BY KKMTC
8 Dec 18 5:15 pm

5 เกมเนื้อหาลึกซึ้งเกินไปจนต้องหาสารานุกรมมาอ่าน

48 Views

เกมจบแต่สมองไม่จบ เพราะทีมผู้พัฒนาบางคนไม่ได้มองว่าเกมเป็นสื่อบันเทิงแต่เป็นงานอาร์ทชนิดหนึ่ง จึงเป็นบ่อเกิดของเกมที่มีเนื้อหาชวนมึน ซึ่งผู้เล่นทั่วไปไม่สามารถเข้าถึง แม้เกมจะจบลงไปแล้วก็ยังคงมีเนื้อหาอีกหลายส่วนที่ไม่เข้าใจอยู่ดี

ผู้เล่นมากมายจึงหาแหล่งคอมมูนิตี้หรืออ่านสารานุกรมเพื่อทำความเข้าใจกับเนื้อเรื่องเพิ่มเติม และนี่คือ 5 เกมเนื้อหาลึกซึ้งเกินไปจนต้องหาสารานุกรมมาอ่าน

Killer 7

killer 7

ไม่มีเกมไหนที่ผู้กำกับ Goichi Suda จะทำเกมออกและปกติซักเกม เกม Killer7 เป็นอีกหนึ่งในผลงานสุดอาร์ทเกมของ SUDA51 ที่ให้อารมณ์แบบหนังคัลท์ โดยจับมือร่วมกับผู้กำกับเกมระดับตำนานอย่าง Hiroyuki Kobayashi และ Shinji Mikami

เนื้อเรื่องของ Killer 7 เต็มไปด้วยเอกลักษณ์และอารมณ์เซอร์เรียลเหนือจริง เพราะเนื้อหาของเกมนี้มันไม่สมเหตุสมผลทั้งการนำเสนอและการเล่าเรื่อง ทำผู้เล่นทั่วไปหรือแม้กระทั่งผู้เล่นที่มี IQ สูงก็ไม่สามารถจับใจความได้ ทำให้เกมนี้มีกระแสรีวิวในแง่ผสมในส่วนของเนื้อเรื่องเพราะเกมเข้าใจยากเกินไป

แต่เกมเมอร์บางกลุ่ม (ส่วนใหญ่) หลงรักเกม Killer 7 เพราะฉากแอคชั่นที่เร้าใจและคัตซีนที่มีเอกลักษณ์สุดไฉไลตามหนังคัลท์คลาสสิกสไตล์ David Lynch

Bloodborne

bloodborne

ซีรี่ส์ Bloodborne คล้ายกับ Dark Souls ที่เริ่มต้นมาผู้เล่นจะไม่รู้อะไรเลยว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น

วิธีที่ผู้เล่นจะสามารถรับรู้อีเว้นท์ที่เกิดขึ้นในเกม Bloodborne ก็คือ การอ่าน ที่ผู้เล่นต้องพบตามสถานที่ต่าง ซึ่งผู้เล่นหลายคนจะต้องเซอร์ไพส์กับเนื้อหาของเกมนี้ด้วยเรื่องราวสุดดาร์ก โหดร้าย และแฝงไปด้วยสัญลักษณ์นามธรรมต่าง ๆ เพื่อใช้วิเคราะห์เนื้อหาความเป็นมาของเกมนี้

เนื่องจาก Bloodborne เป็นเกมที่ยากท้าทายและการออกแบบแผนที่มีความซับซ้อน จึงทำให้ผู้เล่นบางคนสามารถพลาดเนื้อหาบางส่วน ฉะนั้นหนังสือ Bloodborne หรือโลกอินเตอร์เน็ตจะเป็นเพื่อนซี้สำหรับเกมเมอร์หลังเล่นเกมนี้จบ

Metal Gear Solid Series

สุดยอดมหากาฬเกมแอคชั่น-ลอบเร้นที่ไม่แปลกใจเท่าไหร่นักว่าซีรี่ส์ Metal Gear จะต้องทำให้ผู้เล่นรู้สึกสับสน เพราะว่าจักรวาลซีรี่ส์ MGS มีความกว้างใหญ่และมีรายละเอียดที่ยิบย่อยมากจนเกินไป ทำให้ผู้เล่นไม่สามารถเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เกมกำลังอธิบายคือสิ่งใด ถ้าหากผู้เล่นไม่เคยสัมผัสเกม MGS มาตั้งแต่ภาคแรก

