BY Settasilp Poonbumphen
4 Apr 15 1:40 pm

4 เหตุผลที่เราไม่ควรยึดติดในคำวิจารณ์เกม

12 Views

คำวิจารณ์เกมในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจที่จะซื้อและเป็นขีดจำกัดในการเสพสื่อในเวลาเดียวกัน  มาดู 4 เหตุผลที่คุณไม่ควรเชื่อหัวปักหัวปำในการรับชมรีวิวเกมกันครับ

ในปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่มนุษย์ทุกคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ จะสามารถกลายเป็นผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานหรือพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นสื่อในรูปแบบหนึ่งได้ แน่นอนว่าในวงการเกมเองก็เช่นกัน

ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าสังคมเกมเมอร์ไทยตื่นตัวกับการสร้างคอนเทนท์ทั้งในรูปแบบของรูปภาพ , เว็บไซต์หรือแม้กระทั่งวิดีโอซึ่งแน่นอนว่าจะต้องหนีไม่พ้นการทำเนื้อหาในรูปแบบของการวิจารณ์เกมนั่นเอง  ก็มีทั้งทำแล้วแจ้งเกิด ทำแล้วกริบ และทำแล้วโดนโจมตีต่อว่าสวนกลับไปให้หน้าสั่นกันไปตามระเบียบก็มี

เรามักจะเห็นได้บ่อยครั้งกับการฟาดปากกันบนโลกออนไลน์ของเกมเมอร์ไทยที่ออกมาด่าคนวิจารณ์เกมมั่ง ออกมาเถียงแทนตัวเกมที่ถูกวิจารณ์มั่ง  ผมเองก็ไม่รู้หรอกครับว่าเกมแบบไหนถึงจะเรียกว่าเกมดี เขียนแบบไหนถึงจะเรียกว่าวิจารณ์ดี  แต่ผมมีมุมมองของการเสพสื่อเกมที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะมองข้ามกันไป ลองมาดูกันครับว่าเพราะอะไรคุณถึงไม่ควรยึดถือคำวิจารณ์เกมมาจำกัดอิสรภาพในการเล่นเกมของตัวคุณเอง

1. เกมเป็นสื่อบันเทิง

Critic

Critic – นักวิจารณ์

ผมเชื่อว่าหลายคนคงจะเคยหงุดหงิดกับบทวิจารณ์เกมที่มีนักวิจารณ์สักคนใส่ความคิดเห็นของตัวเองมากจนเกินไป   ผมอยากจะให้ทุกคนเข้าใจในแนวคิดเดียวกันก่อนครับว่า”เกม”เป็นสื่อบันเทิงหรืองานศิลปะเกิดใหม่ชนิดหนึ่ง  ดังนั้นการวิจารณ์เกมจะไม่เหมือนกับการพูดถึงสินค้าชนิดอื่นที่จับต้องได้อย่างโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์เกมมิ่งเกียร์ที่สามารถอธิบายได้ว่าวัสดุทำจากอะไร มี Feature อะไรบ้าง

ถ้าจะให้พูดง่ายๆก็คือเกมมันเหมือนภาพยนตร์หรือเพลงนั่นแหละฮะ ที่เราจำเป็นจะต้องใส่ความคิดเห็นลงไปในบทวิจารณ์เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพของสินค้านั้นๆมากขึ้น เพราะถ้าเขียนไปทื่อๆก็คงจะไม่น่ารับชมกันอย่างแน่นอน  (อย่าลืมนะครับ แค่คำว่า “ภาพในเกมสวย” ก็ถือว่าเป็นความคิดเห็นแล้ว)

2. นักวิจารณ์เกมก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง

fat gamer

ตัวจริงของนักรีวิวคนโปรดอาจจะเป็นแบบนี้ก็ได้นะ

อันนี้ผมขอพูดในมุมนักวิจารณ์เกมในบ้านเราที่เห็นกันได้ตามเว็บไซต์นิตยสารทั่วไปนะครับ นักวิจารณ์หรือรีวิวเกมนี่มันไม่เหมือนผู้ประกาศข่าวที่ต้องไปสอบไปคัดเลือกเพื่อให้มาอ่านข่าวออกโทรทัศน์หรือนักตรวจสอบบัญชี รองรับว่าสามารถทำหน้าที่นั้นๆได้นะครับ รีวิวที่คุณชื่นชอบอาจมาจากเด็กแว๊นข้างบ้าน อาจเป็นเด็กโข่งที่ไม่เอาไหน หรืออาจเป็นนักเขียนชื่อดังในชีวิตจริงก็เป็นได้  เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะมีอคติหรือความคิดเห็นที่แตกต่างกันครับ  เอาเป็นว่ารักใครชอบใครก็ติดตามคนนั้นกันไปละกันฮะ

3. มาตรฐานในการให้คะแนน…หืมมม ?

shrug

ทำไมอ่ะ ? ให้ 7 แล้วมายยยยอ่าาาา ??

เคยสงสัยกันมั้ยครับว่าแต่ละคนเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์การให้คะแนน ? เดี๋ยวเกมนี้ได้ 7 เกมนี้ได้ 8 งงกันยุ่บยั่บวุ่นวายไปหมด    ส่วนใหญ่แล้วนักวิจารณ์เกมในบ้านเราก็ไม่ค่อยจะมีนิยามในการให้แต่ละคะแนนที่ชัดเจนเท่าไหร่หรอกครับ   เรียกได้ว่าเป็นการให้ตามอารมณ์ส่วนตัวล้วนๆก็ว่าได้  ยิ่งบางคนมีการให้คะแนนพร้อมทศนิยม 6.3/10 , 7.5/10 ซึ่งอาจจะได้มาจากการหารคะแนนเฉลี่ยในแต่ละหมวดเช่น Story , Gameplay และ Presentation แต่สำหรับบางคนก็ไม่รู้ว่าใช้เกณฑ์อะไรเช่นกัน

4. การเสพสื่อเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

gamer

ผมเชื่อว่าเราหลายคนน่าจะเคยมีอาการที่ว่าเลือกดูรีวิวหนังหรือเกมจากสักที่หนึ่งแล้วก็เกิดความคิดที่ว่าเฮ้ย ทำไมมันคิดไม่เหมือนกับเรา  ทำไมเขาคิดอย่างนั้นอย่างนี้  เพราะเราแต่ละคนล้วนผ่านประสบการณ์และมีรสนิยมที่แตกต่างกันซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนั้นเป็นตัวแปรที่ทำให้เรารู้สึกสนุกกับเกมที่ไม่เหมือนกัน  เกมเดียวกันอาจจะชอบไม่เหมือนกันอาจจะเกลียดไม่เหมือนกันนั่นก็เพราะเราอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายนั่นเองครับซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ดี

สุดท้ายแล้วผมเองไม่ได้จะบอกว่าการวิจารณ์เกมต่างๆนั้นไม่ดีหรือไม่สำคัญแต่อย่างใด  สิ่งที่ผมต้องการจะบอกก็คือในการเสพสื่อต่างๆนั้นอยากให้ทุกคนมีวิจารณญาณและแนวคิดที่เข้าใจตรงกันว่าการวิจารณ์เกมนั้นมันไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์หรือสมการการเดินทางของดาวหางฮัลเลย์ที่มีสูตรตายตัวแต่มันเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวอีกหนึ่งความคิดเห็นเท่านั้นครับ

Settasilp Poonbumphen

ยีน - Founder / Project Manager

Back to top