ในยุคปี 90 ถือได้ว่าเป็นยุคทองของค่ายเกมจากญี่ปุ่นอย่าง Capcom จริง ๆ เพราะมีเกมที่น่าจดจำหลายเกมถือกำเนิดขึ้นในยุคนี้ รวมไปถึงเกมเก่าที่ต่อยอดมีภาคต่อที่น่าจดจำ เช่น Street Fighter, Rockman และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Resident Evil ที่สร้างกระแสกลายเป็นเกมขายดีประจำค่ายไปโดยปริยาย ก่อกำเนิดเกมแนว Survival Horror ตามมาอีกมาก ซึ่งแน่นอนว่าทาง Capcom เองก็ไม่ได้หยุดการสร้างเกมแนวนี้ออกมาแค่ Resident Evil เท่านั้น แต่ยังสร้างซีรีส์ใหม่ที่ระทึกไม่แพ้กันอย่าง Dino Crisis ออกมาด้วย
ย้อนกลับไปยังปี 1999 ที่ตอนนั้นยอดขายและชื่อชั้นของซีรีส์ Resident Evil นั้นกำลังไปได้สวย
มีเกมสยองขวัญหลายเกมที่ออกตามมามากมายบนเครื่อง PlayStation และทาง Capcom เองก็ไม่ได้หยุดการสร้างเกมแนวนี้อยู่แค่เกมเดียว และการสร้างนิยามความสยองขวัญแบบใหม่ก็น่าสนใจไม่น้อยหน้ารุ่นพี่ของมัน กับการนำเอาความน่ากลัวของเหล่าไดโนเสาร์ในอดีตกลับมาให้เราได้เผชิญหน้ากับมันอีกครั้ง ในชื่อว่า Dino Crisis
Dino Crisis เป็นผลงานของ Shinji Mikami ผู้ที่เคยฝากผลงานให้โลกประจักษ์มาแล้วใน Resident Evil ภาคแรก
ซึ่งในตอนแรกสุดทางคุณ Mikami และทีมงานมีความต้องการที่จะพัฒนาเกมในแบบที่ดูสมจริงออกมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีแต่เกมแนวแฟนตาซีออกมาเต็มไปหมด โดยเขานึกถึงภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมในยุคนั้นอย่าง Jurassic Park (จูราสสิค พาร์ค ,2536) และ Alien(เอเลี่ยน, 2522) ซึ่งเขามีความชื่นชอบสัตว์อย่างไดโนเสาร์มาก เพราะมันตัวโต ดุร้าย และน่ากลัว ซึ่งทำให้เขาเกิดไอเดียในการสร้างเกมสยองขวัญที่ให้บรรยากาศแบบในหนังเหล่านี้ออกมานั่นเอง
เนื้อเรื่องของเกมเกิดขึ้นในปี 2009 หน่วย SORT ที่เป็นหน่วยงานลับได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังเกาะแห่งหนึ่งที่เป็นศูนย์ทดลองอาวุธชีวภาพ เพื่อตามหาตัว Dr. Edward Kirk ที่เชื่อว่าตายไปแล้วหลายปี แต่กลับมาปรากฏตัวเป็นหัวหน้าทีมวิจัยอาวุธชีวภาพแทน และต้องพบกับสิ่งที่ไม่จะมีอยู่บนโลกอีกแล้วอย่างไดโนเสาร์ T-Rex ที่ไล่เขมือบทุกคนบนเกาะ ทำให้เหล่าสมาชิกในทีมต้องรีบหนีตายกันเป็นการด่วน และการเอาชีวิตรอดจากสิ่งมีชีวิตโบราณสุดระทึกก็ได้เริ่มต้นขึ้น
เชื่อว่าอย่างแรกที่หลายคนน่าจะจำกันได้เกี่ยวกับ Dino Crisis คือตัวเอกของเกมกันแน่นอน ซึ่ง Regina นั้นนอกจากจะเป็นสาวผมแดงที่ดูห้าวหาญและไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใดแล้ว เธอยังมาพร้อมกับชุดแนบเนื้อที่หลายคนเห็นแล้วต้องเหลียวมองซ้ำกันอีกรอบกันเลย แต่ได้ปลื้มไม่ทันไรก็ต้องตั้งสติหนีจากเหล่าไดโนเสาร์ที่เข้ามาตามล่าเธอและเพื่อนร่วมทีมอย่างไม่ลดละ
