ในช่วงที่วงการเกมกำลังเข้าสู่ยุค Next-Gen นอกจากอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์และเครื่องเกมแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ และเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของการเล่นเกมเลยก็คือจอ (Monitor) และสำหรับผู้ที่ใช้เครื่อง PC ทุกคน จอมอนิเตอร์คือสิ่งที่จะทำให้เราสัมผัสประสบการณ์การเล่นเกมได้อย่างเต็มอิ่มมากยิ่งขึ้น แต่การจะเลือกซื้อจอสำหรับการเล่นเกมสักจอหนึ่ง เราควรต้องรู้อะไรบ้าง วันนี้มาหาข้อมูลและคำตอบกันก่อนเลย
ขนาดของหน้าจอ
อย่าสับสนกันระหว่าง “ขนาด” และ “ความละเอียด” เพราะสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน บางจออาจจะมีขนาดใหญ่ และความละเอียดหรือ Resolution อาจไม่ใช่อย่างที่เราต้องการ ขนาดของจอมอนิเตอร์ ยิ่งกว้างก็ยิ่งใหญ่ และใช้พื้นที่ในการวางเยอะขึ้น การเลือกขนาดจอจึงควรดูจากพื้นที่หรือโต๊ะคอมพิวเตอร์ของเรา ว่าใหญ่ หรือเล็กไปหรือไม่ กรณีสายสตรีมเมอร์ทั้งหลายต้องดูว่า เลือกขนาดจอมาพอเหมาะหรือเปล่า พอจะวางอุปกรณ์เสริมอย่างพวกไมโครโฟน ลำโพง หรืออื่น ๆ ได้หรือไม่
อีกจุดหนึ่งที่สำคัญและหลายคนคาดไม่ถึง คือเรื่องของระยะห่างระหว่างเรากับจอมอนิเตอร์ ถ้าเราเลือกจอที่มีขนาดใหญ่ แต่ระยะห่างที่นั่งของเราอยู่ห่างไม่ถึง 2 ฟุต ก็อาจส่งผลเสียต่อสายตาได้ หรือในการเล่นเกมแบบจริงจังก็อาจทำให้คุณไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดทั้งหมดได้ เนื่องจากขนาดจอที่ใหญ่จนเกินจะกวาดตาไปเก็บรายละเอียดได้ทั้งหมด
ดังนั้นการเลือกขนาดจอให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งแรกที่เราควรคำนึงถึง เช็คพื้นที่ โต๊ะคอมพิวเตอร์ของเราก่อนว่าจะใช้จอขนาดไหน และใช้กี่จอ บางคนอาจต้องการ 2 จอขึ้นไปเพื่อการทำงาน หรือสายสตรีมเมอร์ที่อาจจะต้องสตรีมเกมไปด้วย และเปิดเช็ค Dashboard ไปด้วย ยิ่งถ้าใช้สองจอเรายิ่งจำเป็นต้องกะขนาดของจอให้ดี สำหรับยุคนี้ มาตรฐานจะเป็นจอขนาด 24 นิ้ว เหมาะกับการนั่งในทุกระยะ หรือถ้าต้องการกว้างขึ้นมาอีกหน่อยก็จะเป็นจอขนาด 27 นิ้ว และเต็มที่เลยคือ 32 นิ้ว สำหรับผู้ที่มีพื้นที่เหลือใช้และเสพความสวยงามแบบจัดเต็ม
ความละเอียด (Resolution)
ความละเอียดคือภาพที่แสดงขึ้นมาภายในจอ มันจึงไม่เกี่ยวข้องกับขนาดอย่างที่กล่าวไปด้านบน ในยุคนี้ สำหรับคนที่เป็นเกมเมอร์เต็มขั้น จะรู้ดีกว่าความละเอียดจอขนาดมาตรฐานก็คือ 1920×1080 หรือ Full HD 1080p ซึ่งเราสามารถปรับให้ต่ำลงกว่านั้นได้ แต่ความคมชัดของภาพก็จะลดลงไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับขนาดของหน้าจอ
