ถ้าจะพูดถึงหนึ่งในทีมพัฒนาเกมหรือบริษัทเกมที่โด่งดังที่สุดในยุคปัจจุบันนั้น เชื่อได้ว่าชื่อของ CD Projekt ก็น่าจะปรากฎตัวขึ้นได้ไม่ยาก เพราะนี่คือทีมงานผู้พัฒนาเกม RPG Open World ที่โด่งดังที่สุดในอย่าง The Witcher 3
และถึงแม้ว่าผลงานล่าสุดของทีมงานนี้ อย่างเกม Cyberpunk 2077 อาจจะออกมาไม่โดนใจเกมเมอร์และประสบปัญหาวิบากกรรมมากมาย แต่ยังไงเสียเกมเมอร์หลายคนก็ยังเชื่อมั่นและรอคอยผลงานใหม่ของทีมงาน CD Projekt กันอยู่เสมอมา
แน่นอนว่าด้วยความสำเร็จระดับโลกขนาดนี้ บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่า CD Projekt ก่อกำเนิดจากจุดเริ่มต้นแสนเล็ก แถมกำเนิดมาจากการขายเกมเถื่อนเสียด้วย !!
คงยากที่จะมีใครนึกถึงบริษัทเกมมูลค่าพันล้านที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในวงการ และน่าจะยิ่งยากขึ้นไปอีกที่จะคิดฝันว่า CD Projekt หนึ่งในบริษัทเกมที่มีแฟน ๆ รักมากที่สุดในโลก มีความเกี่ยวข้องอะไรกับการขายแผ่นเกมเถื่อน แต่ถ้าผมจะบอกว่า CD Projekt คือบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาด้วยการขายเกมเถื่อน พวกคุณจะเชื่อกันหรือเปล่า ?
ในโอกาสครบรอบ 20 ปีการก่อตั้ง CD Projekt วันนี้เราจะพาทุกคนย้อนเวลากลับไป ณ จุดเริ่มต้นแรกของ CD Projekt กัน
จุดเริ่มต้น
ช่วงปี 1990 หลังสิ้นสุดสงคราม ขณะที่เศรษฐกิจของโปแลนด์กำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
Marcin Iwiński (มาร์ซิน อิซินสกี้) และ Michał Kiciński (มิคาล คิสินสกี้) สองเพื่อนรักเกมเมอร์ค้นพบว่าสื่อบันเทิงจากฝั่งตะวันตกอย่างวีดีโอเกมยังถือเป็นของที่หาได้ยากยิ่งภายในโปแลนด์
ทั้งคู่เล็งเห็นว่าเกมเมอร์ภายในประเทศไม่มีวีดีโอเกมใหม่ ๆ ให้เล่นกัน เกมเมอร์ในโปแลนด์ติดอยู่ในวีดีโอเกมจากยุค 80 ไร้ซึ่งความบันเทิงและเกมฮิตใหม่ ๆ และเพราะโปแลนด์ในตอนนั้นเรียกได้ว่าไร้ซึ่งกฎหมายลิขสิทธิ์ ทำให้ทั้งคู่ ตัดสินใจร่วมกันลงทุน “ปั๊ม” แผ่นเกมเถื่อน พร้อมกับ Crack ไปขายตามตลาด
ธุรกิจรูปแบบนี้ซึ่งไม่ต้องลงทุนอะไรมากแต่มันกลับทำเงินให้ทั้งสองอย่างมาก หากเป็นวัยรุ่นธรรมดาทั่วไปก็อาจจะพอใจกับเงินที่ได้มาและก็นั่งขายเกมเถื่อนกันต่อไป แต่ Marcin Iwiński (มาร์ซิน อิซินสกี้) และ Michał Kiciński (มิคาล คิสินสกี้) มีฝันที่ใหญ่และไกลกว่านั้น คือฝันของการที่จะทำให้โปแลนด์มีทีมพัฒนาเกมระดับโลกเป็นของตนเอง
ความฝันดังกล่าวพูดไปตอนนั้นก็คงเป็นเรื่องตลก ด้วยสภาพการณ์ของประเทศโปแลนด์เองและตลาดโดยรวม แต่เมื่อโอกาสมาถึงทั้งสองก็ไม่ลังเลที่จะคว้ามันเอาไว้
การเปลี่ยนแปลงของประเทศโปแลนด์มาถึงหลังสิ้นสุดสหภาพโซเวียตและประเทศมีการเลือกตั้ง โปแลนด์เปิดประเทศให้กลายเป็นตลาดแห่งใหม่และ CD Projekt ก็กลายเป็นบริษัทแรกของโปแลนด์ที่ตัดสินใจ “นำเข้าวีดีโอเกม” แบบถูกกฎหมายจากสหรัฐอเมริกา
ด้วยเงินลงทุนก้อนแรก 2,000 เหรียญพร้อมกับพื้นที่ Office ที่พวกเขาเช่าจากเพื่อนในกลุ่มแบบฟรี ๆ CD Projekt ก็ถูกก่อตั้งขึ้น ในปี 1994
ก้าวแรกในวงการเกม
