BY สฤณี อาชวานันทกุล
4 Jun 21 12:51 pm

Carrion: อำนาจ ธรรมชาติ และการแพร่พันธุ์

43 Views

หลังจากที่อาละวาดจนโลกวุ่นวายนานต่อเนื่องข้ามปีตั้งแต่ต้นปี 2563 วิกฤติไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ นักวิทยาศาสตร์หลายคนออกมาเตือนแล้วว่า มีแนวโน้มที่เราจะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทุกปี เหมือนกับวัคซีนโรคอื่น ๆ ที่เราคุ้นเคยแล้ว เพราะโควิด-19 เป็นไวรัสที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน

ถ้ามองในภาพใหญ่ ไวรัสก็เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ต้องการมีชีวิตรอดและแพร่พันธุ์ไปเรื่อย ๆ ชั่วลูกชั่วหลาน ไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นทั้งหลาย แม้มันอาจไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก (sentient beings) อย่างมนุษย์ สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของไวรัสก็น่าครั่นคร้ามเสมอ โดยเฉพาะความสามารถในการกลายพันธุ์

ในโลกของเกม การให้เราสวมบทบาทเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์แบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ เกมให้เราเป็นสัตว์ที่ไม่คุกคามมนุษย์ เช่น หมา แมว หมู นก หมาจิ้งจอก ฯลฯ โดยอยากให้มองโลกจากมุมมองของสัตว์เหล่านั้นบ้าง และเกมที่ให้เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่คุกคามเอาชีวิตมนุษย์อย่างชัดเจน แม้มันจะไม่ได้อยากเป็น “ปฏิปักษ์” ใด ๆ เพียงทำตามสัญชาตญาณการสืบพันธุ์ของมันเท่านั้น เกมประเภทหลังนี้มีน้อยจนนับนิ้วได้

คอเกมจำนวนมากรู้จัก Plague Inc. เกมดีฮอตฮิตที่มีคนเล่นมากกว่า 120 ล้านคนทั่วโลก ให้เราเล่นเป็น “เชื้อโรค” หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่แบคทีเรีย ไวรัส ไวรัสซอมบี้ อาวุธชีวภาพ ฯลฯ โดยมีเป้าหมายฆ่าคนให้หมดทั้งโลก

แต่เกมที่จะให้เราเล่นเป็นสัตว์ประหลาดปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์จับได้ วันหนึ่งหลุดออกมาจากถังซึ่งก็คือคุก ต้องอาละวาดกินคนเพื่อเอาชีวิตรอดและสะสมชีวมวลขยายขนาดตัวเอง เพราะบังเอิญคนเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่ให้สารอาหารหล่อเลี้ยงเราได้ ทิ้งส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไว้ตามที่ต่าง ๆ เพื่อแพร่พันธุ์ และดิ้นรนหาทางออกจากคอมเพล็กซ์วิจัยสู่โลกกว้าง – เกมแบบนี้มีแต่ Carrion เกมสองมิติมองจากด้านข้าง (2D platformer) จากสตูดิโออินดี้ Phobia Game Studio

ทีมผู้พัฒนาโฆษณา Carrion ว่า “reverse horror” หรือ “เกมสยองขวัญด้านกลับ” ซึ่งก็ไม่เกินความจริง ในเกมสยองขวัญปกติอย่าง Resident Evil เราเล่นเป็นมนุษย์ที่หวาดกลัวสัตว์ประหลาด แต่ Carrion ให้เราเป็นสัตว์ประหลาดหน้าตาน่ากลัว เหมือนก้อนเลือดเดินได้ขนาดยักษ์ มีหลายปากและหนวดยุ่บยั่บแทนมือ ระบบเกมคล้าย Metroid ตรงที่ผสมแอ๊กชัน (กินคนและหลบกระสุนปืน เลเซอร์ และไฟพ่นที่คนระดมยิง) เข้ากับการแก้ปริศนาอย่างการหาทางปิดสวิตช์เพื่อเปิดประตูไปห้องต่อไป

แต่แน่นอนว่าในเมื่อเราเป็นสัตว์ประหลาด การทำทุกอย่างในเกมก็ต้องอาศัยความสามารถของสัตว์ประหลาด ผสมการคิดนอกกรอบเป็นบางครั้ง

