ย้อนไปสมัยตอนที่ผู้เขียนยังเป็นเด็กไฮเปอร์วิ่งรอบบ้าน พร้อมกับคอมพิวเตอร์ที่มีมอนิเตอร์ (จอภาพ) เป็นจอตู้ที่สภาพไม่ดีนัก และพร้อมจากลาได้ทุกเมื่อ โดยอาการที่เกิดขึ้นจะแนว ๆ แบบเหมือนตัวจอภาพจะมีปัญหาในเรื่องของการแสดงผลสี ทำให้ตัวจอภาพสามารถแสดงผลได้แค่สีเดียว ตามหลักการของสีคอมพิวเตอร์อย่าง RGB ซึ่งคุณจะต้องเอามือไปเคาะแรง ๆ มันถึงจะหายอาการเหล่านัั้น คือทางผู้เขียนไม่รู้ว่ามันมีวิธีที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรงในการแก้ไขไหม แต่วิธีนั้นมันก็ได้ผล แต่ก็ได้แค่ชั่วคราวเท่านั้นและเดี๋ยวมันก็กลับเป็นเหมือนเดิม โดยใครที่ใช้มอนิเตอร์จอตู้สมัยนั้นน่าจะเคยเจออาการแปลก ๆ แบบนี้อยู่บ้าง
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยสภาพของมอนิเตอร์ที่เป็นแบบนั้น ประมาณว่า “ตรูทนไม่ไหวแล้วกับจอกาก ๆ แบบนี้” ทำให้ทางครอบครัวผู้เขียนตัดสินใจจัดซื้อมอนิเตอร์ตัวใหม่เป็นจอ LCD โดยชื่อแบรนด์ขึ้นต้นด้วย “A” และลงท้ายด้วย “R” ซึ่งเจ้ามอนิเตอร์ตัวดังกล่าวมันได้แถมแผ่น “เกมรวม” จากทางนั้นมาให้ด้วย โดยทางผู้เขียนจำได้ว่ามันเป็นโปรแกรมที่เป็น Launcher กึ่ง Widget โดยถือว่าเป็นหน้าต่างเพื่อเข้าไปสู่เกม และมีมาสคอตที่คอยต้องรับเรา นามว่า “BongaBonga” โดยจะเป็นกลุ่มมาสคอตสี่ตัวสี่สีคอยต้อนรับอยู่ (ไม่ใช่ลิงม่วงเวรนั้นนะ อันนั้นมันสปายแวร์) ซึ่งเจ้าแก๊ง BongaBonga นั้นถือว่าเป็นมาสคอตประจำค่ายเกมไทยค่ายเกมนึงนามว่า “CyperPlanet Interactive” ที่ปัจจุบันทางผู้เขียนก็ยังไม่รู้ว่าบริษัทนี้ยังคงอยู่ดีกินดีหรือเปล่า โดยค่ายเกมนี้ผลงานที่ขึ้นชื่อก็น่าจะเป็นเกม “ปักษาวายุ” “Magic Chronicles” และ “มูนทราคิดส์” ซึ่งบางชื่ออาจจะน่าจะคุ้นหูของเกมเมอร์ที่้เกิดทันในยุคสมัยนั้น
ตัวผู้เขียนจำได้ว่าได้ติดตั้งเกมไว้จำนวนมากพอสมควร เพราะมันมีหลายเกมมาก เลยติดตั้งแทบจะทั้งหมดเลย และไดร์ฟก็เต็มจนต้องลบเกมหลาย ๆ เกมออก แต่สุดท้ายแล้วในบรรดาเกมนับร้อย ตัวผู้เขียนดันกลับเลือกเล่นแค่เล่นสองเกมหลัก ๆ เท่านั้น ได้แก่ “BongaBonga Travel” ที่เป็นเหมือมวีดีโอเกมเพื่อการศึกษา โดยหยิบยกเกมเพลย์แนว ๆ Mario Party, Dokapon มาประยุกต์ใช้ และอีกหนึ่งเกมที่เราจะมาหยิบมาพูดถึงกันแบบเต็ม ๆ ในบทความนี้ และน่าจะเป็นชื่อที่หลาย ๆ คนอาจจะจำกันได้ นั้นก็คือ “CEO City” นั้นเองครับ
CEO City เป็นเกมแนวบริหารจัดการเมืองในรูปแบบของ Real Time Strategy และถูกพัฒนาโดย “CyperPlanet” ทีมพัฒนาสายเลือดไทย โดยได้รับการสนับสนุนในแง่ของทุนสร้างจากสปอนเซอร์แบรนด์ใหญ่จากสามแบรนด์ดัง อาทิเช่น นมถั่วเหลืองไวตามิลค์, การบินไทย และไปรษณีย์ไทย โดยตัวเกมได้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะในช่วงปี 2004-2005 (ตอนนั้นผู้เขียนยังเรียนอนุบาลอยู่เลยนะนั้น)