CD Projekt กลายเป็นบริษัทนำเข้า CD เกมจากสหรัฐอเมริกาแบบเป็นทางการ ผลงานของพวกเขาคือการนำเข้าเกมดังจากค่ายทั้งหลายในยุคนั้นอย่าง Laser Games, Acclaim, Blizzard, Blue Byte, Interplay และ Psygnosis
แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลกเพราะการขายเกมถูกลิขสิทธิ์ก็มาพร้อมกับอุปสรรคใหญ่ที่พวกเขาเองก็มีส่วนสร้าง นั่นก็คือค่านิยมการเล่นเกมเถื่อนของเกมเมอร์ชาวโปแลนด์
Marcin Iwiński และ Michał Kiciński เล็งเห็นว่าวิธีที่จะต่อสู้กับแผ่นผีได้ดีที่สุดคือการ “ยกระดับ” มาตรฐานแผ่นถูกลิขสิทธิ์ การทำสินค้าให้ดีย่อมดึงดูดใจให้เกมเมอร์ยอมควักเงินที่แพงกว่า ทั้งคู่ยอมลงทุนให้มีการแปลเกมที่นำเข้ามาเป็นภาษาโปแลนด์
ในช่วงแรก CD Projekt เริ่มนำเข้าเกมจากหลายทีมพัฒนา แต่ผลงานที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จก้าวแรกคือการนำเข้าเกมของค่าย Bioware โดยซีรีส์ Baldur’s Gate ถือว่าเป็นสุดยอดเกม RPG ที่ดังที่สุดในโลก ณ ตอนนั้น และ CD Projekt ก็ตัดสินใจเสนอตัวขอแปลเกมดังกล่าวเป็นภาษาโปแลนด์พร้อมจัดจำหน่าย
CD Projekt ลงทุนครั้งใหญ่ มีการจ้างนักพากย์เข้ามาให้เสียง ตัวกล่องถูกออกแบบบรรจุอย่างดี และความตั้งใจของพวกเขาก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อ Baldur’s Gate ออกวางจำหน่ายและทำยอดได้ถึง 18,000 ชุดภายในวันเดียว ตัวเลขดังกล่าวอาจฟังดูน้อยนิดหากเทียบกับเกมสมัยนี้ แต่นั่นถือว่าเป็นยอดขายที่สูงที่สุดที่เกมถูกลิขสิทธิ์ทำได้ในโปแลนด์ยุคนั้น
Bioware และ Interplay Entertainment ยื่นข้อเสนอต่อไปให้กับ CD Projekt ทันทีกับผลงานใหม่ในชื่อ Baldur’s Gate : Dark Alliance ทางฝั่ง CD Projekt ก็มีการจ้างพนักงานเข้ามาเพิ่มเพื่อเตรียมรับงานใหม่และผลักดันคุณภาพการแปลให้เยี่ยมขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่งานแปลแต่อย่างเดียว แต่เป็นการ Port เอาตัวเกมจาก Version Console มาลงให้กับ PC อีกด้วย นับเป็นงานชิ้นใหญ่ของ CD Projekt เลยทีเดียว
วิบากกรรมครั้งแรกและกำเนิด The Witcher
6 เดือนผ่านไปหลังเริ่มโครงการ Interplay กลับเจอข่าวร้ายเมื่อเสียแหล่งเงินทุน ทำให้เสียสิทธิ์ Baldur’s Gate: Dark Alliance ไป ส่งผลแผนการ Port ตัวเกมมาลง PC ถูกยกเลิก ถึงแม้ตัว Code ของเกมจะถูกทีมงาน CD Projekt พัฒนากันไปแล้วหลายขั้นตอน
เมื่อไร้ผลงานที่จะเดินหน้าต่อ CD Projekt ตัดสินใจเดิมพันครั้งใหญ่ เปลี่ยนตัวเองจากบริษัทแปลเกมเป็นการเดินหน้าลุยพัฒนาเกมตัวเต็มของตัวเอง หลังผลงาน Baldur’s Gate: Dark Alliance ถูกยกเลิกแต่โค๊ดต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาไว้ยังเป็นสิทธิของพวกเขา
CD Proejekt หันไปหา Andrzej Sapkowski นักแต่งนิยายชื่อดังเจ้าของซีรีส์ “Wiedźmin” (เวียดซ์มิน) ซึ่งโด่งดังอย่างมากในโปแลนด์
เนื้อหาในนิยายก็บอกเล่าเรื่องราวการผจญภัยของ Geralt of Rivia นักล่าอสูรผู้ใช้อาคม ยาปรุง และเพลงดาบ พบเจอเรื่องราวมากมายหลากหลายบนดินแดนแฟนตาซีอันมืดหม่น
