BY KKMTC
21 Nov 18 6:52 pm

7 บริษัทเกมที่ล่มสลายทั้งที่เคยรุ่งเรืองในอดีต

219 Views

ไม่มีบริษัทเกมไหนจะคงอยู่ได้ตลอดเวลา บริษัทที่คุณชื่นชอบในวันนี้อาจจะตายจากในอนาคตข้างหน้าเช่นกัน นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา มีบริษัทเกมหลายรายที่เคยรุ่งเรืองจะต้องหายไปอย่างน่าเสียดาย หรือลดบทบาทลงเป็นเพียงผู้จัดจำหน่ายเท่านั้น

นี่คือ 7 บริษัทเกมที่ล่มสลายทั้งที่เคยรุ่งเรืองในอดีต จะเป็นการยกรายชื่อตัวอย่างบริษัทเกมที่เคยบทบาทสำคัญของวงการเกมในอดีตที่ได้หายสาบสูญลงไปตามกาลเวลา

Westwood Studios

สตูดิโอผู้ให้กำเนิดเกมวางแผนในตำนานชื่อซีรี่ส์ Command & Conquer และเกม RPG จากนวนิยายชื่อดังอย่าง Eye of the Beholder ที่ตัวเกมทั้งคู่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในช่วงปี ’90 จนเกมเมอร์ทั่วโลกเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะเป็นสตูดิโอเกมคุณภาพ แล้วต่อมาบริษัทได้รวมตัวกับบริษัท Virgin Interactive ในปี 1992 ส่งผลทำให้ Westwood Studio เติบโตเป็นอย่างมาก

แต่ความรุ่งเรืองก็อยู่ได้ไม่นานนัก นับตั้งแต่บริษัท EA ได้ย่างก้าวเข้ามากวาดซื้อ Westwood Studios ต่อจาก Virgin Interative ในปี 1998 ส่งผลทำให้ทางทีมงาน Westwood Studios โดนกดดันจาก EA อย่างหนักในเรื่องเกี่ยวกับการทำกำไรจากการขายของเกม

Westwood Studios ได้โดนบริษัท EA สั่งปิดอย่างไม่ใยดี ในปี 2003 หลังจากเกม Command & Conquer: Renegade กับ Earth & Beyond ไม่ประสบความสำเร็จในด้านยอดขาย

Westwood Studios

Commodore International

ก่อนที่จะมีคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ Asus, Predetor, Lenovo และอื่น ๆ อีกหลายแบรนด์ ย้อนกลับไปในช่วงยุค ’70 บริษัท Commodore Internation ได้เคยเป็นเจ้าพ่อแห่งผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์อเนกประสงค์ยุคแรก

ผลิตภัณฑ์ที่ได้สร้างชื่อแก่บริษัท Commodore กลายเป็นแบรนด์ระดับโลกก็คือ Commodore 64 ที่ได้ออกจำหน่ายตั้งแต่ปี 1982 จนติดอันดับ Guinness World Records ในตำแหน่งเครื่องคอมพิวเตอร์บ้านที่ขายดีที่สุดตลอดกาลในจำนวนประมาณ 12.5 ถึง 17 ล้านเครื่อง

แต่ทว่าตำแหน่ง Guinness World Records ไม่ได้ช่วยให้บริษัท Commodore International มีชีวิตยิ่งยืนนาน เพราะบริษัท Commodore ได้ตัดสินใจผิดพลาดด้วยการออกผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ Commodore plus/4 พร้อมกับยุติการผลิต Commodore 64 และรุ่นเก่าทั้งหมด เพื่อบังคับให้ลูกค้าซื้อใช้คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ด้วยเหตุนั้นผู้คนจึงเริ่มหนีไปใช้แบรนด์ IBM และ Apple แทน แล้วทิ้ง Commodore ไปข้างหลัง

ด้วยความล้มเหลวของ Commodore plus/4 และนโยบายยกเลิกการผลิตคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าทุกรุ่น จึงเป็นให้บริษัท Commodore International ได้ประกาศล้มละลายในปี 1994 ในที่สุด

Commandore 64

 

THQ

หนึ่งในตำนานบริษัทเกมที่มีผลงานเกมจากลิขสิทธิ์แท้ชื่อดังมาอยู่ในกำมือมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ซีรี่ส์ WWE, Nickelodeon, Disney, Pixar และ Dreamwork

