วิดีโอเกมได้สร้างนวัตกรรมทั้งด้านเทคโนโลยีกับเอนเตอร์เทนมามากมาย จนกลายเป็นสื่อบันเทิงสากลสำหรับวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ที่ทั่วโลกต่างให้การยอมรับ แต่คล้ายภาพยนตร์และเพลง เกมบางเกมมีการพยายามล้ำเส้นบางอย่าง ก็ส่งผลลัพธ์ทำให้เกมถูกวิพากษ์วิจารณ์จนกลายเป็นเรื่องดราม่าระดับโลกทั้งในและนอกวงการ และนี่คือ 15 เกมที่เคยตกเป็นประเด็นถกเถียงอย่างร้อนแรง แล้วจะมีเหตุการณ์อะไรบ้าง ไปรับชมได้เลย
Call of Duty: Modern Warfare 2 – No Russian
No Russian เป็นภารกิจในเกม Call of Duty: Modern Warfare 2 ที่ผู้เล่นรับบทเป็นเจ้าหน้าที่สายลับ CIA ได้เข้าร่วมกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งนำโดย Vladimir Makarov แล้วร่วมก่อเหตุการณ์กราดยิงในสนามบิน Zakhaev International Airport ตามคำสั่งของนายพล Shepherd เพื่อสร้างความเชื่อใจและใกล้ชิด Makarov มากยิ่งขึ้น
ภารกิจดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศสหรัฐฯ จนเป็นข่าวนำเสนอผ่านโทรทัศน์มากมาย พร้อมกล่าวหาว่าเกมดังกล่าวนำเสนอความรุนแรงผ่านโลกวิดีโอเกมได้ “สมจริงเกินไป” รวมถึงประเทศรัสเซีย (ซึ่งไม่พอใจกับการที่สื่อบันเทิงสหรัฐฯ ชอบใช้รัสเซียเป็นตัวร้ายอยู่แล้ว) ก็แสดงความไม่ปลื้มต่อเกมดังกล่าวเช่นกัน จนในที่สุด ทีมงานปรับเปลี่ยนให้ภารกิจ No Russian สามารถ Skip ข้ามได้ พร้อมใส่ข้อความเตือนว่าอาจมีฉากที่ทำให้เกมเมอร์รู้สึกไม่สบายใจ และสำหรับเกมโซนรัสเซียจะไม่มีภารกิจ No Russian ให้เล่น หลังจากก่อนหน้านี้ ตัวเกมถูกแบนห้ามวางจำหน่ายเนื่องจากภารกิจดังกล่าว
นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นก็มีดราม่าภารกิจ No Russian เกี่ยวกับการแปลภาษาผิดพลาด โดยจากเดิมที่ No Russian มีความหมายบริบทว่า “ห้ามพูดภาษารัสเซีย” แต่เกมเวอร์ชันญี่ปุ่นกลับแปลซับไตเติลเป็น “ฆ่ารัสเซียให้หมด” ซะอย่างนั้น
Resident Evil 5 – Trailer เหยียดคนผิวดำ
จู่ ๆ Resident Evil 5 กลายเป็นเรื่องราวดราม่าระดับใหญ่โตตั้งแต่เกมยังไม่ออกวางจำหน่าย หลังจาก Capcom ปล่อย Trailer ใหม่ของ Resident Evil 5 ที่มีฉากหลังเป็นพื้นที่ประเทศแอฟริกา และ Chris Redfield กำลังยิงปืนป้องกันตัวเองจากผู้ติดเชื้อปรสิตที่มีผิวสีดำเป็นจำนวนมาก ซึ่งการนำเสนอดังกล่าว ทำให้ตัวเกมถูกวิจารณ์อย่างหนักจากหลายคน เนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการนำเสนอความเกลียดชังต่อชาวแอฟริกัน
หลังจากเกมดังกล่าวถูกวิจารณ์ด้านลบเป็นอย่างมาก Capcom จึงตัดสินใจปล่อย Trailer ตัวใหม่เพื่อโชว์ศัตรูที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งส่งผลลัพธ์ทำให้เกมดังกล่าวถูกโจมตีน้อยลง โดย Jun Takeuchi โปรดิวเซอร์ของเกมดังกล่าว ยอมรับว่าไม่คิดมาก่อนว่า Trailer จะมีกระแสด้านลบขนาดนี้ แต่ยืนยันว่าตัวเกมจะยังคงใช้ฉากเซตติง และไม่มีการเปลี่ยนแปลงคอนเทนต์จากเดิม
Night Trap – เกมมีเนื้อหาล่วงละเมิดเด็ก ล่อแหลม และรุนแรง
