BY KKMTC
19 Jan 21 6:54 pm

Accessibility เมื่อความเข้าถึงง่าย กลายเป็นตัวช่วยให้เกมประสบความสำเร็จ

23 Views

Accessibility เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ทีมพัฒนาเกมเริ่มให้ความใส่ใจมากยิ่งขึ้น เพื่อเกมของพวกเขาเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าถึงง่ายที่สุดเท่าที่ทำได้ และเป็นตัวช่วยเพิ่มโอกาสให้เกมประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น แล้ว Accessibility ได้ส่งผลดีต่อเกมอย่างไร ไปรับชมกันได้เลย

ระบบเบื้องต้นที่เข้าถึงง่าย ก็อาจมีชัยไปกว่าครึ่ง

playing-video-games

เกมเมอร์บนโลกใบนี้มีหลายกลุ่มเหลือเกิน มีทั้งเกมเมอร์สาย Casual เล่นเกมเป็นงานอดิเรกหรือคลายเครียด เกมเมอร์สาย Hardcore ที่เน้นเล่นเกมยากเอาความท้าทาย และเกมเมอร์สาย Niche ที่เล่นเกมเฉพาะกลุ่ม ซึ่งการออกแบบ Accessibility ได้หลากหลายเส้นทาง ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนระบบเกมเพลย์ใหม่ให้เล่นง่ายขึ้น ลดความซับซ้อนของระบบอันแสนน่าปวดหัว เปลี่ยนแนวเกมให้ถูกใจผู้บริโภค ฯลฯ จะช่วยให้เกมเปิดกว้างให้เกมเมอร์ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงตัวเกมให้ได้มากที่สุด

ซึ่งการออกแบบ User Interface และ User Experience ก็ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้หลายคนสามารถเข้าถึงเกมง่ายขึ้น ถ้าหากออกแบบ UI/UX แสนรกตา หรือมีขั้นตอนการเข้าถึงที่ซับซ้อนจนเกินไป บางครั้งก็อาจทำให้ผู้เล่นบางคนต้องโบกมือลาเกม หรือทำลายความประทับใจครั้งแรก เพราะการออกแบบเมนูให้เข้าถึงยาก ย่อมส่งผลทำให้ประสบการณ์การเล่นยุ่งยากตามมา

ทีมพัฒนาเกมหลายแห่ง จึงมีการปรับปรุง UI/UX ตลอดเวลา เพื่อปรับปรุง Quality of Life ของเกมให้ดีขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกมเมอร์ที่เล่นเกมเดิม ๆ มานานหลายเดือนได้เห็นการเปลี่ยนแปลง รวมถึงช่วยต้อนรับให้เกมเมอร์หน้าใหม่ สามารถเข้าใจระบบการเข้าถึงง่ายขึ้น

ความท้าทาย และเกมเพลย์ก็ส่งผลต่อ Accessibility

ไม่ใช่คนเล่นเกมทุกคนจะมีฝีมือการเล่นที่เก่งกาจหรือต้องการเอาชนะเสมอไป บางคนเล่นเกมด้วยระดับความยากแบบ “ง่าย-ปานกลาง” เพื่อสนุกสนานเอ็นจอยกับการเล่นเป็นหลัก แต่อีกหลายกลุ่มก็เล่นเกมระดับยาก เพื่อท้าทายตัวเอง หรืออวดทักษะการเล่นเกมของคุณไปขิง ให้เพื่อน ๆ รู้สึกทึ่งกับฝีมือการเล่นของคุณ

หากเป็นเกมในอดีต ตัวเลือกความยากจะมีให้เลือกระหว่าง Easy, Normal, Hard และระดับความยากแบบพิเศษที่มีชื่อเฉพาะตัว แต่ปัจจุบัน เกมหลายเกมเริ่มมีตัวเลือกให้ความปรับความยากหลากหลายมากขึ้น เพื่อเพิ่ม Accessibility ทั้งเกมเมอร์สาย Casual กับ Hardcore สามารถเล่นได้ ยกตัวอย่างเช่น ในเกมแข่งรถ Forza Horizon 4 ผู้เล่นจะสามารถปรับแต่งความยากได้ตั้งแต่ความฉลาดของ A.I., ความเสียหายของรถยนต์, จำนวนครั้งที่สามารถใช้ระบบ Replay เมื่อรถชนได้ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งยิ่งเกมยากเท่าไหร่ รางวัลที่ได้จากการแข่งขันก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น

The Last of Us Part II ก็ถือเป็นตัวอย่างเกมที่สามารถออกแบบความยากได้อย่างกว้างขวาง โดยในเกมนี้ ผู้เล่นสามารถเปลี่ยนความฉลาดของ A.I., จำนวนทรัพยากรหรือกระสุนที่หาเก็บได้ตามทาง, ความนิ่งระหว่างการเล็งปืน, สายตาการมองเห็นจากฝั่งศัตรู และอื่น ๆ ที่เกมเมอร์สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างอิสระตามสไตล์การเล่นของแต่ละคน

