Dead Game คำพูดนี้น่าจะได้เห็นกันอย่างแพร่หลายเสมอมาในหมู่คนเล่นเกมด้วยกัน และเป็นคำที่ทางผู้พัฒนาเกมนั้น ไม่อยากจะได้ยินเป็นที่สุด Dead Game แปลแบบตรงตัวเลยก็คือ เกมที่ตายแล้ว พูดให้เห็นภาพคือเกมที่แทบไม่มีคนสนใจ หรือไม่มีคนเล่นแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ถูกกลายไปเป็นคำล้อหรือคำสาปแช่งเกมบางเกมอีกด้วย วันนี้มาทำความรู้จักคำว่า Dead Game ให้มากกว่านี้กันดีกว่า
Dead Game กับความหมายที่ต่างคนต่างนิยาม
ไม่ใช่แค่ชาวไทยที่สงสัยว่า Dead Game ควรใช้กับเกมประเภทไหนกันแน่ แต่ในเว็บชื่อดังอย่าง Reddit ก็เคยมีการถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้งว่าจริง ๆ แล้ว Dead Game มันหมายความว่าอะไรกันแน่ ซึ่งก็มีความเห็นต่าง ๆ นา ๆ แตกแยกออกไปมากมายเช่น
- Dead Game ในความหมายของฉันคือเกมที่ยอดผู้เล่นตกต่ำอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถหาห้องเล่นเกมได้ทันทีเมื่อคุณต้องการ
- มันแบ่งออกเป็นเกมที่กำลังจะตาย เมื่อยอดผู้เล่นลดลงอย่างเรื่อย ๆ แฟนเกมออกจากฐานชุมชนของเกม และการหาห้องเล่นเกมนั้นไม่ได้เลย นั่นแหละคือเกมตาย
เห็นได้ว่าในต่างประเทศมีการแบ่งแยกเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่าง “เกมที่กำลังจะตาย” กับ “เกมที่ตายแล้ว” ซึ่งอาจมีความหมายที่ต่างกันเพียงแค่เส้นบาง ๆ แต่กระแสหนึ่งมันเกิดขึ้นเมื่อมีคนนำเอาคำนี้ไปใช้เสียดสีเกมที่ยอดนิยม แต่ตัวเองไม่ชอบ และสาปแช่งว่ามันเป็น Dead Game ทั้งที่ความจริงแล้ว ไม่ใช่เลย แม้กระทั่งเว็บประวัติ Meme ชื่อดัง ยังต้องนำไปบันทึกไว้ว่า มันถูกนำมาใช้เสียดสีหรือเยาะเย้ยเกมอื่น ๆ ด้วย
Dead Game ถูกใช้กับเกมประเภทใดบ้าง
Dead Game ส่วนมากมักจะไม่ถูกใช้กับเกม Single Player เพราะเกม Single Player นั้น ไม่จำเป็นต้องการทำการรอผู้เล่นคนอื่นเพื่อเล่นเกม เพียงผู้เล่นดาวน์โหลดตัวเกม ติดตั้งเกม ก็สามารถเข้าไปเล่น และรับความบันเทิงจากตัวเกมกันได้ เกม Single Player จึงไม่ค่อยจะตกเป็นเป้าของคำว่า Dead Game สักเท่าไร เกมที่โดนหนัก ๆ เลยจะเป็นพวกเกม Multiplayer หรือเกมออนไลน์ที่ต้องอาศัยการเล่นกับผู้เล่นคนอื่น ทุกประเภท ทุกแนวเกม เพราะถ้าหากว่าผู้เล่นไม่ถึงระดับที่เกมกำหนด การเล่นก็อาจจะขาดสมดุล ขาดความสนุก หรือมากกว่านั้นเลยคือ ไม่สามารถเริ่มเกมได้เลย เพราะจำนวนคนไม่พอ
Single Player ที่มีโหมด Multiplayer เองก็อาจจะใช้คำว่า Dead Game ได้อยู่บ้างเหมือนกัน (Dead Mode) เพราะมีบ้างที่ผู้พัฒนาทำทั้งสองระบบมา แต่โหมดแคมเปญหรือเนื้อเรื่องของเกมดันโดดเด่นกว่า แถมโหมด Multiplayer ก็ไม่ค่อยจะสนุกโดนใจนัก คนจึงปล่อยให้ Multiplayer ของเกมนั้นเงียบเหงาเดียวดาย ไม่มีใครเล่น แต่เกมจำพวกนี้จะไม่ค่อยโดนใช้คำว่า Dead Game นัก คำนี้จะถูกใช้กับเกม Multiplayer เต็มรูปแบบเลยมากกว่า
จุดกำเนิดของคำว่า Dead Game
แม้จะไม่มีที่มาที่ไปอย่างแน่ชัด แต่ก็เคยมีคนรวบรวมข้อมูลเอาไว้ เว็บไซต์ Know Your Meme เคยลงประวัติคร่าว ๆ ถึงจุดกำเนิดของ Dead Game เอาไว้ว่า ย้อนไปเมื่อปี 2010 ในฟอรั่มเกมแห่งหนึ่ง มีผู้ใช้งานชื่อ Steve ได้มาตั้งชื่อหัวข้อว่า เกมที่ตายแล้วและอยากเห็นมันกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง ในหัวข้อนั้นมีรายชื่อเกมต่าง ๆ มากมาย ทั้ง Ecco the Dolphin, Free Space และ Half-Life จนกระทั่งในช่วงปี 2015 นั้น คำดังกล่าวถูกนำไปใช้กับชุมชนเกมที่มีการแข่งขันสูงมากบนโลกออนไลน์