Night Trap เป็นเกมแนว Interactive Story คลาสสิกของปี 1992 ที่ใช้ภาพกราฟิก full motion video ของแพลตฟอร์ม Sega CD ซึ่งนอกจากเกมดังกล่าวเป็นตำนานเกมที่ช่วยผลักดันเทคโนโลยี กับการนำเสนอเนื้อเรื่องวิดีโอเกมแบบใหม่แล้ว เกมนี้ยังกลายเป็นดราม่ายักษ์ใหญ่ด้วยเกมเพลย์ที่มีความรุนแรง มีฉากล่วงละเมิดเด็ก พร้อมทั้งมีเนื้อหาล่อแหลมอีกด้วย ทำให้ Night Trap กลายเป็นหนึ่งในเกมที่ถูกทางรัฐบาลสหรัฐฯ เพ่งเล็ง พร้อมทั้งใช้เป็นเกมตัวอย่างว่าทำไมวิดีโอเกมจึงควรมีการตรวจสอบ และมีการจัดเรตที่เหมาะสม
Manhunt – เกมรุนแรงเกินไป
ความรุนแรงของเกม Grand Theft Auto กลายเป็นรุ่นน้องไปเลย หากเทียบกับ Manhunt ซีรีส์เกมลอบเร้นที่มีด้านการนำเสนอท่าปลิดชีพอันแสนโหดเหี้ยม ซึ่ง Manhunt ได้กลายเป็นประเด็นดราม่าร้อนระอุในวงการเกมทั่วโลกหลังจากเกิดคดี Stefan Pakeerah เด็กชายอายุวัย 14 ปี ลงมือสังหารเพื่อนของเขา Warren Leblanc อายุวัย 17 ปี แล้วผู้ปกครองของผู้เสียชีวิตกล่าวหาว่า Manhunt เป็นตัวยุยงส่งเสริมให้ลงมือก่อเหตุฆาตกรรม
นอกจากนี้ เกม Manhunt 2 ได้ถูกแบนในหลายประเทศ ตั้งแต่อังกฤษ, ไอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, เกาหลีใต้, อิตาลี หรือประเทศอื่น ๆ และแม้กระทั่งในประเทศสหรัฐฯ ก็มีการเตรียมจัดเรตให้เกมนี้ที่ AO หรือ Adult Only เพราะเนื้อหาเกมมีความรุนแรงสูงมาก จนทำให้ Rockstar Games ตัดสินใจใส่เซนเซอร์ เพื่อให้เกมสามารถรักษาเรตไว้ที่ Mature 17+
Hatred – เกมรุนแรงเกินไป
เกมที่ปล่อยให้ผู้เล่นสามารถกราดยิง NPC อาจเห็นมาเยอะแล้ว แต่ Hatred คือเกมแอ็กชันที่มีจุดประสงค์ชัดเจนว่าผู้เล่นต้องสังหารคนบริสุทธิ์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งแน่นอนว่าเพียงอ่านเนื้อหาเกมก็เชื่อว่าตัวเกมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม แต่อย่างไรก็ตาม มีชาวเน็ตสามารถขุดคุ้ยประวัติพบว่าผู้สร้างเกมมีความสัมพันธ์กับกลุ่ม Neo-Nazi และกลุ่มต่อต้านมุสลิมจากการไลค์เพจของเจ้าตัว ทำให้เกมดังกล่าวถูกถอดออกจากร้านค้า Steam รวมถึงกลายเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงในวงการเกมทั่วโลก
ต่อมา Gaben Newell ออกมาขอโทษที่ทำการลบเกม Hatred ออกจากร้านค้า พร้อมนำเกมดังกล่าวออกมาวางขายอีกครั้ง นอกจากนี้ Hatred ถูกจัดเรตจากหน่วยงาน ESRB ให้เป็นเกม AO หรือ Adult Only นั่นหมายความว่าเกมดังกล่าวจะให้จำหน่ายให้เฉพาะบุคคลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปแล้วเท่านั้น
Custer’s Revenge – เกมมีเนื้อหาโป๊โจ่งแจ้ง
Custer’s Revenge หรือมีอีกชื่อว่า Westward Ho เป็นเกมเนื้อหาผู้ใหญ่ พัฒนาโดย Mystique สำหรับแพลตฟอร์ม Atari 2600 และวางจำหน่ายในปี 1982 ซึ่งเกมดังกล่าวกลายเป็นเรื่องราวดราม่าใหญ่โตในวงการเกม และขึ้นแท่นเป็นเกมคลาสสิกที่ถูกจารึกลงประวัติศาสตร์ เพราะเกมดังกล่าวคือเกมโป๊เกมแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการขมขื่นเพศหญิง รวมถึงอาจเป็นเกมเดียวของ Atari ที่ระบุว่า “ห้ามขายสำหรับผู้เยาว์” และมีราคาแพงถึง 49.95 เหรียญฯ (1,619 บาท) เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กซื้อมาลองเล่นโดยเด็ดขาด
