BY Nuttawut Apiratwarakul
28 Oct 24 11:55 am

รีวิว Fear the Spotlight

995 Views

เกมอินดี้สยองขวัญจากทีมพัฒนาคู่หูดูโอ้สองสามีภรรยาและจัดจำหน่ายโดยค่าย Blumhouse Games แม้จะขนาดเล็ก ความสยองอาจไม่เต็มสูบ แต่ผู้พัฒนาเข้าใจจุดเด่นและสิ่งที่ตนเองอยากนำเสนอ และปรุงออกมาเป็นงานอินดี้ที่เราอยากแนะนำให้คนหัดเล่นเกมสยองขวัญลองสัมผัส

ในช่วงปีที่ผานมานั้นเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ผลงานเกมอินดี้สยองขวัญชั้นเยี่ยมถูกปล่อยออกสู่ตลาดมากมายหลายชิ้น และหนึ่งในรูปแบบการนำเสนอที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับเกมสยองขวัญอินดี้ก็คือการหยิบจับเอางานภาพและระบบการเล่นในช่วงยุคทองแรกเริ่มของเกมสยองขวัญอย่าง Silent Hill และ Resident Evil ภาคแรกมานำเสนอใหม่ใต้สูตรลับเฉพาะของตัวเอง

Crow County, The Closing Shift หรือ Signalis เป็นตัวอย่างเด่น ๆ ของผลงานในรูปแบบดังกล่าว

ว่ากันถึงหลักใหญ่ใจความแล้ว Fear the Spotlight ก็เป็นเกมสยองที่หยิบยกงานภาพ Low Polygon และบรรยากาศความหลอนในช่วงยุค PlayStation 1 นำมาเล่าใหม่ในแบบฉบับของตนเองเช่นกัน และต้องบอกเลยว่าทีมงาน Cozy Game Pals ที่ประกอบด้วยนักพัฒนาเกมแค่ 2 คน เปิดตัวผลงานชิ้นแรกของค่ายได้อย่างยอดเยี่ยมจริง ๆ

เล่าย้อนกันก่อนว่าจริง ๆ แล้ว Fear the Spotlight เคยวางจำหน่ายกันไปแล้วตอนเดือน กันยายน ปี 2023 แต่ Blumhouse Games เล็งเห็นศักยภาพของผลงานเกมชิ้นนี้ และติดต่อไปขอเป็นผู้จัดจำหน่าย ทำให้ Cozy Game Pals ถอนตัวเกมออกจาก STEAM หลังวางจำหน่ายไปได้หนึ่งเดือนพร้อมสัญญากับแฟน ๆ ว่าจะกลับมาใหม่ในผลงานเกมที่ “สมบูรณ์แบบ” มากยิ่งขึ้น และผลงานที่สมบูรณ์แบบชิ้นดังกล่าวก็คือ Fear the Spotlight ที่วางจำหน่ายเต็ม ๆ ในวันที่ 22 ตุลาคม ปี 2024 ที่ผ่านมา เป็นฉบับที่เราหยิบจับมารีวิวนี่เอง

เนื้อหาภายในเกม Fear the Spotlight เล่าถึงเด็กสาวมัธยมปลายสองคนที่แอบเข้าไปในห้องสมุดของโรงเรียนกลางดึกและทำพิธีเรียกวิญญาณกันเล่น ๆ แต่ผลลัพธ์ที่ตามมาคือความสยองขวัญและการไขปริศนาโศกนาฏกรรมที่เคยเกิดขึ้นภายในโรงเรียนแห่งนี้

ผู้เล่นรับบทเป็น Vivain ออกผจญภัยในโรงเรียนฉบับมิติมืดเพื่อตามหาเพื่อนสาว Amy ที่หายตัวไปหลังพิธีกรรม ตัวเกมจัดเต็มในเรื่องของบรรยากาศความหลอน โรงเรียนอันมืดมิดเป็นฉากหลังที่เหมาะมาก ๆ ในการเล่าเรื่องสยอง ยิ่งเน้นย้ำด้วยงานภาพแบบดิบ ๆ Low Polygon กับการออกแบบที่ยอดเยี่ยม ทำให้เราสัมผัสได้ว่าทีมงานเข้าใจจริง ๆ ว่าจุดเด่นของเกมสยองในยุคนั้นคืออะไร

