ถือเป็นธรรมเนียมประจำปีไปแล้วสำหรับวงการวิดีโอเกม ที่มักจะมาพร้อมกับเรื่องราวการถกเถียงหรือดรามาเกี่ยวกับเกมให้เราได้มีส่วนร่วมในการเสพหรือพูดคุยโต้วาทีด้วยเหตุผลซึ่งกันและกันอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าปี 2019 ยังคงมีประเด็นเดือดของวงการเกมที่น่าสนใจเหมือนทุกปีที่ผ่านมา แล้วจะมีอะไรบ้าง ก็สามารถรับชมได้เลย
Pokémon Sword and Shield กับ Pokedex ที่หายไป
ก่อนวันวางจำหน่ายเกม Pokémon Sword and Shield – แฟนเกม Pokémon เป็นจำนวนมากออกมาแสดงความไม่พอใจบนกระทู้ Reddit กับโซเชียลมีเดียหลายแห่ง หลังมีภาพหลุดว่าจำนวน Pokémon ไม่เยอะเท่ากับเกมภาคเก่า และทีมงาน Game Freak กล่าวว่าภาคนี้จะไม่มี National Pokédex หรือหมายความว่า Pokémon จากภาคเก่าหลายตัวจะไม่มีในภาคนี้
แม้รายชื่อ Pokédex ใน Pokémon Sword and Shield จะมีจำนวน 400 ตัว และ Pokémon มีการออกแบบใหม่เกือบทั้งหมด ก็ไม่ช่วยให้แฟนเกมพึงพอใจมากขึ้น แต่กระแสด้านลบก็ไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขาย Pokémon Sword and Shield ที่ตอนนี้ ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในเกม Nintento Switch ที่ขายดีที่สุดด้วยสถิติทำยอดขายได้ 2,456,459 ชุดในเวลาเดือนเดียว
WWE 2K20 สุดยอดเกมพังแห่งปี 2019
วันที่ 22 ตุลาคม 2019 เป็นวันวางจำหน่าย WWE 2K20 หรือเกมมวยปล้ำประจำปีเป็นทางการ แต่ทว่าหลังจากเกมเมอร์ได้ลองสัมผัสตัวเกมจริง ๆ ก็ทำให้ผู้เล่นทุกคนจะต้องช็อกกับคุณภาพเกมที่ “พังพินาศ” อย่างไม่มีชิ้นดี ไม่ว่าจะเป็นฉากคัตซีนเหมือนเกมยุค PlayStation 2, โมเดลตัวละครคุณภาพต่ำ และมีปัญหาบั๊กต่าง ๆ จำนวนมหาศาลที่สามารถพบเห็นตลอดการเล่นเกม ตั้งแต่ฉากแต่งตัวละครจนถึงเวทีประลองมวยปล้ำ ทำให้เกม WWE 2K20 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งฝ่ายเกมเมอร์กับแฟน WWE
แม้ทีมงาน Visual Concepts ได้พยายามแก้ไขเกม หลังจากถูกกระแส #FixWWE2K20 กดดันอย่างหนัก แต่ปัญหาต่าง ๆ ก็ไม่มีท่าทีจะแก้ไขหมดลงซะที ทำให้เกม WWE 2K20 ขึ้นแท่นเป็นเกมยอดแย่ประจำปี 2019 จากหลายเจ้าสำนักอย่างไม่ต้องสงสัย
Death Stranding เข้าชิงรางวัล The Game Awards 2019 ถึง 9 สาขา
ดรามาเกม Death Stranding เริ่มมีมาสักพักตั้งแต่ตัวเกมมีกระแสวิจารณ์ทั้งคนกับคนไม่ชอบ หรือเกมถูกรีวิวบอมบ์ใน Metracriticsเพราะความไม่พอใจส่วนตัว แต่ประเด็นเดือดที่สุดก็คงไม่มีทางหนีพ้นเรื่อง Death Stranding สามารถเข้าชิงรางวัล The Game Awards 2019 ถึง 9 สาขา รวมถึงสาขา Game of The Year ด้วย
เนื่องจาก Death Stranding เป็นเกมเพิ่งออกจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายน และ Geoff Keighley นักจัดงาน The Game Awards มีความสัมพันธ์เป็นเพื่อนสนิทกับ Hideo Kojima ทำให้เกมเมอร์บางฝ่ายออกมาแสดงความไม่ไว้วางใจต่องานนี้ และเชื่อว่า Keighley อาจมีการแทรกแซงผลโหวต