แต่ในปัจจุบันเราเริ่มจะเห็นความละเอียดที่มากขึ้น จาก Full HD 1920×1080 ก็จะกลายเป็น 2560×1440 หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า 2K และที่อาจจะเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับยุคหน้า และ Console Next-Gen ก็คือ 3840×2160 หรือความละเอียดระดับ 4K ความละเอียดภาพยิ่งสูง ภาพก็ยิ่งสวย แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยก็คือสเปคคอมพิวเตอร์ของเราเอง เพราะยิ่งรายละเอียดภาพสูงเท่าไร ก็ต้องใช้สเปคคอมพิวเตอร์ที่สูงมากตามไปด้วย ยิ่งหวังจะเล่นแบบ 60 FPS ยิ่งต้องใช้สเปคคอมพิวเตอร์สูงขึ้นไปอีก
เพราะขนาดความละเอียดของจอจะใช้ RAM ของการ์ดจอ หากการ์ดจอคุณ RAM สูง ประสิทธิภาพในการเล่นบนความละเอียดระดับสูงก็จะดีขึ้น เช่นการเล่นเกมบนภาพ 2K นั้นอาจจะต้องใช้การ์ดจอระดับ RTX 2070 Super หรือ AMD RX 5700 XT ขึ้นไป ส่วนความละเอียดระดับ 4K นั้น อาจต้องใช้ถึง RTX 3080 หรือ AMD Radeon 7 กันเลยทีเดียว
แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในยุคนี้ ก็ยังเลือกที่จะเล่นแบบ 1080p ตั้งต้นกันอยู่ ไม่ได้เสียหายอะไรมาก ถ้าคุณไม่ใช่พวกเสพกราฟิกแบบจัดเต็มอะไรขนาดนั้น การซื้อจอที่มีความละเอียดมากเกินไปอาจเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย จอระดับ 1080p หรือ 2K ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
Refresh Rate
รีเฟรช เรท คืออะไร ? มันคืออัตราการแสดงจำนวนเฟรมสูงสุดที่จอตัวนั้นสามารถทำได้ จอทั่วไปจะแสดงผลได้อยู่ที่ 60Hz หมายความว่าจอนั้นจะแสดงภาพออกมาได้ 60 เฟรม / วินาที ต่อให้โปรแกรมวัดค่าเฟรมเรทจะเห็นว่าเฟรมเรทพุ่งไปเป็นร้อย แต่ภาพที่เราเห็นมันก็คือ 60 เฟรมอยู่ดี
สำหรับคนที่ไม่เคยลองใช้งาน อาจแยกไม่ออกว่ามันต่างกันยังไง แต่จากประสบการณ์ของเกมเมอร์รอบตัวหลาย ๆ คน ผู้ที่ได้ลองใช้งานจอระดับ 144Hz แล้วจะเห็นความต่างอย่างชัดเจน และจะไม่อยากกลับมาใช้งานแบบ 60Hz อีกเลย แต่คำถามคือ มันจำเป็นสำหรับคุณหรือไม่ ?
อย่างแรกก็คงต้องดูที่ภาพรวมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของเราก่อน ถ้าคอมพิวเตอร์เราสามารถเล่นเกมโปรดของตัวเองได้ในระดับ 60 เฟรมนิ่ง หรือต่อให้เกินถ้ามันยังอยู่ที่ 60-70 การจะซื้อจอที่ Refresh Rate สูงกว่านี้ก็อาจจะเป็นเรื่องเกินความจำเป็น แต่ถ้าเรารันเกมได้ถึง 100-150 เฟรม การใช้จอระดับ 120-144 Hz ก็เป็นทางเลือกที่ดี
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่แนวเกมที่คุณเล่น ถ้าเป็นเกม FPS เน้นความลื่นไหล การใช้จอที่มี Refresh Rate สูง ๆ (และเครื่องเรารันถึง) อาจจะเปิดประสบการณ์ใหม่ในการเล่นเกมของคุณไปเลย
แต่ถ้าคุณเล่นเกมทั่วไปที่ไม่ได้แข่งขันกับใคร แค่ 60 เฟรมนิ่ง ๆ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว การใช้จอที่มี Refresh Rate สูงกว่านี้ก็อาจจะไม่จำเป็น ดังนั้น ใช้จอกี่ Hz ดี จึงขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก ๆ ที่คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เครื่องคุณแรงแค่ไหน และเกมแนวโปรดที่คุณเล่นนั้น สามารถรันได้สุด ๆ ที่เท่าไร
เลือกพาเนลแบบไหนดี ?