ในตอนนั้นแม้แต่ตัว Andrzej Sapkowski เองก็มองว่าวีดีโอเกมจากนิยายของเขาจะต้องล้มเหลวแน่ ๆ และตัดสินใจรับเงินก้อนเดียวแทนที่จะขอส่วนแบ่งรายได้เป็นเปอร์เซนต์จากการจำหน่ายเกม ซึ่งก็นำไปสู่ดราม่ามากมายตามมาภายหลัง เมื่อ The Witcher ฉบับวิดีโอเกมดันประสบความสำเร็จแบบมหาศาลในเวลาต่อมา
เมื่อได้สิทธินิยายที่ต้องการมาเป็นที่เรียบร้อย ทีมงาน CD Projekt กลับต้องเจอกับปัญหาใหม่ เพราะการพัฒนาเกมขึ้นมาด้วยตนเองไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หลังลองผิดลองถูกเป็นเวลาหนึ่งปีพวกเขาก็ยังไม่ได้ผลงานที่มีคุณภาพตามต้องการ แถมตอนนั้นเองตัวผู้ก่อตั้งทั้งสองคนอย่าง Marcin Iwiński (มาร์ซิน อิซินสกี้) และ Michał Kiciński (มิคาล คิสินสกี้) ก็ยอมรับว่าพวกเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการสร้างเกมเลยด้วยซ้ำ
เพื่อเป็นการแยกการจัดการแบบชัดเจน CD Projekt RED ถูกแยกออกมาเป็นทีมสำหรับพัฒนาเกมโดยตรง ขณะที่ CD Projekt จะดูแลในเรื่องการจัดจำหน่ายและการแปลเกมเป็นหลักต่อไป
พวกเขาพยายามสร้างสรรค์ผลงานเกมกันอยู่หลายรอบ ในปี 2002 เดโมแรกถูกสร้างขึ้นสำเร็จ แต่ก็เป็นผลงานเกมที่แม้แต่ผู้พัฒนาเองก็ยังยอมรับว่าเป็น “ขยะชัด ๆ” แน่นอนว่าเอาไปเสนอขอทุนและจัดจำหน่ายที่ไหนก็ไม่มีใครสนใจ
Bioware เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือ CD Projekt โดยตัวเกมที่ถูกพัฒนาอยู่ได้ Aurora engine ของ Bioware มาเป็นขุมพลังให้ แถมเมื่องาน E3 ปี 2004 มาถึง ทีมงาน Bioware ก็แบ่งพื้นที่เล็ก ๆ ในซุ้มของค่าย ข้างเกม Jade Empire ให้ CD Projekt นำเกมที่พัฒนาอยู่ไปจัดแสดง
เมื่อจะทำแล้วต้องทำให้ดีที่สุด จากทีมงานพัฒนาเกม 15 ชีวิต CD Projekt ขยายทีมไปถึง 100 ชีวิตและใช้เงินเกินกว่าที่ประเมินเอาไว้ไปมหาศาลด้วยทุนสร้าง 5 ล้านเหรียญ และการพัฒนายาวนานกว่า 5 ปี ในที่สุด Atari ก็เข้ามาขอจัดจำหน่ายตัวเกมในตลาดทั่วโลก ภายใต้ชื่อ ‘The Witcher’
มองย้อนกลับแม้แต่ทีมงานเองก็ไม่เชื่อว่าพวกเขาจะเข็นเกมภาคแรกออกมาได้สำเร็จ “ชิ้นส่วนทุกอย่างมันมั่วไปหมด แต่สุดท้ายเราก็เอาทั้งหมดยัดลงประกอบรวมกันออกมาเป็นเกมได้เฉยเลย มันสุดยอกมากเพราะเอาจริง ๆ แล้วผมคิดว่าตอนนั้นทุกคนในทีมไม่น่ามีใครเชื่อว่าเราจะทำเกมออกมาได้จริง” อดีตหัวหน้าฝ่ายศิลป์ตัวละครของเกมภาคแรก Paweł Mielniczuk (พาเวล เมียวนิชุค) เล่าเอาไว้
ก้าวแรกครั้งใหญ่ของ CD Projekt กับการวางจำหน่าย The Witcher
26 พฤศจิกายน 2007 ในที่สุดหลังผ่านการพัฒนาและการต่อสู้มายาวนานในที่สุด The Witcher ภาคแรกก็ออกวางจำหน่ายแบบเต็มตัว ตัวเกมประสบความสำเร็จเกินกว่าที่ทีมงาน CD Projekt คาดคิด
โดยจุดที่สื่อและผู้เล่นต่างพากันชื่นชมคือส่วนของเนื้อเรื่องและตัวละครซึ่งสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างน่าสนใจ ด้าน “ตัวเลือก” ภายในเกม การกระทำต่าง ๆ ของผู้เล่นส่งผลกระทบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและตัวเลือกก็ไม่ได้มีขาวดำ ผิดถูก แบบชัดเจน
