หากคุณเป็นสาวกชื่นชอบมังงะญี่ปุ่น คุณน่าจะชื่นชอบติดตาม Jump Force เกมต่อสู้รูปแบบ Arena ที่นำตัวละครจากหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องชื่อดังที่พิมพ์ผ่านนิตยสาร Weekly Shōnen Jump นำมาต่อสู้ด้วยกันเองอย่างใกล้ชิด เพราะเกมนี้ถือว่าเป็นความใฝ่ฝันอันสูงสุดของเหล่าแฟนการ์ตูนค่ายจั้มพ์มาโดยตลอด
ในขณะที่เกม Jump Force เริ่มมีการทยอยอัปเดทตัวละครเพื่อเรียกสร้างกระแสเกมก่อนออกวางจำหน่ายจริง แต่ยังมีการ์ตูนมังงะอีกหลายเรื่องที่แฟนจั้มพ์คาดหวังว่าจะได้เข้าร่วมแจมในเกม Jump Force ไม่ช้าก็เร็วในสักวันหนึ่ง และนี่คือ 6 การ์ตูนจั้มพ์ที่อยากให้เข้าร่วมในเกม Jump Force ครับ
D.Gray Man (ดี.เกรย์แมน)
ในขณะที่เนื้อหาของ D.Gray Man จะตามสูตรสำเร็จแนวโชเน็น แต่สิ่งที่ D.Gray Man โดดเด่นที่สุด คือคุณภาพการถ่ายทอดอารมณ์ของเนื้อหาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะแอคชั่น, คอเมดี้, ดราม่า, โรแมนซ์ และวิวัฒนาการของตัวละครที่กินใจผู้อ่านไม่ยาก (คันดะ ยู โคตรหล่อ)
D.Gray Man หนึ่งในตัวเลือกเหมาะสมที่ลง Jump Force มาก เพราะเป็นแนวโชเน็นจ้า ๆ ที่เนื้อเรื่องได้ดำเนินตั้งแต่ปี 2004 และมีตัวละครน่าสนใจ ทำให้เรื่องนี้มีแฟนติดตามที่ค่อนข้างเหนียวแน่นพอสมควร แม้ว่าความนิยมของเรื่อง D.Gray Man ไม่เทียบเท่ากับการ์ตูนระดับโลกอย่าง One Pieces หรือ Naruto ก็ตาม
Toriko (โทริโกะ)
มังงะที่ทำให้คุณต้องรู้สึกหิว (?) Toriko เป็นมังงะต่อสู้ม้ามืดที่ไม่ค่อยพูดถึงเท่าไหร่ในต่างชาติ แต่สำหรับฝั่งไทยบ้านเราแล้ว มังงะเรื่อง Toriko ถือว่าเป็นได้รับนิยมพอสมควร ในขณะที่ผู้เขียนไม่ได้ติดตามเรื่องแบบจริงจัง แต่พอเข้าใจโดยทันทีว่าทำไมคนไทย (รวมถึงชาวต่างชาติ) อยากให้ Toriko ลงใน Jump Force เพราะว่าเขาเป็นนักล่าสัตว์ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับเกมต่อสู้มาก
Toriko เป็นตัวละครที่แทบจะเพอร์เฟคในทุกด้าน เขาสามารถกินอาหารแบบเปิบพิสดารแบบไม่ยั้ง รวมไปถึงเขาสามารถล่าสัตว์ด้วยการใช้ทักษะการต่อสู้ด้วยมือเปล่า รวมไปถึงร่างกายของเขามีพลังฟื้นฟูซึ่งเป็นความสามารถพิเศษที่คนธรรมดาทั่วไปไม่มี ทำให้ Toriko มีฉายาว่า “จอมตะกละ Toriko” หรือ “นักชิมอาหารชั้นเลิศ Toriko”
ฉะนั้น Toriko เหมาะสมกับเกมต่อสู้ Jump Force โดยทุกประการ เพราะตัว Toriko มีความแข็งแกร่งและมีทักษะความเหนือมนุษย์ที่พอจะสามารถต่อกรกับตัวละครหลักที่เป็นนักสู้คนอื่นใน Weekly Shōnen Jump ได้อย่างสูสี
The Prince of Tennis (ปริ๊นซ์ ออฟ เทนนิส เจ้าชายลูกสักหลาด)
หลายคนสงสัยว่าทำไมมังงะประเภทกีฬาถึงต้องเข้ามาในเกมต่อสู้? เพราะว่าทำไมถึงไม่ล่ะ? ถ้าหากผู้อ่านได้ติดตามเรื่อง The Prince of Tennis ตั้งแต่อดีตถึงช่วงปัจจุบัน คุณจะเข้าใจโดยทันทีว่าเรื่องนี้เหมาะสมแล้วที่จะลงเกม Jump Force
The Prince of Tennis จะผสมผสานระหว่างเนื้อเรื่องประเภทกีฬากับฉากแอคชั่นสุดลุ้นระทึกที่ตัดขาดกับโลจิกทุกอย่างในเรื่องความสมจริง ตัวละครนักกีฬาเทนนิสแต่ล่ะคนจะมีท่าไม้ตายสุดเวอร์วังเป็นของตัวเอง ซึ่งการออกท่าไม้ตายทั้งหมดล้วนทำให้นักกีฬาอีกฝ่ายต้องมีอาการบาดเจ็บสาหัสจนเกือบอาการปางตาย (เอาจริง ๆ เนื้อเรื่องมันก็สนุกใช้ได้เลยนะ)
ทำให้ผู้อ่านหลายคนต่างแซวเรื่อง The Prince of Tennis นี้ว่า ‘เทนนิสเป็นกีฬาป่าเถื่อน’ เพราะเหตุนั้น เพียงเท่านี้ The Prince of Tennis ก็มีเหตุผลที่จะนำมาใส่ลงในเกม Jump Force ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นหลายคนจะต้องรู้สึกเซอร์ไพรส์อย่างแน่นอน
