Crazy Taxi เป็นหนึ่งในเกมแข่งรถคลาสสิกของ SEGA ที่โด่งดังระดับน้อง ๆ ของ Daytona USA ที่เกมเมอร์ยุค 90’s – 00’s แวะมาเล่นทุกครั้งเมื่อผ่านเกมเซนเตอร์ แล้วเกมดังกล่าวจะมีความพิเศษอย่างไร ทำไมเกมเมอร์ชาวไทยจึงชื่นชอบเกมนี้ มาพร้อมกับคำตอบในบทความนี้ได้เลย
Crazy Taxi คือเกมอะไร
เกมเมอร์ในยุคสมัยนี้หลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าเป็นเกมเมอร์ที่เกิดทันยุค 90’s ซึ่งเป็นยุคเกมอาร์เคดกำลังได้รับความนิยม ผู้เล่นจะต้องรู้จักเกม Crazy Taxi ไม่ใช่น้อย
Crazy Taxi เป็นเกมอาร์เคดของ SEGA ของปี 1999 ที่พัฒนาโดยทีมงาน Hitmarker (มีชื่อจริงว่า SEGA AM Research & Development No. 3) ที่เคยสร้างผลงานเกมอาร์เคดโด่งดังมากมาย เช่น SEGA Rally Championship, Manx TT Super Bike และผลงานเกมตู้อื่น ๆ อย่างนับไม่ถ้วนจนกลายเป็นหนึ่งในทีมพัฒนาเกมที่มีชื่อเสียงในประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งแน่นอนว่า Crazy Taxi ก็เป็นหนึ่งในผลงานเกมอาร์เคดชิ้นโบแดงของ SEGA AM3 ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนพัฒนามีเกมภาคต่อและกลายเป็นแฟรนไชส์โด่งดังมากในยุค ’00 รวมถึงเป็นเกมชาวไทยหลายคนชื่นชอบ และเล่นบ่อยบนแพลตฟอร์ม PC
Crazy Taxi เป็นเกม Childhood ที่เก็บไว้เป็นความทรงจำสำหรับเกมเมอร์หลายคน ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่เกมขับรถธรรมดาทั่วไป มันมีความพิเศษเฉพาะตัวที่ทำให้เกมดังกล่าวเต็มไปด้วยเอกลักษณ์จนถึงทุกวันนี้
เกมเล่นง่ายแต่เทพยากตามสไตล์เกมอาร์เคด
กฎการเล่นเกม Crazy Taxi จัดว่าไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไป สำหรับ Arcade Mode ภายใน 3 นาที ผู้เล่นจะต้องส่งผู้โดยสารจากจุด A ไปถึงจุด B และทำเงินรายได้จากการขับแท็กซี่ให้ได้มากที่สุด ส่วนสำหรับเวอร์ชัน PC จะสามารถเลือกเวลาได้สูงสุด 10, 5 หรือ 3 นาทีก็ได้
ซึ่งอ่านครั้งแรกมันอาจจะดูเป็นเกมที่ไม่ค่อยน่าสนุกสักเท่าไหร่ เพราะเกมเมอร์น่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าอาชีพการขับแท็กซี่ในชีวิตจริงนั้นมันน่าเบื่อขนาดไหน ไหนจะต้องคอยขับรถหาลูกค้าตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่จนถึงเวลาค่ำ หรือต้องประสบปัญหาจราจรติดขัดบนท้องถนนอันน่าหงุดหงิด แต่สำหรับเกม Crazy Taxi นั้น จะนำเสนอการขับรถแท็กซี่ที่แตกต่างจากชีวิตอย่างเห็นได้ชัด
Crazy Taxi เป็นเกมที่มอบความอิสรเสรีให้กับผู้เล่นตั้งแต่วินาทีแรกของการเริ่มเกม ในช่วงเริ่มต้น ผู้เล่นจะสามารถขับรถเดินทางไปที่ไหนก็ได้ เพื่อหาจุดที่มีผู้โดยสารเยอะ หรือเดินทาง Free Roam สำรวจพื้นที่ต่าง ๆ (แต่เวลาในเกมเริ่มนับถอยหลังแล้ว) แน่นอนว่าหน้าที่ของผู้เล่นมีอย่างเดียว คือการส่งผู้โดยสารจากเป้าหมายจุด A ไปยังจุด B ซึ่งยิ่งมีระยะเดินทางไกลเท่าไหร่ ค่าโดยสารก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น รวมถึงถ้าหากขนส่งผู้โดยสารได้ไวกว่าปกติก็จะได้เงินโบนัสพิเศษ ซึ่งเงินที่ได้ในเกมนั้น ในช่วงตอนจบจะเป็นคะแนนสำหรับบันทึกสถิติ Leaderboard และ Ranking
เพราะฉะนั้น Crazy Taxi จะไม่ใช่เกมขับแท็กซี่แบบสมจริง แต่มันเป็นเกมขับแท็กซี่ “นรกด่วน” ที่ต้องเหยียบคันเร่งจนมิด แล้วส่งผู้โดยสารให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่าด้วยระบบเกมเพลย์เป็นแนวแอ็กชัน ทำให้รถยนต์ในเกมมีระบบขับขี่ที่สนุกสนาน ขับง่าย และการแตะเบรกหมายถึงเลี้ยวแบบดริฟต์ ตามสไตล์เกมแข่งรถแบบอาร์เคด
