หลายคนที่ซื้อเกมเล่นเป็นประจำ ย่อมต้องเคยเห็นคำตัวใหญ่ ๆ หน้าร้านค้าว่าเกมนี้คือ ‘Early Access’ หรือภาษาไทยคือ ‘เกมเล่นระหว่างการพัฒนา’ ซึ่งถือว่ารูปแบบการขายเกมแบบใหม่ที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีมานี้ และเชื่อว่าคนเป็นเกมเมอร์หลายคน ย่อมต้องเคยเสียเงินลองเล่นเกมระหว่างการพัฒนานี้มาเล่นกันบ้าง แต่จริง ๆ แล้ว ต่างประเทศและสื่อวงการเกมหลายสื่อมองว่า รูปแบบการตลาดแบบนี้ ถือเป็นดาบสองคม และน่าเป็นห่วงในอนาคตมากกว่า และเพราะเหตุใดมันถึงถูกมองในแง่นั้น วันนี้เรามาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้
อะไรคือ Early Access
ตามคำตรง ๆ คือ Early Access นั้น เป็นเกมที่ยังทำไม่เสร็จ แต่ถ้าจะบอกว่าเอามาขายก่อนเพื่อนำเงินไปใช้ ก็จะดูรุนแรงไปหน่อย ดังนั้นความหมายที่ถูกต้องและสุภาพของมันก็คือ การนำเอาเกมที่ยังทำไม่เสร็จมาวางจำหน่ายให้ได้ซื้อไปเล่นกันก่อน ให้ได้เห็นคอนเทนต์ และภาพรวมของเกม และนำรายได้จากการขายไปอัปเดตแพทช์ ต่อยอด หรือพัฒนากันต่อ จนออกมาเป็นเกมเต็มได้ในที่สุด
ในมุมมองผู้พัฒนานี่คือช่องทางการหาเงินด้วยแน่นอน แต่กับผู้เล่นบางคนมองว่ามันคือการกอบโกยเงินแบบไม่ไว้หน้าคนเล่นสักเท่าไร ซึ่งส่วนนี้ก็ต้องดูกันที่ตัวเกมที่วางจำหน่ายกันก่อนด้วยว่ามันเป็นยังไงกันแน่ มีสภาพดี-ห่วยขนาดไหน แต่ถึงอย่างไร คนจ่ายเงินซื้อต้องไม่ลืมพาดหัวตัวโต ๆ ที่เขาชี้แจงไว้แต่แรกแล้วว่านี่คือ “เกมที่ยังทำไม่เสร็จ”
รูปแบบของเกม Early Access
ในอดีตก่อนหน้านี้ ผู้พัฒนาพยายามจะเก็บงำข้อมูลของเกมทั้งหมด ไม่ให้ใครรับรู้ข้อมูลอย่างเด็ดขาด ผิดกับยุคสมัยนี้ที่เรามักจะเห็นข้อมูลรั่ว หลุด ออกมาตลอด และ Early Access ก็คือการนำผลงานออกมานำเสนอแฟนเกมและสื่อก่อนที่มันจะเสร็จสิ้นจริง ๆ หลากหลายเกมก็อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาโค้งสุดท้าย แต่บางเกมก็ดูห่างไกลจากคำว่าพัฒนาเสร็จสิ้นเหลือเกิน ทำให้แฟนเกมหลายคนยับยั้งชั่งใจในการกดเกมที่พาดหัวไว้ว่า Early Access เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเกมจะเสร็จสิ้นตอนไหน หรือจะโดนลอยแพหรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการปล่อยเกมในรูปแบบ Early Access ก็มี หากผู้พัฒนามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่มากพอ เพราะสามารถเก็บฟีดแบคโดยตรงจากผู้เล่น ได้เงินจากการที่ผู้เล่นกดซื้อ และนำไปต่อยอดพัฒนาเกมให้เสร็จสิ้นตามแผนได้ แต่นี่ถือเป็นอีกหนึ่งการวัดใจของคนจ่ายเงินซื้อเลยว่า เราจะได้เล่นเกมเต็มตอนไหนกันแน่
ในยุคปี 2020 นี้ ก็มีหลายเกมที่เปิดตัวมาในรูปแบบ Early Access หลายเกม แต่ในยุคนี้ จะใช้เวลาในการพัฒนานานสุด 6 เดือน – 1 ปี แล้วจึงออกเป็นเกมเต็ม ในขณะที่บางเกมก็ใช้เวลานานมากกว่า 3-4 ปีกันเลยทีเดียวถึงจะออกเป็นเกมเต็ม
ความสำเร็จของเกม Early Access
จะบอกว่าเพราะความสำเร็จของเกมนี้ก็ว่าได้ ถึงทำให้เกมหลากหลายเกม ทยอยเปิดตัวในรูปแบบของ Early Access เกมที่ประสบความสำเร็จที่ว่านั้น คือ Minecraft ของผู้พัฒนา Markus Persson
