BY เกมเมอร์อมตีน
4 Jul 18 10:11 pm

4 เหตุผลที่ทำให้ “อารยธรรม Loot Box” ยังไม่สูญสิ้นจากโลก

4 Views

“Loot Box” ชื่อที่ใครหลายคนได้ยิน ก็รู้สึกถึงความเค็มในทันที

ก่อนอื่นขอเล่าประวัติของอารยธรรมอันชั่วร้ายนี้สั้นๆ ก่อนว่า มีที่มาจากอะไร

หากใครที่อยู่ในวงการของเล่นมาก่อนน่าจะเข้าใจคำว่า “กาชา” ได้ดี เพราะมันมาจากคำว่า “กาชาปอง” (Gashapon) หรือเครื่องสุ่มของเล่น ที่อยู่คู่ญี่ปุ่นมาหลายสิบปี และยังคงเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน เพราะความที่ผู้คนนิยมเล่นกันมากๆ ประกอบกับเทคโนโลยีเกมมือถือได้ถูกพัฒนาให้ตอบสนองต่อผู้เล่นมากขึ้น เราจึงได้เจอ “กาชา” บนมือถือ และมันก็ทำรายได้ให้บริษัทเกมเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางกระแสของบางประเทศที่ต่อต้านเรื่องนี้

แต่อย่างไรก็ตาม อารยธรรม Loot Box บนโลกของเกมจะไม่หายไปอย่างง่ายดาย ตราบใดที่มีเหตุผลดังต่อไปนี้

1. มันทำเงินได้ดีมากๆ สำหรับบริษัทเกม

หากคุณเป็นบริษัทผู้พัฒนาเกม และอยากใส่ระบบที่สามารถหาเงิน (Microtransactions) ได้มากกว่าการขายของในเกมตามปกติ คุณก็เอาสิ่งของนั้นใส่กิจกรรมกาชาไปสิ และพยายามกระตุ้นผู้บริโภคว่า “ตัวนี้เรทออกยากมาก” ทำให้ของที่อยู่ในนั้นดูมีคุณค่า ซึ่งก็ต้องพึ่งการวางแผนการตลาดต่อกลุ่มผู้เล่นที่ดีอีกด้วย ทำให้ผู้คนรู้สึกหลงรักในตัวเกมของคุณ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน นี่จะเป็นเครื่องมือทำเงินที่เยี่ยมมากๆ

แต่ก็มีเหมือนกันที่บางเกมอาจจะไม่ได้รับการตอบรับที่ดี เพราะของที่อยู่ในนั้นมีผลให้เกิดการแพ้ชนะหรือ Pay to win จนเกมเสียสมดุล โดยปกติแล้ว ถ้าเป็นเกมฟรีก็คงมีหัวร้อนนิดหน่อย แต่ก็บ่นอะไรไม่ได้มาก (เพราะมันฟรี) แต่กับบางเกมที่เป็นเกมเสียเงินซื้อ กาชาดัน Pay to Win อีก ก็เตรียมตัวถูกแฟนเกมรุมด่าได้เลย (เราคงไม่ต้องบอกว่าเกมอะไร ใบ้ให้ว่าเป็นเกมเกี่ยวกับสงครามอวกาศ ซ฿งตอนนี้ระบบดังกล่าวถูกแก้แล้ว เพราะแฟนบอยทนไม่ไหว)

2. มันน่าตื่นเต้นดี สำหรับผู้เล่น (และคนดู)