Mortal Kombat – เกมรุนแรงเกินไป
ก่อนที่ Grand Theft Auto จะตกเป็นแพะรับบาปที่รัฐบาลมักใช้เป็นเครื่องมือกล่าวโทษของวิดีโอเกม ก่อนหน้านี้ก็มี Mortal Kombat ซีรีส์เกมแนวต่อสู้ที่มีฟีเจอร์หลักคือท่าปลิดชีพ Fatality สุดโหด ซึ่งทำให้รัฐบาลหลายฝ่ายได้จับตามองเกมดังกล่าวและผู้ปกครองต่างช็อกกับความรุนแรงของเกมนี้ ด้วยเนื้อหาของ Mortal Kombat มีความรุนแรงมากสำหรับเกมยุคนั้น ก็ก่อให้เกิดองค์กร ESRB หรือหน่วยงานจัดเรตสื่อประเภทวิดีโอเกมของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1994 ซึ่งยังมีบทบาทสำคัญต่อการวางจำหน่ายเกมจนถึงทุกวันนี้
Six Days In Fallujah – ไม่ให้เกียรติทหาร
นี่อาจเป็นเกมที่มีจุดชนวนดราม่าที่แปลกประหลาดมาก ๆ สำหรับเกมทศวรรษที่ผ่านมา เพราะ Six Days In Fallujah เป็นสงครามของ Konami ที่ฟีเจอร์หลักคือพยายามนำเสนอเนื้อเรื่องที่อ้างอิงจากสงครามอิรัก แต่หลังจากประกาศเปิดตัวเกมอย่างเป็นทางการ เกมดังกล่าวได้สร้างกระแสความไม่พอใจแก่ครอบครัวของทหาร โดยกล่าวหาว่าเกมดังกล่าวมีเนื้อหาที่ “สมจริงเกินไป” และ “ไม่ให้เกียรติทหารที่เสียชีวิตในสงคราม” จนกลายเป็นเรื่องดราม่าในวงการทหารและเกมในช่วงเวลาหนึ่งเลยทีเดียว
แม้ Konami ออกมายืนยันแล้วว่าตัวเกมจะนำเสนอผ่านมุมมองของทหารในช่วงสงครามมากกว่าความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงทหารผ่านศึกบางคนออกมาสนับสนุนเกมนี้ แต่เนื่องจากทนกระแสความไม่พอใจไม่ไหว ทำให้ Konami ตัดสินใจยกเลิกการวางจำหน่าย และยกเลิกการพัฒนาเกม Six Days In Fallujah ในที่สุด
Carmageddon – เกมรุนแรงเกินไป
เกมเมอร์อาจไม่เชื่อมาก่อนว่าเกมแนว Combat Racing ที่ไม่ค่อยมีเนื้อหาเป็นพิษเป็นภัยจะกลายเป็นเรื่องดราม่าระดับโลกในวงการเกมได้ แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะมันเกิดขึ้นกับ Carmageddon เกมแข่งรถเนื้อหารุนแรงที่ผู้เล่นสามารถชนมนุษย์กับสัตว์จนเศษชิ้นส่วนร่างกายต่าง ๆ กระจายทั่วถนน
เนื่องจากความรุนแรงของเกมดังกล่าว ทำให้ Carmageddon ถูกแบนห้ามวางจำหน่ายในประเทศเยอรมนี บราซิล อาร์เจนตินา และสำหรับเกมเวอร์ชันอังกฤษ ตัวเกมมีการเซนเซอร์เนื้อหาด้วยการเปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นซอมบี้ พร้อมกับเปลี่ยนสีเลือดเป็นสีเขียว ถึงอย่างนั้น เกมดังกล่าวสามารถทำยอดขายทั้งหมด 2 ล้านชุด แม้มีการแบนในหลายประเทศก็ตาม
Fight of Gods – เกมมีเนื้อหาล้อเลียนศาสนา
