วันนี้ Gaming Dose จะพาทุกคนไปรู้จักกับโปรเจกต์ใหม่ จากสตูดิโอแอนิเมชั่นสัญชาติไทย Igloo Studio ที่เคยฝากผลงานแอนิเมชั่นขนาดยาวอย่าง “9 ศาสตรา” ไปเมื่อต้นปี 2018 และในตอนนี้เกม Bounty Brawl โปรเจกต์น้องใหม่ของสตูดิโอ ก็ได้เริ่มเปิดตัวออกสู่สายตาเกมเมอร์ตามเทศกาลเกมต่าง ๆ รวมถึงเพิ่งไปโชว์ตัวที่งาน Tokyo Game Show 2018 ที่ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
จากจุดเริ่มต้นของการทดลองทำเกมเพื่อเล่นกันเอง ถูกนำมาพัฒนาต่ออย่างจริงจังจนกลายเป็นโปรเจกต์ที่สำคัญของบริษัท คุณณัฐ – ณัฐ ยศวัฒนานนท์ CEO ของ Igloo Studio และคุณเม่น – ณัฐ รังสราญนนท์ Game Director ผู้เป็นต้นคิดโปรเจกต์ ได้เล่าให้เราฟังว่า Bounty Brawl คือ action multiplayer game ที่ถูกสร้างมาเพื่อเกมเมอร์ที่ชื่นชอบกลิ่นอายของเกมยุค 90 เมื่อผสมผสานกับรูปแบบการเล่นเกมยุคใหม่ ที่ผู้เล่นหลาย ๆ คนสามารถร่วมสนุกด้วยกันได้ เข้ากับอารมณ์ที่กวนๆ ของตัวเกมและตัวละครต่าง ๆ จึงเกิดเป็นเกมที่สามารถเรียกเสียงหัวเราะ ความสนุกสนาน แบบปาร์ตี้เกมเต็มรูปแบบที่อาจจะหาได้ยากในยุคนี้ขึ้นมา
นอกเหนือจากความสนุกสนานที่อยากให้ผู้เล่นได้รับแล้ว จากรูปการเล่นแข่งขันแบบทีมที่เข้มข้น จึงทำให้ผู้เล่นต่าง ๆ ได้มาแบ่งปันช่วงเวลา และความสนุกร่วมกัน เกิดเป็น community ขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือการจัดการแข่งขัน E-Sport ในระดับสากล และเป็นเเรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ในการพัฒนาเกมต่อไปในอนาคต
Gaming Dose : จุดเด่นของตัว Bounty Brawl คืออะไรครับ
เม่น : เป็นเกมแนวตะลุมบอน ที่ดึงเอารสชาติของความสนุกสมัยก่อนเข้ามา เราตั้งใจให้เกมนี้สามารถเล่นได้ถึง 4 คนใน platform เครื่องเดียว เพื่อให้ได้กลิ่นอายของการเล่นแบบ console สมัยก่อน เราอยากให้ผู้เล่น ได้ย้อนถึงช่วงเวลาดี ๆ สมัยเด็ก ที่ต้องมารวมตัวเล่นเกมด้วยกันที่บ้าน ได้เฮฮา โวยวาย มีปฏิสัมพันธ์กัน แต่นอกเหนือจากนี้ เราก็ยังสามารถเล่นร่วมกันกับเพื่อนแบบออนไลน์ได้อีกด้วย
ณัฐ : สำหรับผมคือความหลากหลาย เรามีหลาย mode ให้เลือกเล่น มีตัวละครเริ่มต้นให้เลือกมากกว่า 16 ตัวที่มีอาวุธประจำตัวแตกต่างกัน มีเลือกใช้อาวุธเสริม, สกิล หรืออุปกรณ์พิเศษอื่น ๆ มากมายที่สามารถสร้างรูปแบบการเล่นเฉพาะตัว วางกลยุทธ์ของตัวเอง หรือทีมขึ้นมาได้ และสุดท้ายคือความหลากหลายของ arena หรือด่านต่าง ๆ ที่มีอุปสรรค ที่สร้างความสนุกแตกต่างกันไป
Gaming Dose : เห็นบอกว่ามี Mode ให้เลือกเล่นหลายอัน มีอะไรบ้างครับ
เม่น : หลัก ๆ เราจะแบ่งออกเป็นสาม mode ครับ
