ไม่ว่าเราจะผลิตผลงานอะไรออกมาก็ตาม มันก็มีความเสี่ยงอยู่ว่ามันจะล้มเหลว หรือไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะการผลิตวิดีโอเกมที่อาจจะต้องใช้ทุนสร้าง และใช้เวลาในการทำอยู่มาก หากพลาดเป้าหรือล้มเหลวขึ้นมา ก็อาจจะทำให้สตูดิโอผู้พัฒนาถึงขั้นต้องปิดตัวกันไปเลยทีเดียว เราก็น่าจะได้เห็นกันแล้วว่ามีเกมไหนบ้างที่มีสภาพเป็นแบบนั้น แต่วันนี้เรามาดูอีกมุมหนึ่งกันบ้าง นั่นคือเกมที่ประสบความสำเร็จไม่พอ แถมยังทำให้สตูดิโอและทีมสร้างรอดตาย กลายเป็นทีมทำเกมที่ประสบความสำเร็จต่อ ๆ ไปอีกด้วย
1. Final Fantasy
ใครจะไปคาดคิดว่า ตอน Final Fantasy ภาคแรกถือกำเนิด มันจะกลายเป็นแฟรนไชส์เกมยอดฮิตที่มีภาคต่อตามมาอีก 15 ภาค ไม่รวมภาคแยก ภาคสปินออฟตา่ง ๆ แต่เบื้องหลังของเกม Final Fantasy ภาคแรกนี้ คือในช่วงปี 1987 คือช่วงที่ Square Enix กำลังประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก พวกเขาถูกขู่สั่งให้ปิดบริษัทและยกเลิกกิจการ หากกอบกู้สถานการณ์การเงินไม่ได้ ดังนั้นผลงานนี้จึงถือว่าเป็นผลงานชี้เป็นชี้ตาย และความหวังสุดท้ายอย่าง Final Fantasy นี้ กลับขายดีอย่างไม่คาดคิด โดยมันขายได้มากถึง 400,000 ชุดบน Famicom และ 700,000 ชุด บน SNES ความสำเร็จนี้ทำให้ทาง Square Enix เดินหน้าสร้างเกมแนว JRPG เพิ่ม และประสบความสำเร็จตาม ๆ กันไป และทำให้ Square Enix อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้
2. Spyro the Dragon
หากเอ่ยชื่อ Xtreme Games หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่า Insomniac Games แล้วล่ะก็ หลายคนร้องอ๋อกันอย่างแน่นอน Xtreme Games เริ่มต้นเส้นทางนักพัฒนาเกมด้วยการสร้างเกมบนเครื่อง Panasonic 3DO ก่อนจะมาทำเกมต่อบนเครื่อง PlayStation ด้วยความหวังที่จะหาเงินได้มากขึ้น แต่เกมแรกของพวกเขากลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก จนกระทั่งพวกเขาเล็งเห็นถึงการประสบความสำเร็จของ Crash Bandicoot พวกเขาจึงเริ่มพัฒนาเกม Spyro the Dragon ขึ้นมาและเพราะเจ้ามังกรน้อยตัวนี้ พวกเขาจึงประสบความสำเร็จอย่างมากเรื่อยมา จนได้เปลี่ยนชื่อเป็น Insomniac Games และกลายเป็นหนึ่งในสตูดิโอทำเกมหลักของ Sony ในปัจจุบัน ที่มีผลงานเด่น ๆ อย่าง Marvel’s Spider-Man และอื่น ๆ อีกมากมาย
3. Life is Strange
ผลงานแจ้งเกิดของ DONTNOD Games ที่ประเดิมเกมแรกในวงการด้วย Remember Me แต่ทั้งที่ตัวเกมนั้นน่าสนใจ และมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง แต่กลับถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อยอดขายอย่างมาก ทำให้สตูดิโอเกมเผชิญหน้ากับวิกฤติทางการเงิน และเสี่ยงล้มละลาย ทำให้พวกเขาต้องหาทางทำเกมออกมาโดยใช้งบประมาณที่น้อยที่สุด และพวกเขาพยายามทำเกมสไตล์เดียวกันกับเกมค่าย Telltale นั่นคือการเน้นการเล่าเรื่อง และ Life is Strange จึงถือกำเนิดขึ้นมา ด้วยความที่เกมเป็นธีมวัยรุ่นและการเดินทางข้ามเวลา ตัวเกมได้รับผลตอบรับอย่างดีเกินคาด ทั้งจากนักวิจารณ์และเกมเมอร์ และได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย กลายเป็นการต่อลมหายใจให้กับ DONTNOD ได้ในที่สุด
4. Conan Exiles
สตูดิโอ Funcom เสี่ยงต่อการล้มละลายและต้องปิดตัวเช่นกัน เพราะสองผลงานก่อนหน้าของเขาอย่าง The Park และ Lego Minifugures ที่เป็นเกมออนไลน์ทั้งคู่นั้น ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และเสี่ยงต่อการโดนปิดกิจการ แต่ในช่วงนั้น กระแสของเกมแนว Survival หรือเอาตัวรอดบน Steam กำลังมาแรงเป็นอย่างมาก พวกเขาจึงตัดสินใจพัฒนา Conan Exiles ขึ้นมา ถ้าเกมนี้แป้กอีก ก็คือปิดกิจการของจริง แต่โชคดีเหลือเกินที่การเอาตัวรอดในแดนเถื่อนของ Conan เกมนี้ ทำให้บริษัทรอดพ้นจากการล้มละลาย โดยภายใน 1 สัปดาห์หลังเปิดตัว ตัวเกมก็ขายดีจนได้กำไรเกินทุนการผลิตของเกม และด้วยความที่ตอนนั้นจุดเด่นของเกมตอนโปรโมทคือ การปรับไซส์อวัยวะเพศได้ ซึ่งทำให้เกมเป็นที่รู้จักอย่างมาก ถึงขั้นที่ Lawrence Poe เคยออกมาพูดติดตลกว่า “ใครจะไปรู้ว่าเหล่าเกมเมอร์ที่นั่งหัวเราะเยาะการปรับอวัยวะเพศโทงเทงไปมาเหล่านั้น จะช่วยบริษัทของเราเอาไว้ได้”