Nisekoi (รักลวงป่วงใจ)
เรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องอื่นอย่างชัดเจน เพราะ Nisekoi เป็นเนื้อเรื่องประเภทเลิฟคอเมดี้ที่ไม่มีฉากต่อสู้แอคชั่นเร้าใจเหมือนกับหลายเรื่อง แต่ด้วยกระแสของเรื่องนี้มาแรงแซงโค้งและเป็นที่ยอดนิยมจนถึงระดับสากลที่แม้ทั้งในฝั่งไทยยังต้องชื่นชอบ
Nisekoi ติดหนึ่งในรายชื่อที่ผู้เขียนต้องการเห็นในเกม Jump Force มากที่สุด ไม่ใช่เพราะตัวละครน่ารักอย่างเดียว แต่ผู้เขียนอยากเห็น ‘ทีมกองทัพอวย’ โดยเฉพาะทีม Onodera กับ Chitoge ให้ท้าประลองในเกม Jump Force เพื่อวัดฝีมือว่าใครเหมาะสมเป็นนางเอกมากกว่ากัน
แต่มองนอกเหนือจากประเภทเนื้อเรื่อง หรือฉากต่อสู้ที่แทบจะไม่มีในเรื่องนี้ ตัวละครนางเอกทั้งสองคนสามารถต่อสู้ได้เช่นกัน Chitoge Kirisaki เป็นลูกสาวของแก๊งยากุซ่าที่พอมีพละกำลังและมีความว่องไว ส่วน Onodera Kosaki เธอเคยสวมบทเป็นสาวน้อยเวทมต์ในมังงะสปินออฟของ Nisekoi ชื่อว่า Magical Pâtissière Kosaki-chan!!
นอกเหนือจากนั้นแล้ว ถ้าหาก Nisekoi ได้เข้ามาเกม Jump Force คาดว่าจะมีเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มังงะประเภทโชเน็นตามเข้ามาในเกมนี้ในอนาคต
Gintama (กินทามะ)
มังงะในดวงใจสำหรับหลายคนที่ทำให้ผู้อ่านหลายคนต้องหัวเราะขำกลิ้งด้วยตัวเนื้อหาตลกคอเมดี้ระดับท็อปฟอร์มที่ได้มีการสอดแทรกเรื่องราวของมิตรภาพของเพื่อนฝูงและดราม่าตรึงใจที่ราวกับอ่านการ์ตูนคนล่ะเรื่องแต่อยู่ในไตเติ้ลเดียวกัน
Gintama เป็นหนึ่งในที่สมควรลงในเกม Jump Force ในฐานะเป็นเรื่องชูโรงให้กับนิตยสารจั้มพ์ เพราะ Gintamaได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงมาก โดยเรื่องนี้ติดอันดับ 1 ใน 10 อันดับแรกของการ์ตูนที่มียอดขายสูงสุดในประเทศญี่ปุ่นตลอดกาลด้วยจำนวนยอดขายทั้งหมดประมาณ 20 ล้านเล่ม รวมถึงไปถึงได้รับการดัดแปลงเป็นสื่ออนิเมะทั้งแบบซีรี่ส์โทรทัศน์และภาพยนตร์, วีดีโอเกม, และนิยายไลท์โนเวลอีกด้วย
JoJo’s Bizarre Adventure (โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ)
เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้สำหรับ JoJo’s Bizarre Adventure สุดยอดการ์ตูนแอคชั่น-ผจญภัยที่ทุกโมเม้นต์หรือเหตุการณ์ในเนื้อเรื่องที่น่าจดจำโดยมักลงเอยด้วยความสุดยอดและเร้าใจ แล้วจบด้วยการโพสต์ท่าโจโจ้สุดเอกลักษณ์ที่ทุกคนต้องทำตาม
เรื่อง JoJo’s Bizarre Adventure ดำเนินเนื้อเรื่องมาตั้งแต่ปี 1987 มาจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนทั้งหมด 122 เล่ม และยกตำแหน่งเป็นซีรี่ส์หนังสือการ์ตูนมีเนื้อหาเยอะที่สุดเป็นอันดับสองในสำนักพิมพ์ใหญ่ Shueisha (บริษัทสำนักพิมพ์รายใหญ่ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นพ่อของนิตยสาร Weekly Shonen Jump) จึงไม่แปลกใจเลยว่ามังงะ JoJo ถึงโดนใจตั้งแต่ทั้งรุ่นพ่อและวัยรุ่นในปัจจุบัน
JoJo เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงที่สร้างประวัติศาสตร์มังงะญี่ปุ่นที่ต้องจาลึกเป็นตำราเรียน ผู้เขียนมั่นใจ 99%ว่าทางทีมงาน Bandai Namco ผู้ผลิตเกม ไม่มีทางมองข้าม JoJo’s Bizarre Adventure ลงในเกม Jump Force อย่างแน่นอน
ยังมีมังงะ Weekly Shonen Jump อีกหลายเรื่องที่สมควรเป็นแขกรับเชิญในเกม Jump Force ซึ่งรายชื่อเรื่องที่กล่าวมาเป็นความคิดเห็นในมุมมองของผู้เขียนเท่านั้น ถ้าหากผู้อ่านคนไหนอยากเห็นมังงะเรื่องอะไรลงในเกม Jump Force ก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ช่องคอมเม้นท์ข้างล่างครับ