BY Aisoon Srikum
12 Nov 24 3:28 pm

15 ปี League of Legends เกม MOBA สุดแกร่งระดับตำนาน ที่คนในถอนตัวไม่ค่อยออก แถมห้ามคนนอกว่า “อย่าเข้า”

1,073 Views

League of Legends หรือที่ชาวไทยเรียกติดปากกันว่า LoL คือเกม MOBA ยุคบุกเบิก เป็นรุ่นน้องที่ตามหลัง DotA มาไม่นานมาก แต่ชื่อเสียงเรียงนามของมันอยู่ในระดับสุดยอดเกินกว่าที่ใครหลาย ๆ คนจะจินตนาการเอาไว้ ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากจะเชื่อว่าปัจจุบัน ตัวเกมมีอายุกว่า 15 ปีเข้าไปแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าเกมจะแผ่วกระแสลงเลย กลับกัน Arcane ซีรีส์แอนิเมชันของ Netflix ก็ยิ่งสุมไฟให้มันร้อนแรงมากยิ่งขึ้น ประกอบไปกับ Worlds 2024 ที่เพิ่งจบไป เป็นหลักฐานยืนยันว่าเกมนี้ฆ่าไม่ตายและเอาไม่ลงจริง ๆ

จากแรงบันดาลใจของเกมรุ่นพี่อย่าง DotA

ในช่วงแรกเริ่ม เกม MOBA ที่ครองใจเกมเมอร์ทั่วโลก ไม่มีใครไม่รู้จัก DotA (ที่ปัจจุบันภาค 2 เป็นเมนสตรีมไปแล้ว) แน่นอนว่า Riot Games เองก็ได้ DotA นี่แหละ มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำเกม League of Legends ขึ้นมา เพราะในตอนนั้น DotA เป็นเพียงม็อดของเกม Warcraft III: Reign of Chaos โดยผู้เล่นต้องซื้อ Warcraft III มาเป็นเจ้าของก่อน แล้วค่อยดาวน์โหลดและติดตั้งโปรแกรมแบบ Customize ซึ่งสมัยก่อน การลงม็อดมันยุ่งยากมาก ๆ ไม่เหมือนปัจจุบัน สื่อมองว่า ม็อด DotA มันเจ๋งมาก ๆ แต่เพราะมันเป็นม็อดนี่แหละ การขัดเกลา และความประณีตของมันเลยมีน้อย แถมไม่ค่อยมีการอัปเดตที่สม่ำเสมอเท่าไรนัก

สองผู้ก่อตั้ง Riot Games อย่าง Brandon Beck และ Marc Merill ใช้วิธีการตามหาผู้ร่วมงานง่าย ๆ ในตอนนั้นด้วยการจัดการแข่งขัน DotA สำหรับนักศึกษาขึ้นมาในรั้วมหาวิทยาลัย Southern California เบื้องหน้าคือการแข่งเกม แต่ฉากหลังมันคือการควานหาตัวผู้ร่วมงานในการทำเกมของตัวเองขึ้นมา ตอนนั้นทั้งสองคนเลยได้พบกับ Jeff Jew ที่ในเวลาต่อมาเขาได้กลายมาเป็นโปรดิวเซอร์ของ League of Legends เพราะว่า Jew นั้นคุ้นเคยกับ DotA มาก แถมยังใช้เวลาในการแข่งขันและสอนผู้เล่นใหม่ด้วย

Jeff Jew เข้ามาเป็นเด็กฝึกงานของ Riot Games ก่อนในตอนแรก ก่อนจะได้ขุนพลมาร่วมทีมมากขึ้นคือ Steve Feak ที่เป็นคนออกแบบม็อด DotA ร่วมด้วย Steve Mescon ผู้ดูแลเว็บไซต์ Community สำหรับช่วยเหลือผู้เล่น

Brandon Beck และ Marc Merill สองผู้ก่อตั้ง Riot Games

สมาชิกทีมทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 4 เดือนในการสร้างตัวเกมเวอร์ชัน Demo ขึ้นมา เพื่อไปนำเสนอในงาน GDC (Game Developers Conference) ปี 2007 แน่นอนว่ามันแทบไม่เข้าตากรรมการ เพราะยุคนั้นหลายคนยังแยกไม่ค่อยออกระหว่างเกม Free to Play กับ Live Services แถมไม่มี Single Player อีก ใครจะไปสนใจ แต่ 1 ปีต่อมา พวกเขาก็ได้ Tencent ช่วยจัดการข้อตกลงในการเปิดตัวเกมในประเทศจีน

