BY KKMTC
10 Jul 23 5:30 pm

Arma เกมแพะรับบาปที่มักโดนใช้เป็นเครื่องมือสร้างข่าวปลอม จนทีมงานต้องขอให้หยุด !

121 Views

หาก GTA เป็นเกมที่ถูกโจมตีกล่าวหาว่าเป็นสื่อสนับสนุนความรุนแรง Arma ก็คือเกมแพะรับบาปที่มักโดนเอาไปใช้เป็นเครื่องมือสร้างข่าวปลอม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมงานไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น

เมื่อ Arma “สมจริงเกินไป” จึงถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือสร้างข่าวปลอม

Arma (หรือหลายคนมักเรียกชื่อเล่นกันว่า “อาม่า”) เป็นเกมแนวจำลองการรบแบบสมจริงจาก Bohemia Interactive (จากนี้จะเรียกสั้น ๆ ว่า Bohemia) ที่ได้รับความนิยมจากเหล่าเกมเมอร์ที่หลงรักการทหาร รวมถึงสายฮาร์ดคอร์สมจริง และคนทั่วไปด้วยแผนที่ Open-World ขนาดใหญ่, มีเกมเพลย์ Sandbox เปิดกว้าง และมีสังคม Mod ที่แข็งแกร่ง

นอกจากนี้ Arma 2 เป็นพื้นฐานของม็อดดังระดับโลกอย่าง DayZ ที่เปลี่ยนกลายเป็นเกมแนวเอาชีวิตรอดจากซอมบี้ ซึ่งม็อดดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมาก จนมันกลายเป็นเกม Standalone และเป็นเทรนด์ให้ถือกำเนิดเกมแนวเอาตัวรอด Sandbox หลายไตเติลในเวลาต่อมา

สำหรับมุมมองของผู้เล่น ชื่อ Arma คือซีรีส์วิดีโอเกมชื่อดังเกมหนึ่ง แต่สำหรับนักข่าวหรือคนที่ไม่ได้ติดตามวงการเกม ไม่ได้มองว่า Arma คือเกมธรรมดา ๆ เกมหนึ่ง แต่มันเป็นเกมที่โดนเอาไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างข่าวปลอม หรือ Footage ปลอม

Arma 3 (4)

ภาพปกจาก South China Morning Post ที่รายงานเตือนข่าวปลอมโดยใช้ Footage จากเกม Arma 3

นับตั้งแต่ Arma ถือกำเนิดขึ้น ได้มีข่าวปลอม ข่าวลวง ข่าวชวนสร้างความเข้าใจผิดโดยใช้ Footage ของเกมดังกล่าวมาแล้วถึง 3 ครั้ง (นับเฉพาะเหตุการณ์ที่กลายเป็นข่าวดังเท่านั้น) ซึ่งข่าวปลอมส่วนใหญ่จะเป็นข่าวเกี่ยวกับสงครามโดยอ้างว่าเป็นภาพจากเหตุการณ์ในสนามรบของจริง

สาเหตุที่เกม Arma ถูกใช้เป็น Footage สำหรับการสร้างข่าวเท็จเกี่ยวกับสงครามบ่อย เพราะด้วยธรรมชาติของเกมแนวจำลองการรบ ทำให้เกมสามารถนำเสนอการรบในสงครามได้สมจริง และแม้ว่ากราฟิก Arma ไม่ได้สมจริงมากจนแยกไม่ออกระหว่างภาพจากเกมและภาพจากของจริง แต่นักปั่นข่าว หรือ Troll ก็ได้ใช้เทคนิคสุดคลาสสิกอย่างการตัดต่อภาพให้มีความละเอียดต่ำ และใช้ม็อดต่าง ๆ มากมาย จนตรวจสอบได้ค่อนข้างยากว่า Footage ที่ปรากฏในสื่อเป็นของจริงหรือของปลอมกันแน่

และที่สำคัญที่สุด ปัจจุบัน ผู้ใหญ่หลายคนยังไม่ทราบว่าวิดีโอเกมยุคนี้ มีกราฟิกสมจริงเหมือนหลุดจากภาพถ่าย แตกต่างจากเกมยุคเก่าที่มองครั้งแรกก็รู้ทันทีว่าเป็นภาพจากเกม ซึ่งเราเชื่อว่าต้องมีสักครั้งหนึ่งที่เกมเมอร์โดนทักจากผู้ใหญ่หรือคนรอบข้างเสมอว่า “ภาพเกมสมัยนี้สวยจนคิดว่าเป็นภาพจากของจริงหรือหนัง” ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมผู้ใหญ่หลายคน จึงตกเหยื่อเชื่อข่าวปลอมได้ค่อนข้างง่าย เพราะไม่ทราบ หรือตรวจสอบไม่ได้ว่าวิดีโอหรือภาพจากข่าวนั้น มีต้นทางมาจากวิดีโอเกม

