ระบบ Microtransaction เป็นระบบที่เหล่าเกมเมอร์หลายคนไม่พอใจกันมาแต่ไหนแต่ไร ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้นก็มีหลายเกมที่ใส่เข้ามา มีทั้งสมดุล ดีบ้าง เสียบ้าง แต่วันนี้เราหยิบมาให้ 7 เกมที่ใส่ระบบนี้เข้ามา แถมยังมากไปจนทำให้ผู้เล่นต้องถอยหนี บางเกมยังรอด บางเกมร่วงไปเลยก็มี จะมีเกมอะไรบ้างลองมารับชมกันดู
1.Dungeon Keeper Mobile
นี่อาจจะเป็นหนึ่งในเกมที่ทำให้ใครหลายคนมองว่า EA นั้นหน้าเงินขั้นสุด เพราะนี่คือซีรีส์เกมชื่อดังที่ใครหลายคนชื่นชอบ แต่เมื่อมาอยู่บนเวอร์ชั่นมือถือ มันแทบจะทำเอาแฟน ๆ หลายคนหัวใจสลาย
Dungeon Keeper Mobile มาพร้อมโฆษณาและ Microtransaction แบบจัดหนักจัดเต็มจนถึงขั้นที่หน่วยงานกำกับดูแลการโฆษณาของสหราชอาณาจักร ยังต้องเข้ามาดูแลและควบคุมเรื่องนี้ แถมเกมนี้ก็ไม่ได้ผู้ให้กำเนิดเกมอย่าง Peter Molygneux มาร่วมสร้างด้วย ความประทับใจของแฟน ๆ ที่มีต่อเกมนี้เลยเลือนหายไปกับความบ้าพลังในระบบ Microtransaction ของ EA
เริ่มตั้งแต่การเติมเงินจะทำให้คุณเล่นได้บ่อยกว่าคนอื่น ซื้อไอเทมด้วยเงินจริงเพื่อขยายลิมิตเวลาการเล่น ขยายดันเจี้ยนของคุณโดยใช้เงินจริง ฟังดูมันอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในตอนนี้เพราะบางเกมก็ทำ แต่ตอนที่เกมนี้เปิดตัวออกมาเมื่อปี 2013 ที่เป็นยุคเกมมือถือกำลังเริ่มบุกตลาด เกมนี้ถือว่าเลวร้ายสุด ๆ เลยทีเดียว
2.Star Wars: Battlefront 2
นี่เป็นหนึ่งในเกมที่แฟน ๆ ต้องลุกขึ้นมาต่อต้านระบบ Microtransaction กันอย่างหนัก สาเหตุเพราะเกมนี้มีการล็อคตัวละครและคอนเทนต์ของเกมเอาไว้ และต้องจ่ายเงินเปิด Loot Box กันอย่างหนักถึงจะได้ แม้ว่าจะเล่นปลดเองก็ได้ แต่ก็ต้องฟาร์มกันจนเลือดตาแทบกระเด็น
ในบอร์ด Reddit มีคนไม่พอใจอย่างมาก ที่จะต้องจ่ายเงินค่าเกมในราคา 60-80$ แล้วยังต้องมานั่งฟาร์มกันจนตาแหกเพื่อปลดล็อคตัวละครอย่าง Darth Vader อีก แต่ EA ก็ดันออกมาตอบว่า เพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกถึงความภาคภูมิใจในการปลดล็อคตัวละคร แน่นอนว่าโดนผู้เล่นถล่มยับหนักกว่าเดิม แต่ท้ายที่สุดทีมงานก็ยอมแพ้กระแสสังคม และกลับไปจัดการระบบ Microtransaction จนเกมกลับมาดี และมีคนเล่นอีกครั้ง ไม่เจ็บ ไม่พัฒนา ไม่ใช่ EA จริง ๆ
3.Need For Speed Online
EA อีกแล้ว.. ปกติแล้ว Need For Speed คือแฟรนไชส์เกมขับรถชื่อดัง แม้จะเล่นกับเพื่อนได้ แต่จะหาคนมาเล่นด้วยกันนั้นก็ยากซะหน่อย จึงไม่แปลกที่ NFS: Online หรือ NFS: World จะได้รับความนิยม แต่สุดท้ายหลายคนก็เลือกจะถอยหนี
มันเริ่มจากการปรับแต่งแพคสติกเกอร์และแพคสกิน ที่ตอนแรกยังไม่ส่งผลกระทบกับเกม แต่ต่อมา EA ก็ผลักดันระบบ Microtransaction สำหรับชุดการ์ดที่ประกอบไปด้วยเครื่องยนต์รถในเกม เทอร์โบบูสท์และอื่น ๆ ที่ทำให้คนจ่ายเงินได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย เมื่อรวมกับเหล่าแฮคเกอร์ที่บุกมายังเกม ยิ่งทำให้เกมเสื่อมความนิยมลงไปอย่างรวดเร็ว และสุดท้ายเกมก็ประกาศปิดตัวลงในปี 2015