ระบบ Stunt ของ Crazy Taxi คือนวัตกรรมสำคัญสำหรับเกมแนวแข่งรถ
ความสนุกที่แท้จริงของ Crazy Taxi ไม่ใช่เป็นเพราะ “ความไม่สมจริง” เพียงอย่างเดียว แต่เป็นระบบ Stunt ที่ให้รางวัลจากการขับรถผาดโผน หรือเสี่ยงอันตราย นับว่าเป็นฟีเจอร์นวัตกรรมของเกมยุค 90’s ที่ทำให้เกมดังกล่าวเปล่งประกายขึ้นมา โดยการ Stunt ผาดโผนของเกมนี้ คือการให้ขับรถกระโดดจากที่สูง, เบียดกับรถสัญจรไปมา และการเลี้ยวแบบดริฟต์ ซึ่งการทำแบบนั้นจะได้รับเงินโบนัสเพิ่มขึ้นระหว่างส่งผู้โดยสาร และช่วยให้เกมการเล่นมีความลุ้นระทึกมากยิ่งขึ้น
แต่ความเร็วก็ไม่ใช่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการเอาชนะ Crazy Taxi ซะทีเดียว เนื่องจากขนาดของแผนที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ (สำหรับเกมอาร์เคด), ตำแหน่งแผนที่แต่ละจุด มีจำนวนผู้โดยสารที่กำลังรอแท็กซี่เยอะ-น้อยต่างกัน รวมถึงมีถนน Shortcut (ทางลัด) ที่ถูกซ่อนไว้มากมาย
ฉะนั้นการทำคะแนนให้ขึ้น Leaderboard สำหรับเกมนี้จะต้องผ่านการวางแผนล่วงหน้าว่าลงจอดอย่างไรก็ให้เร็วที่สุด, ผู้โดยสารคนไหนพาไปยังสถานที่ที่มีคนเยอะ, เส้นทางลัดทางไหนไปจุดเป้าหมายเร็วสุด และวิธีอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ทำให้ฮาร์ดคอร์เกมเมอร์ต้องเล่นแบบลองผิดลองถูกหลายครั้ง เพื่อหาทางทำคะแนนให้ดีที่สุด แม้ระบบเกมเพลย์จะเข้าใจง่ายก็ตาม ทำให้ Crazy Taxi มีความสนุกสนานในด้านความยากท้าทายแบบ “เล่นง่ายแต่เล่นยาก” (Easy to Play, Hard to Master) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสุดเอกลักษณ์ของเกมแนวอาร์เคดเกือบทุกเกม
เนื่องจาก Crazy Taxi ประสบความสำเร็จทั้งเกมเวอร์ชันอาร์เคด และเวอร์ชัน SEGA Dreamcast ทำให้เกมดังกล่าวถูกนำไปพอร์ตลงแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตั้งแต่ PlayStation 2, Nintendo GameCube และ PC รวมถึงถูกสร้างเป็นเกมภาคต่อ ซึ่งมีพัฒนาการในส่วนของระบบเกมเพลย์ที่สามารถรับผู้โดยสายหลายคนในเวลาเดียวกัน ซึ่งส่งผลลัพธ์ทำให้เกมมีความยากที่ท้าทายมากกว่าภาคแรก และนำเสนอแผนที่ใหม่ เพื่อเพิ่มบรรยากาศแปลกใหม่ระหว่างการเล่นเกม
Crazy Taxi ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกม Crazy Taxi 3: High Roller ของ Xbox และ PC ซึ่งโดนวิจารณ์ว่าระบบเกมเพลย์ไม่มีการปรับปรุงจากเกมภาคสอง และมียอดขายที่ไม่ดีสักเท่าไหร่นัก ทำให้เกมภาคใหม่ถูกพัฒนาลงเครื่องเกมพกพา และมือถือ ซึ่งก็มีกระแสค่อนข้างเงียบเหงามาโดยตลอด จนปัจจุบัน Crazy Taxi กลายเป็นตำนานแฟรนไชส์เกมแข่งรถที่ไม่มีการผลิตเกมภาคต่อแล้ว
แม้ Crazy Taxi จะไม่มีการผลิตเกมภาคหลักมานานเกินทศวรรษ รวมถึงไม่มีท่าทีว่า SEGA จะฟื้นคืนชีพแฟรนไชส์ดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันตลาดวงการเกมอาร์เคดในญี่ปุ่นซบเซาลงไปมาก แต่ด้วยระบบเกมเพลย์ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกคน แต่จำเป็นต้องฝึกฝนทักษะเยอะ เพื่อให้ได้เล่นเกมจนเก่งกาจ ทำให้ Crazy Taxi เป็นเกมแห่งความทรงจำที่เกมเมอร์ยุค 90’s ยังชื่นชอบจนถึงทุกวันนี้