เกมเมอร์ทุกคนเห็นตรงกันว่าการโกงวิดีโอเกมในส่วน Multiplayer เป็นการกระทำไม่เป็นที่ยอมรับและไม่ควรเพิกเฉย แต่เกมเมอร์อาจไม่รู้แรงจูงใจ หรือสาเหตุว่าทำไมเหล่าเกมเมอร์ต้องใช้ Cheat ทั้ง ๆ ที่ ผู้เล่น โกงเกม รู้ตัวดีว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามมารยาทของสังคมเกมทั่วโลก
นี่คือบทความ 5 ประเภทของผู้เล่นโกงเกม ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวจะเป็นคัดแยกผู้เล่นโกงเกมด้วยสาเหตุต่าง ๆ คิดค้นโดยทีมงาน Steamworks Development
Achievers
ประเภทผู้เล่นโกงเกม เพราะอยากเอาชนะทุกวิถีทาง
Cheater สาย Achievers มักพบเห็นตามเกมที่มีการแข่งขันสูง อย่างเช่น PUBG, Overwatch, Apex Legends หรือเกมอื่น ๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการเอาชนะเป็นที่หนึ่ง พวกเขามีลักษณะนิสัยไม่อยากให้ผู้เล่นคนอื่นรับรู้ว่าตนเองใช้โปรแกรมโกงเกม จึงมีการเปิด/ปิดการใช้โปรแกรมเป็นระยะเพื่อให้แนบเนียนกับการใช้โปรแกรมโกงให้นานที่สุด
Griefers
ประเภทผู้เล่นโกงเกมโดยมีจุดประสงค์เพื่อก่อกวน
หนึ่งใน Cheater ที่พบเห็นน้อย แต่น่าหมั่นไส้มากที่สุด พวกเขาจะโกงเกมเป็นชีวิตประจำวัน, มีตารางเวลา, ครอบครองบัญชีเกมมากถึง 10-20 ไอดี เพื่อทำการก่อกวนผู้เล่นทุกคน, ทุกเซิร์ฟเวอร์, ทุกเกม โดยมีเหตุผลหลักคือชื่นชอบการทำร้ายผู้อื่น แต่ไม่อยากโดนตอบโต้กลับ จึงเป็นเหตุให้พวกเขาเลือกใช้โปรแกรมโกงผ่านในเกม เพราะอยากเห็นสังคมวิดีโอเกมลุกเป็นไฟดั่ง Joker
และแม้ว่าผู้เล่นสาย Griefers จะโดนแบนตลอดชาติ แต่พวกเขาไม่สะทกสะท้าน เพราะยังมีบัญชีเกมอีก 19 บัญชีสำรองเผื่อไว้ เพื่อทำหน้าที่ในการก่อกวนโดยเฉพาะ
Casuals
ประเภทโกงเกม เพราะเกมยากเกินไปหรืออยากทำให้เกมง่ายขึ้น
Casuals ในที่นี้ มิใช่หมายถึง Casual Gamer แต่เป็นเหตุผลการตัดสินใจใช้โปรแกรมโกง เพราะเกมยากเกินไป หรือทำให้เกมง่ายขึ้น ซึ่งตรงตามจุดประสงค์หลักของการใช้งาน โดยผู้เล่นโกงเกมสาย Casuals สามารถพบเห็นได้มากที่สุด หากนับรวมผู้ใช้โปรแกรมโกงทั้งส่วนของ Singleplayer กับ Multiplayer และไม่มีการจำกัดประเภทของเกม
แต่เราจะพูดเฉพาะส่วนของ Multiplayer เท่านั้น พวกเขาโกงเกมเพื่อให้เกมการเล่นง่ายขึ้นและสะดวกสบายที่สุด โดยไม่อยากทำลายอรรถรสของการเล่นเกมโดยรวม ส่วนใหญ่พบเห็นตามเกมประเภท MMO หรือเกมที่มีระบบเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นการเรียกเงิน, สูตรเลือดอมตะ, ใช้เทเลพอร์ตตามแผนที่ต่าง ๆ เป็นต้น
Vigilantes
ประเภทผู้เล่นโกงเกม เพราะอยากเอาคืนเหล่า Cheater กลับ
ผู้เล่นสายโกงประเภทนี้ เคยเป็นเหยื่อจากการพบปะเจอกับ Cheater หลายครั้งจนรู้สึกเหลืออด จึงตัดสินใจใช้โปรแกรมโกงตามเพื่อปราบคนโกงกลับโดยเฉพาะ (โกงมาโกงกลับไม่โกง) ซึ่งกลุ่มผู้เล่นประเภทนี้ มักโดนมองข้ามว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา หรือไม่ค่อยถูกพบเห็น
เคสตัวอย่าง : กลุ่มผู้เล่นอัศวินม้าขาวแห่ง PUBG รวมตัวกันโกงเกม เพื่อปราบผู้เล่นที่โกงมากกว่า แต่แน่นอนว่าผู้เล่นหลายคนไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเหล่า Cheater ทั้งสองฝ่าย (อ่านเพิ่มเติม ที่นี่)
Followers
ประเภทผู้เล่นโกงเกม เพราะอยากเก่งตามไอดอล
ผู้เล่นบางคนมีโปรเพลเยอร์เป็นไอดอลดวงใจ แต่แน่นอนว่าการไต่เต้าเป็นฝีมือระดับเทพจำเป็นต้องใช้เวลาฝึกฝนเป็นจำนวนมหาศาล เกมเมอร์บางคนจึงตัดสินใจใช้โปรแกรมโกงเป็นทางลัดให้ตนเองเก่งขึ้น เพื่อเป็นที่ยอมรับในวงการ Esports กับโปรเพลเยอร์อีกหลายคน
แต่หลังจากผู้เล่นมีชื่อเสียงระดับหนึ่ง เกมเมอร์ไม่สามารถใช้ฝีมือของพวกเขาเล่นได้ ทำให้พวกเขาเลือกใช้โปรแกรมโกงต่อไป เพื่อรักษาภาพพจน์ของตนเองไว้ จึงเป็นเหตุเรียกกลุ่มนี้ว่า “Followers” ในที่สุด
เคสตัวอย่าง : โปรเพลเยอร์ ElmZero ถูกสั่งปลดออกจากขั้นตอนพิจารณาเข้าทีม Zenith Esports หลังจากมีโปรเพลเยอร์หลายคนจับได้ว่าโกงเกม Apex Legends กลางสตรีมมิ่ง (อ่านเพิ่มเติม ที่นี่)
สังเกตว่าผู้เล่นที่ตัดสินใจใช้โปรแกรมโกงเกม ไม่ได้ใช้เพราะอยากเอาเปรียบเกมอย่างเดียว แต่พวกเขาอาจใช้เพื่อป้องกันตัวเอง, ต้องการความสะดวกสบาย, เป็นทางลัด, หรือระบายความอัดอั้นในใจ
แต่ไม่ว่าจะเหตุผลสวยหรูหรือดราม่ามากแค่ไหน การโกงเกมอย่างไรก็คือการโกงเกมวันยังค่ำ ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้เล่นคนอื่นโดยปฏิบัติอย่างจงใจ ฉะนั้นเกมเมอร์ที่ดีต้องไม่เล่นเกมเก่งอย่างเดียว แต่ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตัวเองกับให้ความเคารพซึ่งกันและกันด้วย การเอาชนะคนอื่นด้วยฝีมือการเล่นของตัวเองเป็นสิ่งน่าภูมิใจกว่าการใช้โปรแกรมโกงหลายเท่าตัวครับ