ถึงแม้ตัวเกมจะประสบปัญหาบางส่วนในเรื่องของบัค ประสิทธิภาพ รวมไปถึงการแสดงผลและระบบการต่อสู้ อันมีสาเหตุจากการดัดแปลงเอาเอนจิ้น Aurora ซึ่งเป็นเอนจิ้นสำหรับเกม RPG แบบ Turn Based มาสร้างเป็นเกม Action RPG แบบ Real Time
ในด้านเนื้อเรื่องของเกมทีมงานก็ตัดสินใจ ไม่ได้หยิบเอาเนื้อหาในนิยายมาเล่าใหม่ แต่เป็นการเซ็ตฉากใหม่ขึ้นมาโดยใช้เนื้อหาในนิยายเป็นฉากหลัง เลือกให้ Geralt สูญเสียความทรงจำและออกผจญภัยครั้งใหม่ไปพร้อม ๆ กับผู้เล่นแทน แม้ตัวละครสำคัญ ๆ ในนิยายจะปรากฎตัวแต่ผู้เล่นในฐานะ Geralt ที่สูญเสียความทรงจำก็ค่อย ๆ ได้รู้จักกับตัวละครเหล่านี้รวมไปถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในโลกของเกมไปพร้อมกัน
เรียกได้ว่า CD Projekt เปิดตัวผลงานแรกได้อย่างน่าจดจำ และส่งโลกของ The Witcher และตัวละคร Geralt เข้าไปอยู่ในใจเกมเมอร์ได้สำเร็จ แน่นอนว่าการที่ตัวเกมภาคแรกทำผลงานออกมาได้ยอดเยี่ยมขนาดนี้แม้จะมีปัญหาอยู่บางจุดก็ทำให้หลายคนคาดหวังเป็นอย่างมากกับ The Witcher ในภาคต่อไป
ปัญหาครั้งใหม่
หลังตัวเกม The Witcher ออกวางจำหน่ายและประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามวิบากกรรมของ CD Projekt ก็ยังไม่จบลงง่าย ๆ หลังตัวเกมภาคแรกประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ทีมงาน CD Projekt RED ก็เริ่มต้นพัฒนา The Witcher 2 กันทันที ขณะเดียวกันก็มีการเริ่มต้นพัฒนาเอนจิ้นใหม่สำหรับ The Witcher 3 ไปด้วย
แต่แล้วปัญหาก็เริ่มก่อตัวขึ้น ในโครงการที่มีชื่อว่า The Witcher: Rise of the White Wolf ซึ่งเป็นโครงการ Port เอาตัวเกม Witcher ภาคแรกไปลงให้กับเครื่อง Console โดยผลงานชิ้นนี้ทาง CD Projekt ตัดสินใจพัฒนาร่วมกับทีมงานในประเทศฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า Widescreen Games
ตัวโครงการพบเจอกับปัญหาหลายอย่าง และเข้าสู่สถานะหลุมดำ ทีมงาน Widescreen Games เรียกร้องให้มีการจ้างทีมงานใหม่เข้ามาเพิ่ม และเรียกร้องการจ่ายเงินเดือนที่สูงขึ้น ๆ ส่งผลให้สุดท้ายแล้ว CD Projekt ก็ตัดสินใจยกเลิกโครงการดังกล่าว
การยกเลิก The Witcher: Rise of the White Wolf สร้างปัญหาตามมาหลายอย่าง ค่าย Atari เรียกร้องให้ CD Projekt จ่ายเงินทุนที่ทางค่ายลงทุนไปกลับคืนมา เพราะ Atari เป็นผู้ออกทุนในโครงการ Port ตัวเกมไปลง Console
ปัญหาคดีความและการพัฒนา White Wolf ทำให้ค่ายเผชิญหน้ากับสภาวะการล้มละลาย ซ้ำร้ายวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2007 – 2008 ก็พัดโหมกระหน่ำ ทีมงานต้องรวบรวมสมาธิกลับมาโฟกัสกับการสร้าง The Witcher 2 และมีการตัดสินใจยกเลิกเกม FPS ซึ่งมีชื่อว่า They ที่ทีมงานลูกอย่างทีม Metropolis กำลังพัฒนาอยู่ทิ้งไป เพื่อรวมขุมกำลังทั้งหมดกลับมาสร้าง The Witcher 2 และเอนจิ้น The Witcher 3
The Witcher 2 ต่อยอดความยอดเยี่ยมจากภาคแรก
The Witcher 2: Assassins of Kings เปิดตัวในวันที่ 18 กันยายน ปี 2009 ครั้งนี้ทีมงาน CD Projekt RED ใช้เอนจิ้นใหม่ซึ่งพวกเขาพัฒนาขึ้นมาเองเป็นขุมพลังหลักของตัวเกม โดยเอนจิ้นดังกล่าวคือ RED engine