คุณจะได้รับบทเป็น “CEO” ที่จะมีหน้าที่ในการพัฒนาบ้านเมืองไม่ให้ประสบปัญหาและมีเศรษฐกิจที่ดี โดยเราจะได้เลือกจังหวัดที่ชื่นชอบในการเล่น ซึ่งแต่ละจังหวัดก็จะเหมือนเป็น Scenario ที่จะมีภูมิประเทศและสินค้าประจำจังหวัดที่แตกต่างกันออกไป โดยจะมีจังหวัดให้เลือกบริหารจำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ สงขลา ชลบุรี จันทบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา
ในแง่ของเกมเพลย์นั้นไม่ว่าจะเล่นบริหารจังหวัดไหนก็ไม่ต่างกันมาก เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าไปเล่นจังหวัดนี้แล้ว ไปจังหวัดอื่นมันจะเล่นไม่ได้เลย เพราะว่ามันแตกต่างแค่ภูมิประเทศและสิ่งก่อสร้างเท่านั้น โดยในแง่ของความยากนั้นเกม CEO City นั้นถือว่าเป็นเกมสร้างเมืองที่ค่อนข้างเล่นง่ายหากเทียบกับเกมสร้างเมืองใหญ่ ๆ อย่างพวก SimCity, Cities Skylines แต่อย่างไรก็ดี ขึ้นชื่อว่าเป็นเกมสร้างเมืองแล้ว หากบริหารไม่ดีเกมก็โอเวอร์ได้เหมือนกัน
โดย CEO City จะมีค่าสเตตัสหลาย ๆ อย่างที่จะส่งผลต่อความเป็นไปในแง่ของเกมเพลย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้และงบประมาณ ความสุขของประชากร โดยคำว่าอนาคตที่เรากำลังพูดถึงก็คือในเรื่องของ “การเลือกตั้ง” ที่จะเกิดขึ้นในทุก ๆ 4 ปีในเกม โดยปัจจัยสองอย่างนี้จะส่งผลเป็นอย่างมากในการชี้ความเป็นไป เพราะถ้าหากประชากรไม่แฮปปี้ หรือสร้างหนี้สินให้กับจังหวัดที่คุณบริหาร คุณจะถูกขับไล่จากตำแหน่ง CEO หรือไม่ก็คุณจะไม่ได้เป็นนายกในสมัยต่อไป ซึ่งนั้นหมายความว่าเกมก็จะโอเวอร์ และต้องเล่นใหม่ตั้งแต่ต้นเลย
โดยเมื่อเรื่มต้น ไม่ว่าจะเล่นจังหวัดไหน ตัวเกมก็จะให้พื้นที่ว่าง ๆ ให้กับเรา พร้อมกับงบประมาณที่จะให้มากให้น้อยก็ขึ้นอยู่กับระดับความยากที่เราเลือก ตัวเกมจะมีระดับความยากให้เลือกด้วย แต่ไม่ว่าจะเลือกอันไหน สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดก็จะมีแค่เรื่องของงบประมาณและค่าความสุขเรื่มต้นที่ให้ตอนเรื่มเกมเท่านั้นและเราจะใช้งบประมาณนี่แหละในการพัฒนาจังหวัดของเราพร้อมทั้งสร้างแหล่งผลิตสินค้า “OTOP” เพื่อนำรายได้มาพัฒนาจังหวัดให้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น พร้อมกับบริหารจังหวัดเทำให้ประชากรมีความสุข จนมากพอที่เราจะชนะเลือกตั้งเพื่อทำการดำเนินเกมต่อไป และเราจะได้รางวัลเป็นเงินงบประมาณสำหรับการบริหารจังหวัดไปในทิศทางที่ดีอีกด้วย
