่นรายละเอียด ทำให้เกมนี้เป็นเกมที่มีความแปลกใหม่และมีความสนุกจนฮิตระเบิดระเบ้อเป็นอย่างมากในช่วงนั้น
เราจะได้รับบทเป็นตาหนุ่มคนนึงที่มีนามว่า “Crazy Dave” ผู้ที่เป็นเพื่อนสนิทกับ “Dr.Zomboss” แต่ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง ทำให้ทั้งสองได้ทะเลาะกัน จนเกิดเป็นสงครามเล็ก ๆ ระหว่างเหล่าพืชและเหล่าซอมบี้ และเราจะได้ทำการปลูกเหล่าพืชที่จะมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไปและมีจำนวนมากกว่า 61 ชนิด โดยเหล่าพืชพวกนี้ก็เปรียบได้ดั่ง “ป้อมปราการ” ในเกมแนว Tower Defense ที่จะมีประโยชน์ในด้านต่าง ๆ แต่โดยหลัก ๆ ก็จะเป็นเรื่องของการกำจัดเหล่าซอมบี้ที่จะแห่กันมา เพื่อไม่ให้พวกซอมบี้สามารถบุกเข้ามาสุดทางได้จนทำให้เกมโอเวอร์นั้นเอง
Plants vs Zombies ถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของทาง PopCap เลยก็ว่าได้ โดยตัวเกมได้กวาดรางวัลมาจำนวนมาก พร้อมกับคะแนนจากนิตรสาร Edge สำนักรีวิวที่ขึ้นชื่อว่า “เขี้ยว” ที่สุดในโลก ก็ยังให้คะแนนเกมนี้ถึง 9/10 เรียกได้ว่าเหนือกว่าเกม AAA หลาย ๆ เกมในยุคนี้ด้วยซ้ำ
โดยนอกจากนี้แล้ว Plants vs Zombies ยังสามารถทำเงินให้กับบริษัทได้สูงถึง 100 ล้านดอลล่าร์ จนทำให้ทางค่ายเกมยักษ์ใหญ่ขวัญใจเกมเมอร์อย่าง EA ได้เห็นศักยภาพและทำการซื้อบริษัท PopCap ในราคาสูงถึง 650 ล้านดอลล่าร์ในปี 2011 และนั้นทำให้เราไม่ได้เห็นเกมใหม่ ๆ จากทาง PopCap หลังจากนั้นอีกเลยนอกจาก Plants vs Zombies ที่ขยันออกภาคใหม่มาเรื่อย ๆ แถมยังแตกไลน์ออกมาเป็นเกมการ์ดและเกมยิงมุมมองบุคคลที่สามออกมาด้วย
เกร็ดความรู้ :
– Plants vs Zombies ภาคแรกได้ถูกวางจำหน่ายในปี 2009 และนั้นหมายความว่าในปีหน้า (ปี 2019) Plants vs Zombies ภาคแรกจะมีอายุครบ 10 ปีบริบูรณ์
– ชื่อเดิมของ Plants vs Zombies เดิมทีคือ “Yawn of the Dead” โดยจะมีเนื้อหาที่รุนแรงกว่านี้ แต่ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนอาร์ตสไตล์และลดความรุนแรงให้เป็นแบบที่เราได้เล่นกัน
Dynomite! (2002)
หรืออีกชื่อนึงที่เกมเมอร์ไทยตั้งชื่อให้ว่า “เกมยิงไข่ไดโนเสาร์” โดยหากนึกภาพเกมเพลย์ไม่ออกก็ขอให้นึกถึงเกม “Puzzle Bobble” ของทาง SNK ซึ่งเอาจริง ๆ ไม่ต้องไปนึกถึงหรอก เพราะถึงเราจะนึกถึงไปเราก็ไม่รู้จักอยู่ดี เอาเป็นว่ามันคือเกมคู่คอมพิวเตอร์ของยุคก่อน ที่ร้านซ่อมคอมสมัยนั้นมักจะลงมาให้นั้นแหละ