หลายคนใช้คำนี้ไปกับเกมที่กำลังถูกละเลยจากทีมพัฒนาหรือผู้สร้าง มีปัญหาเรื่องความสมดุลจนเกมขาดความสนุก และผู้เล่นกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากนั้นมาคำนี้ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น จนกระทั่งวันที่ 14 ธันวาคม ปี 2016 ผู้ใช้ Youtuber รายหนึ่ง เปิดตัววิดีโอชื่อ Death of a Game ซึ่งเขาวิเคราะห์ว่าเกมต่าง ๆ นั้น สูญเสียผู้เล่นลงเพราะสาเหตุใด ยอดวิวของวิดีโอนี้มีเกินกว่า 1 ล้านครั้ง และคำนี้ก็ถูกกระจายและใช้งานกันไปอย่างแพร่หลายมากขึ้นในที่สุด
Dead Game กับการนำมาใช้เสียดสีเกมอื่น ๆ
ปัจจุบันคำว่า Dead Game ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งส่วนมากก็ใช้ทั้งทีจริงบ้าง ทีเล่นบ้าง แต่ที่เห็นบ่อยที่สุดเลยน่าจะเป็นการนำมาใช้ในถากถางหรือเสียดสีเกมต่าง ๆ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ที่รู้จักเกมชื่อดังทั้งหลายอย่าง Fortnite, Apex Legends, Dead by Daylight, Overwatch ล้วนต้องเจอคำว่า Dead Game กันมาทั้งหมดแล้ว แม้ว่าเกมเหล่านั้นจะมียอดผู้เล่นมหาศาล และทีมงานยังคงตามอัปเดตตัวเกมอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ
หรือแม้กระทั่งเกมที่เป็นคนละสไตล์แต่มีการเล่นแบบเดียวกัน เช่นตอนที่ Call of Duty: Warzone เปิดตัวใหม่ ๆ ก็มีผู้คนมากมายออกมาทำมีมล้อเลียนว่า Apex Legends, Fortnite หรือเกม Battle Royale เกมอื่น ๆ ต้องตายแน่ ๆ แต่ในความจริงแล้วก็คือไม่เป็นอย่างนั้น เพราะผู้เล่นแต่ละคนชื่นชอบสไตล์เกม และโทนของเกมที่แตกต่างกันอยู่แล้ว ดังนั้นคำว่า Dead Game จึงมักจะถูกนำมาใช้ล้อเลียน เสียดสีกันมากกว่าที่เกมมันจะตายจริง ๆ แต่เกมที่ตายจริงในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ก็มีให้เห็นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเกมที่หาห้องนานมาก เพราะไม่มีคนเล่น หรือเกมที่ทางผู้พัฒนาละทิ้ง ห่างหายจากการอัปเดตไปหลายปี เหล่านี้ต่างหากจึงเป็น Dead Game ตัวจริง
เช็คยังไงว่าเกมไหนตายหรือไม่ตาย ?
ก่อนเราจะเสียเงินซื้อเกมสักเกม เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเกมนั้นตายหรือยังไม่ตายกันแน่ ต้องขอบคุณเทคโนโลยียุคนี้ที่ทำให้การตรวจสอบเรื่องพวกนี้ทำได่ง่ายขึ้นมาก ปัจจุบันเราสามารถเช็คสถานะเกมต่าง ๆ ได้จากเว็บเช็คสถานะชื่อดัง เอาที่หลายคนรู้จักกันดีคือ SteamDB.com เว็บนี้เป็นเว็บรวมฐานข้อมูลของเกมที่ให้บริการบน Steam เกือบจะทั้งหมด ซึ่งเราสามารถค้นหาชื่อเกมได้เลย และเกมจะแสดงสถานะว่าเกมมียอดผู้เล่นปัจจุบันอยู่เท่าไร สูงสุดเท่าไร และสถิติสูงสุดของผู้เล่นเกมนี้คือเท่าไร ช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นมาก
ส่วนเกมอื่นที่ไม่ได้เปิดให้บริการบน Steam ก็ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการเช็คกระแสทางโซเชียล หรือถ้าเป็นเกมออนไลน์ก็อาจทำได้ด้วยการโหลดเข้าเกมไปลองหาคนเล่นดู ถ้ามันยังหาห้องเจอ มีผู้เล่นอยู่บ้างก็อาจจะเป็นเกมที่ได้รับความนิยมอยู๋ แต่ถ้าเงียบกริบ หาห้องก็ไม่เจอ ไม่มีใครพูดถึง นั่นแหละอาจจะเป็น Dead Game ของจริง
กล่าวโดยสรุปแล้ว ในความหมายของคำว่า Dead Game ที่ถูกต้องจริง ๆ นั้น อาจจะเป็น
เกมที่ถูกทอดทิ้งโดยเหล่าผู้พัฒนา หรือกำลังจะปิดตัวลง หรือไม่มีการอัปเดตดูแลอีกต่อไป ไม่สามารถหาคนเล่นโหมดออนไลน์ด้วยได้ หรือใช้เวลาในการหาห้อง / Matchmaking นานจนเกินไป
นั่นแหละจึงจะเป็น Dead Game อย่างแท้จริง แต่ไม่ว่าอย่างไร เราก็คงไม่อาจห้ามไม่ให้มีการนำคำว่า Dead Game ไปใช้เสียดสีกันได้อยู่ดี เพราะฉะนั้น เกมไหนตาย หรือไม่ตาย ผู้เล่นอาจจะต้องใช้วิจารณญาณในการค้นหาข้อมูลให้ดี