การเซนเซอร์สื่อวิดีโอเกมเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับพวกเรามานานตั้งแต่ปี 2000 และทุก ๆ ประเทศต่างต้องเคยประสบปัญหาการอดเล่นเกมโปรดเพราะโดนแบนจากหน่วยงานรัฐบาลด้วยเหตุผลแบบร้อยแปด ไม่ว่าจะเป็นความเหมาะสม, จารีตประเพณี, ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม และอื่น ๆ อีกมากมาย
ซึ่งผู้เล่นหลายคนอาจจะคิดว่าประเทศที่มีอุตสาหกรรมเกมล้ำหน้ากว่าประเทศอื่น ๆ ย่อมต้องมีโอกาสได้เล่นเกมดีแบบเต็มอรรถรส โดยปราศจากการตรวจสอบโดยหน่วยงานรัฐ แต่ความจริงแล้ว ประเทศผู้นำวงการเกมหลายแห่ง ก็ต้องประสบปัญหาด้านการแบนเกมหรือการเซนเซอร์ไม่ต่างจากบ้านเราเลยสักนิดเดียว
นี่คือ 7 ประเทศผู้นำวงการเกมที่มีอำนาจทรงอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมสื่อบันเทิง แต่ก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ด้วยกฎควบคุมและเซนเซอร์เกมอย่างเข้มงวด แล้วจะมีประเทศใดบ้าง ก็สามารถรับชมได้เลย
สหรัฐอเมริกา
ถึงแม้ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีความเปิดกว้างในการวางจำหน่ายเกมโดยไม่มีการเซนเซอร์เนื้อหาใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ยังไม่เปิดโอกาสสำหรับเกมในเรต AO ซะเท่าไหร่นัก เพราะว่าแพลตฟอร์มกับร้านขายเกมหลายแห่ง ไม่มีนโยบายรับวางจำหน่ายหรือแบนการวางจำหน่ายเกมเรต AO ซึ่งส่งผลลัพธ์ทำให้วิดีโอเกมไม่มีค่อยมีเกม AO มาปรากฏตัวให้เห็นเลย
ญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่น มีชื่อเสียงเรื่องการเซนเซอร์เกมที่มีความรุนแรงสูง กับทุกฉากที่ผู้เล่นสามารถทำร้ายผู้อื่นโดยวิธีการ “ซาดิสม์” ยกตัวอย่างเกม Grand Theft Auto V ที่ได้มีการลบฉากหวาบหวิวหรือฉากทรมานทั้งหมด หรือแม้กระทั่งเกมซีรีส์ Resident Evil ที่ต้องมีการแบ่งขายแยกเป็นสองเวอร์ชัน โดยมีเวอร์ชัน CERO D ที่มีการเซนเซอร์เนื้อหาภายใน และเวอร์ชัน CERO Z ที่เกมเมอร์ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ถึงจะสามารถซื้อเกมได้
จีน
ปัจจุบัน ประเทศจีนเป็นหนึ่งในกลุ่มตลาดเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับวงการอุตสาหกรรมเกมทั่วโลก แต่รู้หาไม่ว่าจีนก็เคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่มีทางลองสัมผัสประสบการณ์วิดีโอเกมคล้ายประเทศอื่น เพราะช่วงปี 2000 ทางรัฐบาลจีนเคยประกาศแบนเครื่องเกมคอนโซลทุกแพลตฟอร์ม โดยให้เหตุผลว่า “ป้องกันเด็ก ๆ ไม่ให้หลงมืดตามัวจากการเล่นเกม” (ยกเว้นเกม PC ที่ไม่โดนแบน)
จนกระทั่งปี 2014 ทางรัฐบาลจีน ประกาศยกเลิกแบนการจำหน่ายเครื่องเกมคอนโซล ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมเกมจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนถึงทุกวันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลยังคงตรวจสอบเนื้อหาวิดีโอเกมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในส่วนของเนื้อหาเกมที่ “สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคง หรือภาพลักษณ์ต่อชาติ” หรือเซนเซอร์เนื้อหาความรุนแรงภายในเกม ด้วยการเปลี่ยนสีเลือดให้กลายเป็นสีเขียว
เกาหลีใต้
เคสนี้อาจจะ “พิเศษ” กว่าประเทศอื่น ๆ เพราะการวางจำหน่ายเกมในประเทศเกาหลีใต้ แทบจะไม่มีการดัดแปลงหรือเซนเซอร์เนื้อหาใด ๆ เลย ยกเว้นเกม Manhunt และ Mortal Kombat ที่โดนสั่งแบนการวางจำหน่ายเพราะเนื้อหารุนแรงเกินไป รวมถึงเกมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเทศเกาหลีเหนืออย่าง Homefront ก็ถูกระงับการวางจำหน่าย เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศเกาหลีใต้-เกาหลีเหนือ