แต่ประเด็นดรามาก็จบลงด้วยดี เพราะว่าเกม Death Stranding ได้รับรางวัล 3 สาขาอย่างสมเหตุสมผล (Best Game Directions, Best Performance กับ Best Score/Music) และ Sekiro: Shadows Die Twice ก็ได้คว้ารางวัล Game of The Year และ Best Action/Adventure Game อย่างสมศักดิ์ศรี
โมเดล Sonic The Hedgehog ฉบับภาพยนตร์
หลังมีการปล่อยวิดีโอ Trailer ตัวแรกของ Sonic The Hedgehog ฉบับภาพยนตร์ ก็มีกระแสตอบรับไม่ดีทั้งฝั่งคนดูหนัง, เกมเมอร์ และแฟนเกม Sonic ทั่วโลกทันที โดยเฉพาะโมเดลตัวละคร Sonic เป็นองค์ประกอบที่ถูกวิจารณ์มากสุด เพราะ Sonic ฉบับหนัง มีลักษณะดูสมจริงเกินไปจนน่ากลัว และไม่มีความเท่เหมือนต้นฉบับแม้แต่นิดเดียว แม้แต่ผู้ให้กำเนิดเกม Sonic อย่าง Yuji Naka ก็ไม่ปลื้มกับดีไซน์อีกด้วย
เนื่องจากกระแสตอบรับของหนังมีด้านลบมากกว่าด้านบวก ทางผู้กำกับจึงตัดสินใจดีเลย์การวางฉายภาพยนตร์ เพื่อแก้ไขโมเดล Sonic ทั้งเรื่อง ผลลัพธ์ออกมาจึงทำให้โมเดล Sonic เวอร์ชันใหม่มีลักษณะคล้ายเป็น Sonic ฉบับการ์ตูน และตัวหนังกลับมามีกระแสตอบรับในทางบวกอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตาม สตูดิโอหนังก็มีกระแสถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง หลังจากรับรายงานว่ามีการ Crunch ให้ทีมงาน MPC Vancouver หรือสตูดิโอผู้รับงานแก้ไขโมเดล Sonic ต้องทำงานหนักถึงวันละ 17 ชั่วโมง รวมถึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สตูดิโอ MPC ต้องปิดตัวลงในที่สุด
Fallout 1st
เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Fallout 76 ได้เปิดตัว Fallout 1st หรือระบบ subscription เป็นสมาชิกระดับพรีเมียมที่ผู้เล่นจะได้รับสิทธิพิเศษมากมาย ตั้งแต่สามารถตั้งห้องเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัว, แจกเงิน Atom ทุกเดือน และรับชุดเกราะกับไอเทมพิเศษ
แต่ทว่าระบบ Fallout 1st ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากเหล่าเกมเมอร์ ตั้งแต่การสมัครสมาชิกจำนวน 1 ปีที่มีราคาสูงถึง 3,200 บาท รวมถึงระบบเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวยังคงมีผู้เล่นแปลกหน้าสามารถเข้าร่วมห้องได้โดยไม่ทราบสาเหตุ และเนื่องจากเกมเมอร์ที่เป็นสมาชิก Fallout 1st จะถูกระบุเป็น “ผู้เล่นระดับพรีเมียม” อย่างชัดเจน ก็ก่อให้เกิดสงครามล่าแม่มดเหล่าสมาชิก Fallout 1st จากเหล่าเกมเมอร์ทั่วไป ด้วยการก่อความรบกวนหรือกลั่นแกล้งทันทีเมื่อพบเห็นอีกด้วย
EA กับวลีเด็ด “Surprise Mechanics”
เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา หน่วยงาน DCMS ของประเทศอังกฤษ ได้มีการเรียกไต่สวนบริษัท EA จากกรณีการขาย Lootbox ใน FIFA Ultimate Team ซึ่งเชื่อว่าเป็นธุรกิจที่เอาเปรียบผู้บริโภค และเข้าข่ายเป็นการพนันรูปแบบหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม คุณ Kerry Hopkins หรือฝ่ายรองประธานด้านกฎหมายของ EA กลับให้คำตอบต่อรัฐบาลว่าระบบ Lootbox ในเกม คือ “Surprise Mechanics” หรือกลไกสร้างเซอร์ไพรส์ที่ช่วยสร้างความสนุกสนาน กับความลุ้นระทึกซึ่งเกมเมอร์ทุกคนชื่นชอบมัน พร้อมกล่าวเปรียบเทียบว่าการซื้อ Lootbox ก็คล้ายซื้อขนมสุ่มของเล่น อย่าง Kinder Eggs หรือ Hatchimals และยืนหยัดว่าระบบ Microtransaction ไม่ได้ขัดต่อจริยธรรม เพราะเชื่อว่าลูกค้าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะซื้อสินค้าในรูปแบบที่พวกเขาต้องการ
Devotion ล้อเลียนสี จิ้นผิง
ไปยังประเด็นเดือดของวงการเกมฝั่งเอเชียใกล้บ้านเรากันบ้าง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีเกมเมอร์คนหนึ่งได้ค้นพบวัตถุชิ้นหนึ่งในเกมสยองขวัญชื่อดังสัญชาติไต้หวัน Devotion มีการแอบสอดแทรกเนื้อหาล้อเลียน สี จิ้นผิง หรือประธานาธิบดีของประเทศจีนว่าเป็นหมีพูห์ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ทำให้เกมเมอร์ชาวจีนเดือดดาลเป็นอย่างมากจนมีการรีวิวบอมบ์หน้า Steam Review กลายเป็นเกมมีกระแสวิจารณ์แง่ลบเป็นอย่างมาก
แม้ทีมพัฒนาเกมจะออกแถลงการณ์ขอโทษเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น และมีการถอดเกมออกจากหน้าร้านค้า Steam ชั่วคราว แต่ก็ดูเหมือนจะสายไปซะแล้ว เพราะเรื่องราวดังกล่าวได้ไปถึงหูของฝ่ายรัฐบาลจีน แล้วมีการสั่งปิดกิจการทีมตัวแทนจำหน่ายเกมทันทีโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งตอนนี้ก็ไม่มีท่าทีว่าเกม Devotion จะถูกกลับมาวางขายใน Steam อีกครั้ง
Epic Games Store Exclusive
ยกให้เป็นประเด็นเดือดประจำปี 2019 อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะว่าดรามา Epic Games Store Exclusive ยังคงมีให้เห็นเป็นระยะและไม่มีท่าทีจะจบลงในเร็ว ๆ นี้แน่นอน
นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา Epic Games ได้ติดต่อกับทีมงานเกมอินดี้และเกมรายใหญ่หลายแห่ง เพื่อยื่นข้อเสนอซื้อเกมเพื่อนำมาวางจำหน่ายบนร้านค้าของตนเองในรูปแบบ Timed Exclusive (ซึ่งทีมพัฒนาเกมส่วนใหญ่ก็ให้ความยินดีรับข้อเสนอของ Epic) ทำให้เกมเมอร์ชาว PC ที่ไม่เห็นด้วยกับการขายเกม Exclusive ต่างไม่พึงพอใจต่อนโยบายการแข่งขันตลาดแพลตฟอร์มของ Epic เป็นอย่างมาก
รวมถึง Tim Sweeney ตำแหน่ง CEO ของ Epic Games ยืนหยัดว่าจะดำเนินซื้อเกม เพื่อนำเกมมาวางจำหน่ายในร้านค้าของตนต่อไป ทำให้เกมเมอร์ PC ยังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์ Epic Games Store อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้