BY TheStarrySky
30 Mar 20 4:27 pm

5 สิ่ง “ต้องดู” เพื่อให้ได้เกมมือถือ Free-to-Play ถูกใจ เล่นได้นานและไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย

20 Views

ทุกวันนี้ ตลาดเกมมือถือ ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมเกมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกไปเรียบร้อยแล้ว โดยครองส่วนแบ่งการตลาดไปกว่า 45% ในปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ทุก ๆ วัน ต่างก็มีเกมใหม่ต่อแถวเรียงคิวเปิดตัวอย่างต่อเนื่องไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้ตอนนี้มีเกมอยู่ใน Store ของทั้งสองระบบนับล้านเกม

นั่นทำให้ “เกม” กลายเป็นเหมือนผลงานศิลปะที่มีหลายแบบแตกต่างกัน บางเกมก็เป็นผลงานชั้นเยี่ยม ที่นาน ๆ จะมีออกมาซักชิ้น แต่หลายเกมก็อาจถูกสร้างเพื่อหาประโยชน์ในช่วงสั้น ๆ และปิดตัวไปอย่างไม่ไยดี บางเกมก็มีคุณภาพไม่พอที่จะทำให้เรายอมเล่นต่อไปได้ เกมเมอร์สายมือถือทั้งหลายเลยเหมือนกับผู้ที่พายเรืออยู่ในทะเลขนาดใหญ่ ที่หวังว่าซักวันหนึ่งจะเจอเกาะที่ตนเองสามารถอาศัยอยู่ได้ตลอดไป หรืออย่างน้อยก็นานพอที่จะให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ดี ๆ จากเกมนั้นก่อนที่จะก้าวไปสู่เกมถัดไปอย่างไม่มีอะไรค้างคา

แน่นอนว่าคงไม่มีใครที่อยากเปลี่ยนเกมที่เล่นบ่อย ๆ วันนี้เราจึงจะมานำเสนอ 5 วิธีดี ๆ ในดูว่าเกาะ หรือก็คือเกมมือถือไหนที่น่าจะให้เราอยู่อาศัยได้นาน เป็นการเลือกเกมที่กะว่าจะลงหักปักฐาน อยู่กันยาว ๆ จนกว่าจะมีเกมใหม่ที่ดีกว่าให้เปลี่ยนได้ โดยในบทความนี้จะเลือกพิจารณาเฉพาะเกม Free-to-Play ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน จะมีอะไรบ้าง ไปชมกันได้เลย

ดูคะแนน Review หน้าเกมก่อนเสมอ

จริงอยู่ว่าคะแนนรีวิวนั้นไม่ได้บ่งบอกทุกอย่าง แต่ในความเป็นจริงมันก็สะท้อนถึงคุณภาพของตัวเกมได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะสำหรับเกมมือถือที่การให้คะแนนสามารถทำได้ง่ายมาก หลายความเห็นจึงทำให้เราได้รับรู้ถึงความรู้สึก “จริงๆ” ของแต่ละคน หากชอบก็ให้เยอะ ไม่ชอบก็ให้น้อยไปเลย ทำให้เราสามารถประเมินคุณภาพของเกมได้คร่าว ๆ จากคะแนนนี้นั่นเอง

โดยทั่วไปแล้ว คะแนนรีวิวของเกม Free-to-Play ควรมากกว่า 4 คะแนนขึ้นไป โดยหากมีคะแนนต่ำกว่านี้ (ต่ำกว่า 4 คะแนน) ให้สันนิษฐานไว้ก่อนได้เลยว่า ตัวเกมน่าจะมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งจนทำให้คะแนนรีวิวน้อย และหากต่ำว่า 3 ก็ควรที่จะเลี่ยงเกมประเภทนี้เอาไว้ก่อน

คะแนนรีวิว คือสิ่งแรกที่จะเห็น และควรตรวจสอบทุกครั้ง

อีกอย่างที่ควรดูก็คือ ความเห็นของผู้เล่นที่ได้ลงเอาไว้ มันจะทำให้เราได้ทราบข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเกมมากขึ้น อาจเป็นจุดเด่น/ด้อย ของเกม ปัญหาเฉพาะทางที่เกมเป็นอยู่ อย่างเช่นรุ่นของมือถือที่เจอปัญหาระหว่างเล่น ทำให้เราสามารถเลี่ยงที่จะเข้าไปเจอเรื่องหน้าหงุดหงิดภายในเกมได้ และก็ไปพิจาณาเกมต่อไปแทนโดยไม่เสียเวลา

