สำหรับเกมเมอร์ที่อายุอานามรุ่นเดียวกับผู้เขียน ( 30+) น่าจะจดจำกันได้ว่าในปี 1998 นั้นเป็นปีที่สำคัญต่อวงการเกมในปัจจุบันขนาดไหน ทั้งความรุ่งเรืองของเครื่องเกม Playstation ที่ต่อเนื่องมาจากปีก่อน การวางจำหน่ายของ Gameboy Color เครื่องเล่นเกมพกพาแบบมีสีเครื่องแรก การวางจำหน่ายเครื่องเกมตัวสุดท้ายของ Sega ในชื่อ Dreamcast ที่รวมเกมชั้นดีเอาไว้มากมาย แต่ไปไม่ถึงดวงดาว เรียกว่าเป็นปีที่ชาวคอนโซลแฮปปี้มากอีกหนึ่งปี และรวมไปถึงผู้เล่นเกมตู้ด้วยเช่นกัน
และเป็นหนึ่งในปีทองของค่ายเกมจากญี่ปุ่น ที่มีชื่อว่า SNK กับการเปิดให้บริการเกมต่อสู้ภาคล่าสุดที่มีชื่อว่า The King of Fighter ’98 ที่วันนี้เราจะมาพูดถึงกันครับ
ก่อนอื่นก็ขอเกริ่นก่อนว่า บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความชิ้นยาวที่ผู้เขียนจะขอนำเสนอให้ทุกคนได้อ่านกัน และเพื่อเป็นการแสดงความเคารพรักที่มีต่อค่ายเกมในดวงใจอย่าง SNK โดยจะขอเริ่มที่เกมแรกที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันดีก่อนครับ
สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคย ก็ต้องเล่ากันไปไกลหน่อยว่า SNK เป็นค่ายเกมที่ในสมัยนั้นเรียกได้ว่าใหญ่มากที่สุดของญี่ปุ่นค่ายหนึ่ง มีเกมดังในเครือมากมายที่ส่วนใหญ่จะเป็นเกมต่อสู้เช่น Fatal Fury, Art of Fighting, Samurai Shodown หรือเกมแอคชั่นสุดฮาแตกอย่าง Metal Slug ก็ล้วนเป็นผลงานจากค่าย SNK ทั้งสิ้น และในปี 1998 ก็ถือว่าเป็นปีทองของพวกเขาที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในวงการทั้งในประเทศญี่ปุ่นและทั่วโลก จากเกมที่มีชื่อว่า The King of Fighters ’98 นั่นเอง
The King of Fighters นั้นเป็นเกมที่มีกติกาการเล่นต่างจากเกมต่อสู้ทั่วไปนิดหน่อย ตรงที่จะเป็นการจัดทีม 3 vs 3 ที่ไม่มีเกมไหนทำ (ปกติเกมต่อสู้ในยุคนั้นจะเป็นการเลือกตัวละครตัวเดียว และวัดผลแพ้ชนะกันแบบ 2 ใน 3 ยก) และมีตัวละครจากเกมดังในเครือของ SNK มาร่วมศึกมากมาย ทั้ง Terry Bogard จาก Fatal Fury, Ryo Sakazaki จาก Art of Fighting และยังมีตัวละครออริจินัลของเกมอีกหลายตัวที่เท่และได้รับความนิยมอยู่อีกเพียบ แถมยังมีตัวเวอร์ชั่นพิเศษแอบซ่อนเอาไว้ที่จะมีท่าไม้ตายต่างจากตัวละครเดิมให้เลือกอีก เรียกว่าเป็นภาคที่รวมดาวของนักสู้ในค่าย SNK มากที่สุดสมกับชื่อภาค Dream Match Never End กันเลย
ส่วนในบ้านเราก็มีเกมต่อสู้ให้ได้หวดกันมากมายในปีนั้น ทั้ง Street Fighter Zero 3, Soulcalibur และอีกมากมาย ทุกเกมต่างมีคนรอคิวหยอดรอเล่นรอสู้กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง รวมไปถึงในบ้านเราเองที่ธุรกิจเกมตู้ก็บูมถึงขีดสุด มีเกมใหม่ให้เล่นมากมายทั่วกรุงเทพ และในต่างจังหวัดบางแห่งก็มีให้เล่นเช่นกัน แต่ในบ้านเราตู้ที่มีคนมุงแทบจะเยอะที่สุดคงหนีไม่พ้น KOF ’98 เกมนี้ ไม่ว่าไปที่ไหน จะตู้เล็กตู้ใหญ่ ก็ยังมีผู้คนรุมล้อมเล่นเกมนี้กันอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายเลยทีเดียว
เพราะถ้าหากเทียบกันแล้ว KOF ’98 ถือว่าเป็นเกมที่รวมข้อดีทุกอย่างของเกมทุกภาคเอาไว้รวมกัน และรวมไปถึงตัวละครเกือบทุกตัวที่เคยปรากฏกายในเกมภาคเก่าก็กลับมากันเกือบหมด ด้วยกราฟฟิกที่ดูดีกว่าเดิม และระบบการเล่นต่อคอมโบที่พัฒนาให้ลื่นไหลมากขึ้น ถ้าหากจะว่ากันตามตรงแล้ว ภาคที่อยู่ในความทรงจำของผู้เล่นชนิดที่สลัดกันไม่หลุดก็คงจะเป็นภาคปี 98 ภาคนี้ เนื่องจากความลงตัวของมันทั้งระบบการเล่นและตัวละครที่รวมเข้ามาแทบจะทั้งหมดที่เคยออกมา เป็นภาคที่เล่นสนุก เข้าถึงง่าย ภาพและเสียงก็สวยคมชัดตามยุคสมัย ด้วยความนิยมที่มหาศาลขนาดนี้ ทำให้บ้านเราถึงกับเคยมีการจัดแข่งขันอย่างใหญ่โตทั่วประเทศกันเลย
สำหรับผู้เขียนเอง ในสมัยนั้นที่เพิ่งจะอยู่ในช่วงประถมที่ทางบ้านไม่มีเครื่องเล่นเกม ก็อาศัยมาดูมาหยอดเล่นในห้างอยู่บ่อยครั้ง แม้จะมีเงินไม่มาก แต่การได้เสพบรรยากาศได้ดูคนเก่งประลองฝีมือกันก็ถือเป็นอะไรที่น่าตื่นตาอยู่เสมอแม้เวลาจะผ่านมาร่วม 20 ปีก็ตาม เรียกว่าเป็นบรรยากาศที่หาได้ยากมากแล้วในยุคปัจจุบันที่ต่างคนต่างเล่นเกมออนไลน์กันอยู่ที่บ้านกันเกือบหมดแล้ว
ส่วนในปัจจุบันนี้ เราก็จะยังพอเห็นเกม KOF ’98 หลุดออกมาให้เห็นกันบ้างในรูปแบบอื่น เช่นเกมมือถือ เกมภาค Remake อย่าง The King of Fighters’98 Ultimate Match ที่มีให้หาซื้อเล่นกันอย่างสะดวกบน Steam และเครื่องคอนโซลอื่น ๆ กันอย่างเมามันส์ ด้วยระบบการเล่นที่พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น และตัวละครที่เพิ่มขึ้นมาจนครบถ้วน เป็นอีกหนึ่งเกม remake ที่ควรค่าแก่การหามาเล่นอย่างมาก
ซึ่งแน่นอนว่าความสำเร็จของ KOF ’98 นั้นมหาศาลและสร้างชื่อให้กับค่าย SNK อย่างยิ่งยวดในปีนั้น ยอดหยอดเหรียญทุกที่พุ่งสูงและได้รับความนิยม มีการแข่งขันเกิดขึ้นมากมายและสร้างฐานแฟน ๆ ขึ้นมาจนเหนียวแน่น แต่ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากปี 1998 SNK จะต้องเผชิญกับวิกฤติที่ทำให้บริษัทถึงกับต้องดิ่งวูบลงสู่ความตกต่ำอย่างเหลือเชื่อ จากการลงทุนและการตัดสินใจที่ผิดพลาดจนบริษัทต้องล้มละลายในที่สุด
แม้จะผ่านเวลามากว่า 20 ปี The King of Fighters ’98 ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเกมต่อสู้ที่สร้างความทรงจำดี ๆ ให้กับนักสู้ในสมัยนั้นหลายคน ตัวเกมยังคงมีการพูดถึงและถูกนำมาใช้แข่งขันอยู่เรื่อย ๆ ทั้งในงานเล็กงานใหญ่ แสดงให้เห็นถึงความนิยมที่ไม่เคยเสื่อมคลายไป แม้ในยุคนี้การนำกลับมาเล่นใหม่ก็ยังคงควรค่าและยังสนุกเหมือนเดิมทุกครั้งเมื่อได้เล่นกับคนรู้ใจ
สำหรับเรื่องราวของค่ายเกมยักษ์ใหญ่ ที่ยังอยู่รอดต่อลมหายใจมาได้จนทุกวันนี้จะเป็นอย่างไร ก็ขอให้ติดตามกันให้ดี ๆ นะครับ