และเนื่องจากอุตสาหกรรมเกมเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ เน้นเล่นเกมประเภท MMO กับเกม Multiplayer เป็นหลัก ทำให้ประเทศเกาหลีใต้ จึงมีกฎหมายควบคุมพฤติกรรมการเล่นเกมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดช่วงเวลา ไม่ให้เล่นเกมหลังเที่ยงคืน-หกโมงเช้า (เฉพาะระบบ PC), ต้องระบุตัวตนก่อนสมัครเล่นเกม และล่าสุด ก็มีบทลงโทษตามกฎหมายสำหรับผู้ที่ใช้โปรแกรมโกงแล้ว
นิวซีแลนด์
จะบอกว่าประเทศนิวซีแลนด์ ก็มีความเข้มงวดในการตรวจสอบวิดีโอเกมระดับน้อง ๆ ของออสเตรเลียเลยก็ว่าได้ เพียงแต่หน่วยงาน Office of Film and Literature Classification จะเพ่งเล็งเกมที่มีเนื้อหารุนแรงซาดิสม์, เนื้อหาทางเพศที่ตัวละครมีลักษณะคล้ายเด็ก และนำเสนอความรักแบบผิดศีลธรรม เป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเกมที่โดนแบนเช่น Manhunt, Valkyrie Drive: Bhikkhuni, Criminal Girls: Invite Only, Gal*Gun เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับความเข้มงวดในการตรวจสอบวิดีโอเกมของประเทศออสเตรเลีย การวางขายเกมของประเทศนิวซีแลนด์ยังเปิดกว้างกว่าประเทศออสเตรเลีย
ออสเตรเลีย
ออสเตรเลียเป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่มีการตรวจสอบวิดีโอเกมที่เข้มงวดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เพราะถ้าหากตัวเกมมีเนื้อหาทางเพศ หรือมีความรุนแรงไม่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 15 ปี ทางหน่วยงาน Australian Classification Board จะระบุว่าเกมเหล่านั้นได้ถูก “ปฏิเสธการจำแนกประเภท” และแบนการจำหน่ายโดยทันที จนกว่าตัวเกมจะผ่านการดัดแปลงเนื้อหาให้เหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
แม้ปี 2013 หน่วย ACB จะเริ่มผ่อนเบาเรื่องการจำหน่ายวิดีโอเกมในประเทศเล็กน้อย แต่การตรวจสอบเนื้อหาเกมยังเข้มงวดไม่เปลี่ยนแปลง
เยอรมนี
เนื่องจากประเทศเยอรมนี มีกฎหมายแบนสัญลักษณ์นาซี สวัสติกะ กับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในฐานะเป็นผู้ร้ายของสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเข้มงวด ทำให้สื่อทุกประเภทที่มีเครื่องหมายหรือบุคคลดังกล่าว จะต้องถูกดัดแปลงหรือลบเนื้อหาทั้งหมด เพื่อให้วิดีโอเกมและภาพยนตร์สามารถนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศเยอรมนี
กฎหมายแบนเครื่องหมายนาซี สัญลักษณ์สวัสติกะ กับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ส่งผลลัพธ์ทำให้เกม Wolfenstein เวอร์ชันเยอรมนี ต้องลบเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าวทั้งหมด ยกตัวอย่างชัดเจนคือ ฉากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ใน Wolfenstein 2: The New Colossus ได้มีการลบหนวด และเซนเซอร์บทสนทนาที่กล่าวถึงฮิตเลอร์ทั้งหมด นอกจากนี้ การวางจำหน่ายเกมในประเทศช่วงอดีตไม่นาน ก็มีเกมหลายเกมถูกแบนการวางจำหน่ายเพราะมีฉากความรุนแรงสูง เช่น Dead Island, Dead Rising, Gears of War และอื่น ๆ อีกมากมาย
แต่ปัจจุบัน การเซนเซอร์เนื้อหาวิดีโอเกมของประเทศเยอรมนี ได้มีการผ่อนเบาลงมาก โดยช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา เครื่องหมายนาซี สวัสติกะ กับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีการอนุมัติให้สามารถแสดงสัญลักษณ์ผ่านสื่อบันเทิงได้แล้ว แต่ยังคงแบนสำหรับการโชว์ตามที่สาธารณะต่าง ๆ เช่นเคย