หลังค่อย ๆ ปล่อยวิดีโอ Trailer ใหม่ ๆ ออกมายั่วยวนเหล่าแฟนเกมและคอ RPG ในที่สุดวันที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง The Witcher 2: Assassins of Kings ออกวางจำหน่ายในวันที่ 17 พฤศภาคมปี 2011 และกระแสตอบรับของตัวเกมก็ร้อนแรงยิ่งกว่าภาคแรกไปอีกระดับ
ตัวเกมในภาคที่สองยกระดับเกมตระกูล The Witcher ไปอีกขั้น ความเข้มข้นของเนื้อหาที่เคยเป็นจุดเด่นก็ไม่ได้จางหายไปไหน ขณะเดียวกันระบบต่าง ๆ ทั้งการต่อสู้ การใช้ Item ก็ถูกขัดเกลาให้ยอดเยี่ยมมากยิ่งขึ้น ฉากคัทซีนและบทสนทนาก็มีการกำกับภาพมีการพากย์เสียงแบบเต็มรูปแบบ ภาพกราฟิกในเกมก็สวยงามสุดล้ำ
สุดท้ายแล้ว The Witcher 2 กวาดรางวัลต่าง ๆ มากมายไปกว่า 50 รางวัล คว้ารางวัลเกมแห่งปีและเกม RPG ยอดเยี่ยมจากหลายสำนัก กลายเป็นก้าวที่สองอันสุดแสนมั่นคงของ CD Projekt หลังตัวเกมภาคแรกอาจจะได้รับความนิยมในเฉพาะหมู่แฟน RPG ตัวจริง หรือคอเกม PC แบบ Hardcore แต่ The Witcher 2 ได้ปักหมุดหมายสำคัญส่งให้ชื่อ CD Projekt กลายเป็นที่จับตามอง
สัญลักษณ์แห่งความภูมิใจของชาวโปแลนด์
หลังประสบความสำเร็จอย่างสูงในเกมทั้งสองภาคและชื่อ The Witcher ก็กลายเป็นสัญลักษ์ที่สำคัญของโปแลนด์ เปิดให้ผู้คนจากทั่วโลกเข้ามาทำความรู้จักกับนิยายต้นฉบับและวัฒนธรรมของที่นี่ ตัวเกม The Witcher ก็กลายเป็นความภาคภูมิใจสำคัญของชาวโปแลนด์
แม้แต่สื่อทั่วไปก็ยังต้องพูดถึงเกมนี้หลังในปี 2014 ประธานาธิบดี Barack Obama ได้พูดถึงตัวเกมในระหว่างเดินทางไปเยือนประเทศโปแลนด์
“ครั้งสุดท้ายที่ผมมาเยอะโปแลนด์ ท่านประธานาธิบดี Donald Tusk (ประธานาธิบดีโปแลนด์) ได้ให้ของขวัญผมเป็นวิดีโอเกมซึ่งพัฒนาในโปแลนด์นี่เอง ซึ่งตัวเกมก็ชนะใจแฟน ๆ จากทั่วโลก ผมต้องยอมรับว่าผมเองไม่เก่งเรื่องวิดีโอเกมเท่าไหร่
แต่ก็ได้ยินมาว่า The Witcher เป็นตัวอย่างสำคัญของเศรษฐกิจโปแลนด์บนตลาดโลก ซึ่งเกมนี้ก็เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่อุทิศให้เหล่านักพัฒนาที่มากฝีมือและทำงานอย่างหนักในโปแลนด์ และก็เป็นสัญลักษณ์สำคัญของผู้นำที่ยอดเยี่ยมอย่างท่านประธานาธิบดี Donald”
The Witcher 3 จารึกสำคัญที่ส่งให้ CD Projekt ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของวงการ
อย่างที่เล่ากันไปข้างต้นจริง ๆ แล้ว CD Projekt มีแผนการพัฒนา The Witcher 3 ตั้งแต่ในช่วงที่ The Witcher ภาคแรกเพิ่งจะพัฒนากันเสร็จและออกวางจำหน่ายไป แต่ปัญหาหลายอย่างที่ทีมงานเผชิญในช่วงนั้นก็ส่งให้ตัวเกมภาคนี้เริ่มต้นพัฒนากันจริง ๆ ในช่วงปี 2011
ตัวเกมนั้นใช้เอนจิ้น RED engine 3 ซึ่งออกแบบมาเพื่อพัฒนาเกม RPG ที่มีเรื่องของตัวเลือกและผลกระทบต่อโลกในเกมโดยเฉพาะ
แม้ตัวเกมจะมีระบบหลายอย่างเหมือนกันกับเกมสองภาคแรกที่สิ่งที่ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของซีรีส์นี้ก็คือการที่ตัวเกม The Witcher 3 จะกลายเป็นเกม Open World แบบเต็มรูปแบบ
