หากพูดถึงงานแข่งฟุตบอลของมวลมนุษยชาติหลายคนก็ต้องบอกว่าเป็นงาน FIFA World Cup หากพูดถึงงานแสดงรถยนต์หลายคนก็ต้องนึกถึงงาน Internation Motor show และหากเป็นงานเกมระดับโลกคงไม่มีงานไหนที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่างาน Electronic Entertainment Expo หรือ E3 อีกแล้ว
จุดเริ่มต้นของ E3
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว วงการเกมสามารถก้าวข้ามจากส่วนหนึ่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาเป็นอุตสาหกรรมแยกที่มีมูลค่ามหาศาล แต่ถึงกระนั้นงานเกมก็ต้องจัดคู่กับงานคอมพิวเตอร์อยู่ดีโดยในตอนนั้นผู้จัดจำหน่ายเกมนิยมนำเกมไปจัดแสดงในงาน Consumer Eletronics Show (CES) และ European Computer Trade Show แทน
จนกระทั่ง Interactive Digital Software Association หรือ IDSA (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Entertainment Software Association หรือ ESA ) องค์กรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกมของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ในตอนนั้นประเทศสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับปัญหาของความรุนแรงในวิดีโอเกม จึงทำให้บริษัทเกมต่าง ๆ ส่งตัวแทนมาร่วมกันเพื่อจัดการเรื่องนี้จนเป็นที่มาของการจัดเรตเกมด้วยเรต ESRB จนถึงทุกวันนี้
IDSA ไม่ได้หยุดแต่เพียงการจัดเรตเท่านั้น การที่พวกเขารวมตัวกันได้ทำให้พวกเขามีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นให้กับวงการเกมในประเทศ พวกเขาจึงพยายามที่จะสร้างงานโชว์ที่ทำให้เกมเป็นสื่อบันเทิงที่เป็นมิตรกับทุก ๆ คน ซึ่งในตอนแรกพวกเขาพยายามไปดีลกับงานต่าง ๆ ในสมัยนั้นอย่าง CES แต่ก็ไม่ได้รับผลตอบรับเท่าไหร่ ทำให้บริษัทต่าง ๆ ตัดสินใจจัดงานเองภายใต้การร่วมมือกับสื่อเกมที่โด่งดังในอเมริกาสมัยนั้นอย่าง GamePro
11 – 13 พฤษภาคม 1995 งานเกมที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติได้เริ่มขึ้นภายใต้ชื่อ Electronic Entertainment Expo 1995 ณ Los Angeles Convention Center
จากงานเกมเพื่อเกมเมอร์มะกันสู่งานเกมเพื่อเกมเมอร์ทั่วโลก
Electronic Entertainment Expo 1995 ประสบความสำเร็จ Los Angeles Convention Center อย่างงดงาม โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 40,000 คน ซึ่งทางทีมงานก็ได้จัดงานอย่างต่อเนื่องตลอดมาโดยในปี 1996 ตัวงานมีผู้เข้าชมมากถึง 57,795 คน ทางผู้จัดรู้ตัวว่านี่ไม่ใช่งานเกมสำหรับเกมเมอร์ชาวอเมริกาแล้ว แต่ว่ามันคืองานเกมระดับโลกที่ใคร ๆ ก็อยากที่จะเข้าร่วม
ถึงกระนั้นงาน E3 ก็มีสะดุดบ้างเนื่องจากการที่พวกเขาเป็นงานใหญ่ทำให้ค่าเช่าบูธเพื่อแสดงเกมนั้นมีราคาสูงมาก โดยราคาในการจัดโชว์บนเวทีนั้นมีราคามากถึง 5-10 ล้านเหรียญเลยทีเดียว อีกทั้งบรรดาเหล่า Publisher ต่าง ๆ ก็ขู่ว่าจะถอนตัวออกจากงานนี้ ทำให้พวกเขาตัดสินใจลดขนาดของงานลงและเปลี่ยนชื่อเป็น Media and Business Summit พร้อมทั้งจำกัดผู้เข้าร่วมงานให้เหลือเพียง 10,000 คนเท่านั้น
