BY Aisoon Srikum
19 Aug 19 3:47 pm

Far Cry เกมแอ็คชั่นผจญภัยที่เต็มไปด้วยความแตกต่างในทุกภาค

159 Views

FAR CRY เหล่าเกมเมอร์ยุคนี้ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เพราะชื่อเสียงที่ Far Cry 3 ได้สร้างเอาไว้ ทั้งเกมเพลย์ เนื้อเรื่อง ตัวร้ายของเกมที่ยอดเยี่ยม Far Cry กลายเป็นหนึ่งในซีรีส์ที่นักเล่นเกมแนว Action Open-World น่าจะต้องนึกถึงเป็นชื่อแรก ๆ และ Far Cry 3 ก็ยังคงเป็นตำนานที่แม้ภาคใหม่ ๆ จะออกมา แฟน ๆ ก็ยังยกให้ภาค 3 เป็นหนึ่งในดวงใจเสมอมา วันนี้เรามาระลึกความหลัง ดู Far Cry กันว่าในแต่ละภาคนั้น มีจุดเด่นและความสนุกของมันอยู่ที่ตรงไหนกันบ้าง

Far Cry (2004) จุดเริ่มต้นของซีรีส์

Far Cry เปิดตัวภาคแรกในปี 2004 ที่ทุกวันนี้ยังคงหาเล่นได้บน Steam แต่ด้วยความที่อายุเกมมันมากกว่า 15 ปีแล้ว ใครที่ไปลองเล่นแล้วไม่สนุก ไม่อินไปกับตัวเกมก็จะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะตัวเกมมันมีความเป็นเกมยุคเก่าสูงมาก ไม่มีระบบฟื้นพลังชีวิต และเกมเพลย์การเล่นที่ดิบพอสมควร สิ่งที่เป็นจุดเด่นของ Far Cry ภาคแรก คือความเป็นเกมโลกเปิดของมัน ซึ่งในยุคปีนั้นยังถือว่าน้อยมาก ๆ ที่จะมีคนทำเกมแบบโลกเปิดแบบนี้ และ Far Cry ก็ทำออกมาได้ดี ถึงแม้จะไม่ได้ดีมากถึงที่สุด แต่นี่ก็คือจุดเริ่มต้นของแฟรนไชส์ Far Cry ที่เริ่มต้นได้สวย ผู้เขียนเองเคยมีโอกาสสัมผัสภาคนี้อยู่บ้าง ต้องย้ำอีกครั้งว่าความเก่าของมันอาจจะไม่ถูกใจเกมเมอร์รุ่นปัจจุบันเสียเท่าไร มันจะสนุก หรือไม่สนุก ผู้เล่นแต่ละคนต้องลองไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง

Far Cry 2 (2008) เอาใจสายฮาร์ดคอร์

4 ปีหลังจากการเปิดตัว Far Cry ภาคแรก Far Cry 2 ก็เปิดตัวมา พร้อมกับเส้นเรื่องที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับภาคแรกเลยสักนิด ภาคนี้ตัวเกมพาเรามายังพื้นที่เขตสงครามของโซนแอฟริกา บรรยากาศอันแห้งแล้ง เหมือนป่าเขตร้อน แถมตัวละครเอกของเราที่ติดเชื้อมาลาเรีย ทำให้เราทั้งต้องต่อสู้กับศัตรูและเอาตัวรอดไปพร้อม ๆ กัน

Far Cry 2 นะเสนอความดิบเถื่อน ค่อนไปทางความฮาร์ดคอร์อยู่เป็นส่วนมาก ระบบปืนขัดลำกล้อง การยกแผนที่ขึ้นมาดูสด ๆ น่าจะถูกใจแฟนเกมเป็นจำนวนมาก ภาคนี้เป็นอีกภาคที่คู่ควรแก่การลองหามาเล่นสักครั้ง แม้อายุเกมจะเกินสิบปีแล้ว ในส่วนของกราฟิกอาจจะไม่ใช่ที่สุด แต่ระบบเกมเพลย์การเล่น หากใครที่ชื่นชอบความท้าทาย ความดิบ ตรงนี้ Far Cry 2 จะตอบโจทย์คุณได้แน่นอน