ดูว่าใครเป็นผู้พัฒนา / ให้บริการ

ในการที่จะเล่นเกมไหนให้ยาว ๆ ได้นั้น มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเกมที่เราเล่นจะ “อยู่” ได้นานขนาดไหนด้วย นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราควรจะมั่นใจก่อนว่า ผู้ให้บริการเกมที่เรากำลังจะลงหลักปักฐานนี้จะนำพาเกมของเราให้ไปตลอดรอดฝั่งได้หรือไม่ ซึ่งทุกๆ เกมก็สามารถดูว่าใครเป็นเจ้าของได้ที่หน้า Downloads ของทั้งสองระบบ

การดูว่าผู้ให้บริการรายใดที่มีความน่าเชื่อถือนั่นก็มีหลายวิธี เช่นการที่เป็นผู้ให้บริการชื่อดังที่เรารู้จักอยู่แล้ว (e.g. Garena, Netease, Nexon, Netmarble) หรือเป็นค่ายที่ให้บริการเกมที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง อย่างเช่น Com2us (Summoner Wars), Gravity (RoM) เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้อาจได้จากการสอบถามผู้เล่นคนอื่น ๆ ในคอมมูนิตี้เกมต่าง ๆ ซึ่ง GamingDose ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่คุณสามารถเข้ามาพบปะกับผู้เล่นมากหน้าหลายตาได้ 😀

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าผู้พัฒนา/ให้บริการรายใหม่ จะไม่มีศักยภาพพอที่จะบริหารเกมให้อยู่ยงคงกระพันได้ ในข้อนี้จึงเป็นข้อสังเกตอีกอย่างที่สามารถทำได้เช่นเดียวกับข้ออื่น ๆ ไม่ใช่สิ่งที่จะฟันธงว่าเกมนั้นจะดีหรือไม่ดีแต่อย่างใด

ดูว่าใครเป็นผู้ให้บริการเกมที่เรากำลังจะเล่น ผู้บริการที่มีชื่อเสียงมักจะดูแลเอาใจใส่เกมของตนเป็นอย่างดี

ดูประวัติการ Update 

ประวัติการอัปเดต คืออีกสิ่งที่ควรเช็คก่อนเล่นทุกครั้ง เพราะบางเกมที่ไม่ได้มีการอัปเดตอย่างยาวนาน หรือค่อนข้างทิ้งช่วงกันนาน ก็อาจแปลได้ว่าผู้พัฒนาอาจไม่ได้สนใจที่ดูแลเกมนั้น ๆ เท่าไหร่นัก โดยทั่วไปแล้ว ระยะเวลาการอัปเดตของแพทใหญ่ ๆ ไม่ควรห่างกันเกิน 3 เดือน เพราะบางอาจใช้วิธีการอัปเดตเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เน้นจำนวนครั้งแทนการอัปเดตใหญ่ ๆ ทำให้ Version History มีบันทึกไม่มากเท่าไหร่

สำหรับ iOS สามารเช็คประวัติการอัปเดตได้ที่ Version History ส่วนของ Andriod ก็ดูได้ที่ประวัติการอัปเดตโดยตรง ลองดูว่าผู้พัฒนามีการปรับปรุงตัวเกมมากน้อยแค่ไหน รวมถึงดูรายละเอียดที่ทำการเพิ่มเข้ามาในแต่ละครั้งด้วย ยิ่งมีมากก็ถือว่ายิ่งดีในส่วนนี้

สำหรับ iOS สามารถดูประวัติการอัปเดตได้ที่หน้าร้านค้าของแต่ละเกมโดยตรง

ในส่วนของ Andriod ก็มีให้ดูเช่นกัน เกมทั่วไปไม่ควรที่จะห่างการอัปเดตเกิน 3 เดือน

ดู Review ที่คนอื่น ๆ ทำไว้ 

ข้อนี้จะต่างจากข้อ 1 คือจะเป็นการดูรีวิวต่าง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ที่หน้าร้านค้า (หน้า Download) ของเกม เช่นรีวิวใน Youtube, Facebook, Twitch เพื่อดูภาพรวมของเกมคร่าว ๆ ก่อน ในกรณีที่เกมเคยเปิดให้บริการในต่างประเทศมาแล้ว (ซึ่งส่วนใหญ่เกมในประเทศไทยจะเป็นแบบนั้น) นอกจากเป็นการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการพิจาณาเลือกเกมของเรา ยังเป็นการฟังความเห็นของคนอื่น ๆ ต่อเกมนั้นด้วย