Minecraft เปิดตัวโดยยังไม่ใช่ตัวเกมเต็ม และเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ที่ไม่มากนัก แต่เขาก็เปิดให้คนซื้อเกมและเข้ามาเล่น แต่มันกลับได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จน Markus Persson ลาออกจากงานประจำ และมามุ่งเน้นพัฒนาเกมแทน เพราะเขาได้รับเงินจำนวนมาก มากพอที่จะย้ายมาโฟกัสการพัฒนาเกมอย่างเดียวได้ ในเวลาเพียง 5 ปี Minecraft ก็ได้สร้างสตูดิโอและทีมงานของตัวเอง และทำยอดขายไปได้กว่า 8 ล้านชุด
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เกม Early Access ทุกเกมที่จะสามารถทำได้อย่างที่ Minecraft ทำ เราได้เห็นเกมหลากหลายเกมที่ปะหน้าด้วยคำว่า Early Access นำเสนอ Trailer เกมที่ดูดี จนกลายเป็นกระแสให้หลายคนหันมาสนใจ แต่พอเกมออกมาจริง กลับออกมาแย่กว่าที่คิด รวมไปถึงห่างไกลจาก Trailer มาก ยกตัวอย่างเช่น Atlas เกมผจญภัยในโลกโจรสลัด Open World ที่เปิดตัวเมื่อปลายปี 2018 และแป้กอย่างแรง หรือถ้าจะเอาตำนานที่คนไทยไม่เคยลืมที่ทุกวันนี้หลายคนก็ยังคงสาปแช่งอยู่นั่นคือ Dead Sea…
และเพราะมีผู้พัฒนาแบบนี้ การตลาดในรูปแบบ Early Access เลยเป็นการตลาดแบบดาบสองคม วัดใจกันทั้งคนซื้อและคนพัฒนา คนซื้อเองก็ต้องเตรียมใจที่จะเจอกับความบกพร่องของตัวเกมแบบแน่นอน เพราะถือเป็นกฎเหล็กของการเล่นเกมระหว่างการพัฒนาอยู่แล้ว ส่วนคนพัฒนาเองก็ต้องมั่นใจว่าการรับเงินจากการขายล่วงหน้ามา จะนำมาพัฒนาเกมต่อให้เสร็จ เพราะถ้าลอยแพ หรือเทเกมทิ้งระหว่างทาง รับรองว่าอนาคตไม่สดใส เครดิตพังทลายแน่นอน
การตลาดแบบ Early Access ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้เล่นบางส่วน
หลายคนอาจไม่ทราบ แต่จากคำอ้างอิงของเว็บ The Conversation นั้น พบว่าผู้เล่นหลายคนและตลาดจำนวนมากไม่ได้ชื่นชอบการตลาดแบบ Early Access สักเท่าไรนัก หลายคนมองว่ามันคือการใช้ประโยชน์จากผู้เล่นที่เจตนาดี หรืออีกนัยหนึ่งคือ อยากสนับสนุนเกมนี้ ด้วยการสนับสนุนจ่ายเงิน และนำไปพัฒนาต่อให้เกมเสร็จสิ้นเป็นเกมเต็ม แต่ก็มีหลายค่ายเกมที่ทำให้แฟนเกมผิดหวังจนสาปแช่งกันอย่างรุนแรง
อย่าง Infestation หรือ War Z ที่โด่งดังมาก ๆ ในบ้านเรา ก็ถูกวิจารณ์ว่าคุณภาพโดยรวมไม่ดีสมราคา / Earth: Year 2066 ที่หนักถึงขั้นต้องถูกถอดออกจาก Steam เพราะคุณภาพเกมไม่สมกับที่โฆษณาไว้จนถูกกล่าวหาว่าหลอกลวงผู้บริโภค
แน่นอนว่าพอมีปัญหาแบบนี้ อนาคตค่ายเกมต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายในการทำเกมอย่างจริงจังก็อาจจะเริ่มต้นได้ยากขึ้น เพราะถูกเหล่าผู้เล่นไม่ไว้ใจในคำว่า Early Access อีกต่อไป จนอาจจะทำให้เราไม่ได้เห็นเกมดี ๆ ออกมา เพราะทุนไม่พอ แต่จะทำอย่างไรได้ ในเบื่อคำว่า Early Access ในยุคนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องวัดใจกันจริงจังมาก อย่างในเดือนนี้ ก็กำลังจะมี Second Extinction เกมยิงไดโนเสาร์กลายพันธุ์ออกมาให้เราได้ลองกัน
ได้แต่หวังว่าทั้งทางผู้พัฒนาและผู้เล่นจะหาจุดลงตัวกันได้ เราจะได้เห็นเกมดี ๆ เปิดตัวออกมามากกว่านี้ รวมทั้งมีคุณภาพกันด้วย เหล่าผู้พัฒนาจะได้สร้างสรรค์เกมของตัวเองออกมาให้ดีที่สุด และเกมเมอร์เองก็จะได้เล่นเกมระดับคุณภาพดี ๆ ด้วยเช่นกัน