Far Cry 3 (2012) โด่งดังไปทั่วโลก เพราะตัวร้ายที่น่าจดจำ

เชื่อว่าเกมเมอร์ทุกคนรู้จักชื่อ Far Cry ขึ้นมาก็เพราะภาคนี้แน่นอน และต้องบอกว่า Far Cry 3 นี่แหละ ที่ทำให้ผู้เขียนหันมารู้จักสิ่งที่เรียกว่า “เกมแท้” บน Steam สำหรับ Far Cry 3 สิ่งที่น่าจดจำ ไม่ใช่เนื้อเรื่อง ไม่ใช่พระเอก แต่กลับเป็นตัวร้ายที่ชื่อ Vaas ที่รับบทโดย Michael Mando นั่นเอง นอกจากจะโดดเด่นบนปกเกมแล้ว ทั้งการกระทำ ความจิตของมันถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ Far Cry 3 กลายเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก

ส่วนแฟน ๆ ชาวไทยก็อาจจะอินกับภูมิประเทศก็ภาคนี้ เพราะบรรยากาศมันช่างเหมือนกับหมู่เกาะทางใต้ของประเทศไทยเรามาก ๆ ทั้งที่พักอาศัย เหล่าสัตว์ต่าง ๆ รวมไปถึงฉากในเกมบางฉากยังมีภาษาไทยปนเข้าไปด้วย (ฉากเดียวเท่านั้น) บวกกับเกมเพลย์ที่เข้าถึงได้ง่ายมาก ไม่ยากจนเล่นแล้วเบื่อ แต่ก็ไม่ง่ายเกินไปจนเกมไม่สนุก ดังนั้นหากไม่ซีเรียสกับการต้องเล่นเกมแบบเก็บให้ครบทุกภาค Far Cry 3 เป็นภาคที่ผู้เขียนแนะนำให้ลองหามาเล่นที่สุดแล้วครับ แล้วคุณอาจจะรักซีรีส์ Far Cry ขึ้นมาเลยก็ได้

Far Cry 4 (2014) การสานต่อที่เร็วเกินไป

ดูเหมือนว่า Ubisoft จะรีบไปหน่อยกับการเข็นภาคต่อนี้ออกมา เพราะแม้ฉากหลังของเกมจะเป็นโลกที่เซ็ทขึ้นมาอย่างประเทศ Kyrat แต่นอกจากฉากหลังของเกมแล้ว เกมเพลย์ต่าง ๆ ล้วนเหมือนภาค 3 เกือบทั้งหมด มีเพียงบางอย่าง บางระบบเท่านั้นที่นำเอาระบบของภาค 3 มาต่อยอดให้เจ๋งขึ้น และที่สำคัญคือภาคนี้ ระบบการ Takedown เป็นอะไรที่โคตรเท่เอามาก ๆ

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ฉากหลังของเกมก็มีผลที่ทำให้เราอยากเล่นอยู่แล้ว แม้จะเกมเพลย์หลัก ๆ จะเหมือนเดิม แต่การเปลี่ยนสถานที่ที่เราได้ไปลุย ก็ทำให้เราติดพันกับเกมนี้ได้ไม่ยาก ภาคนี้ Ubisoft เขาก็ทำ Kyrat ออกมาได้สวยงามมากเสียด้วย แถมยังมีสัตว์ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาอย่างช้างให้ไปขี่และไล่กระทืบพวกศัตรูอย่างเมามันส์ Far Cry 4 อาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มากนัก แต่สำหรับแฟนพันธุ์แท้ ภาคนี้ก็ไม่ใช่ที่เลวร้ายอะไรนักครับ

ส่วนตัวร้ายของภาคอย่าง Pegan Min ที่ถึงแม้จะดูดีมีเสน่ห์ แต่ก็ไม่เท่ากับ Vaas ซ้ำร้ายนั้นตัวเกมในภาคนี้ เมื่อเราเล่นจนจบเกมแล้ว เรากลับไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นตัวร้ายกันแน่ ใครที่เล่นมาแล้วจะรู้ว่า ฉากจบแบบพิเศษในช่วงต้นเกมนั้นแหละ เป็นวิธีจบเกมที่ดีที่สุดแล้วด้วยซ้ำ