Story mode – ผจญภัยไปกับเรื่องราวในโลกของนักล่าค่าหัว เพื่อปลดล็อคตัวละครใหม่ ๆ อาวุธพิเศษ หรือด่านใหม่ใน mode อื่น ๆ
Bounty Hunting mode – หรือที่เราเรียกว่าตะลุมบอน เป็นการเล่นแบบ 4 คนพร้อมกัน ที่ต้องช่วยกันล่าเป้าหมายลงให้ได้ หลังจากนั้นทั้ง 4 คนต้องต่อสู้กันเองเพื่อหาผู้ชนะเพียงคนเดียว
Hunter Squad mode – เป็นการแข่งขันกัน 2 ทีม ที่มีสมาชิกทีมละ 4 คน แข่งกันล่าเป้าหมาย เพื่อเก็บเงินรางวัลให้ได้มากที่สุด mode นี้จะเหมาะกับการจัดแข่ง E-Sport มากที่สุด
Gaming Dose : เกมนี้มี Concept art & Character design ที่โดดเด่น ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นของสตูดิโอด้วยเช่นกัน อยากทราบว่าสไตล์ในการออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจากไหนบ้างครับ
ณัฐ : เราได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์แนว Sci-Fi แบบ cyber punk ที่เคยนิยมในยุค 80-90 ที่กลายมาเป็นที่มาของการออกแบบทั้งหมด กราฟฟิคในเกมบางส่วน จะดูย้อนยุคคล้าย ๆ เกม 16 bit แต่เรานำมาทำโปรดักชั่นใหม่ ให้ล้ำสมัยมากขึ้น ตัวละครทุกตัว ได้ถูกออกแบบให้มีความเป็น “Bad ass” ที่มีความ ซ่า โหด กวน เกรียน และมีอาวุธที่เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน เพื่อสร้างเรื่องราว หรือดึงบุคคลิกของตัวละครออกมาได้มากที่สุด
Gaming Dose : แล้วในฐานะ Game Director จุดตั้งต้น ในการเริ่มพัฒนาเกมนี้เกิดขึ้นมาจากอะไรครับ
เม่น : มาจากความสนุกของเกมยุค 90 ครับ ผมคิดว่ายุคนั้น เป็นยุคที่ผมเล่นเกมสนุกที่สุดแล้ว สมัยนั้น การจะเลือกซื้อซักเกมมาเล่น ทำได้จากการดูรูปตัวอย่าง กับอ่านคำอธิบายบนหน้าปกเท่านั้น เกมไหนที่ภาพสวย เกมเพลย์ดูน่าสนุก และสามารถเล่นได้มากกว่า 2 คนขึ้นไป ยิ่งทำให้อยากซื้อมาเล่นกับเพื่อน ๆ เพราะเราชอบความเฮฮาที่คนหลาย ๆ คนมาจับกลุ่มเล่นเกมด้วยกัน เลยเกิดเป็นแรงบันดาลใจว่า อยากนำมนต์เสน่ห์แบบนั้นกลับมาสู่เกมยุคปัจจุบันบ้าง อยากสร้างบรรยากาศของ รอยยิ้ม กับเสียงหัวเราะของเพื่อน ๆ ที่มานั่งเล่นด้วยกัน กลับมาสู่เกมเมอร์ยุคนี้อีกครั้ง
Gaming Dose : คิดว่าเกม Bounty Brawl จะถูกใจคนรุ่นใหม่มากแค่ไหนครับ เพราะปัจจุบันก็มีวัยรุ่นจำนวนมากที่อาจไม่คุ้นเคยกับเกมแนว retro
เม่น : ผมมั่นใจว่าหัวใจของเกมทุกเกมอยู่ที่ความสนุกครับ ทีมเราได้ลองเอาเกมไปออกบูธตามงานเทศกาลต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ให้คนทั่วไปมาทดลองเล่น ปรากฏว่ากระแสตอบรับดีเกินคาด ทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่ได้มาลองเล่นก็สนุกสนานกันครับ บางครั้งมีคนติดใจกลับมาเล่นซ้ำสามสี่รอบก็มี
