BY SEPTH
20 May 18 7:46 pm

Disabled Gamers พื้นที่เล็กๆ ของเกมเมอร์หัวใจนักสู้

22 Views

เมื่ออุปสรรคด้านร่างกายไม่อาจกีดกันความสุขอีกต่อไป กับโลกเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ไร้ขีดจำกัด

ว่ากันว่า ผู้ที่ด้อยโอกาสมากที่สุด คือผู้พิการ ซึ่งมีความบกพร่องในสมรรถภาพทางร่างกาย เพราะคนเหล่านี้ มีข้อจำกัดในการใชีชีวิตประจำวัน หรือมีส่วนร่วมทางสังคม ทั้งในด้านการได้ยิน เคลื่อนไหว การสื่อสาร จนไปถึงด้านอารมณ์และสติปัญญา กลุ่มคนเหล่านี้จึงเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด  เพื่อให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขทั่วไป

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เรามักมองเห็นผู้ด้อยโอกาสในแง่ของการใช้ชีวิตอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำสำหรับคนพิการ หรือการเรียกร้องพื้นที่ให้ขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าจัดการลิฟท์สำหรับรถเข็นอย่างจริงจัง แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนมักลืมนึก คือคนพิการเหล่านี้ ไม่ได้ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านร่างกายเท่านั้น แต่ยังร่วมถึงในด้านจิตใจ แน่นอนว่าหลายคนในนั้น ก็มีความเป็นเกมเมอร์ ที่ต้องการเติมเต็มช่องว่างในด้านความบันเทิงและความสนุก ไม่ต่างจากคนปกติแม้แต่น้อย

 

Philip Hoare หนึ่งในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Spinal Muscular Atrophy หรือ SMA) ได้คิดค้นระบบ accessibility สำหรับคอนโซลและเกมขึ้นมา เพื่อให้หลายคนได้สนุกกับเกมเหมือนๆ กัน ในฐานะที่เขาป่วยเป็นโรค SMA ตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาไม่สามารถยืดแขนขาออกไปไกลได้ และต้องพึ่งรถเข็นอยู่บ่อยๆ แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ขัดขวางเขาไปจากความสนุกจากการเล่นเกมไปได้แม้แต่น้อย

 

สำหรับ Philip แล้ว เกมคอนโซล คือสิ่งที่มีค่าสำหรับคนพิการ เพราะสิ่งนี้ต่างไปจากการเดินเข้าภัตตาคาร หรือเข้าห้องน้ำที่ไม่ได้สร้างเผื่อ บ่อยครั้งที่คนพิการมักถูกละเลย แต่ไม่ใช่กับเกมคอนโซล เพราะมีคนพิการหลายประเภทที่สามารถเล่นเกม และเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดของผู้พัฒนาเกมได้ เห็นได้ชัดจาก accessibility features ของ PS4 และ Xbox One ที่ให้ผู้เล่นได้ดีไซน์ layout ของ controller ขึ้นมาใหม่ ซึ่งหากผู้เล่นไม่สามารถกดปุ่มไหนก็ปรับใหม่ให้เป็นปุ่มที่ใกล้ขึ้นแทนได้ แต่ปัญหาที่ Hoare เจอตอนนี้คือ layout ยังไม่สามารถเซฟได้ เจ้าตัวจึงต้องใช้วิธีบันทึกการปรับแต่งลงไปในสมุดแทน

ในขณะเดียวกัน Microsoft ยักษ์ใหญ่ด้านซอฟท์แวร์และเกมที่ได้สนับสนุนด้าน accessibility มาโดยตลอดก็ได้เผยถึงการพัฒนาคอนโทรลเลอร์พิเศษสำหรับผู้พิการ โดยจะมีลักษณ์เป็น pad ขนาดใหญ่และมีปุ่มขนาดใหญ่ 2 ปุ่ม พร้อมฟีเจอร์และสวิทช์ที่ออกแบบมาในด้าน accessibility โดยเฉพาะ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะได้รับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน E3 ปีนี้อีกด้วย

 