ตัวเกม The Witcher 3: Wild Hunt ถูกเปิดตัวในปี 2013 พร้อมระบุวันวางจำหน่ายเป็นปลายปี 2014 ก่อนที่ตัวเกมจะถูกเลื่อนไปเป็นกุมภาพันธ์ปี 2015 สร้างความผิดหวังอย่างมากให้กับแฟน ๆ ในตอนนั้น และสุดท้ายพอเดือนกุมภาพันธ์ตัวเกมก็เสร็จไม่ทันแล้วก็โดนเลื่อนอีกรอบไปวางจำหน่ายกันจริง ๆ ในเดือนพฤษภาคมปี 2015 แทน
ตั้งแต่ตอนเปิดตัว The Witcher 3 ก็ถูกจับตามองโดยทันทีในฐานะว่าที่สุดยอดเกม RPG Open World น้องใหม่ที่จะมายกระดับเกมแนวนี้ไปอีกครั้ง หลังที่ผ่านมาเกมแนวนี้ถูกถือครองตำแหน่งเอาไว้โดยซีรีส์อย่าง Elder Scroll และ Fallout มาโดยตลอด
และเมื่อ The Witcher 3 Wild Hunt ออกวางจำหน่ายจริง ๆ มันก็ทำให้โลกของเกม Action RPG Open World ถูกเปลี่ยนไปตลอดกาล
เรื่องความยอดเยี่ยมของตัวเกมนี้เราแทบจะไม่ต้องบรรยายกันมาก เชื่อได้ว่าแทบทุกคนคงจะได้ลองสัมผัสกับเกมนี้กันมาแล้ว ตัวเกมเหนือล้ำด้วยภาพกราฟิกที่สวยงามที่เอามาเล่นตอนนี้แม้จะผ่านมาแล้วหลายปีก็ยังสวยเหมือนเดิม เนื้อเรื่องที่ยอดเยี่ยมกินใจ ระบบการต่อสู้ที่ยกระดับความเป็นเกม Action ดั้งเดิมไปอีกขั้น
และที่ยอดเยี่ยมที่สุดก็คือโลก Open World ในเกมที่กว้างใหญ่ เต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมที่สวยงามและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา เพียง 6 สัปดาห์หลังการวางจำหน่ายตัวเกมขายไปได้ถึง 6 ล้านชุด และเมื่อถึงช่วงสิ้นปี 2015 The Witcher 3 Wild Hunt ก็กวาดรางวัลจากสำนักต่าง ๆ ทั่วโลกไปกว่า 300 รางวัล ส่งให้ CD Projekt Red ขึ้นสู่ตำแหน่งทีมพัฒนาแห่งปี และคว้ารางวัลเกมแห่งปีไปด้วยในงาน The Game Awards ปี 2015
หลังการวางจำหน่าย The Witcher 3 ชื่อของ CD Projekt ก็เข้าไปยืนอยู่เป็นอันดับหนึ่งในใจแฟน ๆ ทั่วโลกในฐานะนักพัฒนาเกมมากฝีมือ ผู้เอาใจใส่แฟน ๆ ทั้งการอัพเดทตัวเกมมากมาย การใส่เนื้อหาใหม่ ๆ แถมตอกย้ำคุณภาพด้วยการปล่อยสุดยอด Expansion ที่อัดแน่นด้วยเนื้อหาอย่าง Hearts of Stone และ Blood and Wine
สายตาทั่วโลกต่างจับจ้องไปที่ผลงานชิ้นต่อไปของพวกเขาซึ่งถูกเปิดตัวไปก่อนหน้านี้แล้วในปี 2012 ทุกคนเชื่อว่าผลงานชิ้นนี้จะยกระดับวงการได้อีกครั้ง กับตัวเกมที่มีชื่อว่า Cyberpunk 2077
Cyberpunk 2077 สุดยอดการตลาดกับผลงานจริงที่ไม่ถึงฝั่งฝัน
Cyberpunk 2077 ถูกเปิดตัวในปี 2012 และก็ถูกคาดหวังว่าจะเป็นสุดยอดผลงาน ณ ตั้งแต่ วินาที แรกที่เกมถูกเปิดตัว นี่เป็นสูตรสำเร็จที่ใคร ๆ ก็คิดว่ามันจะต้องเป็นเกม RPG แห่งยุคสมัย เพราะได้ทีมงาน CD Projekt ที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นมาหยิบจับเอาจักรวาลบอร์ดเกมระดับตำนานอย่าง Cyberpunk
เพียงแค่ CG Trailer อันแรก็ทำให้หลายคนคลุ้มคลั่งเฝ้ารอคอยติดตามความเป็นไปของสุดยอด Project เกมใหม่เกมนี้
หลังแฟน ๆ เฝ้าติดตามข่าวสารตัวเกมมานานหลายปี ในที่สุดในปี 2018 CG Trailer แรกพร้อมกับ Gameplay Trailer แรกก็ถูกเปิดตัว มันสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งวงการ และเกมเมอร์ทั่วโลกก็ยิ่งตั้งความหวังกับตัวเกมมากขึ้นไปอีก