Fight of Gods เป็นเกมต่อสู้ล้อเลียนที่นำตัวละครต่าง ๆ จากบุคคลสำคัญทางศาสนาไปจนถึงเทพเจ้ามาต่อสู้ด้วยกันเอง ซึ่งตอนแรกเกมดังกล่าวไม่ค่อยมีประเด็นถกเถียงซะเท่าไหร่นัก จนถึงกระทั่งตัวเกมเพิ่มตัวละครพระเยซูกับพระพุทธเจ้าเข้ามา ทำให้เกมดังกล่าวกลายเป็นกระแสดราม่าร้อนแรงด้วยเพียงเวลาอันสั้น โดยตัวแทนศาสนาหลายฝ่ายออกมาต่อต้านกับวิจารณ์เกมดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เพราะถือเป็นการลบหลู่ศาสนาอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ ดราม่าดังกล่าวส่งผลทำให้หน่วยงานรัฐบาล Malaysian Communications and Multimedia Commission หรือ MCMC สั่งแบนการเข้าถึงเว็บไซต์ Steam ในประเทศมาเลเซียทันทีโดยไม่มีข้อยกเว้น หลังรับทราบว่า Fight of Gods เป็นเกมที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการล้อเลียนศาสนา ทาง Steam จึงจำเป็นต้องแบนเกมดังกล่าวในประเทศมาเลเซีย เพื่อเกมเมอร์ชาวมาเลเซียสามารถเข้าถึง Steam ได้อีกครั้ง
Grand Theft Auto – เกมมีเนื้อหารุนแรง และคอนเทนต์ล่อแหลม
แน่นอนว่าถ้าหากพูดถึงเกมที่ตกเป็นเรื่องราวดราม่ามากที่สุด ก็ไม่มีทางหนีพ้นเกมซีรีส์ GTA เพราะไม่ว่าจะเป็นเกมภาคไหน เกมดังกล่าวต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือโจมตีจากเหล่าผู้ปกครองกับรัฐบาลทุกครั้ง เนื่องจากตัวเกมที่มีเนื้อหารุนแรง และมีความเปิดกว้างให้ผู้เล่นสามารถกราดยิงใส่ NPC ได้
แต่เคสฉาวที่โด่งดังที่สุดของ GTA ก็คือ Hot Coffee ของภาค San Andreas หรือโหมดลับที่ให้ผู้เล่นมีเพศสัมพันธ์กับ NPC ในเกม ซึ่งตัวเกมต้นฉบับถูกซ่อนไว้ไม่ให้เล่น แต่ Modder สามารถกู้คืนไฟล์นำกลับมาเล่นได้อีกครั้ง ทำให้ GTA SA ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และรัฐบาลได้มีการสั่งสอบสวน Rockstar Games พร้อมทั้งเรียกร้องหน่วยงาน ESRB ให้ปรับเรตติงเกม GTA SA เป็น AO โดยทันที ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน Rockstar Games ได้ปล่อย Patch ใหม่เป็นลบคอนเทนต์ Hot Coffee ทั้งหมดออกจากเกมอย่างถาวร
Devotion – ล้อเลียนสี จิ้นผิง
ถือว่าประเด็นเดือดของวงการเกมฝั่งเอเชียใกล้บ้านเราพอสมควร ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ในปี 2019 มีเกมเมอร์คนหนึ่งค้นพบว่าเกมสยองขวัญชื่อดังสัญชาติไต้หวันอย่าง Devotion มีการแอบสอดแทรกเนื้อหาล้อเลียนประธานาธิบดีของประเทศจีน สี จิ้นผิง ว่าเป็นหมีพูห์ ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้เกมเมอร์ชาวจีนเดือดดาล จนเกิดการรีวิวบอมบ์ใน Steam Review กลายเป็นเกมมีกระแสวิจารณ์ในแง่ลบเป็นอย่างมาก รวมถึงมีการกระทบกระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน
แม้ทีมพัฒนาเกมจะออกมาแถลงการณ์ขอโทษถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และตัดสินใจถอดเกมออกจากร้านค้า Steam ชั่วคราวแล้ว แต่ทว่าเรื่องราวดราม่าได้ไปถึงหูของฝ่ายรัฐบาลจีน ทำให้มีการสั่งปิดทีมตัวแทนจำหน่ายเกมดังกล่าวทันทีโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น และตอนนี้ก็ไม่มีท่าทีว่าเกม Devotion จะถูกกลับมาวางขายใน Steam อีกครั้ง
Postal – เกมเนื้อหาโรคจิต และเหยียดเชื้อชาติ