The Ablegamers มูลนิธิไม่แสวงผลกำไรเพื่อคนพิการ

เปลี่ยนความเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ องค์กร The Ablegamers ใช้ทรัพยากรเทคโนโลยีที่มีอยูมาพัฒนาอุปกรณ์เสริม ไม่ว่าจะเป็นคอนโทรลเลอร์ที่ควบคุมด้วยปาก ระบบใช้ตาจ้อง หรือคอนโทรลเลอร์ที่ปรับแต่งมาเป็นพิเศษ โดยมีทีมงานเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะทำหน้าที่ประเมินอุปกรณ์ที่เหมาะสมให้แก่แต่ละคน  ทั้งนี้ก็เพื่อลดช่องว่างให้คนพิการสามารถสนุกกับเกมได้ไม่ต่างจากคนปกติ ตามแนวคิดตาม hashtag ว่า #SoEveryoneCanGame

กายไม่ให้แต่ใจสู้

เมื่อไม่กี่ปีก่อน Capcom เคยผลิตสารคดีขนาดสั้นสำหรับโปร Street Fighter รายหนึ่งนามว่า BrolyLegs ที่ไม่ได้น่าสนใจเพียงแค่ความเก่งเท่านั้น แต่โปรคนนี้ คือคนที่เล่นเกมด้วยปากเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ด้วยปัญหาด้านสุขภาพตั้งแต่เกิด แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุด คือไม่เพียงแต่เขาจะเล่นได้เหมือนกับคนอื่น แต่ยังได้ครองตำแหน่งผู้เล่น Chun-Li อันดับ 1 ในโหมดออนไลน์ของเกม Ultra Street Fighter IV มาแล้ว

BrolyLegs ยังเคยประมือกับนักแข่ง Street Fighter ระดับโลกอย่าง Daigo มาแล้ว

RockyNoHands เกมเมอร์ไร้มือที่พร้อมเด็ดหัวคู่แข่งที่มีครบ 32 แม้อุบัติเหตุเมื่อหลายปีก่อนทำให้เขาต้องเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงคอ แต่นั่นก็ไม่อาจหยุดให้เขาฉายแววทางเกมได้ ด้วยอุปกรณ์ช่วยเล่นแบบใช้ปากที่่ผ่านการระดมทุน ทำให้เขาได้ก้าวมาโลดแล่นในวงการ Streamer โดยเฉพาะการนำมาเล่นกับเกมอย่าง PUBG ที่คนมีปัญหาทางร่างกายด้วยกันยังไม่กล้า RockyNoHands จึงเป็นผู้เล่นที่น่าเกรงขาม

ในขณะเดียวกัน เคสของ theREALHandi ซึ่งเป็นผู้พิการแขนด้วนก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าด้วยแขนที่มีก็สามารถเล่นเกมได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป ด้วยยอดวิวรวมจาก Twitch กว่า 7 ล้านคนและ followers หลักแสนจากการ stream เกมอย่าง Counter Strike: Global Offensive, iRacing จนถึง PUBG ทำให้หลายคนต่างก็เข้าใจได้ว่าเกมเมอร์คนนี้ไม่ใช่แค่ระดับเล่นได้ แต่เรียกว่าเล่นเป็นและพร้อมเป่าหัวใครก็ตามที่ขวางทางเขา

Disabled Gamers พื้นที่เฉพาะของเกมเมอร์นักสู้

อีกหนึ่งชุมชนสำคัญบน Reddit ที่เป็นศูนย์กลางแก่ผู้ที่มีใจรักในการเล่นเกม หากแต่ร่างกายไม่เอื้ออำนวย ที่นี่เต็มไปด้วข่าวสารและข้อมูลมากมายที่ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อคนพิการเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อคนปกติที่จะเข้าไปทำความเข้าใจและแบ่งปันความช่วยเหลือ รวมถึงแบ่งปันคลิปที่น่าสนใจของเหล่า streamer อีกด้วย

 

เห็นได้ชัดว่าเรื่องของ accessibility ไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเรื่องที่ไกลตัวแม้แต่น้อย เพราะความสนุกและการเล่นเกมเป็นเรื่องของทุกคน เพราะหากเราสามารถทำให้การเล่นเข้าถึงได้ทุกกลุ่มแล้วล่ะก็ การสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกลอีกต่อไป

 

Kittipong Songkasri

เป้ง - Content Writer

Back to top