BY KKMTC
24 May 19 6:09 pm

5 เกมพัฒนานาน แต่คุณภาพไม่คุ้มค่ากับการรอคอย

14 Views

ทีมพัฒนาเกมบางครั้ง จำเป็นต้องขอเวลาการสร้างเกมเพิ่มเพื่อคุณภาพของวิดีโอเกมมีความสมบูรณ์แบบที่สุด แต่ก็มีบางเกม แม้จะยอมเสียสละเวลาเลื่อนวางจำหน่าย และผ่านมรสุมชีวิตแลกกับการทำงานหนักมามาก ทว่าคุณภาพของเกมกลับไม่ความคืบหน้าไปจากเดิม หรือไม่เหมาะสมกับการรอคอยเลยเอาซะเลย

นี่คือ 5 เกมแสนเศร้าที่ใช้เวลาพัฒนามานานแสนนานถึง 5-10 ปี แต่ผลตอบแทนกลับไม่ยิ่งใหญ่ เพราะคุณภาพของเกมอยู่ระดับแย่หรือปานกลาง ไม่สมกับการรอคอยอย่างยิ่ง

Crackdown 3 (4 ปี)

Crackdown 3

ซีรีส์ Crackdown เป็นหนึ่งในเกมเปิดโลกกว้าง ซึ่งมีเนื้อเรื่องคอเมดี้ระดับแนวหน้า ดั่งกับรุ่นน้องของ Saint Row แต่สิ่งที่พิเศษสุดของเกมนี้ คือตัวละครเอกนำแสดงโดย Terry Crews

การกลับมาของภาคสามหลัง จากการพัฒนาเกมนานเกือบ 5 ปี สามารถกอบกู้ชื่อเกมตระกูลนี้อีกครั้งหรือไม่ คำตอบคือน่าผิดหวังมาก ๆ

Crackdown 3 ประกาศเปิดตัวครั้งแรกที่งาน E3 2014 ซึ่งมีแผนวางขายในช่วงปี 2016 แต่ทว่าทีมงาน Sumo Digital ประกาศขอเลื่อนวางจำหน่ายกลายเป็นปี 2017 และประสบปัญหาดีเลย์อีกครั้งกลายเป็น “เลื่อนแบบไม่มีกำหนด”

จนสุดท้ายแล้ว เกม Crackdown 3 ออกประกาศวันจำหน่ายเกมอย่างเป็นทางการที่เดือนกุมภาพันธ์ 2019 ทว่าหลังจากปล่อยขายวันแรก ตัวเกมกลับมีกระแสรีวิวระดับ Mediocre จนถึง Average โดยมีเหตุผลคือตัวเกมขาดนวัตกรรมใหม่ ๆ แม้ตัวเกมเล่นสนุกก็จริง แต่นอกเหนือจากนั้นก็ไม่มีอะไรน่าจดจำ และกระแสของตัวเกมก็เงียบหายไปอย่างรวดเร็วโดยไม่มีใครเหลียวแล

Galleon (7 ปี)

ประกาศเปิดตัวครั้งแรก พร้อมเริ่มพัฒนาเมื่อปี 1997 แต่เริ่มสร้างเกมไม่นาน ปัญหาก็เกิดขึ้นซะแล้ว เพราะคุณ Toby Gard ผู้ออกแบบ Tomb Raider ต้นฉบับ และหัวหอกของผลงานเกมนี้ ประกาศออกจากทีมงาน Core Design ทำให้การพัฒนาเกมเต็มไปด้วยความวุ่นวายมากมาย

อย่างไรก็ตาม ทีมงาน Core Design ก็ตัดสินใจยังมุ่งหน้าพัฒนาเกมต่อไป จนในที่สุด เกม Galleon สามารถออกวางจำหน่ายในปี 2004 บนเครื่อง Xbox สำหรับฐานะเกม Exclusive

Galleon ถือเป็นเกมมีเสียงวิจารณ์แตกมาก – IGN มอบคะแนนเกมให้ 8.2/10 และ Gamespot รีวิวคะแนนที่ 7/10 โดยมีเหตุผลว่า เนื้อเรื่องของเกมมีความสดใหม่กับน่าสนใจ แม้ภาพกราฟิกจะตกยุคก็ตาม

แต่เจ้าสำนักอีกฝ่ายหนึ่งอย่าง Game Informer ให้คะแนน 4.25/10 กับ EGM มอบเพียง 4.5/10 โดยให้เหตุผลว่าเกมเพลย์ขาดนวัตกรรมใหม่ ๆ และมีความรู้สึกเหมือนกำลังชมภาพยนตร์ธรรมดาเรื่องหนึ่งมากกว่าเล่นเกม