แต่บางครั้ง เกมเมอร์บางคนเชื่อว่าการเพิ่ม Accessibility อาจเป็นการทำลายเอกลักษณ์ของเกมเช่นกัน ยกตัวอย่างจากกรณี Sekiro: Shadow Dies Twice เกมแนวแอ็กชัน-ผจญภัยของ FromSoftware ที่มีระดับความยากโหดหินเหมือนเกมตระกูล Dark Souls มีนักเขียนคนหนึ่งจาก Forbes ได้กล่าวว่าทีมพัฒนาเกมควรให้ความเคารพกับผู้เล่นด้วยการเพิ่มโหมด Easy ให้เกมเมอร์ทุกคนสามารถสนุกสนานกับการเล่นเกมได้โดยไม่ต้องหัวร้อนกับการปะทะบอสไฟต์ Lady Butterfly แล้วแพ้หลายรอบ

ประเด็นดังกล่าวได้สร้างกระแสถกเถียงต่อสังคมคนเล่นเกม บางส่วนแสดงความเห็นว่าการใส่ Easy Mode ในเกม Sekiro ทำให้ตัวเกมสูญเสียสิ่งที่นักพัฒนาเกมพยายามนำเสนอ ซึ่งนั่นก็คือ “ความยาก” โดยอีกฝั่งหนึ่งกล่าวว่าการเพิ่ม Accessibility ด้วยการใส่ Easy Mode ไม่ทำให้เกมสูญเสียเอกลักษณ์แต่อย่างใด เพราะคนที่ชอบเล่นเกมแนวท้าทายอยู่แล้ว ก็สามารถเลือกปรับออปชันต่าง ๆ ให้เกมยากขึ้นได้ตามปกติเหมือนหลายเกม ส่วนคนที่เล่นเกมง่าย ให้เลือกเล่นระดับง่ายก็ไม่น่าจะเสียหายอะไรมากนัก

Accessibility อาจไม่เป็นที่ต้อนรับสำหรับเกมเมอร์บางกลุ่มเสมอไป

ถือว่าเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับนักพัฒนาเกมหลายฝ่ายที่ต้องเลือกระหว่างการสร้างเกมเอาใจแฟน ๆ ฮาร์ดคอร์ กับสร้างเกมเพื่อเปิดตลาดกลุ่มใหม่ ซึ่งการเลือกสร้างแบบใดแบบหนึ่งย่อมมีผลดีกับผลเสียตามมา หากสร้างเกมเอาใจขาฮาร์ดคอร์ที่เข้าถึงได้เฉพาะเกมเมอร์บางกลุ่ม ก็อาจทำให้เกมไม่โด่งดังไปสู่สายตาเกมเมอร์ทั่วโลก แต่หากสร้างเกมให้หลายคนเข้าถึงง่ายขึ้น ลดความซับซ้อนของระบบลง เกมเพลย์เรียบง่ายขึ้น ก็ช่วยให้ตัวเกมเป็นรู้จักมากขึ้นเช่นกัน

ยกตัวอย่างเกมที่มีการปรับเปลี่ยนระบบเกมเพลย์ใหม่จากหน้ามือเป็นหลังมือ ก็ไม่มีทางหนีพ้นแฟรนไชส์เกม Fallout ที่ปรับเปลี่ยนเกมเพลย์ถึง 3 ครั้ง โดย Fallout 1-2 เป็นเกม RPG แท้ ๆ 100% ที่ใช้ระบบการต่อสู้แบบผลัดเทิร์น ซึ่งบางครั้ง การเอาชนะศัตรูจำเป็นต้องกันวัดกันด้วยโชค หรือต้องฟาร์มเลเวล อาวุธ หรือไอเทมเป็นจำนวนมาก เพื่อเตรียมพร้อมก่อนปะทะกับบอสไฟต์

Fallout A Post Nuclear Role Playing Game

หลังจากทีมงาน Black Isle Studios ปิดตัวลง ทาง Bethesda ได้เข้าซื้อ IP เกม Fallout แล้วพัฒนาเป็นเกมภาคต่อโดยใช้ชื่อว่า Fallout 3 ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนระบบการต่อสู้ใหม่ทั้งหมด จากเป็นเกม RPG แท้ กลายเป็นเกมแอ็กชันผสมผสาน RPG ที่สามารถปรับเปลี่ยนมุมกล้องได้ระหว่าง 1st Person และ 3rd Person ซึ่งโดยรวมแล้วตัวเกมมี Accessibility เข้าถึงง่ายขึ้น เพราะลดความซับซ้อนของระบบต่อสู้

ต่อมา Fallout 4 มีการปรับปรุงเกมเพลย์ใหม่ ด้วยการลบระบบ Skill Point ทิ้ง, ลบระบบการเอาตัวรอดบางส่วน เช่น ระบบการซ่อมปืน, มีตัวเลือกการตอบน้อยลง, มีการเพิ่มระบบ Sandbox เช่นการสร้าง Settlement, ระบบคราฟต์ไอเทม และปืนจะยิงตรงตามเป้าศูนย์เล็งตลอด (ในขณะที่ Fallout ภาคเก่า ปืนจะยิงโดนเป้าหมายหรือไม่โดนนั้นจะขึ้นอยู่กับค่า Skill ปืน) ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่ม Accessibility ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเกมได้มากขึ้นจาก Fallout 3 และ New Vegas

