เมื่อการจ่ายเพื่อเล่นก่อน ไม่ได้รับรองว่าคุณจะนอนใจกับปลายทาง…
ช่วงนี้ผู้เขียนมีความรู้สึกกับการเปิดหน้า Steam เป็นพิเศษ… ไม่ใช่เพราะว่าเบื่อหน่ายไม่มีเกมจะเล่น (สามร้อยกว่าชิ้นงานที่นั่งคาอยู่ใน Library ยังคงรอคอยการกด Install อย่างใจจดใจจ่อ) แต่เพราะระบบการคัดสรรชิ้นงานตาม Preferences ที่บันทึกเอาไว้ ได้ ‘พ่น’ เอาเกมอะไรก็ไม่รู้ออกมาจนเกมที่น่าสนใจแทบจะถูกกลืนหายไปกับกระแสธารของตลาดดิจิตอลอายุอานามสิบสามปีแห่งนี้
และดูเหมือนว่าจุดร่วมที่พบได้กว่า 90% นั้น… จะมาพร้อมกับ Tag ที่ชื่อ ‘Early Access’
มันดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดสำหรับยุคสมัยปัจจุบัน ที่เกมในระยะยังไม่ฟักไข่ หรืออยู่ในช่วง ‘Alpha State’ ที่เป็นโครงร่าง จะมาปรากฏในชั้นวางขาย ด้วยคำสัญญาโฆษณาถึงคุณสมบัติในภายภาคหน้าเมื่อเกมนั้นพัฒนาจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ พร้อมระยะเวลาโดยประมาณการ (Estimated Times) ที่ผลงานชิ้นนั้นๆ จะเติบโตไปสู่เกมฮิตชิ้นใหม่ อาจจะสี่ถึงห้าเดือน หรือหนึ่งถึงสองปี
แต่ตอนนี้…โปรดจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนทั้งค่าทำงานและการกินอยู่ของพวกเราด้วย…
ในทางทฤษฎีแล้ว หลักการของ Early Access นั้นไม่ได้มีอะไรที่ผิดหรือแปลกประหลาด มันคือการที่ผู้พัฒนาทำการ Pitch โปรเจ็กต์และนำเสนอถึงความเป็นไปได้ และผู้เล่นดำรงตนในฐานะ ‘ผู้ออกทุน’ ที่จะช่วยผลักดันเกมชิ้นนั้นๆ ให้ไปสู่ปลายทาง มีการตรวจสอบในทุกระยะ ตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงวันที่โปรเจ็กต์ได้สำเร็จลุล่วง
แต่ในทางปฏิบัติ…ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในรอบห้าปีหลังการเติบโตของ Early Access อาจจะห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่าอุดมคติไว้อยู่หลายช่วงตัว (และผู้เขียนมีความเสียใจที่จะบอกว่า มันอาจจะห่างไกลจากหลักธุรกิจที่พึงปฏิบัติเลยด้วยซ้ำ)
จ่ายเพื่อซื้ออนาคต… ในวันนี้
อันที่จริงแล้วในทุกการซื้อขาย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการ เราอาจจะสรุปได้ว่ามันเป็นการจ่ายเงินเพื่อซื้อ ‘อนาคต’ ไม่ว่าจะเป็นอนาคตในอีกไม่กี่วินาทีข้างหน้า (ลาเต้มัคคิอาโต้แกรนเด้โนแคฟโนวิปได้แล้วค่ะ…) หรืออนาคตในอีกหลายสิบปี (จ่ายเงินสมทบเท่านี้ต่อเดือน ได้รับคืนสูงสุดพร้อมดอกเบี้ยในอีก 100 ปีข้างหน้า…)
หลักการของ Early Access ก็ไม่ต่างกัน หากแต่สิ่งที่ทำให้ระบบการพัฒนาเกมดังกล่าวสามารถเติบโตขึ้นมาได้จากการมาถึงของมันในปี 2013 นั้น กล่าวคือ มันคือการจับมือร่วมกันของผู้พัฒนาและผู้เล่น (ที่ลงขันเงิน) ให้ทำงานร่วมกัน ผู้พัฒนาสามารถได้รับเงินเพื่อต่อยอดการทำงานของตนเอง รวมถึง Feedback ที่ได้รับจากผู้เล่นที่ทดลองตัวเกมในระยะต่างๆ ทำให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เล่น แก้ไข และเพิ่มเติมได้อย่างถูกจุด