โดยในส่วนของเกมการเล่นนั้น เราจะได้รับบทเป็นไดโนเสาร์สองตัวที่จะต้องเอาไข่ไดโนเสาร์ที่มีสีต่าง ๆ และนำไปยิงใส่ “มวลมหาประชาไข่ไดโนเสาร์” ที่จะออกมาเป็นจำนวนมาก โดยเกมเพลย์ถือว่าเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะวิธีการเล่นก็คือแค่ยิงไข่ไดโนเสาร์ไปโดนสีเดียวกันก็แค่นั้นเอง
ซึ่งถึงเกมเพลย์จะดูเข้าใจง่าย แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะเล่นง่ายแต่อย่างใด ยิ่งกับด่านหลัง ๆ ที่จำนวนสีของไข่ไดโนเสาร์จะเยอะขึ้นมาก พร้อมกับจำนวนไข่ไดโนเสาร์ที่เรื่มมีสเกลเล็กลงพร้อมกับอัดแน่นไปด้วยไข่ไดโนเสาร์ และหากคุณไม่มีสมาธิหรือรนกับเกมนี้ในช่วงด่านหลัง ๆ ล่ะก็ ขอให้เตรียมตัวโดนเจ้าเท้ายักษ์มหาประลัยเหยียบทับอย่างสุดแรงได้เลย
เกร็ดความรู้ :
– โหมดเนื้อเรื่องหลักของเกมนี้คือ “Fossil Challenge” ที่เราจะได้ทำการเก็บ “ซากฟอสซิลโบราณ” ต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงด่านสุดท้าย โดยโหมดนี้มีความยาวประมาณ 1-2 ชั่วโมงสำหรับผู้เล่นทั่วไป และฟอสซิลโบราณจะติดอยู่กับเหล่ากองไข่ไดโนเสาร์นั้นแหละ เราจะต้องยิงไข่ที่ยึดฟอสซิลเอาไว้ให้แตกออก และเจ้าฟอสซิลก็จะตกลงมาเป็นอันเคลียร์ด่านครับ
Feeding Frenzy (2004)
หลาย ๆ คนอาจจะงงว่า เจ้าเกมนี้มันไม่ใช่ของ PopCap นี่ แล้วทำไมมันมาติดโผล่ในลิสต์นี้ได้ล่ะ ?? แน่นอนว่าเรื่องนี้มันมีเหตุผลของมัน โดยเจ้าเกม Feeding Frenzy ได้ถูกพัฒนาโดยทีมงาน “Sprout Games” อีกค่ายเกมที่พัฒนาเกมสไตล์คล้าย ๆ ของทางค่ายของ PopCap และจัดจำหน่ายโดย “GameHouse” ผู้ซี่งเป็นพ่อค้ารายใหญ่ให่กับเหล่าเกมแคชชวลในยุคนั้น (เคยผ่านตาไหมเอ่ยชื่อนี้ ??) ก่อนที่ Sprout Games จะถูกทาง PopCap เทคโอเวอร์ไปในช่วงปี 2005 และ PopCap ก็ได้สิทธิ์ในการจัดจำหน่ายเกมนี้แทน GameHouse ไปนั้นเอง
Feeding Frenzy เป็นเกมที่ใช้คอนเซปต์ที่ค่อนข้างเรียบง่าย และหากได้ยินแล้วจะนึกภาพเกมเพลย์ออกทันที นั้นก็คือ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” โดยเราจะได้รับบทเป็น “ปลา” ตัวหนึ่งที่จะต้องทำการกินปลาที่เล็กกว่าตนเองเพื่อที่จะทำให้ตนเองเติบโตเป็นปลาตัวที่ใหญ่ขึ้นและจะสามารถกินปลาที่ใหญ่ขึ้นมาอีกระดับได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องหลบหนีจากปลาที่ “ตัวใหญ่” กว่าเราด้วย เพราะมันก็ไม่ได้ต่างอะไรจากเราที่จะต้องหาปลาเล็กเพื่อเอามาเป็นอาหาร เพียงแต่พวกมันจะไม่โตแบบเราเท่านั้นเอง
โดยส่วนตัวผู้เขียนแล้วเกมนีัไม่ถือว่าหัวร้อนนะครับ เล่นได้ง่าย ๆ และเพลิน ๆ แถมมีจำนวนด่านให้เล่นเยอะด้วย แต่ก็เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ เกม มันก็ไม่ได้ง่ายอะไรขนาดนั้น โดยเฉพาะกับด่านที่เราต้องปะทะกับบอสแล้วยิ่งมีความยากและมีความท้าทาย ต้องใช้ทักษะในการเล่นระดับนึงเลยทีเดียว