5. Angry Birds
คุณอาจจะนึกไม่ถึงเลยก็ได้ว่า แฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จไปทั่วโลกอย่าง Angry Birds นั้น บริษัทเกือบจะล้มละลายวายวอดกันมาแล้ว แต่เหล่านกหลากสีเหล่านี้ได้กอบกู้ชื่อเสียงของ Rovio เอาไว้ได้ ก่อนหน้านี้ Rovio ได้พัฒนาเกม Java ให้กับผู้เผยแพร่รายย่อยอื่น ๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Namco (ก่อนโดน Bandai ซื้อ) และ EA ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น จนกระทั่งพวกเขาตัดสินใจลองทำเกมของตัวเอง และมันผิดพลาดหนักถึงขั้นทำให้บริษัทเข้าสู่สภาวะวิกฤติ (ไม่เปิดเผยว่าเป็นเกมอะไร) ในปี 2009 พวกเขาต้องรีบทำเกมอะไรออกมาก็ได้ เพื่อเอาตัวให้รอด และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ Angry Birds ในตอนแรกพวกเขาก็สงสัยว่าเกมแบบนี้มันจะสนุกจริงหรือไม่ แถมยังเกือบจะพับโครงการไปแล้ว แต่สุดท้ายตัวเกมก็ถูกดันต่อจนได้เปิดตัว และกลายเป็นอีกหนึ่งแฟรนไชส์ที่ยิ่่งใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน
6. The Elder Scrolls III : Morrowind
หากใครได้ดู Let’s Share Elder Scrolls จะเข้าใจสถานการณ์ของสตูดิโอเกมนี้ดี เพราะถือว่า Morrowind คือเกมที่ช่วยให้ Bethesda รอดพ้นจากสถานการณ์วิกฤติของพวกเขาเลย แถมยังเป็นผลงานที่แจ้งเกิด Todd Howard อย่างเต็มรูปแบบ เพราะหลังจากออกตัวเกมภาค Daggerfall สตูดิโอก็เข้าสู่สภาวะวิกฤตในช่วงปี 90 แถมยังเสี่ยงต่อการถูกปิดตัว DLC ของภาค Daggerfall อย่าง Battlespire และ Redguard เองก็ขายไม่ดีซะด้วย แต่ Todd Howard ก็เข้ามาทำให้เกมภาคนี้กลายเป็นที่จดจำของแฟนเกม และประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล และกลายเป็นมาตรฐานเกมต่อ ๆ ไปของ Bethesda อีกด้วย
7. Cuphead
สำหรับเกมนี้ จะบอกว่าช่วยต่ออายุสตูดิโอก็ไม่ถูก เพราะมันทำให้สตูดิโอนี้ แจ้งเกิดและไปต่อได้อย่างงดงาม Cuphead คือผลงานจาก Studio MDHR ที่ก่อตั้งโดยสองพี่น้อง Chad และ Jared Moldenhauer โดยมันเป็นเกมที่เป็นแพสชั่นของสองพี่น้อง ที่อยากทำขึ้นเพื่อรำลึกถึงความทรงจำในการ์ตูนสุดคลาสสิคในวัยเด็ก แม้เกมจะวางขายในปี 2017 แต่เกมนี้ สองพี่น้องเริ่มทำกันมาตั้งแต่ปี 2010 พี่น้องคู่นี้บังคับตัวเองไม่ให้ใช้เทคนิคสมัยใหม่ในการทำอนิเมชั่น รวมไปถึงพื้นหลังของเกม ทำให้กระบวนการสร้างเกมนี้ยาวนานมาก ถ้าเทียบกับเกม 2D เกมอื่น ๆ ในตลาด แถมตัวเกมตั้งใจจะทำให้ได้ 60FPS แต่พวกการ์ตูนวาดมือนั้น เต็มที่อย่างมากก็ได้ที่ 24FPS เท่านั้น Cuphead จึงจำเป็นจะต้องใช้กระบวนการวาดภาพมากกว่อนิเมชั่นแนวเดียวกันเกือบ 3 เท่า ตั้งแต่ตัวละคร ศัตรู ฉากพื้นหลัง
จนเกมเปิดตัวในปี 2014 ตัวเกมได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก สองพี่น้องคู่นี้จึงปรับขนาดเกมให้มีความละเอียดมากขึ้น จากเดิมที่เกมควรจะได้ออกตั้งแต่ปี 2015 ก็ขยับไปอีก 2 ปีเต็มจนได้วางจำหน่ายในปี 2017 แถมระหว่างการทำก็มีการเพิ่มจำนวนคนในการพัฒนา ทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลาย สองพี่น้องคู่นี้ตัดสินใจจำนำบ้านของตัวเอง เป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ แต่ท้ายที่สุด เดิมพันของพวกเขาก็ประสบความสำเร็จ เพราะเกมได้รับความนิยมอย่างมาก และขายได้ดีมาก ๆ