Dragon Ball น่าจะเป็นชื่อที่ไม่ว่าจะเป็นแฟนเกม หรือแฟนการ์ตูนต้องรู้จักกันดีอย่างแน่นอน เพราะมันเป็นการ์ตูนอมตะ ที่ถูกนำไปสร้างเป็นสื่ออันหลากหลาย และที่โดดเด่นสุดในบรรดาสื่อบันเทิงทั้งหลาย แน่นอนว่าต้องเป็นวิดีโอเกม และเนื่องจากในปีหน้า Dragon Ball Z : Kakarot ซึ่งเกมเพลย์นั้นมีความเป็น RPG Open World แตกต่างจากภาคเก่าที่เป็นแนวไฟท์ติ้งมาโดยตลอด และพอนึกย้อนไปในอดีตแล้ว มีเกมดราก้อนบอลอยู่ภาคนึงบนเครื่อง Gameboy Advanced ที่มีความเป็น RPG เหมือนกัน และยังสนุกมากอีกด้วย วันนี้เราจะพาทุกท่านย้อนมาดู Dragon Ball Z : Legacy of GOKU ทั้ง 3 ภาคกันครับว่ามันสนุกขนาดไหน
ทำความรู้จักกับ Legacy of GOKU
Legacy of GOKU แบ่งออกเป็นไตรภาค 3 ภาคนั่นคือ Legacy of GOKU I , Legacy of GOKU II และปิดท้ายด้วย Buu’s Fury ซึ่งทั้งสามภาคก็จะดำเนินเรื่องราวตามการ์ตูนต้นฉบับทั้งหมด แต่เริ่มที่ภาค Z นะครับ ไม่ได้เริ่มจากสมัยโงกุนยังเด็ก ทำให้แฟน ๆ เกมนี้ชื่นชอบกัน นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มตัวละครลับบางตัว ภารกิจยิบย่อยเข้ามาให้เราทำ เพราะตัวเกมมีความเป็น RPG เราต้องเก็บเลเวล หาเงินไปซื้อของมาอัพเกรดตัวละคร มีค่าสเตตัส สำหรับตัวเกมพัฒนาโดย Webfoot Technologies และค่ายนี้นี่แหละที่อยู่พัฒนาเกมซีรีส์นี้จนครบทั้ง 3 ภาค ปิดตำนาน Dragon Ball Z : Legacy of GOKU ลงได้อย่างสมบูรณ์ ตัวเกมลงให้เพียงเครื่อง Gameboy Advanced เท่านั้นครับ
Dragon Ball Z : Legacy of GOKU I (2002)
นี่คือจุดเริ่มต้นของทุกอย่างโดยเราจะเล่นกันตั้งแต่ภาคที่โงกุน (หรือใครจะเรียกโกคูก็ได้แล้วแต่) ในภาคนี้แน่นอนว่าตัวร้ายจะเป็นฟรีซเซอร์ ซึ่งเรื่องราวจะเริ่มต้นตั้งแต่ที่โกฮังโดนราดิชจับตัวไป จากนั้นเรื่องราวก็จะดำเนินไปตามแบบฉบับการ์ตูนจนจบภาคฟรีซเซอร์ แน่นอนว่าในซีรีส์ Legacy of GOKU นั้นตัวเกมใส่ความเป็น RPG กึ่งโลกเปิดลงไป เราจะเจอตัวละครใหม่ ๆ ที่มาในรูปแบบของ NPC ที่จะมีมินิเควสท์ให้ทำ เช่นช่วยเด็กเก็บของ สะสมไอเทม และจะได้รางวัลเป็นค่าประสบการณ์มาอัพเลเวลให้เรา
