ในช่วงเวลาร้อนระอุก่อนจะเปลี่ยนผ่านเจนของคอนโซล หลายคนคงจะได้ยินว่ามีการหลุดภาพของ Dev Kit ของคอนโซลเจนหน้าออกมาอยู่เสมอ ๆ ในช่วงนี้ โดยเฉพาะ PlayStation 5 ที่ดูจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะเมื่อไหร่ที่พูดถึง Dev Kit ของเครื่องนี้ เหล่าสาวกก็จะหูผึ่ง เดินมาฟังกันอย่างเนืองแน่นทันที
แต่คุณเคยสงสัยไหมว่าเจ้า Dev Kit ที่เราพูดถึงนั้น มันคืออะไร และมีไว้เพื่อสาเหตุใดกันแน่ มันใช่เครื่องของจริงหรือเปล่า วันนี้ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ Development kits หรือ Dev Kit ที่ทุกคนเรียกกัน
Dev Kit คืออะไร
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า Development kits คือการเรียกเครื่องมือที่ใช้พัฒนาแบบองค์รวม สิ่งที่บริษัทผู้พัฒนาเกมใช้กันอยู่ทุกวันนี้คือ Game development kits เครื่องมือที่เอาไว้ใช้พัฒนาเกมโดยเฉพาะ ซึ่งเครื่องมือพวกนี้ จะได้มาก็ต่อเมื่อผู้พัฒนาทำสัญญากับบริษัทเกมนั้น ๆ เท่านั้น
GDR (Game development kits) ถูกสร้างมาเพื่อทดสอบความเข้ากันได้ระหว่างเกมกับคอนโซล เพราะปกติแล้วการสร้างเกมใดเกมหนึ่งขึ้นมา จะต้องใช้คอมพิวเตอร์และ Game Engine ในการผลิต ก่อนจะนำไปทดลองเล่นกับเครื่องจริง บริษัทผู้พัฒนาที่ไม่ใช่ First Party จึงไม่มีทางรู้ได้เลยว่า เกมของตัวเองเข้ากับเครื่องหรือเปล่า
แต่ GDR เข้ามาอุดช่องโหว่ตรงนั้น ทำให้ผู้พัฒนาทั้งหลายเริ่มก่อตั้งกลุ่มของตนเอง เกิดเกมแบบ Third Party ขึ้นมามากมายจากหลากหลายผู้พัฒนา
Dev Kit ถูกสร้างขึ้นตอนไหน ?
ในช่วงปี 1980 การพัฒนาโมเดล 3D ด้วยคอมพิวเตอร์ยังไม่แพร่หลาย รวมถึงยังมีข้อจำกัดในด้าน Hardware อยู่ค่อนข้างมาก ผู้พัฒนารายย่อยเลยไม่สามารถคงตัวเองอยู่ได้ในสภาวะเช่นนี้ ในช่วงนั้นจึงมีแต่ค่ายเกมใหญ่ ๆ ที่พัฒนา Hardware และ Software ไปพร้อม ๆ กันได้ พวกเขาเลยไม่ต้องการ Dev Kit
แต่เมื่อถึงเจนที่ 5 ของคอนโซล (ยุค PlayStation) ผู้พัฒนารายย่อยเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ Sony และ Nintendo เริ่มผลิต Dev Kit แจกจ่าย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของตลาดวิดีโอเกม อีกทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนเกม Third Party ให้คอนโซลของพวกเขาเองอีกด้วย
Dev Kit ที่น่าจะใช้งานกันแพร่หลายที่สุดในยุคนั้น คือ PlayStation และ Nintendo 64 ซึ่งทั้งสองรุ่นนี้ถือเป็น Dev Kit ที่สมบูรณ์แบบครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้เคยมี Dev Kit ของ NES และ SNES มาก่อน แต่ไม่สมบูรณ์ทั้งคู่ (เป็นเพียงแค่ EPROM)
และนอกจาก Dev Kit ที่ได้รับตรงจากมือของผู้พัฒนา ยังมี Consumer Dev Kit ที่ถูกนำมาวางขายด้วย ซึ่งเจ้าตัวนี้ถือเป็นจุดกำเนิด Indie Game ที่แท้จริง เพราะไม่ว่าใครก็สามารถซื้อมันไปพัฒนาเกมลงแผ่นได้ แต่ประเทศไทยคงไม่ได้สัมผัสกัน เนื่องจากการพัฒนาเกมเล่นเองยังคงเป็นเพียงสังคมเล็ก ๆ ในยุคนั้น
ความแตกต่างของ Dev Kit กับเครื่องของจริง
แม้ว่า Dev Kit จะถูกใช้เพื่อทดสอบความเข้ากันของเกมและคอนโซล แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างใน Dev Kit จะเหมือนกับเครื่องที่ขายจริง ๆ เพราะนอกจากสเปกแล้ว ก็ไม่มีมีอะไรที่เหมือนกันอีกเลย
อย่างแรกคือหน้าตาของเครื่องจริงและ Dev Kit ที่แตกต่างกันอย่างมาก เป็นเพราะในตอนออกแบบ ผู้ออกแบบไม่ได้อยากให้ Dev Kit มีหน้าตาหรือมีดีไซน์ที่บ่งบอกถึงความเป็นแบรนดิ้ง แต่ต้องการออกแบบให้มันใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด เราจึงเห็นว่า Dev Kit ที่หลุดออกมานั้น “ส่วนมาก” จะมีขนาดที่ใหญ่โต และไม่สวยงามเท่ากับเครื่องจริง
อย่างที่สองคือฟีเจอร์ในเครื่อง ในฐานะของ Dev Kit เครื่องพวกนี้จะมีฟีเจอร์หลายอย่างที่เกิดมาเพื่อใช้ในการพัฒนา ยิ่ง Dev Kit ของคอนโซลยุคหลัง ๆ ยิ่งมีฟีเจอร์สำคัญ ๆ เยอะ ยกตัวอย่างเช่น PlayStation 4 Dev Kit ที่ผู้พัฒนาสามารถ Publish เกมลงบน PSN ได้เลย เป็นต้น