อย่างที่เกมเมอร์หลายคนทราบกันดี วิดีโอเกมระดับ AAA เริ่มกลายเป็นสื่อบันเทิงที่ใช้ทุนการพัฒนาจำนวนมหาศาลเท่ากับหรือมากกว่าการสร้างภาพยนตร์ไปแล้ว ด้วยเหตุผลดังกล่าว เกมก็เริ่มมีการขาย Microtransaction เพื่อกอบโกยรายได้ และคืนทุนในการสร้างเกมให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าการขาย Microtransaction ก็มีหลายวิธีการด้วยกัน แล้วมีอะไรบ้าง ก็เข้าไปอ่านในบทความได้เลย
DLC (จ่ายเงินเพื่อซื้อคอนเทนต์เสริม)
มาเริ่มต้นด้วย Microtransaction แบบดั้งเดิมที่ใช้ในธุรกิจเกมมานานหลายปีอย่าง DLC (Downloadable Content) หรือบางเกมจะเรียกว่า Expansion Pack ที่ผู้เล่นจะต้องจ่ายเงินจริงในการซื้อคอนเทนต์เสริมที่ไม่มีในเกมหลัก โดย DLC ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อหา Singleplayer หรือคอนเทนต์เสริมขนาดยักษ์ ที่ช่วยมอบประสบการณ์การเล่นที่แตกต่างจากเกมหลัก
Air Time (จ่ายเงินเพื่อเล่นเกม)
ความจริงแล้ว Air Time ที่พวกเรามักเรียกกันติดปาก ก็คือระบบ Subscription ที่ผู้เล่นต้องจ่ายเงินแบบรายเดือนเพื่อเข้าเล่นเกม โดยหากหมดอายุแล้ว ผู้เล่นจะต้องจ่ายเงินเพื่อสมัครสมาชิกอีกครั้ง ซึ่ง Microtransaction ประเภทนี้ มักพบเห็นบ่อยตามเกมแนว MMORPG อย่างเช่น Final Fantasy XIV
Map Pack
Map Pack คือการจ่ายเงินในเกมเพื่อซื้อแผ่นที่ใหม่ โดยรูปแบบ DLC แบบนี้มักจะเจอบ่อยในเกมแนว FPS ที่เน้นโหมด Multiplayer เช่น Battlefield และ Call of Duty แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากเกมยุคใหม่หลายเกม เริ่มหันมาทำเกมแบบ Live Service เน้นการอัปเดตในระยะยาว ทำให้ตอนนี้ Map Pack กลายเป็น DLC แทบจะหายไปจากวงการเกมแล้วก็ว่าได้
Battle Pass
คงหลีกเลี่ยงได้ยากแล้วที่เกม Free-to-Play จะไม่มีระบบ Battle Pass เพราะมันกลายเป็นหนึ่งในเส้นทางการทำรายได้ของทีมพัฒนาเกม โดย Battle Pass ก็คือการซื้อตั๋วเพื่อปลดไอเทมเพิ่มเติมจากการทำ Progression ใน Battle Pass ของแต่ละซีซัน โดยส่วนใหญ่ Battle Pass ที่วางจำหน่ายจะมีทั้งแบบธรรมดา เป็นการปลดล็อกไอเทมจากการทำ Battle Pass ทั้งหมด และแบบ Premium ที่จะได้รับไอเทมเสริมเพิ่มเติม ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละเกมก็จะมีโมเดลการขาย Battle Pass ไม่เหมือนกัน
ไอเทม Booster
หนึ่งใน Microtransaction ที่อยู่คู่กับวงการเกมมานานหลายปี ในบางเกม ผู้เล่นสามารถซื้อไอเทมพิเศษตามร้านค้า เพื่อทำการเพิ่ม Boost ต่าง ๆ เช่น ค่า EXP, อัตราการดรอปไอเทม, อัตราการดรอปเงิน และอื่น ๆ ซึ่งไอเทม Booster ส่วนใหญ่จะพบเห็นได้บ่อยตามเกมแนว MMORPG ที่ผู้เล่นบางคนซื้อไอเทมนี้ เพื่อให้อัปเลเวลตัวละครรวดเร็วมากขึ้น และได้รับทรัพยากรในเกมมากกว่าปกติ