ภาคนี้เราจะควบคุมได้เพียงตัวละครโงกุนเท่านั้น ตัวละครจะมี HP / EP ไว้หรับปล่อยพลังงงาน เติมได้โดยการกดยา หรือกินอาหาร ที่แย่มาก ๆ คือหน้าเมนูในภาคนี้ไม่ได้ออกแบบมาเลย เมื่อเราเข้าหน้าเมนูหลักเพื่อจะเช็คภารกิจ ไอเทม หรือดูท่าโจมตี ฉากหลังจะเป็นหน้าแรกตอนเข้าเกม แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ออกแบบหน้าเมนูภายในเกมมาเลยแม้แต่น้กอย ด้านบนก็จะแสดงเลเวล และค่า EXP เพียงเท่านั้น ระบบการต่อสู้ก็จืดชืด เรียกได้ว่าถ้าไม่ใช่แฟนเกมมาเล่นก็คงรู้สึกเบื่อจนอาจจะต้องเลิกเล่นไปเลยก็ได้ แต่ความสำเร็จของจริงย่อมต้องใช้เวลา เพราะเหมือน Webfoot เขารู้ตัวว่าพลาดตรงไหนไปบ้าง นั่นทำให้ภาค 2 เป็นการพัฒนาที่ก้าวกระโดด
Dragon Ball Z : Legacy of GOKU II (2003)
ในการกลับมาของภาคนี้แม้จะใช้เวลาต่างกันเพียงปีเดียว แต่ตัวเกมก็ดีขึ้นแบบเห็นได้ชัด เริ่มจากการออกแบบหน้าเมนูที่คราวนี้ละเอียดและหลากหลายมากขึ้น ภาคนี้มีการแบ่งค่าสเตตัสออกเป็น 3 ค่าแล้วแต่เราจะอัพ มีการแบ่งหน้าไอเทมและภารกิจต่าง ๆ ไว้ให้ดูอย่างชัดเจน เรื่องราวในภาคนี้ก็จะเริ่มต้นขึ้นตอนที่โกฮังเริ่มเข้าวัยรุ่น แต่โดนจีจี้บังคับให้เรียนหนังสือ เพราะไม่อยากให้โตมากลายเป็นแบบโงกุน แต่สุดท้ายลูกไม้ก็หล่นไม่ไกลต้น เรื่องราวเป็นยังไง แฟนการ์ตูนก็น่าจะรู้กันดีอยู่แล้ว
และการโจมตีในภาคนี้ก็จะมีเลขดาเมจบ่งบอกอย่างชัดเจนที่ได้มาจากการอัพค่าสเตตัสหรือการสวมใส่อุปกรณ์ที่ดีขึ้น และมีระบบ Cap Level นั่นคือบางพื้นที่ บางฉาก เราจะต้องเก็บเลเวลให้ถึงที่ระบบกำหนดก่อน ถึงจะไปต่อได้ ส่วนเนื้อเรื่องในภาคนี้นั้นจะจบลงที่ภาคศึกของเซลล์ ที่โกฮังต้องฝึกหนักอย่างที่สุด เพื่อรับมือกับเซล จุดเด่นอีกอย่างในภาคนี้คือการควบคุมตัวละครได้หลากหลาย และสกิลจะมีการพัฒนา ที่สำคัญคือแปลงร่างเป็นซูเปอร์ไซย่าเพื่อเพิ่มพลังการต่อสู้ชั่วคราวได้ด้วย และภาคนี้นี่แหละที่เป็นรากฐานให้กับภาคปิดตำนานอย่าง Buu’s Fury
Dragon Ball Z : Buu’s Fury (2004)
ภาคนี้เรื่องราวก็เริ่มต้นขึ้นต่อจากภาคที่แล้วยาวไปจนถึงศึกจอมมารบู ตัวเกมแทนที่จะใช้ชื่อ Legacy of GOKU III แต่เปลี่ยนมาใช้ชื่อ Buu’s Fury เลย และแน่นอนอย่างที่ผู้เขียนบอกเอาไว้ ภาคนี้แทบจะยกระบบจาก Legacy of GOKU II มาสานต่อและปรับปรุงให้ดีขึ้น ภาคนี้ตัวเกมมีความยาวที่สุดในจำนวน 3 ภาค เพราะเนื้อเรื่องที่เยอะ และการฟาร์มเลเวลตัวละครก็ไม่ใช่ว่าจะทำกันได้ง่าย ๆ แต่ภาคนี้ระบบอุปกรณ์สวมใส่จะละเอียดกว่าสองภาคแรกมาก สามารถใส่ได้ทั้งลำตัว แขน ขา เครื่องประดับ เรามีโอกาสจะได้ใส่ชุด และเครื่องประดับที่ดี หาได้จากการดรอปจากมอนสเตอร์ หรือแม้แต่ได้รับจากภารกิจ และซื้อจากร้านค้า