Postal เป็นเกมแนว FPS พัฒนาโดยทีมงาน Running With Scissors ซึ่งเกมดังกล่าวก็จัดว่ามีกระแสถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ปกครองหลายฝ่าย ในด้านการนำเสนอเนื้อเรื่องรุนแรงมาก และมีคอนเทนต์เชิงเหยียดเชื้อชาติ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ Postal จะมีกระแสรีวิวไม่ดีซะเท่าไหร่นัก แต่ด้วยเนื้อหาค่อนข้างโรคจิตและเสียดสีสังคมได้อย่างเจ็บแสบ ทำให้ Postal ขึ้นแท่นเป็นเกม Cult Following ที่หลายคนติดตามจนถึงตอนนี้
Muslim Massacre – เกมมีเนื้อหาเกลียดชังชาวอิสลาม
เพียงแค่อ่านชื่อเกมก็สื่อทันทีว่าเกมนี้มีจุดประสงค์เพื่อแสดงความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมทุกคน คล้ายกับเกม Hatred จุดประสงค์หลักของเกมนี้คือผู้เล่นต้องสังหารคนบริสุทธิ์ (หรือรวมถึงผู้ก่อการร้าย) ให้ได้มากที่สุด แต่ว่าเป้าหมายของเกมนี้คือต้องยิงเป้าชาวมุสลิมในเกมทั้งหมดทุกคน
แน่นอนว่าเกมดังกล่าวกลายเป็นเรื่องราวดราม่าที่โด่งดังไปทั่วโลก รวมถึงทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเกมเมอร์ นักสิทธิมนุษยชน รัฐบาล หรือประชาชนล้วนออกมาประณามถึงเกมนี้ ซึ่งต่อมา Eric ‘Sigvatr’ Vaughn นักพัฒนาเกม Muslim Massacre ก็ได้ออกมาเผยสาเหตุที่พัฒนาเกมดังกล่าว ก็เพราะต้องการยั่วโมโหชาวมุสลิมที่ “โกรธทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้”
RapeLay – เกมมีเนื้อหาขมขื่นเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี
ปกติพวกเราไม่ค่อยเห็น Eroge หรือเกมโป๊ญี่ปุ่นเนื้อหา 18+ ถูกตกเป็นข่าววิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจาก Eroge ไม่วางจำหน่ายอย่างเปิดเผย รวมถึงไม่ขายต่างประเทศนอกจากชาวเกาะเท่านั้น แต่ทว่าในปี 2009 รัฐบาลอังกฤษได้ค้นพบว่าเกม RapeLay ของค่าย ILLUSION ได้มีการวางจำหน่ายในเว็บไซต์ Amazon ซึ่งเป็นเกมที่มีเนื้อหาให้เกมเมอร์สามารถข่มขืนตัวละครหญิงในเกม โดยตัวละครหญิงสองคนในเกม (ที่สามารถขมขื่นได้) เป็นเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ทำให้รัฐบาลวิพากษ์วิจารณ์เกมนี้อย่างรุนแรงจนกลายเป็นข่าวโด่งดังทั่วโลก
หลังจากเกม RapeLay กลายเป็นข่าว เว็บไซต์ Amazon ได้นำเกมดังกล่าวออกจากร้านค้าทันที รวมถึงกลุ่มพิทักษ์สตรี Equality Now มีการส่งจดหมายประท้วงเกมดังกล่าวไปถึงมือของ Taro Aso รองนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในช่วงนั้น
ILLUSION ก็ออกมายืนยันว่าเกมดังกล่าว ได้ผ่านการรองรับจากกฎหมาย และไม่มีแผนวางจำหน่ายนอกประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว นอกจากนี้ ทีมงานตัดสินใจนำเกม RapeLay ออกจากเว็บไซต์ รวมถึงระงับการวางจำหน่ายเกมดังกล่าว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อวงการเกมมากกว่านี้ (ซึ่งเอาจริง ๆ ทีมงานคงไม่แคร์ยอดขาย RapeLay เพราะเกมดังกล่าววางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2006 แล้ว) และเหตุการณ์นี้ ทำให้ทีมตัวแทนจำหน่ายกับทีมพัฒนาเกม Eroge บางเจ้า เริ่มปิดกั้น IP ไม่ให้ชาวต่างชาติเข้าเว็บไซต์ออฟฟิเชียล