แม้ผลงานเกม THQ มีเยอะและทุกเกมล้วนมีคุณภาพ แต่กลับไม่มีเกมตัวไหนที่สามารถทำยอดขายประสบความสำเร็จถึงขั้นพลุแตกเลยซักเกม และรวมไปถึงบริษัท THQ ได้ประสบปัญหาทางการเงินแบบสะสมเรื้อรังมานานด้วยจำนวนหนี้ทั้งหมด 50 ล้านเหรียญ

บริษัท THQ จึงเปรียบเสมือนเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะตายได้ทุกเวลา จนกระทั่งปี 2012 บริษัท THQ ได้โดนประกาศล้มละลายและบังคับให้จ่ายหนี้สินทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้ THQ ได้เริ่มทยอยประมูลขายบริษัทลูกที่อยู่ภายใต้สังกัดของตนเองให้แก่บริษัทรายใหญ่อื่น ๆ (ส่วนใหญ่เป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายเกม) เพื่อที่จะนำเงินไปชำระหนี้ทั้งหมดตามกฎหมายที่ระบุไว้

ในปี 2014 บริษัท Nordic Games ได้เข้ามาซื้อเครื่องหมายการค้าจนบริษัทได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งในชื่อว่า THQ Nordic

THQ

Hudson Soft

จากเพียงบริษัทขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ธรรมดาได้กลายเป็นทีมงานผู้กำเนิดซีรี่ส์ Bomberman กับ Mario Party ที่โด่งดังแบบไม่มีใครคาดคิด

Hudsoft Soft นอกจากจะเป็นทีมผู้ผลิตเกมแล้ว ก็เป็นทีมตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นและทั่วโลกมากมายถึง 30 เกมต่อเดือน ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม Nintendo (NES, SNES, N64) และ SEGA Genesis

แต่เนื่องจากในวงการเกมเริ่มมีคู่แข่งมากขึ้นตามกาลเวลา และ Hudson Soft ไม่สามารถต่อสู้กับบริษัทเกมอื่นที่มีแข็งแกร่งกว่า จึงเป็นเหตุให้ทีมงานได้ประสบปัญหาทางการเงินจนต้องขอความความช่วยเหลือ ทาง Konami จึงได้เข้าช่วยเหลือ Hudson Soft ด้วยการเข้าซื้อกิจการในฐานะเป็นบริษัทลูก แล้วทาง Konami ก็เริ่มค่อย ๆ กลืนกินจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน Konami Digital Entertainment แล้วชื่อ Hudson Soft ก็จางหายไปในที่สุด

hudson soft

SNK Corporation

บริษัทเกมที่โด่งดังด้วยผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์สุดทรงพลังอย่าง Neo Geo ที่เคยครองตลาดเกมอาร์เคดในยุค ’80 ถึง ’90 ด้วย King of Fighters

ด้วยเกมอาร์เคดของ SNK ประสบความสำเร็จอยู่ช่วงหนึ่ง ทางบริษัทจึงได้ทุ่มเทกับการสร้างเครื่องคอนโซลที่มีแนวคิดว่า ‘ตู้อาร์เคดติดบ้าน’ แบบเต็มกำลังจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในชื่อว่า Neo Geo (AES) ซึ่งเป็นเครื่องคอนโซลที่ทรงพลังมากกว่าเครื่องเกมอื่น ๆ แบบทิ้งขาด ที่ในแพ็คเกจมาพร้อมกับคอนโทรเลอร์อาร์เคดจอยสติ๊ก ซึ่งก็ต้องบอกเลยว่า SNK จัดเต็มมาก

แต่ความล้ำหน้ามากเกินไปได้กลับมาทำร้ายตัวเอง เพราะว่าเครื่องคอนโซล Neo Geo (AES) มีราคาที่สูงเกินไป และในยุค ’90 เป็นช่วงที่สงครามเครื่องเกมคอนโซลในประเทศญี่ปุ่นกำลังร้อนระอุเป็นอย่างมาก จึงทำให้เครื่อง Neo Geo ไม่เป็นที่น่าสนใจมากพอในหมู่เกมเมอร์ ซึ่งถึงแม้ว่า SNK จะออกผลิตภัณฑ์เครื่องคอนโซล Neo Geo CD ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่า ก็ยังคงตกที่นั่งลำบากในเรื่องยอดขายที่น่าผิดหวัง (ทั้งสองเครื่องรวมกันขายได้เพียงแค่ 980,000 เครื่อง) ซึ่งเป็นเหตุให้ SNK ล้มละลายในปี 2001 ในเวลาต่อมา