ซึ่งแน่นอนว่าทุกการเปลี่ยนแปลงของ Fallout ย่อมก็ต้องมีทั้งคนที่ชอบและคนไม่ชอบตามมา แฟน ๆ Fallout อาจจะไม่ชอบที่เกมเน้นความเป็นแอ็กชันหรือ Sandbox มากขึ้น หรือเกมเมอร์อาจลองเล่น Fallout ภาคเก่าแล้วไม่ชื่นชอบ เพราะตัวเกมมีระบบซับซ้อนยุ่งยากจนเกินไป ซึ่งก็ต้องบอกเลยว่าทั้งหมดเป็นเรื่องความชื่นชอบของแต่ละบุคคลล้วน ๆ

ถึงอย่างนั้น ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่ของ Fallout ช่วยให้เกมได้รับความนิยมมากขึ้นจริง หากอ้างอิงจากการรายงานของ Gamesindustry.biz ระบุว่า Fallout 3 สามารถทำยอดขายในช่วงเปิดตัวได้ยอดเยี่ยมและแซงหน้ายอดขายของเกม Fallout 1 และ 2 โดยทำยอดขายรวมทั้งหมดที่ 12.4 ล้านชุดทั่วโลก

ส่วนเกม Fallout 4 สามารถทำยอดขายแซงหน้า The Elder Scrolls V: Skyrim ไปแล้ว โดย Pete Hines รองประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาดของ Bethesda Softworks ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขยอดขายอย่างเป็นทางการ แต่ระบุเพียงแค่ว่าตัวเกมขายได้ 1.2 ล้านชุด หลังตัวเกมวางจำหน่ายผ่านไป 24 ชั่วโมงในแพลตฟอร์ม Steam

ปัจจุบัน Accessibility วิดีโอเกม เริ่มเข้าถึงสำหรับผู้เล่นที่มีโรคกลัวต่าง ๆ และผู้พิการแล้ว

เนื่องจากเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ก็ส่งผลลัพธ์ทำให้วิดีโอเกมสามารถเริ่มเข้าถึงทุกคนง่ายขึ้นเช่นกัน โทรศัพท์มือถือในอดีตที่สามารถเล่นได้แต่เกมงู ตอนนี้โทรศัพท์ได้มีพัฒนาการกลายเป็นสมาร์ตโฟนที่มีประสิทธิภาพทรงพลังเทียบเท่ากับเครื่องเกมพกพา ทำให้ตลาดเกมมือถือเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างที่ไม่มีมาก่อน รวมถึงเกมมือถือประสบความสำเร็จหลายเกม เพราะหลายคนสามารถเล่นเกมผ่านโทรศัพท์มือถือได้

นอกจากนี้ ทีมพัฒนาเกมบางแห่งได้มีการออกแบบระบบ Accessibility ที่ไม่ได้จำกัดให้เล่นได้เฉพาะกลุ่มเกมเมอร์ทั่วไปเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่เกมเมอร์ที่มีโรคกลัวต่าง ๆ และผู้พิการทางร่างกายจะต้องสนุกสนานกับการเล่นเกมได้แม้ร่างกายจะไม่ครบ 32 ก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น Grounded เกมแนว CO-OP 4 คน จะมีตัวเลือกให้เปลี่ยนรูปร่างของแมงมุม สำหรับเกมเมอร์ที่เป็น Arachnophobia (โรคกลัวแมงมุม) หรือเกม The Last of Us Part II ที่มีตัวเลือกมากมายสำหรับเกมเมอร์ที่เป็นโรคตาบอดสี หรือพิการทางสายตากับการได้ยิน เป็นต้น

Logitect Adaptive Gaming Kit

Xbox Adaptive Controller

ทาง Microsoft มีการสร้างจอยคอนโทรลเลอร์แบบพิเศษเรียกว่า Xbox Adaptive Controller ซึ่งออกแบบมาเพื่อสำหรับเกมเมอร์ที่พิการทางร่างกาย รวมถึงงาน The Games Award ประจำปี 2020 ที่ผ่านมา มีการเสนอรางวัลเกมที่มี Accessibility ยอดเยี่ยมอีกด้วย (ซึ่งเกมที่สามารถคว้ารางวัลดังกล่าวไปก็คือ The Last of Us Part II)

แม้ตอนนี้เกมเมอร์หลายคนมองว่า Accessibility เป็นเพียงฟีเจอร์เสริมที่มีก็ดีหรือไม่มีก็ได้ แต่ไม่แน่ว่าการออกแบบเกมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้นั้น อาจจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของวงการเกมในอนาคตก็เป็นไปได้

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top