Galleon มีคะแนน Metacritics เฉลี่ยที่ 67% ซึ่งต้องบอกว่าไม่ได้เป็นเกมแย่เท่าไหร่นัก แต่หากเปรียบเทียบระหว่างคะแนน 6.7/10 กับเวลาพัฒนาเกมนาน 7 ปี ซึ่งแน่นอนคือเป็นหนึ่งในเกมที่น่าผิดหวังของปี 2004 สำหรับเกมมอร์หลายคน

Aliens: Colonial Marines (7 ปี)

Aliens Colonial Marines

ผลงานเกมอัปยศที่สุดโดยทีมงาน Gearbox Software ด้วยระบบ A.I. ผิดเพี้ยนเกินจนรับไหว, ภาพกราฟิกไม่สวยงาม, รูปแบบเกมเพลย์จืดชืด, และคุณภาพเกมโดยรวม ราวกับยังสร้างไม่เสร็จสิ้นแล้วออกวางจำหน่ายทั้งอย่างนั้น แต่รู้หาไม่ เกมนี้ใช้เวลาพัฒนานานถึง 7 ปี เชียวนะ?

ดั้งเดิมเกมนี้ มีรหัสโคดเนม “Pecan” โดยประกาศเปิดตัวครั้งแรกพร้อมเริ่มพัฒนาช่วงปี 2006 และปี 2008 ตัวเกมประกาศชื่อจริงนาม Aliens: Colonial Marines พร้อมเผยวางจำหน่ายของเกมช่วงปี 2009 ก็ต้องบอกว่าการพัฒนาเกมยังคงไปได้อย่างราบรื่น

แต่ไม่นาน ทีมงาน Gearbox ประสบปัญหาภายใน จนเกิดเหตุการณ์ปลดพนักงานครั้งใหญ่ในช่วงเดือน 2008 ทำให้การพัฒนาเกมถูกแช่แข็ง และผู้เล่นหลายคนเชื่อว่าเกมดังกล่าวจะต้องโดนพับโปรเจกต์อย่างแน่นอน

หลังจากเกม Borderlands ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ทีมงาน Gearbox Software จึงปลุกผีเกม Aliens: Colonial Marines อีกครั้งช่วงปี 2012 แต่เนื่องจากเกมเกิดการดีเลย์หลายครั้ง ตัวแทนจำหน่าย SEGA เริ่มกดดันให้ผู้พัฒนาต้องสร้างเกมเสร็จภายใน 9 เดือน จึงทำให้ผลลัพธ์ของเกม เต็มไปด้วยปัญหามากมายหลังจากปล่อยผลิตภัณฑ์

หลังจากการวางจำหน่าย Aliens: Colonial Marines ทำให้คอมมูนิตี้เกมต่างวิพากษ์วิจารณ์ทีมงาน Gearbox Software กับ SEGA จนเกมมอร์สองคนได้สั่งฟ้องร้องผู้พัฒนาเกม และตัวแทนจำหน่าย ข้อหาโฆษณาเกมไม่ตรงกับผลิตภัณฑ์จริง แค่เคสดังกล่าวถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด

แม้เกมสามารถขายทั้งหมด 1.3 ล้านชุด หลังวางจำหน่ายเพียงหนึ่งเดือน แต่ CEO Gearbox Software คุณ Randy Pitchford กล่าววาสเขาสูญเสียรายได้กว่า 10 – 15 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเขาไม่เผยสาเหตุที่แน่ชัด นอกเหนือจากเป็นเพราะ “Aliens: Colonial Marines”

Too Human (9 ปี)

อีกหนึ่งตัวอย่างเกมที่คุณภาพไม่สมกับราคาและการรอคอย เพราะความหลายใจของทีมงาน จนทำให้ผลลัพธ์เกมออกมาอยู่ระดับ Average ด้วยเนื้อเรื่องจืดชืด, ขาดโมเมนต์น่าจดจำ แม้เกมใช้เวลาพัฒนาเกมนาน 9 ปี รวมถึงใช้ต้นทุนสูงราว 60-100 ล้านเหรียญฯ ก็ตาม