ในปัจจุบันจอมอนิเตอร์นั้นจะมีพาเนลให้เลือกสองแบบคือ IPS และ TN
สำหรับ IPS หรือ In-Plane Switching นั้น จะมีจุดเด่นที่ความคมชัดและสวยงาม รวมไปถึงการแสดงผลด้านสีจะเพี้ยนน้อยกว่าแบบ TN แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องความไวในการตอบสนองที่ด้อยกว่าแบบ TN แน่นอนว่าจอแบบนี้เหมาะสมกับการนำไปใช้งานเกี่ยวกับโปรแกรมกราฟิก หรือการตัดต่อที่การแสดงผลด้านสีจะมีความจำเป็นมาก แต่ก็ใช่ว่าจะเล่นเกมไม่ได้เลย
ส่วนแบบ TN หรือ Twisted Nematic นั้นจะตรงข้ามกับ IPS คือ ความไวในการตอบสนองจะยอดเยี่ยมมาก แต่การแยกเม็ดสีและการแสดงผลด้านสีจะมีคุณภาพไม่เทียบเท่าแบบ IPS ซึ่งใครที่เป็นสายเล่นเกมล้วน ๆ ก็อาจจะเลือกใช้จอพาเนลแบบนี้
ผู้เล่นที่เล่นเกมเน้นการแข่งขัน อย่างพวกเกม FPS ต่าง ๆ ก็เหมาะกับการเลือกใช้จอแบบ TN ส่วนคนที่เน้นความชัดเจนของสีและการแสดงภาพ ก็ควรเลือกใช้จอแบบ IPS ขึ้นอยู่กับการใช้งานของตัวผู้ใช้เอง
Respond Time กับค่าสี
Response Time คือ ความเร็วในการตอบสนอของเม็ดพิกเซลเมื่อเปลี่ยนจากสีดำมาเป็นสีขาว แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นสีดำอีกครั้งนึง (Black to Black) ในการใช้งานเล่นเกมนั้นจอที่มี Respond Time ต่ำก็หมายถึงจอที่มีความลื่นไหลของในการเคลื่อนที่มากกว่า ส่วนจอที่มี Respond Time สูง ๆ ก็จะแสดงผลภาพที่เบลอหรือไม่ชัดเจนออกมา
พาเนลแบบ TN จะมีจุดเด่นคือ Repond Time ที่สูงตามหัวข้อที่เราบอกไว้ข้างต้น แต่มาตรฐานจอภาพทุกวันนี้ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะมี Repond Time ไม่เกิน 5 ms ซึ่งการเลือกใช้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดความบันเทิงหรือเกมที่เราเล่นถ้าชอบการตอบสนองที่รวดเร็วลื่นไหลก็มองหาจอที่ Respond Time ต่ำ ๆ เอาไว้ครับ
อีกจุดที่ควรพูดถึงก็คือเรื่องของการแสดงผลของค่าขอบเขตสี โดยปัจจุบันนั้นมาตรฐานค่าขอบเขตสีในจอนั้นมีหลายมาตรฐานมาก ๆ ไล่กันตั้งแต่
- sRGB ที่เป็นมาตรฐานสากลที่เราเห็นได้ทั่วไป
- DCI-P3 หรือ P3 เป็นมาตรฐานสีของการภาพยนตร์ดิจิทัล
- Adobe RGB มาตรฐานสีของ Adobe เน้นใช้ในงานสิ่งพิมพ์
- NTSC หรือมาตรฐานสีโดย The National Television System Committee