ภาคนี้จะมีค่าเงินด้วย โดยเราสามารถใช้เงินไปซื้อของจำพวกไอเทมฟื้นฟูพลัง หรืออุปกรณ์ตามร้านค้าได้อีกด้วย แน่นอนว่าสกิลก็มีให้เลือกใช้หลากหลายมากขึ้น อิงตามการ์ตูนเป๊ะ ๆ และกราฟิกในภาคนี้ก็สวยที่สุดในทั้งสามภาคแล้ว และด้วยการประสานเนื้อเรื่องต้นฉบับจากการ์ตูนแบบไม่ผิดเพี้ยน ผสมเข้ากับการนำเสนอเกมเพลย์ที่ไม่น่าเบื่อ Dragon Ball Z : Buu’s Fury แทบจะเป็นหนึ่งในความทรงจำเกม RPG จากการ์ตูนที่ดีจนลืมไม่ลงสำหรับผู้เขียนเลยทีเดียว (อาจเป็นเพราะเล่นตอนเด็กแบบไม่คิดอะไรมากด้วยเลยยิ่งชอบ)
ความคาดหวังจาก Dragon Ball Z : Kakarot (2020)
และในภาคล่าสุดอย่าง Kakarot ที่ Dragon Ball ตัดสินใจที่จะกลับมาเป็นเกม RPG อีกครั้ง สิ่งที่เรารู้ตอนนี้คือตัวเกมจะมีเนื้อเรื่องยาวไปถึงภาคเซลล์เท่านั้น และระบบการเล่นก็น่าจะมีความเป็น RPG Open World เสียด้วย นั่นทำให้ตัวผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่ามันน่าจะทำให้เราประทับใจได้ในระดับเดียวกับที่ Legacy of GOKU ทำได้ไหม แต่จากตัวอย่างที่ปล่อยมาก็พอจะทำให้เราคาดหวังได้ในระดับนึง น่าเสียดายตรงที่ทาง BANDAI NAMCO เขาไม่ค่อยจะพัฒนาเอนจิ้นสำหรับพัฒนาเกม ทำให้กราฟิกมันเหมือนกับหลาย ๆ เกมที่แล้วมาอย่างเช่น One Piece Pirate Warrios , JUMP FORCE
และทาง BANDAI เองก็เพิ่งมีแผลสดจากการทำเกมแนว Open World RPG นั่นคือ One Piece World Seeker ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างมาก เพราะอุตส่าห์มีเนื้อเรื่องเป็นของตัวเองแล้ว แต่กลับนำเสนอเกมในรูปแบบโลกเปิดออกมาได้ไม่ดีพอ และต้องรับคำวิจารณ์ในแง่ลบกันไปชุดใหญ่เลยทีเดียว ผู้เขียนก็หวังว่าปัญหานี้มันจะไม่เกิดขึ้นกับ Kakarot นะ และที่สำคัญเลยคือตัวเกมในภาคนี้จะรองรับภาษาไทยด้วย เล่นรู้เรื่อง และอินกันแน่นอน
สำหรับไตรภาค Legacy of GOKU ใครที่ไม่เคยลองเล่นผมแนะนำให้ลองหามาเล่นกันดู เพราะมันมีกลิ่นอายความสนุกแบบ Pokemon จากมุมมองและกราฟิกการเล่น แต่ด้วยความที่มันเป็น RPG แบบเต็มตัว และไม่น่าเบื่อเลย ถ้าผู้เล่นชอบซีรีส์ดราก้อนบอลอยู่แล้ว ถ้าจะโหลด Rom มาเล่นบนคอมตอนนี้คงต้องบอกว่ายากหน่อย เพราะเกมมันเก่าแล้ว ไม่รองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่ถ้าลองหามาติดมือถือดูอาจจะได้ก็ได้ครับ แล้วเรามารอดูกันว่า Dragon Ball Z : Kakarot ในปีหน้า จะทำออกมาได้น่าประทับใจแค่ไหนกัน