แน่นอนว่าเมื่อจัดงานลดลงอย่างนี้เพื่อประหยัดงบกลายเป็นว่าทาง ESA ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อลดขนาดของงานลง Publisher ยิ่งไม่อยากซื้อบูธแสดงเกมไปใหญ่ อีกทั้งในปี 2008 พวกเขายิ่งลงขนาดงานลงไปอีกให้จำกัดคนเข้างานเพียง 5,000 คนเท่านั้นทำให้เกมเมอร์เดือดและอีกทั้งเจ้าใหญ่ ๆ ยังมองว่าจัดงานของตัวเองดีกว่า
โดนบีบคอขนาดนี้ พอปี 2009 E3 เลยตัดสินใจทำตามเสียงเรียกร้อง พวกเขาปรับคืนให้งาน E3 มีขนาดใหญ่ขึ้นอีกครั้ง แต่ยังคงจำกัดผู้เข้าร่วมงานอยู่ที่ 45,000 คน และไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าร่วมงานเช่นเดิม
งาน E3 เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี 2013 เมื่อค่ายเกมยักษ์ใหญ่หลายค่าย เช่น EA และ Nintendo ตัดสินใจถอนตัวออกจากงาน E3 เพื่อไปจัดงานของตนเอง
ทางฝั่งผู้จัดงานเองก็ไม่ได้นิ่งเฉยต่อปัญหาต่างๆ รวมถึงปัญหาการกีดกันให้เฉพาะสื่อในวงการเกมเข้าร่วมซึ่งคาราคาซังมาอย่างยาวนาน และในภายหลังหลังรูปแบบการโฆษณาเกมเริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยทำการตลาดกลายเป็นการสร้างกระแสแบบปากต่อปาก พวกเขาจึงพยายามที่จะเปิดงาน E3 ให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานได้มาโดยตลอด และในปี 2015 นี่จึงเป็นปีแรกที่เริ่มต้นแจกบัตรเข้าร่วมงาน 5000 ใบ กระจายไปยังเหล่าร้านค้าปลีกเพื่อแจกให้ผู้โชคดี
สุดท้ายแล้วค่ายเกมต่าง ๆ ก็กลับมาเปิดบูธในงานอีกครั้ง ยอดผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี โดยในปี 2017 เป็นต้นมางาน E3 มีผู้เข้าชมไม่ต่ำกว่า 60,000 คน ยังไม่นับผู้ชมออนไลน์ทางบ้านอีกหลายหมื่นคนจากทั่วทุกมุมโลก จนมีเกมเมอร์หลายคนกล่าวว่า ” E3 คืองานเกมสำหรับเกมเมอร์ทั่วโลกที่แท้จริง ”
ความท้าทายและอนาคตของงาน E3
E3 แม้จะมีแนวโน้มที่เกมเมอร์จะให้ความสนใจมากขึ้นทุกปี แต่ว่าตัวงานกับเจอกับความท้าทายใหม่จากเหล่าบริษัทที่ร่วมกันก่อตั้งงานนี้ เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ มองว่าหากเกมของพวกเขามีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นแล้วพวกเขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องจัดงานในเวที E3 หรือปล่อยของเต็มที่ในงานนี้ก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีตัวอย่างให้เราเห็นหลายครั้ง
- E3 ปี 2013 : Nintendo ใช้ Video ในการนำเสนอแทนการส่งตัวแทนออกมาพูดเหมือนกับค่ายอื่น ๆ (ไม่ Press Conference)
- E3 ปี 2015 : Bethesda Softworks เริ่มจัดงานของตัวเองบ้างในชื่อ Bethesda PAX แต่ยังเข้าร่วมงาน E3 อยู่
- E3 ปี 2016 : EA จัดงานของตัวเองในชื่อ EA Play
- E3 ปี 2019 : Sony ถอนตัวออกจากงานนี้ (ครั้งแรกในรอบ 24 ปี)
ทำให้เรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญที่ทาง ESA ต้องนำไปพิจารณาไม่เช่นนั้นอนาคตอาจจะมีค่ายเกมถอนตัวเรื่อย ๆ ไม่ก็ลดขนาดบูธของตัวเองลงอย่างแน่นอน
สรุป
E3 ถือเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมเกมที่ได้เติบโตและก้าวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของโลกใบนี้ สำหรับเกมเมอร์ทุกท่านแล้วงานนี้ถือว่าคุ้มค่ามากสำหรับการอดหลับอดนอนเพียง 3 วันต่อหนึ่งปี