Far Cry 5 (2018) เยือนดินแดนอเมริกา

ในภาคที่ 5 อาจไม่ใช่ภาคที่เปลี่ยนแปลงไปมากแบบก้าวกระโดดเช่นกัน แต่สิ่งที่ทำให้มันน่าสนใจ คือตัวเกมกลับมาดำเนินเรื่องบนแผ่นดินอเมริกาแล้ว หลังจาก 4 ภาคแรก แทบไม่มีการเดินเรื่องในประเทศอเมริกาเลย แถมศัตรูในภาคนี้ก็เป็นลัทธิศาสนา ล้างสมองคนอีกด้วย ทำให้มันดูใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด และสิ่งที่พัฒนาขึ้นไปอีกในภาคนี้ คือส่วนของกราฟิก ที่ยิ่งทำยิ่งสวย และในภาคนี้ก็ยังคงความสวยงามไว้ บวกกับการออปติไมซ์ที่ทำออกมาได้ดีมาก ถ้าคุณเล่นภาค 4 ได้ คุณก็ยังเล่นภาค 5 ได้แบบสบาย ๆ เช่นกัน

แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือความโอเวอร์จากภาค 4 ที่ถูกลดทอนลง และภาคนี้ยังเริ่มมีระบบวิถีกระสุนที่หลายคนอาจจะไม่ชินนัก แต่ก็เพราะเราไม่ได้ยิงคนที่หลบหลีกเก่งขนาดนั้น เป็นเพียง A.I. ดังนั้นระบบนี้ใช้การปรับตัวเพียงนิดหน่อยก็น่าจะได้แล้ว นอกจากนั้นภาคนี้ใครที่ชอบเถลไถล ออกนอกลู่นอกทางก็อาจจะต้องขัดใจนิดหน่อย เพราะมีระบบสะสมแต้ม และเมื่อแต้มถึงตัวเกมก็จะบังคับเข้าสู่ภารกิจเนื้อเรื่องโดยทันที ทำให้ทุกคนจะจบเกมในระยะเวลาที่เท่า ๆ กัน

นอกจากนั้นใน Far Cry 5 นี้มันยังได้สร้างตอนจบสุดปวดตับที่ไม่ว่าจะจบแบบไหน ผู้เล่นก็จะหน่วงไปกับทุกเหตุการณ์ในตอนจบแน่ ๆ เป็นภาคที่ผมอยากให้ลองเล่นดูจริง ๆ ครับ

ภาคสปินออฟอีกมากมาย

ไม่ใช่แค่ภาคหลักทั้ง 5 ภาค แต่ Far Cry ยังมีตัวเกมที่เรียกว่า Spin-Off หรือภาคย่อย โดยหลัก ๆ แล้วมี 3 ภาคนั่นคือ Far Cry : Blood Dragon (สปินออฟจากภาค 3) , Far Cry : Primal (แยกเป็นเอกเทศ) และ Far Cry : New Dawn ที่สานต่อเนื้อเรื่องมาจาก Far Cry 5 และแม้จะเป็นเพียงภาคแยก แต่ตัวเกมก็ยังคงทำออกมาได้ดีโดยเฉพาะภาค Primal ในส่วนของ New Dawn นั้น Far Cry ก็ได้พาตัวเองไปยังจุดหมายใหม่ ๆ อย่างเช่นการใส่ความเป็น RPG เข้าไปในเกม จนแฟน ๆ บางส่วนเริ่มสงสัยว่า Far Cry 6 หรือภาคต่อ ๆ ไปจะนำเอาความเป็น RPG มาใส่ไว้ในเกม เหมือนที่ Ubisoft กำลังทำกับทุกเกมในเครือตัวเองตอนนี้หรือไม่

จริง ๆ แล้ว Far Cry ยังมีภาคย่อยแยกไปอีกเยอะที่ลงให้กับเครื่องเกมอื่น ๆ อย่างเช่น Wii และ XBOX แต่ทางผู้เขียนไม่อาจหามาเล่นได้จริง ๆ แต่เพียงเท่านี้เราก็เห็นแล้วว่า Far Cry ในแต่ละภาคนั้น แม้เกมเพลย์จะซ้ำซากไปบ้างในบางภาค แต่สิ่งที่ Far Cry นำเสนอมานั้น ก็ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า Ubisoft นั้น นำพาแฟรนไชส์ของตัวเองไปได้ไกลแค่ไหน และเชื่อว่า Far Cry จะเป็นอีกหนึ่งเกมที่อยู่ภายในใจของแฟนเกมไปอีกนานครับ ตราบใดที่ภาคต่อยังคงมีออกมาเรื่อย ๆ และมันยังรักษามาตรฐานของตัวเองเอาไว้ได้

SHARE

Aisoon Srikum

Back to top