เกร็ดความรู้ :
– หากคุณสามารถเคลียร์เกมได้หนึ่งครั้ง คุณก็จะได้เซฟเกมใหม่มาเล่น โดยเมื่อคุณกดเข้าเล่นแล้วคุณจะได้ควบคุมเจ้า “บอสประจำเกม” แทนเหล่าปลาที่เราได้เล่นในเซฟเกมปกติ
Pizza Frenzy (2005)
เห็นชื่อเกมแล้ว หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่ามันเป็นเกมทำพิชซ่ารึเปล่า ?? ทางผู้เขียนก็คงต้องบอกว่า “ถูกแล้วแต่ไม่ใช่ทั้งหมด’ เพราะตัวเกมไม่ได้เน้นเรื่องของการทำพิชซ่าเป็นหลักซะทีเดียว แต่เป็นเกมที่เราจะได้รับบทเป็นนักธุรกิจส่งขาย “ท็อปปิ้งพิชซ่า” ไม่ว่าจะเป็น ชีส เป๊ปเปอร์โรนี่ เห็ด และสารพัดท็อปปิ้งพิชซ่าที่เราจะได้มาจัดส่งกัน
ซึ่งเจ้าท็อปปิ้งหลาย ๆ อันในเกมนี้มันก็สมเหตุสมผลอยู่หรอก แต่บางอันนี้มันอยู่ในระดับที่ค่อนข้างหลุดโลกมาก ยกตัวอย่างเช่น “โดนัท” “น้ำแข็ง” “ทาโก้” คือจะเอาของพวกนี้ใส่หน้าพิชซ่าลงไปจริง ๆ ดิ ?? คือถึงจะบอกว่าถึงในความจริงเขาก็คงแยกขายเป็นของว่าง แต่ตัวเกมนั้นได้นำเสนอมินิเกมที่เราจะต้องทำการจัดหน้าพิชซ่าตามที่กำหนดไว้ (รับจ๊อบจัดหน้าพิชซ่านั้นเอง) ซึ่งเราจะได้ใส่ท็อปปิ้งอันบ้าบิ่นพวกนั้นลงไปด้วยหน่ะสิ คือหากไม่ท้องเสียรสชาติก็คงดูแปลกพิลึก แต่ไม่แน่อาจจะมีบางประเทศที่กินแบบน้้นจริง ๆ ก็ได้นะเออ
โดยส่วนตัวผู้เขียน ผู้เขียนค่อนข้างชอบเกมเพลย์ของ Pizza Frenzy ถึงอาจจะไม่ได้ลึกล้ำหรือเทพอะไร แต่มันก็คือเกมที่เล่นสนุกมากเกมนึงเลยล่ะ กับการที่ต้องมากดจิ้มส่งท็อปปิ้งที่เล่นเพลิน ๆ แบบไม่ต้องคิดอะไรให้เครียดวุ่นวาย ก็สามารถสนุกไปกับเกมได้แล้ว แต่ถึงพูดอย่างนั้นผู้เขียนกลับชอบเล่นโหมดออกแบบหน้าพิชซ่าของเกมนีัมากกว่า เพราะโหมดนี้จะค่อนข้างอิสระดีในการแต่งหน้า คือไหน ๆ ตอนเด็ก ๆ พิชซ่าไม่ค่อยกิน พอตอนนี้จะออกแบบทีนึงก็ขอหน้าเยอะ ๆ ไปเลยละกัน
เกร็ดความรู้ :
– Pizza Frenzy ถูกพัฒนาโดยทีมงาน Sprout Games และจัดจำหน่ายโดย GameHouse เช่นเดียวกับ Feeding Frenzy ที่ PopCap ได้สิทธิ์ในการจัดจำหน่ายจากการเทคโอเวอร์บริษัท
Peggles (2007)
เกมนี้อาจจะไม่ค่อยนิยมในประเทศไทยมากนัก ซึ่งถึงจะบอกอย่างนัั้น แต่นี่ก็ถือว่าเป็นเกมที่หลาย ๆ คนมีไว้ครอบครองในคลังเกมของตนเองกันอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุผลที่ว่า “มันแจกฟรีบ่อยมาก” ในโปรแกรมของ “ให้ฟรีไม่คิดเงิน” ใน Origin ที่ทำการแจกโดย EA