ถึงแม้จะต้องฝ่าวิบากกรรมมากมาย แต่ในเดือนตุลาคม ปี 2008 League of Legends ก็ได้เปิดตัวสู่สายตาชาวโลก และมีการทดสอบ Closed Beta กันในปี 2009 พร้อมกับตัวละครหรือที่เราเรียกกันว่า Champion ในเกม มีให้เล่นถึง 17 ตัว ก่อนที่เกมจะพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 27 ตุลาคม 2009 ที่โซนอเมริกาเหนือ และรู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้วตอนแรก League of Legends มีชื่อเต็ม ๆ พ่วงท้ายด้วยว่า Clash of Fates โดยมีจุดประสงค์เพื่อบอกใบ้ว่าจะมีอัปเดตคอนเทนต์เมื่อใดหรือตอนไหนบ้าง แต่พวกเขามองว่ามันดูเห่ยไปหน่อย จึงเลิกใช้ก่อนจะเปิดตัวจริง

การเปิดตัวในประเทศไทยผ่าน Garena และ Playinter

แม้จะเปิดตัวในอเมริกาเหนือและโซนอื่น ๆ ทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2009 แต่กว่าเกมเมอร์ชาวไทยจะได้เล่นกัน เวลาก็ผ่านไปกว่า 3 ปีแล้ว ในปี 2012 Garena และ Playinter ได้จับมือกันนำเอา League of Legends มาให้บริการในประเทศไทย โดยเปิดให้เล่นกันแบบฟรี ๆ ในวันที่ 15 มิถุนายน ปี 2012 ใครยังจำทีเซอร์ด้านล่างนี้ได้ แปลว่าคุณก็ไม่ใช่อายุน้อย ๆ เอ๊ย เป็นผู้เล่น LoL ยุคบุกเบิกจริง ๆ

ช่วงเวลาที่อยู่กับ Garena ต้องบอกว่าด้วยขุมพลังทางด้านการตลาดและการโปรโมท ฐานแฟน League of Legends ของไทยนั้น ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมในเกมหรือนอกเกม ใครยังจำกันได้ งานเกมใหญ่ ๆ League of Legends ไปมาแทบหมด รวมไปถึงลีกทัวร์นาเมนต์และการแข่งขันต่าง ๆ ในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงระดับมหาลัยนักศึกษา ใครที่คิดถึงวันวานเหล่านั้น วิดีโอต่าง ๆ ในช่องของ Garena ยังคงมีแมทช์จากรายการต่าง ๆ เก็บไว้ ทั้ง Grand Championship, All Star, และอื่น ๆ อีกมากมาย ลองไปหาดูย้อนหลังกันได้

และเพราะการแข่งขันอีสปอร์ตของ LoL ในไทยนั้นเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จึงก่อเกิดเป็นเหล่า Influencer จำนวนมากในยุค LoL รุ่งเรืองในไทย อย่างเช่นทีมไทยในตำนานอย่าง Bangkok Titans ที่ผู้เล่นจำได้ดีทั้งคุณบอส Llody, คุณมายด์ 007X หรือแม้แต่เหล่า Shoutcaster ดัง ๆ ไม่ว่าจะเป็น SunWalts, Moonfalling, Robert Chase เองก็ล้วนแล้วแต่เติบโตมากับ League of Legends กันทั้งสิ้น เรียกได้ว่านับตั้งแต่ช่วงปี 2012 เป็นต้นมา League of Legends คือเกมแนวหน้าของไทยจริง ๆ

ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ในระดับสากลโลก Esports ของ League of Legends เองถือว่ายิ่งใหญ่และแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก น้อยคนนักที่เป็นแฟน League of Legends แล้วจะไม่รู้จัก Worlds การแข่งขันสุดยิ่งใหญ่ประจำปี ที่แต่ละปีก็มักจะได้วงดนตรีหรือศิลปินระดับคุณภาพมาทำเพลงธีมให้ ที่ผ่านมาก็มีวงดัง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็น Imagine Dragons, NewJeans หรือล่าสุดอย่าง Linkin Park ก็มาแล้ว การแข่งขัน Worlds จึงไม่ใช่แค่การแข่งขันธรรมดา แต่ยังให้ผู้เล่นร่วมลุ้นและรับฟังผลงานของศิลปินและวงดนตรีดัง ๆ อีกด้วย