มีหลายอย่างที่ควรสังเกตในขั้นตอนนี้ ตั้งแต่ลักษณะภายนอกของตัวเกม กราฟิก ความลื่นไหล หรือแนวทางการเล่นที่เราจะหาความสนุกจากมันได้ นอกจากนี้ จำนวนคนที่เข้าชมรีวิวตัวเดียวกับเราอยู่ ก็จะช่วยบ่งบอกได้ด้วยว่าเกมนั้น ๆ กำลังได้รับความนิยมมาแค่ไหน ซึ่งส่งผลโดนตรงกับโอกาสที่จะได้เล่นเกมนั้นยาว ๆ อีกด้วย

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของการชมรีวิวคือ ให้ระลึกเสมอว่านั่นคือความคิดเห็นของคนอื่นที่มีมุมมองของต่อเกมแตกต่างกัน เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับทุกรีวิวเสมอไป บางที ความอยากเล่น อาจจะมาจากการ “อยากลอง” ของเราหลังจากที่ได้เห็นรีวิวที่ไม่ตรงกับใจตัวเองก็ได้ 😀

ตัวอย่างการเข้าชม Review ของตัวเกม โดยใช้การหา Gameplay

เข้าไปส่อง Community ของเกมใน Social Media 

วิธีสุดท้ายที่แทบจะได้คำตอบอย่างแน่นอนก็คือ การเข้าไปถามคนในคอมมูนิตี้ของเกมนั้น ๆ โดยตรง หรือไม่ก็กลุ่มของคนเล่นเกมขนาดใหญ่ (เช่น GamingDose 😀 ) ก็ได้ โดยตั้งแต่ก่อนเข้ากลุ่ม สิ่งแรกที่เราจะเห็นก็คือ จำนวนข้างในว่ามีมากแค่ไหน ตรงนี้ก็จะเป็นข้อชี้วัดได้ดีอย่างหนึ่งว่าเกมยังคงมีการ Active อยู่หรือไม่ สำหรับ Facebook เราสามารถดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มได้โดยการดูจำนวน “โพสต์ใหม่ต่อวัน” ได้ด้วย

ดูจำนวนคน, โพสต์ต่อวัน และจำนวนกลุ่มที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ทราบได้คร่าวๆ ว่าเกมกำลังได้รับความนิยมขนาดไหน

ปัจจุบัน กลุ่มผู้เล่นของแต่ละเกมมีอยู่มากมาย ทั้งใน Facebook, Line และในสื่ออื่น ๆ ทำให้จำนวนคนในกลุ่มอาจไม่ได้สะท้อนถึงจำนวนที่แท้จริงของผู้เล่นในเกม ดังนั้น “การเข้ากลุ่ม” จึงอาจเป็นสิ่งที่ต้องทำหากต้องการคำตอบที่ชัดเจน อย่าอายที่จะตั้งคำถาม สมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่นั้นพร้อมและยินดีที่จะช่วยเหลือเสมอ สิ่งนี้อาจเสียเวลา แต่รับรองว่าหากนั่นเป็นเกมที่เรากำลังค้นหา นี่จะเป็นก้าวแรกของความสนุกที่จะตามมาอย่างแน่นอน ในทางกลับกัน ถ้ามันไม่ใช่เกมที่เราอยากเล่น เราก็จะหมดสงสัยกับเกมนี้และตัดใจจากมันไปได้ในที่สุดเช่นกัน

ก็ถือว่าครบแล้วสำหรับ 5 สิ่งต้องดู สำหรับการเลือกเกมที่จะเล่นไปยาว ๆ โดนเฉพาะในช่วงที่ทุกคนตั้งอยู่กับบ้านแบบนี้ จึงเป็นเวลาดีที่จะเริ่มต้นกับเกมใหม่ที่ไม่เคยลองมาก่อน ในโลกที่เกม Free-to-Play มากจนนับไม่ถ้วน ก็ขอให้เลือกเกมที่จะเล่นให้ดี ความสนุกและประสบการณ์ใหม่ ๆ กำลังรอเราเราอยู่ และมันอาจจะเป็นเกมโปรดที่คุณตามหามานานก็ได้ 😀 

SHARE

Pathiphan Tepinta

Back to top