4.Solitaire on Windows 10
คนที่มี PC เป็นของตัวเอง อาจจะเคยเปิดเกมไพ่แมงมุมหรือ Solitaire แน่นอน แม้ว่าจะเล่นเป็นหรือไม่เป็นก็ตาม แต่ในเวอร์ชั่น Windows 10 นี้ เจ้าเกมไพ่เกมนี้ก็กลายเป็นที่จดจำของแฟนเกมจนได้
Solitaire on Windows 10 หากคุณอยากจะเล่นเกมนี้ก็ต้องดูโฆษณาก่อน 30 วินาที ไม่งั้นก็ต้องจ่ายเงิน 1.49$ (30 กว่าบาท) ต่อเดือน หรือ 10 $ (300 บาท) ต่อปี แล้วใครจะยอมจ่ายกับเกมที่เอาไว้เล่นฆ่าเวลาแบบนี้กัน แน่นอนว่าคนก็หนีไปเล่นเกมอื่นกันมากกว่า และปล่อยให้เกมนี้อยู่อย่างเหงา ๆ กันต่อไป
5.The Elder Scolls: Blades
ซีรีส์ The Elder Scrolls นั้น ได้รับคำชื่นชมทุกภาค ยกเว้นภาคนี้ – The Elder Scrolls: Blades เป็นภาคเกมมือถือที่เปิดตัวมาเมื่อปี 2019 และปี 2020 ก็เพิ่มเซิร์ฟเวอร์ SEA ที่มีภาษาไทยเข้ามา แต่ปัญหาคือระบบ Microtransaction ที่ถึงแม้ว่าไอเทมในเกมดี ๆ จะหาได้จากการทำภารกิจเปิดกล่อง แต่กล่องที่มีโอกาสสุ่มได้ไอเทมระดับสูงจะใช้เวลาในการเปิดนานมาก เว้นแต่คุณจะยอมจ่ายเงิน แน่นอนว่าระบบแบบนี้ก็เหมือนบังคับกลาย ๆ ไม่งั้นก็นั่งรอกันยาวไป แถมในหีบอาจจะยังได้ของที่คุณต้องการหรือไม่ต้องการก็ได้ เรียกได้ว่า จัดหนักจัดเต็มกันไปเลยทีเดียว
6.Middle-Earth: Shadow of War
ทำเกมไว้ดีจนหลายคนชื่นชอบในภาคแรกอย่าง Shadow of Mordor แต่ไม่รู้ทีมงานคิดอะไรอยู่ถึงเกือบฆ่าเกมตัวเองทิ้งด้วยระบบ Microtransaction ในเกมภาคต่อนี้
ในภาคนี้มีทั้งการเติมเงินซื้อ Gold, กล่อง War Chest และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยในตอนแรกนั้น เกมนี้ชูระบบ Nemesis ที่เราสามารถสร้างความสัมพันธ์กับกองกำลังพันธมิตรได้ แต่ระบบนี้ดันเปิดโอกาสให้เราจ่ายเงินซื้อสมุน หรือกองทัพได้ซะอย่างนั้น เลยทำให้บางคนแทบไม่ต้องเล่นเกม จ่ายเอาก็ได้ สบายดี นอกจากคนจะก่นด่าแล้ว ทีมงานยังรู้สึกว่า มันคือการทำลายคอนเซปต์ของระบบนี้ชัด ๆ สุดท้ายแล้ว เพื่อฟื้นฟูหัวใจหลักของระบบนี้ ทางทีมงานจึงตัดสินใจถอดระบบนี้ออกไปทั้งหมด และเกมก็ได้รับคำวิจารณ์ที่ดีอีกครั้ง แหม เกือบไปแล้วไหมล่ะ..
7.Asura’s Wrath
ไม่มีเกมไหนที่จะโดนด่าไปมากกว่าเกมนี้ในประวัติศาสตร์การใส่ Microtransaction ไว้ในเกมได้เท่ากับเกมนี้อีกแล้ว
เพราะเกมนี้เลือกที่จะเอา “ฉากจบที่แท้จริง” ของเกมไว้ด้านหลังการเติมเงิน! เกมนี้จะให้คุณจ่ายเงินเพิ่มอีก 6.99$ เพื่อปลดล็อคตอนจบที่แท้จริง ตัวเกมหลักจะให้คุณเล่นทั้งหมด 18 Episode และมันดันไม่จบจริง ๆ ในปีเดียวกันกับที่เกมวางจำหน่าย Episode 19-22 ที่ไม่ใช่แค่เนื้อหาเสริม แต่มันคือเนื้อหาหลักเลย มันควรจะอยู่ในเกมเต็มแต่แรก แต่เขาเลือกหั่นมาขาย เรียกได้ว่าทำเอาแฟน ๆ กำหมัดกันถ้วนหน้า แต่ถึงอย่างไรก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า Asura Wraith’s เป็นเกมที่ดี ถ้าไม่ติดว่ามันบังคับจ่ายเงินซื้อตอนจบล่ะก็นะ.. และดูท่าจะมีเกมนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่เกมเกมซะด้วยที่ถ้าอยากรู้ตอนจบจริง ๆ ของเกม ต้องจ่ายเงินซื้อเอา