แน่นอนว่าระบบ Early Access จะกลายเป็นเทรนด์ใหม่มาแรงในช่วงเริ่มต้น จากความฝืดเคืองของอุตสาหกรรมวิดีโอเกม ที่ชิ้นงานระดับ AAA ของบริษัทยักษ์ใหญ่นั้นสร้างความผิดหวังให้กับผู้เล่นอย่างไม่รู้จบ การระดมทุนผ่านเว็บไซท์ Crowdfunding อย่าง Kickstarter, Indiegogo หรือแม้แต่ Steam Early Access กลายเป็นทางเลือกที่ผู้เล่นจะหันเข้าหา เพราะอย่างน้อยที่สุด การจ่ายเพื่อ ‘ซื้ออนาคต’ ในครั้งนี้ ยังพอมีช่องว่างให้พวกเขา/เธอ ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวน และผูกพันธะสัญญาว่า อย่างน้อยที่สุด เกมที่ผู้พัฒนานำมาเสนอระดมทุน ก็ต้องทำให้ ‘เสร็จ’ เป็นขั้นต่ำ ด้วยระยะเวลาประมาณการที่ประกาศไว้
เทรนด์ของ Early Access นั้น ถูกถือว่าเป็นหนึ่งในห้ากระแสเปลี่ยนแปลงแวดวงวิดีโอเกมในบทวิเคราะห์ของ Gamasutra เว็บไซต์รวบรวมข่าวสารและบทวิเคราะห์อุตสาหกรรมวิดีโอเกม ว่าจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงทิศทางของการพัฒนาในยุคสมัยหน้าที่กำลังจะมาถึง
แต่เช่นเดียวกับทุกการทำนายอนาคตที่เราไม่สามารถหาความแม่นยำและแน่นอนได้เต็มร้อย วิถีทางแห่ง Early Access เองก็นำแวดวงไปสู่อนาคตที่เปลี่ยนไปสมดังว่า
แต่เป็นปลายทางที่ไม่สู้จะสวยงามเท่าใดนัก…
เมื่อผ้าป่าคว่ำ กับปลายทางที่ไม่อาจมาถึง
ในปัจจุบัน ประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่ขึ้นชื่อเรื่องสวัสดิการการศึกษาฟรีสำหรับผู้อยู่ในวัยเรียนและระดับอุดมศึกษา กำลังประสบปัญหาร้ายแรงของเหล่า ‘นักเรียนนิรันดร์ (Eternal Student)’ ที่ไม่ยอมลงวิชาให้หน่วยกิตให้มันครบๆ แล้วรีบจบไปใช้ชีวิต แต่ดึงเช็งสถานะการศึกษาของตนเองอย่างไม่มีกำหนด เป็นภาระของผู้เสียภาษีและหน่วยงานภาครัฐที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้
ที่ผู้เขียนยกตัวอย่างของเหล่านักศึกษาเฒ่าสายเลือดไวกิ้งขึ้นมานั้น เพราะสถานการณ์ของ Early Access ในปัจจุบันเองก็แทบจะไม่แตกต่างกัน ผลสำรวจจาก EEDAR หน่วยงานสถิติอุตสาหกรรมวิดีโอเกมพบว่า แม้ความนิยมของกระแส ‘จ่ายก่อนเล่นก่อน’ นั้นจะพุ่งสูงในปี 2013 แต่ตัวเลขของชิ้นงานที่ ‘รอดตาย’ จากรถผ้าป่าคว่ำไปจนถึงปลายทางนั้น มีอยู่เพียง 25% ของจำนวนเกมที่เข้าสู่ระบบระดมทุนทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะถดถอยลงไปเรื่อยๆ
ว่ากันง่ายๆ ทุก 4 เกม Early Access ที่คุณตัดสินใจซื้อ มีโอกาส 1 ใน 4 ที่คุณจะเสียเงินไปเปล่าๆ…