หลายๆ คนอาจเคยเห็นการไลฟ้สตรีม โชว์เปิดกล่อง Overwatch 100 ใบ จะเกลือหรือไม่เกลือ ดูแล้วก็ลุ้นแทน ก็ต้องยอมรับว่าการเปิดกาชาหรือ Lootbox มันก็เหมือนเกมอีกเกมนึงที่น่าตื่นเต้น เราอาจจะได้ของดี หรือของห่วย มันใช้เช็คดวงเราได้ ยิ่งบางคนมีความเชื่อแปลกๆ ที่ว่า ต้องลูบหน้า Jeff Kaplan (ผู้กำกับเกม Overwatch) ก่อนถึงจะได้กล่องทอง หรือความเชื่อที่ว่าใครที่ซวยตลอดวันจะเปิดได้กาชาดีๆ และยังไม่พอ ซื้อกาชามาเองนะ แต่ให้เพื่อนเปิดให้ ลุ้นจากเพื่อนเอา เชื่อเหอะใครๆ ก็เคยเป็น

3. (บางเกม) เปิดกาชาที กลายเป็นคนรวยชั่วข้ามคืน

ต้องขอย้ำว่าบางเกมเท่านั้นที่สามารถนำไอเท็มจากการเปิดกาชา ไปขายหรือแลกเปลี่ยนในท้องตลาดได้ เช่น CSGO, PUBG เราสามารถเอาของจากการเปิดกล่องไปขายใน Steam Market ได้ ของบางชิ้นก็ออกยากมากๆ เช่น มืดใน CSGO ที่อาจมีมูลค่าถึงหลักหมื่นบาทกันเลยทีเดียว แต่ก็น่าเสียดายเหมือนกันที่ทาง Steam เริ่มเข้มงวดมากขึ้น จนการแลกเปลี่ยนกันเองเริ่มยากขึ้น การซื้อของพวกนี้ด้วยเงินจริงจึงน้อยลง แต่อย่างน้อย การเอาของพวกนี้ไปขายใน Market ก็ได้เงินติด Steam Wallet เผื่อซื้อเกมอื่นๆ ได้เพียบ

4. ผู้เล่นโคตรจะคลั่งไคล้ในเกมนั้นๆ

คงได้ยินกันบ้างที่ว่า เปิดกาชาเนี่ย ไม่ได้หวังตัวเก่งๆ นะ หวัง “ไวฟุ” (มาจากคำว่า Wife ที่แปลว่าภรรยา) ถ้าเป็นเกมในระดับนี้แล้ว เกมนั้นจะต้องมีแฟนคลับเป็นจำนวนมาก อาจมีฐานลูกค้าที่ไม่ได้จำกัดแค่เกม อาจจะมีถึงพวกการ์ตูน อนิเมะ หรือเกมภาคเก่าๆ ที่ไม่ได้มีระบบนี้อยู่ โดยปกติแล้ว แม้เกมดังกล่าวจะเรตโหดขนาดไหน แต่ถ้ามีตัวที่สาวกต้องการ พวกเขาก็พร้อมเปย์อยู่ดี นั่นก็เป็นผลมาจากแผนการตลาด และการสร้างแบรนด์ที่ผู้พัฒนาเกมได้วางแผนเป็นอย่างดี

จากที่กล่าวมานั้นคือ เหตุผลที่เกมเมอร์ในยุคนี้ ยังคงยอมที่จะ “เกลือ” อยู่ และมีเกมจำนวนมากที่มีชื่อเสียงเพราะระบบนี้จนกลายเป็นมีมบนโลกอินเทอร์เน็ตอยู่เสมอ เช่น Fate/GO, Overwatch, Granblue Fantasy แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ เกมบางเกมดันไม่มีระบบนี้ แต่ทำเงินได้ยิ่งกว่าอย่าง Fortnite พวกเขาเลือกที่จะขายกันตรงๆ แต่มีจำกัดเวลา จนเกิดเป็นค่านิยม “ของมันต้องมี”

สุดท้ายก็ขอให้เกมเมอร์ทุกคน “เปิดกาชา” หรือใช้จ่ายในเกม อย่างมีสติครับ

Guest Writer

เจ้าของเพจสุดฮาขวัญใจเกมเมอร์ทั่วฟ้าเมืองไทย

Back to top