ซึ่งเป็นมาตรฐานสีที่มีความกว้างสูงต่างกัน ทำให้หลายครั้งเราจะเห็นว่าตัวเลขมาตรฐานจอบางอันอาจจจะได้ไปแค่ 70 – 80% NTSC แต่เป็น 100% sRGB แบบนี้นั่นเอง
ส่วนใหญ่แล้วมอนิเตอร์แบบ HDR มักจะมาพร้อมค่าสีแบบ DCI-P3 ซึ่งยิ่งตัวเลขสูงก็ยิ่งให้สีได้กว้างและแน่นอนว่ามาในราคาที่แพงยิ่งขึ้นนั่นเอง
HDR หรือ High Dynamic Range
สำหรับผู้ใช้งานที่เลือกหาจอมอนิเตอร์ก็คงจะคุ้นเคยกันดีสำหรับคำว่า HDR แต่สำหรับหลายคนที่ยังไม่รู้จัก จอที่มี HDR หรือ High Dynamic Range ก็คือจอก็คือศักยภาพในการไล่เฉดสี และไล่ระดับความสว่าง ความมืด ความสว่าง ให้รายละเอียดภาพมากกว่าจอธรรมดาทั่วไป ส่วนที่สว่างในจอเราก็จะเห็นแบบสว่างชัดเจนในขณะส่วนที่มืดเราก็จะมองเห็นเป็นสีดำสนิท
เมื่อเป็นแบบนี้เราก็จะเห็นได้ว่าจอมอนิเตอร์ที่มี HDR ก็ย่อมให้ภาพที่สวยงามคมชัดกว่าจอที่ไม่มีเทคโนโลยี HDR อย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งที่มาพร้อมภาพที่สวยงามขึ้นก็คือราคาที่แพงขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน
ส่วนที่น่าสนใจในการเลือกซื้อจอ HDR มาใช้งานนั้นเราควรคำนึงไปถึงเกมที่เราจะนำมาใช้เล่นด้วย ปัจจุบันเกม Console และ PC เกมใหม่ ๆ ส่วนใหญ่มักจะรองรับการแสดงผลแบบ HDR กันเป็นที่เรียบร้อย สำหรับใครที่เป็นคอเกมภาพสวย ๆ ชอบเกมที่ให้คุณเสพกราฟฟิกได้เต็มที่การมองหาจอ HDR มาใช้งานก็คือเป็นการอัพเกรดใหม่ที่คุ้มค่าแก่การลงทุน ส่วนคอเกมสาย eSports ที่เน้นเกม Competitive ไม่จริงจังกับภาพก็อาจเอาเงินส่วนนี้ไปลงกับจอที่มี Refresh Rate สูง ๆ แทน
ที่นี้พอเรารู้จักในส่วนของ HDR แบบพื้นฐานกันไปแล้วสิ่งที่เราควรรู้อีกอย่างก็คือ “ชนิด” ของเทคโนโลยี HDR แบบต่าง ๆ โดนปัจจุบันนั้นนอกจาก HDR แบบธรรมดาทั่วไปเรายังแบ่ง เรายังมีเทคโนโลยี HDR เฉพาะของแต่ละค่ายถูกส่งลงสู่ตลาดเช่น HDR10+ ของ Samsung , Dolby Vision ของ Dolby และ HLG ของทาง BBC ที่พัฒนาร่วมกับ NHK
แต่สำหรับการใช้งานจอมอนิเตอร์สำหรับ Windows นั้น HDR10 หรือ HDR ปกติคือมาตรฐานหลักที่เราจะเห็นปะพ่วงในจอมอนิเตอร์นั่นเอง
G-Sync และ Free-Sync