Gaming Dose : ในมุมมอง CEO ของคุณณัฐ ที่วาง position ของบริษัทเป็น Content Creator ได้มองการต่อยอดโอกาสจากการทำเกมนี้ไปไกลแค่ไหนครับ
ณัฐ : เรามองว่า content creator คือผู้มอบประสบการณ์นะ คอนเซปต์สร้างงานทุก ๆ ชิ้นของเราคือ Create A Moment of Magic เพราะเราต้องการสร้างช่วงเวลามหัศจรรย์ให้กับคนที่มาสัมผัสกับงานเราได้ ดังนั้น หัวใจสำคัญในงานของเราก็คือ การสร้างงานที่มีการ “เล่าเรื่อง” (Storytelling) ที่ดีออกมาจากดีเอ็นเอของทีมเรา โดยไม่ได้จำกัดว่าเป็นสื่อชนิดอะไร
ดังนั้น นอกจากแอนนิเมชั่นที่มีประสบการณ์มานานแล้ว เราเลยสนใจงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่างเกมมากพอสมควร เพราะนอกจากเป็นสิ่งที่ชอบอยู่แล้ว และยังมี skill set ของคนทำงานที่ใกล้เคียงกันด้วย เราพบว่าทักษะด้าน conceptual design, character design หรือ storytelling ของทีมเรา ที่ได้จากการทำแอนนิเมชั่น สามารถนำมาต่อยอดในธุรกิจนี้ได้ดี และช่วยเปิดโอกาสไปสู่การสร้าง content ใน platform อื่น ๆ ในอีกหลายช่องทาง ให้ได้พบกับกลุ่มแฟนใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นทาง comic, merchandise หรือกลับมากลายเป็น TV series หรือ feature film ได้อีกในอนาคต ซึ่ง Bounty Brawl ก็เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ ที่อาจจะเป็น original content ใหม่ของบริษัท ที่แข็งแรงอีกเรื่องนึงเลยก็ได้
Gaming Dose : จะติดตามเกม Bounty Brawl ได้ช่องทางไหนบ้างครับ
เม่น : เราจะปล่อยตัว demo ให้คนทั่วไปได้ลองโหลดมาเล่น ภายในไตรมาสแรกของปี 2019 ส่วนเกมตัวเต็มจะเสร็จประมาณต้นปี 2020 โดยจะปล่อยพร้อมกันทั้งบน PC, PS4, Nintendo Switch และในรูปแบบ mobile game ระหว่างนี้ก็ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวได้ในแฟนเพจ www.facebook.com/bountybrawlgame เลยครับ
Gaming Dose : อยากให้พูดทิ้งท้ายสำหรับคนที่สนใจทางด้านการพัฒนาเกม ควรเริ่มจากอะไรในการต่อยอดไปสู่อาชีพนี้อย่างจริงจัง
เม่น : ถ้าเรารู้สึกสนใจ หรือชอบทางนี้ ก็ควรโฟกัสอย่างจริงจัง แล้ววันนึงมันอาจจะกลายเป็นอาชีพที่มั่นคงได้ สำหรับผม สิ่งสำคัญที่สุดคือแพชชั่น ถ้ามีแพชชั่นมันจะเหมือนมีแรงขับให้เราทำสิ่งนั้นซ้ำ ๆ แบบไม่รู้สึกเบื่อ บวกกับการเรียนรู้จากประสบการณ์ และการนำตัวเองเข้าไปคลุกคลีในแวดวงหรือสายงานนั้น ๆ และท้ายที่สุดคือมีการตั้งเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว พอเราบรรลุเป้าหมายระยะสั้นแล้วก็เดินต่อในเส้นทางนั้นเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่อยู่สูงสุด