นี่เป็นหนึ่งในสุดยอด Trailer เกมที่มีคนรับชมมากที่สุดในโลกด้วยยอดวิวสองวิดีโอ วิดีโอล่ะ 22 ล้านวิว
ตัวเกมคว้ารางวัลมากมายจากงาน E3 ในปีนั้น และตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา Cyberpunk 2077 ก็ก้าวขึ้นมาเป็นวิดีโอเกมที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในโลก ฝ่ายการตลาดของ CD Projekt ก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเกมค่อย ๆ ถูกเปิดเผยออกมาทีละนิด
เกมเมอร์คาดฝันกันว่านี่จะเป็นสุดยอดเกมที่ดีที่สุดในโลก มีระบบทุกอย่างที่พวกเขาต้องการและเฝ้าฝันมานาน ความร้อนแรงและกระแสความไฮป์ของตัวเกมไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลง มีแต่เพิ่มความร้อนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป
งาน E3 ปี 2019 ค่าย CD Projekt ทิ้งระเบิดลูกใหญ่ด้วยการเปิดตัวว่าดาราดังระดับโลกอย่าง คีอานู รีฟส์ จะมารับบทเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องอย่าง Johny Silverhand
การปรากฎตัวบนเวที E3 พร้อมกับฉากในตำนานอย่าง “You’re breathtaking” ยิ่งผลักดันความแรงของตัวเกมไปอีกขั้น เรียกได้ว่าในตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าจะมีอะไรมาทำให้เกมนี้ล้มเหลวได้อีกแล้ว เกมเมอร์ทั่วโลกเฝ้าคอยที่วันวางจำหน่ายของ Cyberpunk 2077 จะมาถึง เรียกได้ว่าจะไม่ยอมตายกันเด็ดขาดจนกว่าจะได้เล่นเกมเกมนี้
หลังการเลื่อนวางจำหน่ายมาหลายต่อหลายรอบในที่สุดวันที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง 10 ธันวาคมปี 2020 Cyberpunk 2077 วางจำหน่ายสู่อ้อมกอดเกมเมอร์ทั่วโลกเสียที
และทันทีที่ตัวเกมออกวางจำหน่ายแบบเต็ม ๆ กระแสรีวิวและดราม่าก็ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในฝั่งของสื่อนั้น คะแนนรีวิวของ Cyberpunk 2077 ก็ออกมาในเชิงบวกเป็นส่วนใหญ่ นักรีวิวชื่นชอบในเรื่องของกราฟิก เนื้อหา และตัวละครของเกม ในขณะที่ระบบการเล่น รวมไปจนถึงเนื้อหาในแบบ Open World ก็ถูกติติงในบางส่วน
แต่ดราม่ามันเริ่มขึ้นเมื่อมีการยืนยันว่า CD Projekt บังคับให้สำนักรีวิวทั้งหลายรีวิวได้เฉพาะตัวเกมบน PC เท่านั้น และวิดีโอฟุธเทจทั้งหมดที่ถูกใช้ในการรีวิวได้ถูกเลือกโดย CD Projekt และการผิดข้อสัญญาก็หมายถึงการถูกปรับเป็นเงินหลายหมื่นเหรียญ
ซ้ำร้ายเมื่อตัวเกมจริงถูกปล่อยถึงมือผู้เล่น เกมเมอร์ค้นพบว่าประสิทธิภาพของตัวเกมนั้นย่ำแย่เอามาก ๆ ตัวเกมเต็มไปด้วยบัคต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะตัวเกมใน Version เครื่อง Console ทั้งบน PS4 และ Xbox One
สภาพขอตัวเกมนั้นเรียกได้ว่าแทบจะเล่นไม่ได้จริงบนเครื่อง Console และในเวลาไม่นานกระแสต่อต้านแสดงความผิดหวังก็ถูกจุดขึ้น สื่อพากันออกมารายงานว่า การวางจำหน่ายของ Cyberpunk 2077 นั้นน่าผิดหวัง และเป็นการล่วงจากจุดสูงสุดของค่าย CD Projekt จากใจแฟน ๆ
CD Projekt ออกแถลงการณ์ขอโทษแฟน ๆ และยอมให้มีการขอคืนเงินโดยไม่มีเงื่อนไข แม้จะไม่ได้มีการพูดคุยกับทาง SOny หรือ Microsoft ก่อนแต่อย่างใด นำไปสู่ความสับสนของแฟน ๆ และปัญหาอีกหลายอย่างตามมา