แต่ไม่นานนัก บริษัท Playmore Corporation ได้เข้ามาครอบครองกิจการสานต่อ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น SNK Playmore ในปี 2003

ช่วงปี 2016 SNK ได้ตัดคำว่า Playmore ทิ้ง พร้อมทั้งใส่สโลแกนดั้งเดิมที่ชื่อว่า The Future is Now อีกครั้ง

Neo Geo

SEGA

สำหรับเกมเมอร์ยุคปลายปี ’80 และปี ’90 ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า SEGA เป็นหนึ่งในบริษัทเกมที่มีอิทธิพลมากที่สุดในวงการเกม

ในอดีต SEGA เป็นหนึ่งในบริษัทที่ซัดกับบริษัท Nintendo กันอย่างสูสีมาโดยตลอด ตั้งแต่อุตสากรรมวงการเกมได้เริ่มกำเนิดขึ้นไปจนถึงช่วงสงครามเครื่องเกมคอนโซล ถ้าหาก Nintendo มี SNES และ Mario, ทาง SEGA ก็มี Genesis กับ Sonic The Hedgehog เช่นกัน

แต่ทว่า SEGA เริ่มสะดุดล้มจากการออกผลิตภัณฑ์ Add-Ons เสริมสำหรับ SEGA Genesis อย่าง SEGA 32X กับ SEGA CD ที่มีราคาแพงเทียบเท่ากับเครื่องคอนโซลเครื่องหนึ่ง (และไม่มีความจำเป็น) ต่อมาทาง SEGA ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในชื่อ SEGA Saturn กับ SEGA Dreamcast ซึ่งมียอดขายไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หลังจาก Sony PlayStation ได้เข้ามาตีตลาดสร้างปรากฎการณ์วงการเกม

เนื่องจากความล้มเหลวในยอดขายของ SEGA Saturn กับ SEGA Dreamcast จึงทำให้ SEGA ประสบปัญหาการเงินในช่วงปี 1998-2002 แล้วได้ตัดสินใจลดตัวเป็นเพียงแค่ตัวแทนจำหน่ายเพียงอย่างเดียว (และก็ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน)

Super-sonic-sega-logo-118216

ATARI

รุ่งมาตั้งแต่ต้น แต่เพียงแค่เกมเดียวสามารถจมได้ทั้งบริษัท

บริษัท Atari เปิดตัวอย่างสวยงามด้วยเครื่องคอนโซลไม้อย่าง Atari 2600 ในช่วงตอนยุคปี ’70 แต่ทว่าก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับกระทบจากเหตุการณ์ Video Game Crash (เกมล้นตลาดขายไม่ออก) โดยมีต้นเหตุหลักมาจากเกมสุดฉาวอย่าง E.T. ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเกมที่แย่ที่สุดประวัติศาสตร์ ซึ่งผลิตโดย Atari เอง (สามารถอ่านบทความเต็มได้ ที่นี่)

เหตุการณ์ Video Game Crash ทำให้บริษัท Atari จะต้องโดนบังคับแยกตัวออกมาเป็นสองบริษัท แม้ว่า Atari จะพยายามกอบกู้ชื่อเสียงอีกครั้งด้วยการออกผลิตภัณฑ์ Atari Jaguar ก็ยังคงไม่สามารถต่อสู้กับเกมค่ายอื่นได้ จนกระทั่งในปี 2013 บริษัท Atari ได้ประกาศล้มละลายตายลงไปในที่สุด แต่บริษัทก็ฟื้นอีกครั้งในปี 2014 พร้อมกับนโยบายเจาะกลุ่มตลาดใหม่ โดยเน้นไปทางกลุ่ม LGBT, เกมโซเซี่ยลคาสิโน, การพนัน (ห๊ะ?)

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top