ตามปกติแล้ว เครื่องเกมคอนโซลจะเป็นเครื่องที่ถูกสร้างและพัฒนามาเพื่อเอาไว้ใช้ในการเล่นเกมเป็นหลักอยู่แล้ว แต่ทางผู้พัฒนาก็มักอยากจะลองของ ใส่อะไรเข้าไปใหม่ ๆ ตลอดเวลา ทำให้เครื่องคอนโซลบางเครื่อง มีฟีเจอร์พิเศษ ๆ ติดมาด้วย และหลายคนอาจจะไม่รู้ว่ามันมีฟีเจอร์นี้อยู่บนเครื่องเหล่านี้ด้วย แต่จะทำยังไงได้ ก็มันไม่ค่อยมีคนเหลียวแล.. วันนี้มาดูกันกับฟีเจอร์บนเครื่องเกมคอนโซลที่อุตส่าห์ออกแบบมาทั้งทีแต่กลับไม่มีคนชายตามอง
1.Snap Mode เครื่อง XBOX One
โหมด Snap จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถปักหมุดแอปต่าง ๆ ไว้ที่ด้านขวามือของจอในขณะที่เล่นเกมไปด้วย หรือเราจะเอาไว้ดูความคืบหน้าของ Social และหน้าฟีดของเพื่อนในระบบ หรือแม้แต่จะเปิดดู Youtube ระหว่างเล่นเกมก็ได้ แน่นอนว่าการทำหลายอย่างในจอเดียวกันเป็นเรื่องปกติ แต่ดูเหมือนว่าระบบนี้จะไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีพอจากแฟนเกม
ท้ายที่สุดแล้ว Microsoft จึงยกเลิกการสนับสนุนระบบ Snap Mode ไปในปี 2017
2.Gyro Control บน DualShocker ของ PS4
ระบบการควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวละครหรืออาวุธในเกม เป็นอีกระบบที่ผู้เล่นชาวคอนโซลชอบใช้กัน บน PS3 ก็มีระบบนี้ในชื่อ Sixaxis แต่มันก็ไม่ได้รับความนิยมมากนัก ทาง Sony เองก็ไม่ยอมแพ้เหมือนกัน เพราะระบบนี้ถูกสานต่อมาบน PS4 ในชื่อระบบ Gyro Control
น่าเสียดายที่คนเล่นเกมบนเครื่อง PS4 ดูจะไม่ค่อยอินกับการใช้ระบบ Gyro สักเท่าไร เพราะทางสื่ออย่าง WhatCulture รายงานว่า คนไปชอบใช้บนเครื่อง Nintendo Switch มากกว่า ทำให้ระบบนี้ไม่ค่อยมีใครเหลียวแล และใน DualSense ของ PS5 ก็ดูเหมือนจะไม่มีระบบนี้แล้วด้วย
3.Touch Screen บน Nintendo Switch
ระบบทัชสกรีนืคอระบบที่ทุกคนต้องรู้จัก นับตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคสมาร์ทโฟนเต็มรูปแบบ การใช้ทัชสกรีนก็แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติของชีวิตมนุษย์ไปแล้ว แต่กับเครื่องเกมพกพาอย่าง Nintendo Switch นั้น แฟน ๆ ดูจะไม่ค่อยสนใจระบบนี้กันสักเท่าไรนัก
ส่วนหนึ่งเพราะเครื่อง Nintendo Switch และ Nintendo เองก็ไม่ค่อยพูดถึงระบบนี้ และเมนูส่วนมากก็สามารถควบคุมผ่านทาง Joy-Con ได้อยู่แล้ว บางคนถึงกับไม่รู้ด้วยซ้ำว่า Nintendo Switch มีระบบ Touch Screen แม้จะมีเกมอย่าง Super Mario Maker 2 ที่มีการบังคับให้คุมด้วยระบบนี้ แต่ก็แทบไม่มีใครสนใจอยู่ดี
4.DualShocker Speaker บน PlayStation 4
ปกติแล้วไม่ว่าจะเล่นบนคอมพิวเตอร์หรือเครื่องคอนโซล เราก็มักจะมีลำโพงคู่ใจเอาไว้สัมผัสประสบการณ์ด้านเสียงกันแบบเต็มอารมณ์อยู่แล้ว ในช่วงแรกฟีเจอร์นี้ทำงานได้ดีมากกับเกมเปิดยุคสมัยอย่าง Knack และ Killzone: Shadowfall แต่มันก็เท่านั้นแหละ
เพราะสุดท้ายคนก็เลือกจะต่อลำโพงใหญ่ หรือเสียบหูฟังใช้กันมากกว่า ที่สำคัญคือลำโพงในตัวจอยนั้น หากเล่นตอนดึก ๆ ก็รับรองว่ามีปัญหากับคนในบ้าน หรือคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันแน่ ๆ แถมยังมีการตั้งค่าให้ปิดลำโพงนี้ได้ด้วย มันเลยดูเป็ฯฟีเจอร์ที่ไม่ค่อยมีใครสนใจแม้กระทั่งทางผู้พัฒนาเองก็ตาม
5.Nintendo TVii บน Wii U
https://www.youtube.com/watch?v=HXGmW6KuoPU
บริการสตรีมมิ่งผู้มาก่อนกาลของ Nintendo สำหรับ Nintendo TVii นั้นจะเป็นบริการใช้ Wii U Gamepad ในการควบคุมรับชมบริการสตรีมมิ่งแบบ VOD ซึ่งมีทั้งรายการทีวีในพื้นที่ และตั้งค่าการรับสัญญาณเฉพาะช่องได้จากตัวเครื่องเอง
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่การใช้งานบริการสตรีมมิ่ง ยังรวมไปถึงการใช้โซเชียลบนตัวเครื่องอีกด้วย และหลังจากเปิดให้บริการระบบนี้ได้เพียงสามปี Nintendo ก็ประกาศปิดตัวระบบนี้ลง เพราะมันไม่สามารถดึงดูดให้ใครหันมาสนใจได้นั่นเอง
6.รองรับการสั่ง Print ได้ บน PlayStation 3
ใคร..ใครเล่าจะรู้บ้างว่าเครื่อง PlayStation 3 นอกจากจะใช้เล่นเกมแล้ว มันยังสั่งพรินท์งานได้อีกด้วย! เครื่อง PlayStation 3 สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องพรินท์ได้หลากหลายยี่ห้อไม่ว่าจะเป็น HP, Canon, Epson แถมยังหลากหลายวิธี ได้หมดทั้ง USB และ Wi-Fi
เพียงแค่คุณเสียบ USB ที่มีไฟล์รูปภาพไปบนเครื่อง PS3 ผู้เล่นจะสามารถสั่งพรินท์ภาพได้เหมือนกับเครื่อง PC ทั่วไป และแน่นอนว่า หลายคนไม่ได้สนใจฟีเจอร์นี้กันขนาดนั้น สุดท้ายมันก็เลยจบที่ไม่มีการรองรับในคอนโซลรุ่นถัดมาอีกแล้ว