17 ธันวาคม 2020 หรือ 7 วันหลังตัวเกมวางจำหน่าย Sony ตัดสินใจถอดเกม Cyberpunk 2077 ออกจากร้านค้าและประกาศคืนเงินให้แฟนเกมที่ซื้อตัวเกมไปแล้ว
แม้คะแนนรีวิวโดยรวมของเกมจะเป็นไปในทางบวก แต่การวางจำหน่ายเกม Cyberpunk 2077 ก็ฉุดหุ้นของ CD Projekt ให้ล่วงลงไปถึง 9.4% นำไปสู่การฟ้องร้องอีกมากมายตามมาภายหลัง จากทั้งเหล่าผู้ถือหุ้นและกลุ่มลูกค้า
รายงานภายหลังบ่งชี้ว่าปัญหาของตัวเกมเกิดขึ้นเพราะ CD Projekt ประเมินงานที่ต้องลงทุนลงแรงในการสร้าง Cyberpunk 2077 ให้ออกมาตามที่คาดฝันเอาไว้ต่ำเกินไป แม้จะมีการใช้แรงงานมากกว่าในการพัฒนาเกม The Witcher 3 ถึง 2 เท่า แต่ฝ่ายบริหารคิดว่าตัวเกมน่าจะใช้เวลาในการพัฒนาเท่า ๆ กับการสร้าง The Witcher 3
ผลก็คือการสร้างเกมส่วนใหญ่เริ่มต้นจริง ๆ ในปี 2016 แต่การปรับโครงสร้างขยายขนาดตัวเกมให้ใหญ่ขึ้น และการเปลี่ยนไปใช้เอนจิ้นใหม่สร้างปัญหาให้กับการพัฒนา และมีการพยายามขอร้องให้มีการเลื่อนวันวางจำหน่ายของเกมกันแล้วในหมู่ทีมงาน
13 มกราคม ปี 2021 Marcin Iwiński หนึ่งใน CEO ของบริษัท CD Projekt ออกแถลงการณ์ขอโทษแฟนเกมแบบเป็นทางการ ยอมรับข้อผิดพลาดในการตัดสินใจวางจำหน่ายตัวเกมบน Console พร้อมยืนยันจะทำทุกวิธีให้ตัวเกมกลับมามีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในเร็ววัน
และเรื่องราวหลังจากนี้เชื่อได้ว่าเกมเมอร์ทั้งหลายก็คงคุ้นเคยกันดี Cyberpunk 2077 ได้รับการอัพเดทใหม่เป็นระยะ มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของเกมหลายครั้ง แต่ความเสียหายในชื่อเสียงของทีมงาน CD Projekt ได้เกิดขึ้นไปแล้ว และสำหรับหลายคนชื่อ CD Projekt ไม่ได้ยิ่งใหญ่และการันตีคุณภาพเหมือนในอดีตอีกต่อไป
อนาคตที่ยังต้องเดินกันต่อสำหรับ CD Projekt
ถึงแม้ว่าผลงานล่าสุดของทีมงานอย่าง Cyberpunk 2077 อาจจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน เป็นเกมที่สมตามความหวังของเกมเมอร์ทุกคน แต่เราก็ไม่อาจปฎิเสธได้ว่า Cyberpunk 2077 ก็เป็นอีกก้าวสำคัญของบริษัทในตลาดเกมโลก และน่าจะเป็นบทเรียนสำคัญที่ส่งให้ CD Projekt
ปัจจุบัน CD Projekt ก็กำลังมีโครงการหลายอันก่อร่างสร้างตัวกันอยู่ เริ่มตั้งแต่ผลงาน DLC เนื้อเรื่องเสริมของเกม Cyberpunk 2077 ผลงานเกม The Witcher ภาคใหม่ และเนื้อหาใหม่ ๆ ของ GWENT เกมการ์ดออนไลน์ของค่าย และแฟน ๆ ก็ยังคงเฝ้ารอผลงานใหม่ ๆ เหล่านี้กันอยู่
มองย้อนกลับไปในตอนต้นกำเนิดของการก่อตั้งบริษัทเราจะเห็นได้ว่า CD Projekt ผ่านเรื่องราวมากมายกว่าจะมีวันนี้ วันที่พวกเขาคือหนึ่งในค่ายเกมที่โด่งดังที่สุดในโลก
การเริ่มต้นจากจุดล่างสุด การมองออกว่าเกมเมอร์ต้องการอะไร การกล้าที่จะเสี่ยงไปพร้อมกับความฝันอันยิ่งใหญ่ ทำให้ CD Projekt เป็นตำนานที่เกมเมอร์ทั่วโลกรักและเฝ้าคอยผลงานชิ้นใหม่ และแม้ปัจจุบันทีมงานก็จะยังเผชิญหน้ากับอุปสรรครูปแบบใหม่ ๆ แต่เราก็ขอเอาใจช่วยให้ทีมงาน CD Projekt ก้าวข้ามปัญหาทั้งหมดและกลับมาสร้างสุดยอดผลงานเกมให้พวกเราสนุกได้อีกครั้ง