การเล่น Carrion สนุกตึดหนึบอย่างไม่น่าเชื่อ วิธีเล่นง่ายดายแต่ฉากจะยากขึ้นเรื่อย ๆ ปุ่ม L1 บนคอนโทรลเลอร์ใช้ควบคุมทิศทางการเลื้อยของตัวเรา ปุ่ม L2 ใช้ควบคุมหนวดปลาหมึก หลัก ๆ เราจะยืดหนวดไปคว้าคนมากัดกินและปิด-เปิดสวิตช์ ปุ่มอื่น ๆ ใช้ควบคุมความสามารถอื่นที่จะทยอยเพิ่มเป็นระยะ ๆ เมื่อเราเจอถังดีเอ็นเอ สูบมันเข้าไปเพื่อกลายพันธุ์ ความสามารถมีตั้งแต่ วิ่งพังกำแพง ใช้กระแสไฟฟ้าหายตัวชั่วคราว (จำเป็นต่อการผ่านเซนเซอร์โดยไม่ให้ประตูปิด แต่ต้องหาตู้แปลงเพื่อดูดไฟฟ้าเข้าร่างก่อน) พองตัวเป็นขนแหลม แตกตัวเป็นฝูงหนอนเพื่อว่ายผ่านช่องแคบ (แต่ต้องอยู่ในน้ำ) และแม้กระทั่งส่งหนวดไป “ควบคุม” มนุษย์ให้ทำตามที่เราต้องการ (จำเป็นต่อการกดสวิตช์ในที่ที่เราเข้าไปไม่ถึง บงการมนุษย์ให้กดให้เสียเลย!)

ความโกรธแค้นของเราที่ถูกมนุษย์จองจำสัมผัสได้ตั้งแต่ฉากแรก ไม่มีความหมายลึกซึ้งอะไรมากไปกว่าสัญชาติญาณที่ธรรมชาติมอบให้ เราแค่อยากเป็นอิสระและแพร่พันธุ์ ซึ่งในเกมนี้การแพร่พันธุ์แปลว่าต้องขยายขนาดตัวเองให้ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จะได้ทิ้งชีวมวล (biomass) บางส่วนของตัวเองไว้ (เบ่งตัวเหมือนแบคทีเรีย) การขยายขนาดแปลว่าต้องกินคน เสียใจด้วยนะ เจ้ามนุษย์หน้าโง่ทั้งหลาย!

บรรยากาศการเล่นเกมให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในหนังไซไฟสยองขวัญคลาสสิกอย่าง The Thing หรือ Alien แต่คราวนี้เราคือเอเลี่ยน การเคลื่อนไหวของเราหนุบหนับลื่นไหล ความสนุกของเกมนี้นอกจากการวิ่งไล่กินคนแล้ว คือการปรับ “ขนาด” ของตัวเรา (ทั้งหมดมีสามขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ แต่จะค่อย ๆ เพิ่มตามความสามารถที่ได้มาจากการสูบดีเอ็นเอ) ให้เหมาะสมกับการแก้ปริศนา เพราะความสามารถของเราแตกต่างกันตามขนาด เช่น ถ้าเรามีขนาด “เล็ก” เราจะพุ่งชนหีบและกำแพงไม้ให้ทะลุไม่ได้ แต่สามารถยิงหนวดไปสับสวิตช์ไกล ๆ ได้ ขณะที่ขนาด “กลาง” พุ่งชนกำแพงได้แต่ยิงหนวดไม่ได้ ดังนั้น หลายครั้งเราจึงต้องลดขนาดของตัวเราเองก่อน ด้วยการไป “ทิ้งชีวมวล” ไว้ในน้ำ ซึ่งก็แปลว่าต้องหาแหล่งน้ำ (น้ำคร่ำ?) ให้เจอ ทิ้งชีวมวลเพื่อลดขนาด จากนั้นไปแก้ปริศนา แล้วค่อยกลับมาสูบชีวมวลกลับเข้าร่าง เพิ่มขนาดเพื่อไปแก้ปริศนาอื่น

