ถ้าเราเอ่ยชื่อของค่ายเกม Sega ในปัจจุบันนี้ถือเป็นค่ายเกมที่ผลิตเกมคุณภาพดีและมีประวัติมายาวนาน อย่างเช่น Sonic The Hedgehog เม่นสายฟ้าเจ้าความเร็วที่เป็น Mascot ของทางค่าย The House of The Dead เกมยิงปืนสไตล์อาร์เคดที่ผู้เขียนได้เคยเล่าเรื่องราวของมันไป หรือซีรีส์เกมยากุซ่ายอดนิยมจากฝั่งญี่ปุ่นอย่าง Ryu ga Gotoku ก็ล้วนเป็นผลงานจากทาง Sega แทบทั้งสิ้น แต่ในช่วงก่อนปี 2000 พวกเขาก็เป็นอีกหนึ่งค่ายเกมที่ร่วมวงในสงครามคอนโซลมาอย่างยาวนาน และตำนานบทสุดท้ายในฐานะของผู้ผลิตเครื่องเกมคอนโซลของพวกเขาก็คือ Dreamcast นั้นเอง
เรามารู้จักกับค่าย Sega ในช่วงยุคก่อนปี 2000 กันก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาเองก็คือค่ายผู้ผลิตและพัฒนาวิดีโอเกมเจ้าใหญ่ที่มีทั้งเกมตู้ เครื่องเกมคอนโซล และเกมที่พวกเขาพัฒนาเอง โดยเครื่องที่เกมที่เหล่าเกมเมอร์รู้จักกันดีอย่าง Megadrive หรือ Genesis ก็มีเกมที่ดีอยู่มากมาย และในยุคที่พวกเขาประมือกับ Sony และ Nintendo ในยุคสมัย Gen ที่ 5 ด้วยเครื่อง Sega Saturn ที่มีประสิทธิภาพสูง แต่กลับได้รับความนิยมเทียบกับทาง Playstation แบบไม่เห็นฝุ่น รวมไปถึงในยุคก่อนก็ยังคงเป็นรองทาง Nintendo มาโดยตลอด จนในยุคที่หกของเครื่องเกมคอนโซล Sega จึงเปิดตัวเครื่องเกมรุ่นใหม่ของพวกเขาก่อน โดยอัดแน่นไปด้วยเทคโลยีที่ล้ำหน้ามากมาย เป็นเครื่องที่มอบความฝันให้กับผู้เล่นอย่างแท้จริงในชื่อ Dreamcast นั้นเอง
เครื่อง Dreamcast วางจำหน่ายครั้งแรกในปี 1998 ที่ประเทศญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ ในปีถัดมา โดยทาง Sega ได้เริ่มพัฒนาโปรเจคนี้มาตั้งแต่ปี 1995 โดยการร่วมมือกับทาง Matsushitaม Lockheed Martin และ The 3DO Company ในการพัฒนาเครื่องชิปประมวลผลกราฟฟิกตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเก่า โดยในช่วงแรกถูกตั้งชื่อว่า “Saturn 2” และก็มีข่าวลือต่าง ๆ นาๆ เกี่ยวกับการพัฒนาโปรเจคนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่เพราะเนื่องจากยอดขายที่ย่ำแย่ของ Sega Saturn และตัวเครื่องเองก็ใช้ต้นทุนในการผลิตที่สูงมาก ทำให้ทาง Sega เลือกที่จะใช้งานบุคลากรในค่ายของตัวเองและเทคโนโลยีที่มีอยู่มาพัฒนาต่อ และหลังจากผ่านการพัฒนามามากมาย มีข่าวลือและชื่อที่ถูกเรียกมาหลายชื่อมาก ๆ เช่น Dural, Blackbelt, Whitbelt, Katana และอีกมากมาย แต่ก็มาเป็นชื่อ Dreamcast ในท้ายที่สุด โดยใช้คำว่า ‘Dream’ กับคำว่า ‘Broadcast’ มารวมกัน ซึ่งเครื่อง Dreamcast ที่วางจำหน่ายในโซนเอเชียกับอเมริกาจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยคือสัญลักษณ์ของตัวเครื่องที่เป็นรูปวงกลมขดตัว โดยของญี่ปุ่นจะเป็นสีส้ม ส่วนทางอเมริกาจะเป็นสีม่วง