เหตุการณ์ครั้งแรกที่ Arma ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างข่าวลวง หรือชวนให้เข้าใจผิด ได้เกิดขึ้นเมื่อปี 2012 ที่สำนักข่าวในอังกฤษ ITV ได้เผยแพร่สารคดีเกี่ยวกับการโค่นล้มมูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำเผด็จการในประเทศลิเบีย ซึ่งในสารคดีมีการสอดแทรก Footage จากวิดีโอเกม Arma 2 โดยเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลทำให้ Ofcom หน่วยงานตรวจสอบเนื้อหารายการโทรทัศน์ของอังกฤษ ได้วิพากษ์วิจารณ์ ITV และเนื้อหาของสารคดี เพราะทำผิดเข้าข่าย “ละเมิดความไว้วางใจของผู้ชมอย่างมีนัยสำคัญ” ซึ่งทาง ITV ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษ โดยให้เหตุผลความผิดพลาดมาจาก “ความโชคร้ายที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์” และทาง Bohemia เอง เชื่อว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของ Arma และยอดขายเกม Arma 3 ที่กำลังมีแผนออกวางจำหน่ายในปี 2012

แต่เหตุการณ์ก็ซ้ำรอยอีกครั้งรอบที่ 2 ในปี 2018 สถานีโทรทัศน์รัสเซีย Channel One ได้ใช้วิดีโอ Footage จากเกม Arma 3 ในการจำลองฉากสงครามกลางเมืองของประเทศซีเรีย หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทางสถานีโทรทัศน์แถลงการณ์ยอมรับพร้อมขอโทษว่า “เป็นความผิดพลาดของผู้กำกับการตัดต่อวิดีโอ ซึ่งเอามาจากไฟล์เก็บถาวร”

ภาพ Footage เกม Arma 3 ที่ถูกนำมาใช้ประกอบข่าวโดย Channel One

ล่าสุด Footage จากเกม Arma 3 ถูกใช้ในการสร้างข่าวปลอมเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ปะทุขึ้นเมื่อต้นปี 2021 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ชื่อเสียงของเกมตระกูล Arma ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากภาพกับวิดีโอจากเกม Arma 3 ที่อ้างว่าเป็นเหตุการณ์จริงในสนามรบ ได้กลายเป็นกระแส มียอดแชร์จนกลายเป็นไวรัลในโลกอินเทอร์เน็ต

เนื่องจากข่าวปลอมสงครามรัสเซีย-ยูเครน ถูกสร้างโดยใช้ภาพจากเกม Arma 3 เป็นจำนวนมาก ทาง Bohemia จึงไม่ยอมให้เกมของตัวเองถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือผลิตข่าวเท็จอีกต่อไป หลังมีสงคราม ทางทีมงานจึงปล่อยแถลงการณ์เริ่มดำเนินนโยบายต่อต้านข่าวปลอมอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมเรียกร้องขอให้พวก Troll เลิกสร้างข่าวปลอมชวนให้เข้าใจผิดซะเสียที

ในนโยบายต่อต้านข่าวปลอม ทาง Bohemia ได้มีการเผย Guideline วิธีตรวจสอบ Footage ที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นของปลอม เช่น ความสั่นของกล้องที่สั่นแรงหรือนิ่งผิดปกติ, เสียงจากกล้องได้ยินชัดเจนจนผิดธรรมชาติ, ภาพมีความคมชัดที่ต่ำ และองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย

นอกจากนี้ Bohemia จับมือร่วมกับสำนักข่าวชั้นนำระดับโลก เช่น AFP, Reuter, Bloomberg และอื่น ๆ เพื่อต่อสู้กับข่าวปลอมทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าถ้าหากมีข่าวที่ใช้ Footage จากเกม Arma ทางสำนักข่าวที่ระบุมาทั้งหมด จะรายงานแถลงความเป็นจริงโดยทันทีว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม

Arma 3

การเปรียบเทียบระหว่างภาพจากเกม Arma 3 และภาพที่ถูกตัดต่อเอาไปสร้างข่าวปลอม

แม้การนำ Footage ในเกม Arma มาใช้ในการรายงานประกอบเนื้อหาสารคดี หรือข่าวปลอม จะสร้างเสียงหัวเราะให้เกมเมอร์บางคน เพราะไม่คาดคิดว่าเกมจะถูกใช้เป็นข่าวปลอมได้ แต่แน่นอนว่าทางทีมผู้พัฒนาเกมไม่มีทางปลื้มกับเหตุการณ์นี้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของเกมได้ ถึงอย่างนั้น ด้วยธรรมชาติของเกมแนวจำลองการรบ และภาพกราฟิกที่มีความสมจริงมากขึ้นไปตามกาลเวลา จึงอาจเป็นเรื่องยากที่ Arma จะไม่ถูกนำไปใช้สร้างข่าวปลอม ข่าวที่ให้ข้อมูลผิด ๆ อีกครั้งในอนาคต

แหล่งที่มา: Gizmodo, Eurogamer (1, 2)

SHARE

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top