ปลดสกิน อาวุธ และเครื่องประดับเสริมความงาม
จัดว่าเป็นหนึ่งในเส้นทางการทำรายได้ของนักพัฒนาเกมที่กำลังได้รับความนิยมที่สุดในตอนนี้ เพราะเกมเมอร์หลายคนเห็นด้วยว่าการจ่ายเงินเพื่อซื้อสกินตัวละคร อาวุธ และเครื่องประดับเสริมความงามเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เนื่องจากมันเป็นแค่ของตกแต่งเท่านั้น ทำให้เกมเล่นฟรีส่วนใหญ่นิยมขายสกินต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เล่นด้วยการขาย Microtransaction ที่เป็นประเด็นเดือดในอุตสาหกรรมเกมมานานหลายปี
ในขณะที่ไอเทมจากการซื้อด้วยเงินจริงส่วนใหญ่จะเป็นไอเทมเสริมความงามเท่านั้น แต่สำหรับบางเกม ตัวไอเทมเสริมความงามอาจจะมีการแฝงบัฟค่าสถานะต่าง ๆ เล็กน้อย ที่อาจทำให้การเล่นเกมได้เปรียบมากขึ้นนิดหน่อย หรือไม่ก็เพิ่มความได้เปรียบอย่างมากจนทำให้เกมเสียสมดุลไปเลยทีเดียว
Subscription เพื่อแลกหน่วยเงินพิเศษแบบรายวัน
เป็นระบบที่พบเห็นบ่อยตามเกมแนว Gacha และ Loot Box ที่เมื่อผู้เล่นซื้อ Subscription แบบรายเดือนแล้ว เกมเมอร์จะได้รับหน่วยเงินพิเศษจำนวนหนึ่งแบบรายวัน สำหรับใช้ในการกด Gacha หรือ Loot Box แม้ผู้เล่นจะได้รับประโยชน์จากการสมัครรายเดือน แต่ก็เป็นการสร้างนิสัยให้ผู้เล่นต้อง Log In เข้าเกมทุกวันคล้ายกับระบบ Air Time
Loot Box และ Gacha
Loot Box และ Gacha มีลักษณะคล้ายกัน คือผู้เล่นต้องใช้หน่วยเงินพิเศษที่ได้จากการซื้อด้วยเงินจริงหรือเล่นเกม มาสุ่มเปิดหาตัวละคร, อาวุธ หรือสกินที่บางผลิตภัณฑ์อยู่ในตู้ถาวร และบางผลิตภัณฑ์อยู่ในตู้ “Limited Time” ที่มีระยะเวลาในการเปิดสุ่มที่จำกัด ซึ่งหากหมดช่วงเวลาแล้ว ผู้เล่นอาจจะต้องรอรีรันตู้กลับมาอีกครั้งในจำนวนหลายเดือน
แน่นอนว่า Loot Box และ Gacha เป็น Microtransaction ที่โดนวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เล่น และสังคมอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นระบบที่ไม่ต่างจากการเล่นพนัน ที่ผู้เล่นต้องใช้สกุลเงินพิเศษ (ทั้งได้จากการซื้อด้วยเงินจริง และเล่นเกม) มาเปิดสุ่มหาไอเทมหายาก ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์โอกาสได้รับผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการต่ำมาก โดยประเทศเบลเยียมกับเนเธอแลนด์ ได้มีการแบนระบบนี้อย่างถาวร และบางประเทศ รัฐบาลได้เริ่มเข้ามากำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจว่า Microtransaction ไม่มีการเอาเปรียบผู้เล่นมากจนเกินไป