ในด้านของคุณภาพตัวเกมผู้เขียนต้องขอบอกว่า CEO City เป็นเกมสร้างเมืองที่อยู่ในระดับที่ “กลาง ๆ” คือระบบมันอาจจะไม่ลึกอะไรมาก และออกไปทางแคชชวลด้วยซ้ำ แต่ถึงแม้ตัวเกมจะไม่ค่อยมีความลึก แต่ก็ยังคงมีความท้าทายในระดับนึง ซึ่งถือว่า CEO City ได้ตอบโจทย์ในแง่ของ “เกมเพื่อการศึกษา” ได้ดีเลยทีเดียว
แต่ไม่ว่าจะเป็นวีดีโอเกมอะไรก็ตามก็ย่อมมีข้อเสีย และ CEO City ก็มีข้อเสียเช่นกัน เพราะนอกจากในเรื่องของความลึกแล้ว ตัวเกมกลับมีปัญหาในเรื่องของความสมดุลตัวเกม แต่ก็เป็นจุดเล็ก ๆ ที่พอให้อภัยได้ โดยปัญหาความสมดุลที่ว่านั้นก็คือ ความทรงพลีงในการสร้างรายได้ของสิ่งก่อสร้างอย่าง “บริษัทนมถั่วเหลืองไวตามิลค์” ที่ในเกมจะมีให้สร้างกัน โดยก่อนจะสร้างได้ต้องมีฟาร์มถั่วเหลืองก่อน เพราะต้องใช้ในการแปรรูปออกมาเป็น”นมถั่วเหลืองไวตามิลค์” ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในสินค้าในเกมที่สามารถผลิตไปขายทำเงินเพื่อสร้างรายได้ให้กับจังหวัดของเราได้ ซึ่งสินค้าที่ได้มันมีราคาต่อจำนวนที่ค่อนข้างสูงและแพงเกินไป ทำให้ตัวเกมเกิดปัญหาเงินเฟ้อเมื่อสร้างโรงงานนี่ขึ้นมา และอาจจะถึงขั้นหมดความท้าทายไปเลย แต่อย่างไรก็ดี ตัวเกมก็ไม่ได้บังคับให้สร้าง คุณสามารถเลือกได้ว่าจะสนุกกับตัวเกมหรือจะสนุกกับความท้าทาย แต่เพราะด้วยมันเป็นเกมเพื่อการศึกษานี่แหละ ทำให้มันไม่ค่อยมีความดึงดูดซักเท่าไหร่ บางคนเล่นแล้วอาจจะพาลหลับได้ง่าย ๆ
ถึง CEO City จะไม่ใช่เกมสร้างเมืองที่สมบูรณ์แบบ ด้วยตัวเกมที่ไม่ค่อยมีความลึกอะไรมาก เนื้อหาที่อาจจะไม่ค่อยน่าดึงดูด บวกกับมีปัญหาเรื่องความสมดุล แต่สำหรับในแง่ของเกมสัญชาติไทยแล้ว บวกกับต่อให้ไม่อวยอะไรมาก เกมนี้ก็ถือว่า “สอบผ่าน” ในแง่ของคุณภาพของตัวเกมที่ทำออกมาได้ไม่แย่เลย และสามารถเล่นได้อย่างเพลิดเพลินสนุกสนาน โดยดูเหมือนว่าเกมนี้จะทำการ “แจกฟรี” ซะด้วย ทำให้น่าจะมีเกมเมอร์ชาวไทยจำนวนไม่น้อยที่ได้สัมผัสเกมนี้ในอดีต และตัวผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้ลองเล่นมันในรูปแบบของ “Physical” (เกมแผ่น) เมื่อตอนที่ยังเป็นแค่เด็กประถมเท่านั้น
และนั้นทำให้ CEO City เป็น 1 ในผลงานที่น่าจดจำในวงการการพัฒนาเกมของประเทศไทย โดยถึงแม้มันอาจจะไม่ใช่เกมหรูหราทุนสูงระดับเกมเกรด AAA และไม่ใช่เกมที่ยอดเยี่ยมออกไปทางน่าเบื่อด้วย แถมยังเกิดในยุคที่วีดีโอเกมยังอยู่ในเงามึดทั้งในแง่ของมุมมองทางสังคมและการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ CEO City ก็กลับสามารถไปอยู่ในส่วนหนึ่งของความทรงจำของใครหลาย ๆ คนได้ โดยสามารถกล่าวได้ว่านี่คือหนึ่งในความทรงจำในวงการเกม ที่น่าหยิบเอามาพูดถึงและทบทวนความจำ จนเกิดมาเป็นบทความที่คุณผู้อ่านได้อ่านจนมาถึงบรรทัดสุดท้ายของบทความตรงนี้ครับ