รูปแบบของเกม Peggles จะได้รับแรงบันดาลใจจาก “เบกาเทลล์” และ “ปาจิงโกะ” โดยสำหรับปาจิงโกะแล้วคงไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากความ เพราะว่าหลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับคำนี้ตอนดราม่าค่ายเกมญี่ปุ่นชื่อดังค่ายนึงมาก่อนแล้ว (มันคือตู้สล็อตหรือตู้วัดดวงนั้นแหละ) ส่วน “เบกาเทลล์” จะเป็นการละเล่นที่เหมือนนำเอา “สนุ๊กเกอร์” และ “พินบอล” รวมเข้าด้วยกัน
ส่วนตัวผู้เขัยนไม่เคยเล่นเกมนี้ แต่เท่าที่ดูเกมเพลย์มาคร่าว ๆ แล้ว เกมนี้ถือว่ามีไอเดียและคอนเซปต์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก และมีความสนุก มีความลงตัว ที่น่าจะต้องไปเล่นด้วยตัวเองถึงจะได้รับความสนุกแบบเต็ม ๆ ซึ่งน่าเสียดายนิด ๆ ที่ผู้เขียนไม่ได้กดรับเจ้า Peggle นี้ ไม่นั้นผู้เขียนก็คงสามารถอธิบายถึงความเจ๋งของเจ้า Peggles ได้มากกว่านี้ครับ
เกร็ดความรู้ :
– ในสมัยที่ Origin ยังมีโปรแกรมแจกเกมฟรีอย่าง “ให้ฟรีไม่คิดเงิน” อยู่ เจ้าเกม Peggle นี้ถือว่าเป็นเกมที่มีการแจกบ่อยมาก และน่าจะมากที่สุดในบรรดาของเกมที่อยู่ในโปรแกรมนี้
– “เบกาเทลล์” เป็นการละเล่นยุคกลางของชาวยุโรป โดยจะเป็นเหมือนกระดานพินบอลเล็ก ๆ ที่เราจะต้องเอาไม้ไปแทงลูกเหล็กหรือลูกบอล เพื่อทำคะแนนจากการเด้งไปโดนจุดคะแนนต่าง ๆ
Chuzzle (2005)
น่าจะเป็นอีกเกมที่ช่างคอมในยุคนั้นนิยมติดตั้งมาให้ สำหรับเจ้าเกมขนปุยแปลก ๆ อย่าง “Chuzzle” ที่มาในรูปแบบของเกมแก้ปริศนาและเกมแคชชวล โดยจุดเด่นของเกมนี้ก็ไม่พ้นการออกแบบตัวละครภายในเกมที่เป็นตุ๊กตาทรงกลมและมีขนปุย ซึ่งเกมเพลย์โดยรวมจะคล้าย ๆ กับเจ้า Bejeweled แต่กับเกม Chuzzle นี้เราจะเลื่อนกันเป็นคอลัมน์และเป็นแถวกันเลย
ตัวเกมมีโหมดหลัก ๆ ที่เด่น ๆ อยู่สองโหมดด้วยกันได้แก่ “Classic Mode” หรือโหมดธรรมดาทั่วไป และ “Mind Bender” หรือโหมดแก้ไขปริศนา โดยเราจะต้องจัดสลับเจ้าขนปุยในกระดานให้เป็นไปตามภาพที่ตัวเกมกำหนดไว้ให้ ซึ่งยิ่งเล่นไปได้ไกลเท่าไหร่ ปริศนาภาพจะยากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่อยู่ในระดับที่เป็นไปได้ที่จะแก้ไขปริศนาเหล่านี้
โดยสำหรับโหมดที่ยากที่สุดของเกมนี้ก็คือเจ้าโหมดแก้ปริศนา “Mind Bender” นี่แหละ เพราะโหมดนี้ต้องใช้หัวคิดและประสบการณ์ในการแก้ไขปริศนาเป็นอย่างมากในการเล่น ต้องมีการพลิกแพลงและต้องใช้ความสามารถเฉพาะทางถึงจะสามารถเคลียร์โหมดนี้ลงได้
เป็นยังไงกันบ้างสำหรับ “10 เกมของค่าย PopCap ในความทรงจำของเหล่าเกมเมอร์” แล้วคุณล่ะ ?? มีเกมไหนบ้างที่คุณเคยเล่น เคยได้ยิน หรือเคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง หรือมีเกมไหนที่คุณเคยเล่นแต่ไม่ได้อยู่ในลิสต์นี้บ้าง มาลองแสดงความคิดเห็นกันได้ครับ