ซึ่งการที่ตัวเกมเปลี่ยนรูปแบบของศัตรูไปจากเดิมที่เป็นเหล่าซอมบี้ที่เชื่องช้า กลายมาเป็นเหล่าไดโนเสาร์ที่ถูกปลุกชีพขึ้นมานั้นเป็นความระทึกแบบใหม่ที่ผู้เล่นในยุคนั้นไม่เคยเจอมาก่อน เพราะพวกมันเร็วกว่าซอมบี้หรือศัตรูในเกม Resident Evil หลายเท่า แถมยังโจมตีได้รุนแรงขนาดที่ว่าไม่กี่ทีก็ตายได้เลย และที่สำคัญคือพวกมันฆ่าไม่ตาย ถึงแม้จะยิงมันจนล้มลงไปขนาดไหนก็ตาม
ซึ่งก็เหมือนกับในภาพยนตร์อย่าง Alien ที่มันไม่ยอมตายแบบจริง ๆ เสียที สำหรับผู้เขียนที่ได้ลองเล่นเกมนี้ครั้งแรกในสมัยเด็ก เจอเจ้า Raptor ลุกขึ้นมาอีกรอบหลังยิงจนล้มไปแล้วก็เป็นอะไรที่น่าตกใจอยู่ไม่น้อยจริง ๆ แถมบอสใหญ่อย่าง T Rex ก็น่าเกรงขามและระทึกทุกครั้งที่ปรากฏตัวออกมาอีกด้วย(โดยเฉพาะฉากโผล่หัวทะลุกระจกเข้ามานี่คลาสสิกมากจริง ๆ )
แม้ศัตรูจะฆ่าไม่ตาย แต่ตัวเกมก็มีระบบการเล่นชดเชยที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
เช่นการผสมยาสลบเพื่อใช้กับกระสุนปืนในเกม ซึ่งจะมีสูตรให้ผู้เล่นลองผสมมากมาย ยิ่งผสมได้ดี ศัตรูที่โดนยิงจนล้มก็จะสลบนานขึ้น และระบบมุมกล้องของเกมเองก็มีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นกว่าใน Resident Evil ก่อนที่จะถูกปรับปรุงต่อยอดเพิ่มในเกม Resident Evil: Code Veronica ในภายหลัง
ด้วยความแหวกแนวนี้เองทำให้ Dino Crisis กลายเป็นที่จดจำของเหล่าเกมเมอร์ได้อย่างไม่ยากเย็น และยังได้รับคำวิจารณ์และยอดขายที่น่าพอใจที่ 2.4 ล้านชุดทั่วโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นภาคต่อของเกมออกมาในปีต่อมาทันที แต่คราวนี้ตัวเกมเปลี่ยนแนวไปเป็นแบบยิงแหลก ไม่ใช่ยิงแล้วสลบแบบเดิม แต่เพราะด้วยอาวุธที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีความรู้สึกสะใจเวลายิง ทำให้ตัวเกมก็ยังพอเอาตัวรอดในด้านยอดขายไปได้บ้างที่ 1.19 ล้านชุดและคะแนนวิจารณ์ที่ค่อนข้างผสม ๆ กันระหว่างชอบมากกับไม่ค่อยประทับใจ แต่ก็ยังอยูในเกณฑ์ที่รับได้
และพอมาถึงภาคที่สาม ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะหลุดกรอบมากจนเกินพอดี เพราะคราวนี้ตัวเกมพาผู้เล่นไปยังยุคอวกาศ ทั้งอาวุธ ระบบการเล่น และเหล่าไดโนเสาร์ที่ถูกแปลงโฉมจนผู้เล่นอุทานว่า “อะไรวะ” ตั้งแต่แรกเห็น ซึ่งก็ไม่แปลกใจว่าผลตอบรับที่ได้นั้นจะเลวร้ายตามคาด และชื่อของ Dino Crisis ก็ได้เลือนหายไปจากสารระบบของ Capcom ในเวลาต่อมา
ถึงแม้ตัวเกมในภาคหลังนั้นจะเลวร้าย แต่เกมเมอร์ยุคเก่าหลายคนก็ยังคงชื่นชอบ Dino Crisis ในภาคแรก ๆ กันอยู่ไม่น้อย
ด้วยระบบการเล่นที่มีความคิดสร้างสรรค์แตกต่างจาก Survival Horror อื่น ๆ ในยุคนั้นที่เน้นไปที่การฆ่าศัตรู แต่ให้ใช้ไหวพริบและสิ่งของผสมกันเพื่อเอาตัวรอดแทน ซึ่งผู้เขียนเองก็หวังว่าในอนาคตนี้เราจะได้เห็นข่าวดีของเกมนี้ออกมาให้ได้ชื่นใจกันอีกครั้ง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ข่าวลือที่มาแล้วหายไปครับ