บางทีเราอาจจะไม่ต้องใช้การสำรวจทางสถิติหรือ Big Data ใดๆ เพราะแค่คุณเปิดหน้าจอ Steam ในตอนนี้ คุณก็จะเข้าใจว่าทำไมผู้เขียนถึงรู้สึกเซ็งเกวกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเกือบทุกชิ้นงานที่เป็น Early Access นั้น แทบไม่มีราศีหรือแนวโน้มว่ามันจะสามารถอดทนไปถึงปลายทางได้สักกี่มากน้อย รวมถึงกรณีอื้อฉาวของเกมสาย Early Access อีกนับไม่ถ้วนที่พับโครงการ ปิดบ้านหนี ตีหัวเข้าเมือง และสลายตัวไปกับสายลม (เช่น ผลาญเงินทุนจนหมด, เทงานทิ้งไม่ดูดำดูดี, ผลลัพธ์ที่ไม่ออกมาตามที่สัญญาไว้)
และถ้าการจ่ายเงินนี้ไม่อาจสร้างเชื่อมั่นได้ ทาง Valve ผู้ให้บริการ Steam ก็ยังมีข้อความปะท้ายเอาไว้เป็นยันต์กันผีว่า
‘Steam จะทำการ Refund เงินเต็มจำนวนภายใต้เงื่อนไขเวลา แต่ไม่รวมถึงเกมที่เป็น Early Access…’
ผู้เขียนเข้าใจว่าทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง (โปรดพิจารณาเงื่อนไข ผลตอบแทน และผลประกอบการก่อนการลงทุนทุกครั้ง…) แต่ความเสี่ยงเยี่ยงซื้อหวยทุกวันที่สิบห้าระดับ ¼ และการที่ร้านขายไม่ขยายการรับผิดชอบให้แก่ผู้ซื้อ ก็ไม่ได้ช่วยให้แง่มุมของ Early Access นั้นดูดีในฐานะ ‘นิมิตหมายใหม่’ แห่งแวดวงเลยแม้แต่น้อย
เดินหน้าสู่อนาคตด้วยความระวัง (อีกสักนิด)
ดังที่กล่าวไปในหัวข้อข้างต้น การลงทุนมีความเสี่ยง บางทีเราอาจจะต้องมองและปรับการเข้าหา Early Access (และ/หรือ แผนธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน) ด้วยความระวังมากขึ้น อาจจะต้องรอบคอบต่อเงื่อนไข อ่าน Roadmap แผนการพัฒนา มีส่วนร่วมในกระดานข่าว และเป็นปากเสียงร่วมกับกลุ่ม Community เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวังต่อชิ้นงานมากขึ้น
แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย และทิศทางของ Early Access ‘สายคว่ำ’ ก็ยังคงมีอยู่เกลื่อนกลาดไม่ขาดสาย แต่อย่างน้อยที่สุด ร้านขายสายดิจิตอลหลายแห่ง ก็มีกระบวนการการคัดสรรที่เข้มข้น และทีมพัฒนาที่จริงจังกับชิ้นงานจนไปได้สวยกับโมเดลธุรกิจดังกล่าวก็มีให้เห็นไม่น้อย (เช่น Endless Space ทั้งสองภาค, Subnautica และ A Hat in Time)
เราหลีกเลี่ยงความคิดและการกระทำที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของผู้พัฒนาสายรวยทางอ้อม กะระดมทุนครั้งเดียวแล้ว Exit ตัวเองไปนอนอาบแดดไม่ได้ (อันที่จริง มันก็ไปสรุปแบบนั้นเลยก็ไม่สู้จะถูก…) แต่เราสามารถสนับสนุนโปรเจ็กต์ที่ดีมีคุณค่า ให้สามารถเติบโต และก้าวไปพร้อมกับผู้เล่น ผ่านรูปแบบโมเดลธุรกิจที่ยืดหยุ่นของยุคสมัยได้ ขอเพียงใส่ใจในรายละเอียดสักนิด
การลงทุนมีความเสี่ยง… ผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ ก็ยิ่งเสี่ยง…
แต่มันจะดีแค่ไหน ถ้าเราสามารถลงทุนกับชิ้นงานที่ใช่ เฝ้าดูการเติบโตต่อยอดไปจนถึงปลายทาง…
“ที่เมื่อเวลาปันผลมาถึง มันคือความสนุกสนานคุ้มค่า และยืดอกอย่างภูมิใจว่า ครั้งหนึ่ง เราเคยเป็น ‘ท่อน้ำเลี้ยง’ ให้กับทีมคุณภาพให้ก้าวไปอย่างมั่นคง หรือไม่จริง?”