เทคโนโลยีที่ลดอาการฉีกขาดของภาพระหว่างการเล่นเกม ซึ่งปัจจุบันมอนิเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ในตลาดมักจะออกมารองรับหนึ่งในสองเทคโนโลยีนี้ด้วยกันทั้งนั้น อธิบายให้สั้น ๆ ง่าย ๆ ในการแสดงผลจากเครื่องไปยังหน้าจอนั้นเมื่อ PC ของเราแสดงผลไม่ตรงกับค่า Hz ของจอผลที่ตามมาก็คือจอภาพจะแสดง Frame ออกมาพร้อมกันนำไปสู่อาการภาพฉีกขาดหรือที่เราเรียกกันว่า Tearing ซึ่งสมัยก่อนเรามีการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า V Sync เข้ามาลดปัญหาตรงนี้ แต่ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นเพราะ V Sync มาพร้อมกับอัตราเฟรมเรทลดลง ทำให้การเคลื่อนไหวของเมาส์ไม่ลื่นไหล และภาพการเล่นเกมที่กระตุก
การมาถึงของเทคโนโลยี S-Sync และ Free Sync คือการทำให้ GPU ทำงานร่วมกับจอภาพเพื่อแสดงเฟรมภาพเมื่อพร้อมเท่านั้น ทำให้ปัญหาภาพขาดหรือกระตุกหมดไป
ปัจจุบันนั้นจอ G-Sync จะทำงานร่วมกับการ์ดจอของ Nvidia โดยเฉพาะขณะที่ Free-Sync รองรับการทำงานร่วมกับการ์ดจอของ AMD และก็มีบางรุ่นที่ทาง Nvidia ให้การสนับสนุนแต่ปกติแล้วถ้าเป็นจะ Free-Sync ก็มักจะใช้งานได้กับการ์ดจอทั้งสองค่าย ขณะที่จอ G-Sync จะมาราคาที่สูงกว่าแบบเห็นได้ชัด
ลักษณะเฉพาะของจอ (ปรับเป็นจอตั้ง , ตัวจอปรับขึ้นลงซ้ายขวาหรือขยับได้มากแค่ไหน)
สำหรับข้อนี้อาจจะเป็นความชอบส่วนบุคคลสักหน่อย เพราะจริง ๆ แล้วเหล่าเกมเมอร์หรือคนที่เลือกจอมาไว้เล่นเกมนั้น มักจะเลือกจอแบบตายตัว ตั้งอยู่กับที่ แต่ในสมัยนี้ก็มีจอแบบใหม่ที่เราสามารถปรับได้ ไม่ว่าจะเป็นปรับแนวตั้ง หรือขยับขึ้นลงซ้ายขวาได้
สำหรับการปรับจอแนวตั้งสำหรับเกมเมอร์อาจไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น แต่สำหรับสายสตรีมเมอร์นั้นจะทำให้สะดวกต่อการอ่านคอมเมนท์เวลาสตรีม หรือทำประโยชน์อื่น ๆ ได้อีก ส่วนการขยับขึ้นลงซ้ายขวา ก็แล้วแต่การใช้งานของผู้ใช้ ว่าอยากให้มันทำได้มากน้อยแค่ไหน ในสมัยนี้ก็มีจอต่าง ๆ ที่ปรับคุณลักษณะเฉพาะได้หลากหลาย มากถึงที่ขั้นที่ว่า ใช้ติดผนัง หรือแขวนไว้กับจอเลยก็ได้ แต่ราคาก็จะสูงขึ้นตาม
ท้ายที่สุดแล้วการเลือกใช้จอสำหรับการเล่นเกม ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้งานต้องการฟังก์ชั่นอะไรบ้างในจอนั้น ๆ สิ่งที่เรานำมาเสนอล้วนเป็นทางเลือก อาจจะมีทั้งคนที่ต้องการใช้ทุกข้อ หรืออาจจะไม่ต้องการบางข้อ ก็นำความชอบของตัวเองเข้าไปพิจารณาและตัดสินกันได้เลย ขอให้เลือกจอที่ใช่ มาเล่นเกมที่ชอบกันนะ !