ความจริงแล้ว เกม Too Human ออกแบบมาเพื่อเครื่องเกม PlayStation 1 ช่วงปี 1999 แต่การพัฒนาเกมดังกล่าวถูกแช่แข็ง หลังจากผู้พัฒนาเกม Silicon Knights หนีไปคบค้าสมาคมกับ Nintendo จึงทำให้เกมถูกย้ายลงระบบ Nintendo Gamecube ทว่าตัวเกมกลับไม่ได้ลงวางจำหน่ายตามเวลาที่กำหนดไว้ และก็ไม่ได้ยินข่าวสารของเกมนี้อีกเลย

จนกระทั่งปี 2005  Silicon Knights แอบจับมือ Microsoft พร้อมประกาศว่าจะพัฒนาเกม Too Human ลงให้กับเครื่องเกม Xbox 360 และระหว่างการพัฒนาตัวเกม ทีมงานประกาศขอดีเลย์วันจำหน่ายเกมจากปี 2006 กลายเป็น 2008 โดยไม่ทราบสาเหตุ

แม้ Too Human มีคะแนนเกินมาตรฐาน Average ซึ่งมันไม่ได้แย่หรือดีอะไร แต่สำหรับตัวเกมที่ใช้เวลาพัฒนานาน 9 ปี กับเงินทุนสร้างอีกสิบล้านเหรียญฯ เกมมอร์ต่างคาดหวังในตัวคุณภาพเกมต้องควรดีกว่านี้ (มาก) แม้ไอเดียจะดีก็ตาม

Duke Nukem Forever (15 ปี)

Duke Nakem Forever ก็สมชื่อกับ Forever (แปลว่า ตลอดกาล) จริง ๆ เพราะเกมเริ่มต้นพัฒนาตั้งแต่ปี 1997 และปล่อยออกวางจำหน่ายช่วงปี 2011 ทำให้เกมนี้ครองแชมป์ตำแหน่งวิดีโอเกม ที่ใช้เวลาพัฒนานานสุดด้วยระยะเวลา 15 ปีเต็ม

ความจริงแล้ว ตอนแรก Duke Nukem Forever เคยประกาศออกจำหน่ายในช่วงปี 1997-1998 ทว่าเกิดการดีเลย์ขึ้น จนปี 2001 คุณ George Broussard ผู้กำเนิดเกมดังกล่าว ประกาศตัวเกมจะวางขาย “เมื่อเสร็จแล้วเท่านั้น” หลังจากนั้น กระแสของเกมกลับเข้าหาหมอกจนเงียบกริบอีกรอบ ซึ่งไม่มีแม้กระทั่งภาพ Screenshot หรือ Trailer เกมเพลย์อีกเลย

แต่แล้ว Duke Nukem Forever กลับมาอีกครั้งในช่วง 2011 และออกจำหน่ายในเวลาเดียวกัน ทว่าคุณภาพของเกมกลับไม่คุ้มค่ากับการรอคอย 15 ปี เอาซะเลย เพราะตัวเกมล้าสมัยในทุกด้าน ตั้งแต่ระยะเนื้อเรื่องสั้นเกินไป, คอเมดี้สุดเชย, ระบบเกมเพลย์ธรรมดา ทำให้คะแนนรีวิวของเกมจัดอยู่ระดับ Mediocre รวมถึงหลายเจ้าสำนักเกม พร้อมมอบตำแหน่งเป็นเกมน่าผิดหวังที่สุดแห่งปี 2011

ส่วนสาเหตุการใช้เวลาพัฒนานานถึง 15 ปี ก็ไม่มีข้อมูลแน่ชัด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า เป็นเรื่องของปัญหาภายในของบริษัทที่สะสมนาน เพราะช่วงปี 2009 ทีมงาน 3D Realm ถูกสั่งลดพนักงานลงจำนวนมาก ทำให้โปรเจกต์เกมถูกแช่แข็ง

ต่อมา Take-Two Interactive ผู้จัดจำหน่ายเกม เริ่มสั่งฟ้องทีมงาน 3D Realm ในข้อหาผิดสัญญาว่าจ้างว่าจะทำเกมเสร็จสมบูรณ์ตามเวลาที่กำหนด แต่เคสดังกล่าวถูกตัดสินยกเลิกคดีความเมื่อปี 2010 ทำให้เกม Duke Nukem Forever ถูกพัฒนาสานต่อไปยังทีมพัฒนา Gearbox Software แทน

แม้ความล้มเหลวของเกม Duke Nukem Forever ไม่ได้ทำให้บริษัท 3D Realm พังพินาศ แต่ก็ส่งผลกระทบมากพอ จนทำให้ทีมงานตัดสินใจ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการพัฒนาเกมต้นทุนสูงอีกต่อไป

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top