แม้ว่าเครื่องหมาย “?” จะถล่มเข้าหาผู้เล่นตลอดเวลา แต่ก็โชคดีที่เกมนี้แฝงไปด้วยฉากแอคชั่นที่ยิ่งใหญ่กับบทสนทนาสุดคมที่ทำให้เกมเมอร์สามารถเพลิดเพลินกับเนื้อเรื่องได้จนจบเกม

แต่เป็นไม่ได้เลยที่เกมเมอร์จะสามารถเล่นเกม Metal Gear Solid แล้วเข้าใจได้ในครั้งเดียว ผู้เล่นอาจจะต้องเล่นรอบที่สอง หรือเปิดอ่านสารานุกรมเพื่อให้เข้าใจองค์ประกอบของเนื้อเรื่องที่แตกย่อยเหมือนกับรากไม้ที่อ่านหนังสือผ่านไป 3 หน้าก็ยังไม่หมด

NieR: Automata

nier automata

ในขณะที่เกมเพลย์เป็นเส้นตรงและมีความท้าทายในรูปแบบ Hack and Slash / RPG ที่สนุกสนาน แต่อีกหนึ่งในฟีเจอร์ที่ทำให้เกมเมอร์ต่างพูดคุยกันทั่ว Reddit กับเว็บบอร์ดต่าง ๆ ก็คือ “เนื้อเรื่อง”

ในตอนจบของเกม Nier:Automata จะมีตอนจบทั้งหมด 26 แบบ (ตามตัวอักษร A-Z) ถ้าหากเกมเมอร์ต้องการเข้าใจเนื้อเรื่องของเกมนี้แบบ “ถ่องแท้” ผู้เล่นจะต้องขยันเล่นเกมหลายรอบเพื่อที่จะปะติดประต่อเนื้อเรื่องให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

แต่ก็แน่นอนว่าผู้เล่นบางคนไม่สามารถเข้าถึงเนื้อเรื่องของ Nier: Automata ด้วยความลึกล้ำเฉพาะตัว หรือไม่มีเวลามากพอที่ต้องเล่นใหม่อีกครั้ง ผู้เล่นมากมายจึงต้องหาเปิด wikipedia เว็บบอร์ด หรือซื้อหนังสือออฟฟิเชียลมานั่งอ่านเพื่อเสริมความเข้าใจเนื้อเรื่อง

Limbo / Inside

inside limbo

ถึงแม้จะเป็นเกมผจญภัยอินดี้ขนาดเล็ก แต่ทั้งสองเกมแฝงเต็มไปด้วยเรื่องราวปริศนากับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ผู้เล่นจะต้องตั้งคำถามตลอดเวลาทุกการเล่น ไม่พ้นแม้แต่ช่วงท้ายของเกมซึ่งเป็นตอนจบแบบปลายเปิด โดยทีมงานผู้พัฒนา Playdead Studio ยังคงเก็บเงียบไว้และไม่มีท่าทีว่าจะเฉลยเนื้อหาจริง

ด้วยเนื้อเรื่องที่เต็มไปด้วยคำถามมากมาย ทำให้คอมมูนิตี้เกม Limbo กับ Inside ต่างลุกเป็นไฟ ก่อเกิดบอร์ดสนทนาและมีการตั้งทฤษฎีถกเถียงกันว่าเกมนี้มีเนื้อหาอย่างไร สิ่งนี้คืออะไร เป็นตัวแทนถึงอะไร หรือมีปริศนาจุดไหนที่ไม่ได้รับการเปิดเผย

ถึงแม้ว่า Limbo / Inside ไม่มีเนื้อหา Canoncial แต่นั่นคือฟีเจอร์หลักที่ทีมงานจงใจสร้างมันขึ้นมาเพื่อให้ผู้เล่นมีความสนุกกับการวิเคราะห์เนื้อหาที่ไม่มีการปิดกั้น จึงเป็นเหตุผลที่ทั้งสองเกมได้รับรางวัลสาขาเกมอินดี้ดีเด่นมากมายและยังคงเป็นเกมที่ให้พูดถึงอีกนาน

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top