นอกจากนั้น Worlds ในช่วงปี 2016 ยังมีอีกมินิเกมสนุก ๆ ที่ผู้เขียนจำได้ไม่ลืม คือระบบใช้เงินในเกม (RP) เพื่อทายผลว่าทีมใดจะชนะในการแข่งขัน Worlds แต่ละคู่ หากทายถูกก็จะได้รับโบนัส RP ไป ช่วงนั้นถือเป็นช่วงที่ทั้งการดูและการเชียร์การแข่งขันสนุกมากไปอีกระดับหนึ่งเลยทีเดียว

รูปแบบเกมเพลย์การเล่นที่สนุกและชิงไหวชิงพริบกันทุกเสี้ยววินาที และ 15 ปีแห่งความเปลี่ยนแปลงไม่รู้จบ

สิ่งที่ทำให้ League of Legends ยังคงยืนความเป็นอมตะเอาไว้ได้ คือเกมเพลย์อันดุเดือด และชิงไหวชิงพริบกันในระดับเสี้ยววินาทีจริง ๆ เพราะเกมเพลย์ของ League of Legends แม้จะไม่ได้เร็วมาก แต่ก็ไม่ได้ช้าจนยืดยาดน่าเบื่อ และทุกครั้งที่เกิด Teamfight ขึ้น ก็จะรวดเร็วแต่ก็ยังพอเข้าใจได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและในจังหวะนั้น ทีมใดที่กลายเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะในสถานการณ์ รูปแบบการเล่นของ League of Legends คือการเล่นแบบ MOBA แบ่งฝั่งผู้เล่นออกเป็นฝั่งละ 5 คน และเลือกตัวละครหรือแชมป์เปี้ยนในเกม (ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 140 ตัว) ที่มีตำแหน่งแตกต่างกันในการเข้าปะทะกับทีม แบ่งออกเป็นสาย Carry (หรือ Damage Dealer) Tank, Support หรือ Assassin, Mid-Lane แล้วแต่แฟนเกมจะเรียก จากนั้นร่วมมือกันต่อสู้ในแผนที่ที่มี 3 เลนคือบน กลาง ล่าง เพื่อคว้าชัยชนะในเกมการเล่นแต่ละรอบ

ในเกมเพลย์ยุคแรก ๆ นั้น หากยังจำกันได้ เกมนี้มีความแปลกใหม่ตรงระบบรูน (Rune) ที่ทำให้ Status เริ่มต้นของแชมป์เปี้ยนแต่ละตัวตอนเลเวล 1 นั้น มีค่าต่าง ๆ ที่สูงขึ้นเล็กน้อย เช่นพลังโจมตี +10 อัตราคริติคอล +1% เป็นต้น ซึ่งภายหลังระบบนี้ได้รับการปรับปรุงใหม่ จนกลายเป็นอีกแบบไปแล้ว ใครยังจำหน้าจัดรูนแบบเก่าได้ บอกเลยว่าคุณเองก็เป็นผู้เล่น LoL ระดับบุกเบิกเหมือนกัน

ในแผนที่ทั้งหมดนั้น มี Objective สำคัญนอกจากป้อมศัตรูอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Dragon หรือที่แฟน ๆ เรียกกันว่ามังกรที่ถูกปรับเปลี่ยนไปหลายครั้ง ในสมัยก่อนมังกรจะเกิดเป็นธาตุ แต่ละธาตุจะให้บัฟที่ต่างกัน ทำให้ทีมต้องคิดและคำนวณว่ามังกรตัวนั้นจะยกให้ใคร แต่ปัจจุบันก็เปลี่ยนไปมากจนทำให้เกมสนุกขึ้น และบอสแมปสำคัญที่ใช้ในการจบเกมอยู่บ่อยครั้งนั่นคือ Baron Nashor ที่ทีมไหนฆ่าได้ จะได้บัฟทั้งทีม และโอกาสชนะจะมีสูงขึ้นพอสมควร ยังมีมอนสเตอร์ป่าที่ให้บัฟต่างกัน หรือของใหม่ที่เพิ่งปรับเปลี่ยนกันไปอย่าง Rift Herald อีกด้วย โดยจะสังเกตได้ว่า ตัวเกมมันไม่ได้มีแค่ให้ผู้เล่นลงไปซัดกันเอามันเท่านั้น แต่มันเป็นเกมที่ต้องใช้ทีมเวิร์ค ฝีมือส่วนบุคคล การคิดวิเคราะห์และการอ่านเกมที่สูงมากในการคว้าชัยชนะ ไม่น่าแปลกใจที่ทำให้ League of Legends ได้รับความนิยมอย่างมาก เวลามีการจัดการแข่งขันหรือทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ

ทำไมคนในถอนตัวไม่ค่อยออก และปรามคนนอกว่า “อย่าเข้า”

บ่อยครั้งที่ League of Legends เขย่าวงการไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวเพลงใหม่ การแข่งขันที่ดุเดือดจนสื่อนอกสายเกมยังต้องหันมาจับตามอง หรือเอาที่ชัดเจนที่สุดเลยก็คือการมาถึงของซีรีส์ Arcane ใน Netflix ที่ยิ่งทำให้กระแสของเกมนั้นทวีคูณมากขึ้นไปอีกจนหลายคนสนใจอยากจะลองเข้ามาเล่นเกมนี้ดูบ้าง แต่ฐานแฟนที่เล่นกันอยู่ ต่างพร้อมใจกันบอกว่า “อย่า” เพราะเหตุใดถึงเป็นแบบนี้ ?

อีกด้านหนึ่งของ League of Legends นั้น ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ และเป็นปัญหาที่เกมอื่น ๆ ที่เปิดตัวมานานแล้วก็มี นั่นคือเกมจะไม่เป็นมิตรกับผู้เล่นหน้าใหม่เลยแม้แต่น้อย ด้วยความที่อายุเกมมีมากกว่า 15 ปี (ในไทยนับเป็น 12 ปี) เพียงพอแล้วที่ผู้เล่นดั้งเดิมจะเล่นกันจนชำนาญ และรำคาญหรือรู้สึกว่าโดนผู้เล่นใหม่ที่เล่นไม่เป็น ถ่วงแข้งถ่วงขาจนพ่ายแพ้ แต่ที่หนักกว่านั้นคือผู้เล่นเก่าเองที่ชอบลองของอะไรแปลก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจับเอาตัวละครคนละสายไปเล่นข้ามสาย (เอาตัวแทงค์ไปซัพพอร์ท เอาตัวยืนเลนไปเดินป่าเป็นต้น) ซึ่งตามหลักแล้ว ถือว่าไม่มีอะไรผิดถูกไปซะทีเดียว แต่มันจะทำให้เกมการเล่นลำบากขึ้นโดยไม่จำเป็น และเมื่อแตกคอกันเองภายใน ชัยชนะก็อยู่ห่างออกไปเรื่อย ๆ

และสิ่งที่ทำให้หลายคนปราม ๆ คนนอกเอาไว้ว่าอย่าเข้า ก็เป็นอีกเหตุผลที่เกมเก่า ๆ มีเหมือนกัน เพราะตัวเกมอยู่มานาน ฐานผู้เล่นที่มากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเกิดความหลากหลายของผู้เล่น ตามมาด้วยปัญหาการใช้ระบบแชทหรือการพูดคุยในเกมที่ทุกคนพร้อมจะสวบหัวคุณได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการลาสครีปไม่ได้ของตำแหน่ง ADC, Support ตามไปช้าจนทีมพลาดตายกันหมด และปัญหาเบอร์ต้นของตำแหน่ง Jungle อย่าง “ทำไมไม่แกงค์” ล้วนเป็นปัญหาที่อยู่กับ League of Legends มาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่เพราะตัวเกมมันก็สนุกชวนติดพันสุด ๆ กลายเป็น Toxic Relationship แบบว่ารู้นะว่าเกมมันทำลายสุขภาพจิต แต่ก็ยังเสพติดแบบเลิกไม่ได้ เลยหันไปปรามคนนอกว่า ถ้าคิดจะเข้ามาเล่น ก็อย่าดีกว่า หรืออย่างน้อย ไปเล่น Wild Rift บนมือถือก็ยังดี

ปัจจุบัน Worlds 2024 ก็เพิ่งสิ้นสุดกันไป ซีรีส์ Arcane ซีซั่น 2 ก็เพิ่งออกฉายกันไป ไม่มีทางที่กระแสของ League of Legends จะจบลงง่าย ๆ ใครที่อยากเข้ามาวงการเกมนี้ เราก็ขอให้คุณโชคดี สำหรับสมรภูมิเกมแห่งนี้

Aisoon Srikum

Back to top