ส่วนใหญ่วิดีโอเกมที่มักโดนแบนจะเป็นเกมที่มีเนื้อเรื่องรุนแรงหรือมีฉากโป๊เปลือยมากเกินไป แต่ 6 เกมเหล่านี้เป็นเกมเนื้อหาปกติทั่วไป หรือสามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย แต่กลับโดนแบนในบางประเทศด้วยสาเหตุแปลก ๆ ซะงั้น แล้วจะมีเกมอะไรบ้างก็สามารถรับชมได้เลยครับ
Football Manager 2005 (จีน)
คงไม่มีใครคิดหรอกว่าเกมจัดการทีมฟุตบอลยอดนิยมตลอดกาลอย่าง Football Manager 2005 จะถูกสั่งแบนในประเทศจีน แต่เนื่องจากเกมระบุว่า ไต้หวันและทิเบต “เป็นประเทศหนึ่ง” ซึ่งในมุมมองรัฐบาลจีน ไม่เคยมองว่าไต้หวันกับทิเบตเป็นประเทศที่แยกตัวจากจีน ทำให้รัฐบาลจึงสั่งแบนเกมดังกล่าวด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติไปตามระเบียบ โดยหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ทีมพัฒนาเกมตัดสินใจสร้างเกมสำหรับเวอร์ชันจีนโดยเฉพาะ
BlazBlue: Continuum Shift (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการควบคุมสื่อบันเทิงอย่างเข้มงวดทั้งรูปแบบวิดีโอเกมกับภาพยนตร์ แต่ BlazBlue: Continuum Shift ซึ่งเป็นเกมต่อสู้ภาพการ์ตูนญี่ปุ่น 2D ไม่มีพิษหรือภัยและไม่มีปัญหาด้านเนื้อหารุนแรงระดับ 18+ เหมือนเกม Manhunt หรือ Dead Island กลับถูกแบนในประเทศโดยมีสาเหตุมาจาก “ตัวละครโชว์เนื้อหนังมากเกินไป” แต่อย่างไรก็ตาม เกมเมอร์ที่อาศัยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังสามารถคงสามารถซื้อ BlazBlue: Continuum Shift มาเล่นได้ตามปกติผ่านร้านขายเกมดิจิทัล
Pokémon Go (อิหร่าน)
Pokémon Go เป็นเกมมือถือที่มีกระแสโด่งดังจนเล่นกันทั่วบ้านทั่วเมืองที่ไม่ว่าเดินไปไหนก็มีแต่คนเล่นเกมอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่สำหรับประเทศอิหร่านเราอาจไม่ค่อยเห็นคนเล่น Pokémon ซะเท่าไหร่นัก เพราะปี 2017 ทางรัฐบาลอิหร่านได้มีมติแบนเกม Pokémon Go โดยไม่มีการระบุสาเหตุชัดเจนนอกเหนือจาก “เพื่อด้านความปลอดภัย” ซึ่งนับเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการแบนเกมดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านยังคงสามารถเล่นเกมดังกล่าวตามปกติ
Pokémon Trading Card Game (ซาอุดีอาระเบีย)
ในปี 2001 ประเทศซาอุดีอาระเบีย เคยสั่งแบนเกม Pokémon Trading Card Game หรือเกมการ์ด Pokémon สุดน่ารักทั้งรูปแบบวิดีโอเกมกับการ์ดเกม เพราะตัวเกมดันมีภาพสัญลักษณ์ดาวที่คล้ายกับดาราแห่งดาวิด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศอิสราเอล โดยตอนนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยังไม่ค่อยถูกกันเท่าไหร่นัก ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ซาอุฯ สั่งแบนเกมดังกล่าวด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ และเชื่อว่าเกมดังกล่าวเป็นการโฆษณาชวนเชื่อจากประเทศอิสราเอล
EA Sports MMA (เดนมาร์ก)
EA Sports MMA เป็นเกมกีฬาต่อสู้ MMA ซึ่งในชีวิตจริงมันเป็นกีฬาที่มีความรุนแรงกว่ากีฬาต่อสู้อื่น ๆ เนื่องจากใช้นวมแบบ 4 ออนซ์ซึ่งเกือบเป็นกีฬาที่ต่อยจริง เจ็บจริง และเลือดออกจริง
แต่ความรุนแรงของเกมไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศเดนมาร์กตัดสินใจแบนเกมแต่อย่างใด แต่ EA เป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะถอดการวางจำหน่ายขายเกมให้ประเทศดังกล่าว หลังตัวเกมถูกตรวจสอบโดยรัฐบาล แล้วโดนสั่งบังคับว่าต้องเซนเซอร์โฆษณาเครื่องดื่มภายในเกม เนื่องจากขัดกับกฎหมายเดนมาร์กที่มีการควบคุมและแบนการวางจำหน่ายเครื่องดื่มพลังงานบางยี่ห้อ
Roblox (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)
เมื่อความอิสรเสรีที่ไม่มีพรมแดนบนโลกอินเทอร์เน็ตกลายเป็นเหตุผลในการแบน Roblox – ย้อนกลับมาที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อีกครั้ง ในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลมีมติสั่งแบน Roblox หรือเกม Multiplayer Sandbox ยอดนิยมสำหรับหมู่เด็ก เนื่องจากเกรงกลัวว่าเกมดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพเด็ก ก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว และเนื่องจากเป็นเกมแนว Sandbox จึงอาจทำให้เด็ก ๆ เห็นเนื้อหาโป๊เปลือยจากผู้เล่นอื่นได้