ในช่วงแรกที่วางจำหน่ายมานั้นเครื่อง Dreamcast มีสเปคที่เรียกว่าเหนือล้ำกว่าคู่แข่งมาก ทั้งความเร็ว CPU หน่วยความจำ และอื่น ๆ แถมยังมี Modem แบบ 56K สำหรับเชื่อมต่ออินเตอร์เนตได้ด้วย จัดเป็นเครื่องคอนโซลเครื่องแรกของโลกที่สามารถทำได้ ซึ่งทำให้เกมออนไลน์อย่าง Phantasy Star Online ฉายแสงโดดเด่นขึ้นมาได้ ส่วนสื่อเก็บข้อมูลนั้นเป็นแผ่น GD-ROMที่บรรจุข้อมูลได้มากกว่าแผ่น CD-ROM ทั่วไป(แผ่น GD-ROM มีความจุที่ 1GB ส่วนแผน CD-ROM ธรรมดาในยุคนั้นอยู่ที่ประมาณ 500 – 600 MB เท่านั้น) ซึ่งทำให้หลาย ๆ ที่ลงให้กับเครื่อง Dreamcast มีกราฟฟิกและเนื้อหาที่มากกว่าเครื่องอื่น ๆ ที่ใช้สื่อ CD-ROM ด้วยกันอย่าง Playstation หรือ Sega Saturn จัดเป็นเครื่องเกมที่มีเกมที่กราฟฟิกสวยโดดเด่นขึ้นมากกว่าเครื่องอื่นอย่างเห็นได้ชัดทีเดียว
ส่วนที่เกมที่มาลงให้กับเครื่อง Dreamcast นั้นส่วนใหญ่จะมาจากระบบอาร์เคดเป็นส่วนมาก เช่นซีรีส์เกมต่อสู้ต่าง ๆ ของ Capcom อย่าง Marvel vs Capcom 2 ที่แฟนๆ ยกให้เป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด Power Stone เกมตะลุมบอนสุดหรรษาที่ได้รับความนิยมมากทั้งสองภาค หรือ Resident Evil: Code Veronica ภาคต่อของเกม Resident Evil ที่หลายคนอาจจะไม่เคยเห็น แต่ก็ถือเป็นภาคหลักอีกหนึ่งภาคที่มีเนื้อเรื่องต่อเนื่อง ส่วนค่ายอื่น ๆ นอกจาก Capcom ก็มีเกมของทาง Sega เองที่ยกมาจากเครื่องเกมตู้ได้อย่างสมบรูณ์ เช่น Crazy Taxi, The House of The Dead 2, Jet Set Radio และเกม RPG ชั้นยอดทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์เช่น Phantasy Star Online, Sky of Acadia และที่ขาดไม่ได้คือ Shenmue ทั้งสองภาค ที่ถึงแม้จะมาก่อนกาลไปหน่อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือเกม Open World แบบสามมิติเกมแรก ๆ ของโลกก่อนที่ GTA III จะปลุกกระแสนี้ขึ้นมาให้โด่งดังในภายหลัง