“ศัตรู” ของเราในเกมนี้ส่วนใหญ่คือมนุษย์หลายแบบ ตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีอะไรป้องกันตัวเลย โวยวายกรีดร้องโหยหวนเวลาเจอเราพุ่งลงมาจากช่องลม จนถึงทหารที่ไล่ยิงเราและมีโล่ไฟฟ้าป้องกันตัว เฉือนเนื้อเราให้หลุดเป็นชิ้น ๆ ดังนั้นจึงต้องหาจังหวะโจมตีจากด้านหลัง จะได้ไม่โดนโล่ช็อต ฉากหลัง ๆ จะมีทหารฉีดไฟ ทหารขับหุ่นยนต์มาไล่ล่า รวมถึงปืนกลอัตโนมัติติดเพดานและดรอยด์ปืนบินได้ ซึ่งเครื่องจักรเหล่านี้สร้างความรำคาญไม่น้อยเพราะเรากินมันไม่ได้ ไม่เหมือนมนุษย์ซึ่งต่อให้ยิงเราบาดเจ็บ พอตายแล้วเราก็กินเนื้อเพิ่มพลังกลับมาใหม่ได้

เกมนี้ต้องเซฟที่จุดเซฟ แต่จุดเซฟมีอยู่หลายจุดในเกม ไม่รู้สึกว่าต้องเสียเวลาทำทุกอย่างใหม่ถ้าตาย ทุกครั้งที่เราเซฟ (เบ่งตัวเต็มห้อง) เราจะขยายขนาดอัตโนมัติ ความยากใน Carrion ไม่ได้อยู่ที่การถูกมนุษย์หรือดรอยด์ฆ่าตาย (ก็เราเป็นสัตว์ประหลาดพลังเยอะขนาดนี้!) เท่ากับการหาทางไปฉากต่อไปในเกม

ชัดเจนว่าทีมพัฒนา Carrion อยากเล่าเรื่องผ่านสถาพแวดล้อมและประสบการณ์การเล่นของผู้เล่น (วันนี้วิธีนี้ในวงการเรียกว่า environmental storytelling) แทนที่จะเล่าผ่านฉากคัทซีน ทั้งเกมไม่มี “ภาษา” ใด ๆ ไม่ว่าจะพูดหรือเขียน ซึ่งก็เหมาะสมกับการให้เราเป็นสัตว์ประหลาดจากนอกโลก แต่เราจะค่อย ๆ ปะติดปะต่อเรื่องราวได้เองระหว่างเล่น อุบายหนึ่งที่ทีมพัฒนาใช้คือ บางจังหวะเราจะสามารถกระโดดเข้าไปในเครื่องยนต์ ควบคุมทีมนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งในฉากที่ไม่ชัดเจนว่าเป็น flashback คืออดีตที่เกิดขึ้นแล้ว ปัจจุบัน หรืออนาคตกันแน่ แถมฉากจบของเกมก็ค่อนข้างดี ในแง่ที่ทิ้งปริศนาให้เราขบคิดต่อไป

Carrion ให้เรามองเห็นจริตและความอ่อนแอของมนุษย์จากสายตาของสัตว์ประหลาด มนุษย์ผู้ไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่ดาวเคราะห์บ้านเกิดของพวกเขา และไม่มีทางเคลื่อนตัวได้อย่างเงียบเชียบรวดเร็วเหมือนเรา ดูแขนขาน้อย ๆ ของพวกเขานั่นสิ ช่างไม่รู้เลยว่าในท่อน้ำใต้ฝ่าเท้า หรือช่องลมบนฝ้าเหนือหัว ก้อนเนื้อมหึมามหัศจรรย์กำลังมองหาจังหวะจู่โจม ฟันแหลมคมรอขม้ำคอ ดูสิ ดูพวกมนุษย์หน้าโง่วิ่งหนีกรีดร้อง ยิงปืนสะเปะสะปะด้วยความกลัวตาย เดี๋ยวเราจะแสดงให้เห็นเองว่า ความทะยานอยากและสอดรู้สอดเห็นทั้งหมดนั่นน่ะจะจบสิ้นลงตรงไหน….

และในความลิงโลดสะใจที่ได้อาละวาดในคราบสัตว์ประหลาดนั้นเอง Carrion ก็เปรียบเป็นกระจกที่เผยให้เห็นผลพวงจากความบ้าอำนาจของมนุษย์ สิ่งมีชีวิตที่อันตรายที่สุดบนโลก

สฤณี อาชวานันทกุล

Back to top