ในฝั่งของระบบการเล่น Fear the Spotlight ถือได้ว่ามีระบบการเล่นที่เรียบง่าย ตัวเกมไม่มีศัตรูให้เราสู้ มีแค่ปริศนาง่าย ๆ ให้ไข ผสมกับการเล่นในแบบลอบเร้นที่เราต้องคอยหลบหลีกศัตรูและแสงไฟตามชื่อเกม ระบบการ Save ก็เป็นแบบอัตโนมัติ ตัวเกมจะมีการ Auto Save เป็นระยะตลอดเวลา ต่อให้เราพลาดตายก็สามารถกลับมาเริ่มใหม่ในฉากหรือช่วงเวลาดังกล่าวได้ทันที

ความน่าสนใจของเกมจริง ๆ จึงอยู่ในส่วนของการนำเสนอ ตัวเกมใส่เรื่องราวที่น่าติดตาม มีปมให้เราค่อย ๆ ปะติดปะต่อเรื่องราวว่าจริง ๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นในโรงเรียนแห่งนี้เมื่อ 30 ปีก่อน แม้ดราม่า High School ที่ถูกฉาบไว้ในเบื้องหน้าอาจจะไม่ได้ต่อติดกับผู้เล่นทุกคน แต่ธีมหลักของเรื่องราวก็แข็งแกร่งมากพอ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอความรัก ความหลงใหล การ Bully ในโรงเรียน หรือ เรื่องของบทบาท ความคาดหวัง และสายตาจากคนรอบข้างที่เป็นไปได้สิ่งดีและร้าย

ข้อดีของเกมอีกอย่างก็คือการที่ตัวเกมไม่นำเสนอฉากน่ากลัวในรูปแบบความสยองทางกายภาพเลยแม้แต่น้อย ภายในเกมไม่มีสัตว์ประหลาดน่าตาสยองขวัญ ไม่มีฉากฆาตกรรมโหด ๆ ไม่มี Jump Scare แบบระเบิดลำโพงหรือหูฟัง ความน่ากลังของเกมนั้นอาศัยบรรยากาศเย็นเยียบพร้อมความเงียบงันที่ครอบคลุมในทุก ๆ อณูของโรงเรียน

Fear the Spotlight ถือเป็นเกมสยองขวัญไซส์เล็กใจใหญ่ที่เข้าใจดีว่าจุดเด่นของตัวเองคืออะไรและนำเสนอสิ่งที่ต้องการได้สุดทาง ตัวเกมมีความยาวไม่มาก ประมาณ 6 ชั่วโมงเท่านั้นสำหรับการจบเกมทั้งสองบท ทำให้นี่เป็นผลงาน Bite Size กัดแล้วอร่อยพอดีคำ เหมาะกับคนหาเกมสยองขวัญมานั่งเล่นจบได้ในคืนเดียว

อย่างไรก็ตาม Fear the Spotlight ก็มีจุดอ่อนสำคัญในหลายส่วนที่ทำให้เกมนี้อาจจะไม่ใช่ผลงานสำหรับคนรักเกมสยองขวัญทั่วไป และฉุดรั้งมันไว้ไม่ให้ไปถึงความยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นบทสรุปสุดท้ายของเรื่องราวที่ไม่แข็งแกร่งเท่าการเล่าเรื่องที่ Build Up มาตลอดทาง ปริศนาที่ยังไม่น่าจดจำ และการที่ตัวเนื้อหาสองบทของเกมมีคุณภาพที่ไม่เท่ากันอย่างชัดเจน และการที่ตัวเกม “ง่าย” มาก ๆ ทำให้มันไม่เหมาะกับผู้เล่นเกมสยองสาย Hardcore

ถึงแม้ผลงานเกมชิ้นนี้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ด้วยแนวทางที่ชัดเจน ข้อความที่ทีมงานอยากส่งต่อก็ทำให้เนื้อหาต่าง ๆ ชวนให้ขบคิดน่าสนใจ มันอาจจะไม่ใช่เกมสยองขวัญสำหรับทุกคน แต่เป็นผลงานที่เล่นจบแล้วได้อะไรมากกว่า “ความกลัว” แน่นอน

 

Fear the Spotlight

7.5 / 10 คะแนน

7.5

ข้อดี

  • บรรยากาศน่ากลัวโดยไม่พึ่งพิงฉาก Jump Scare หรือปีศาจน่าตาสยอง
  • ปริศนาและระบบการเล่นเรียบง่าย
  • งานภาพและบรรยากาศโดดเด่นติดตาน่าสนใจ
  • มี Message ที่ชวนให้ติดตามแม้จะจบเกมไปแล้ว

ข้อเสีย

  • ไม่ใช่เกมสยองขวัญสำหรับคนที่มองหาความท้าทาย
  • เนื้อหาความรัก High School อาจไม่ได้ต่อติดกับผู้เล่นทุกคน

SHARE

Nuttawut Apiratwarakul

โน้ต - Co-Founder / Editor-in-chief

Back to top