แต่ถึงแม้จะมีเกมที่สนุก ๆ ออกมามากมาย แต่เครื่อง Dreamcast ก็ไม่สามารถพาตัวเองไปถึงฝั่งฝันได้อย่างที่ต้องการ เพราะหลังจากวางจำหน่ายในช่วงปี 1999 ในตลาดอเมริกาเหนือและยุโรป ตัวเครื่องสามารถขายไปได้แค่เพียง 1.5 ล้านเครื่อง และตั้งเป้าว่าจะต้องขายได้ได้เกิน 5 ล้านเครื่องก่อนหมดปี 2000 แต่สุดท้าย Dreamcast ก็ขายไปได้เพียงแค่ 3 ล้านเครื่องเท่านั้นในตลาดอเมริกาและยุโรป แม้ที่ประเทศญี่ปุ่นในตอนนั้นจะมีการลดราคาของตัวเครื่องลงมาจาก 29,990 เยนลงมาเหลือ 19,990 เยนเพื่อรับการมาของเกม Soulcalibur ภาคแรก และก็ทำให้ส่วนแบ่งในตลาดกระเตื้องขึ้นมาถึง 17% แต่ก็ไม่เพียงพออยู่ดี และแน่นอนว่าค่ายคู่แข่งเองก็ไม่ได้อยู่นิ่ง ๆ ในปี 1999 Sony ได้เปิดเผยข้อมูลของเครื่องเกมรุ่นใหม่ในชื่อ Playstation 2 ที่มีประสิทธิภาพเหนือล้ำกว่าเครื่อง Dreamcast มาก และยังใช้สื่อบันทึกข้อมูลแบบใหม่อย่าง DVD-ROM ที่มีความจุเหนือกว่า GD-ROM แบบไม่เห็นฝุ่น แถมในยุคนั้นเครื่อง Playstation 2 ยังสามารถเล่นเกมจากเครื่อง Playstation 1 ได้อีก เรียกว่าเหนือกว่าทุกด้านจริง ๆ และแน่นอนว่าเมื่อมันวางจำหน่ายมา มันก็กลายเป็นเครื่องเกมคอนโซลที่ขายดีที่สุดตลอดกาล กับยอดขายที่สูงถึง 158 ล้านเครื่องตลอดอายุขัยของมัน ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่า Sega เทียบไม่ติดเลยแม้แต่น้อย
และจุดจบของเครื่อง Dreamcast ก็มาถึงในวันที่ 31 มีนาคม 2001 ทาง Sega ประกาศยุติการสนับสนุนเครื่อง Dreamcast อย่างเป็นทางการ พร้อมกับขอถอนตัวออกจากตลาดผู้ผลิตเครื่องเกมคอนโซลอย่างถาวร กลับไปเป็นผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายเกมเพียงอย่างเดียว โดยตลอดทั้งอายุไขของเครื่อง Dreamcast พวกเขาสามารถทำยอดขายไปได้ทั้งหมดทั่วโลกที่ 9.1 ล้านเครื่อง เป็นการปิดตำนานเจ้าเครื่องเกมแห่งความฝันนี้ลงไปอย่างน่าเศร้า
แต่ถึงแม้ Dreamcast จะเป็นเพียงแค่ความฝันไปแล้ว แต่ตำนานของค่ายเกมอย่าง Sega ก็ไม่ได้มอดดับตามไปด้วย เพราะถึงจะประสบกับปัญหาขาดทุนจนเกือบล้มละลายในปี 2003 แต่ด้วยการรวมบริษัทกับทาง Sammy เจ้าของกิจการเกมกอาร์เคดและตู้ปาจิงโกะทำให้พวกเขารอดพ้นวิกฤติในตอนนั้นมาได้ และในตอนนี้ก็ยังคงมีเกมใหม่จากพวกเขามาให้เราได้เล่นกันอย่างมากมายหลายระบบ แต่แม้เวลาจะผ่านไปนานมาก ผู้เขียนก็ยอมรับว่าเครื่อง Dreamcast เป็นเครื่องคอนโซลอีกเครื่องหนึ่งที่เคยสร้างความทรงจำดี ๆ ให้กับเกมเมอร์ทั่วโลกในช่วงต้นยุคปี 2000 มาแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือตัวผู้เขียนด้วยเช่นกันครับ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง – Sega Wiki