BY สฤณี อาชวานันทกุล
22 Dec 21 11:21 am

Forgotten City: ปรัชญามีชีวิต ชีวิตมีปรัชญา

37 Views

พูดถึง “ปรัชญา” หลายคนคงเบือนหน้าหนี ด้วยความที่ฟังดูเป็นเรื่องยากและไกลตัว ทั้งที่ปรัชญาแฝงอยู่รอบตัวเรา และนักปรัชญาตั้งแต่ยุคโบราณจนปัจจุบันก็เพียรหาวิธีสื่อสารให้คนเห็นความสำคัญของการใคร่ครวญถึงสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งคำถามอมตะที่มนุษย์จะถามไปตลอดกาล อย่าง เราเกิดมาเพื่ออะไร ชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร และ เรามีเจตจำนงเสรีจริงหรือไม่ 

Forgotten City เกมผจญภัยไขปริศนามุมมองบุคคลที่หนึ่ง จาก Modern Storyteller สตูดิโอน้องใหม่แดนจิงโจ้ เป็นเกมเกี่ยวกับปรัชญา วิธีคิดและวิธีทำงานของนักปรัชญา ที่ดีที่สุดที่ผู้เขียนเคยเล่น 

Forgotten1

ซึ่งก็น่าทึ่งมากเมื่อคำนึงว่า เริ่มแรกเดิมทีเกมนี้เป็น mod ฟรีของเกม Skyrim ที่ได้รับความนิยมมหาศาลจากแฟนเกม RPG ชื่อดัง ก่อนได้รับการปรับปรุงและวางขายใหม่ในฐานะเกม standalone ในปี 2021 

Forgotten City เปิดฉากมาด้วยปริศนา เราเป็นใครก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าเป็นคนจากศตวรรษที่ 21 ที่ผ่านประตูทะลุมิติมาอยู่ในเมืองใต้ดินสมัยโรมันโบราณเมื่อสองพันปีที่แล้ว สังเกตว่ามีรูปปั้นมนุษย์ทองคำในอิริยาบถแปลก ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ พอสำรวจไปสักพักก็รู้ว่าเราและทุกคนที่นี่ติดอยู่ในลูปเวลา (time loop) ไร้ที่สิ้นสุด ลูปนี้สิ้นสุดลงด้วยความตายของเราและทุกคนในชุมชน แต่ถ้าวิ่งกลับไปที่ประตูทะลุมิติได้ทัน เราจะได้รับการ “ชุบชีวิต” ให้เริ่มต้นลูปใหม่อีกรอบ ความรู้ทั้งหมดที่เราได้รับในลูปที่แล้ว รวมถึงข้าวของที่เก็บได้จากลูปก่อน ๆ จะยังคงอยู่ติดตัว มอบโอกาสให้เราหาทางเปลี่ยนแปลงลำดับเหตุการณ์ เพื่อสร้างผลพวงใหม่ ๆ ที่จะนำเราออกจากลูปเวลานี้จนได้

โลกที่เราจะได้สำรวจมีขนาดกะทัดรัด และชาวโรมันโบราณที่เราจะได้พบปะพูดคุยในเกมนี้ก็มีไม่ถึงสามสิบคน แต่เล่นไปไม่กี่ลูปเราจะพบว่า Forgotten City ถูกออกแบบมาอย่างรัดกุมรอบคอบเหมือนนาฬิกาจักรกลที่สลับซับซ้อน แทบทุกการกระทำของเรา แทบทุกคำพูดที่เลือกในบทสนทนาของเรา จะส่งผลต่อท่าทีและทัศนคติที่คนอื่นมองเรา และที่พวกเขามองซึ่งกันและกัน ซึ่งก็จะเปิดทางไปสู่บทสนทนาใหม่ ๆ สถานที่ใหม่ ๆ และข้าวของใหม่ ๆ ให้หาทางประยุกต์ใช้เพื่อวางแผนสำหรับลูปต่อไป

กราฟิกใน Forgotten City ไม่หวือหวาแต่ก็ได้มาตรฐาน Skyrim และสถาปัตยกรรมโรมันโบราณในเกมก็เต็มไปด้วยความใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ ทั้งเกมไม่เน้นแอ๊กชัน แม้จะมีอาวุธที่เราหยิบฉวยได้และมีโอกาสให้ใช้ในบางจังหวะ แต่ Forgotten City เน้นการสำรวจ การสังเกต การใช้เหตุผลแบบนิรนัย (deduction) และการลองผิดลองถูก ในแง่นั้นมันเหมือนกับเกมผจญภัย point-and-click เพียงแต่เปลี่ยนมุมมองมาเป็นบุคคลที่หนึ่ง และก็เป็นเกมผจญภัยที่ไม่ง่ายเลย การทำอะไร ๆ ในเกมนี้ที่เป็น “ความก้าวหน้า” ในแง่การขยับเส้นเรื่องไปข้างหน้า บางจังหวะอาจดูไม่ออกเพราะบางครั้งเรามองไม่เห็นผลพวงจากการกระทำหรือคำพูดของเราในทันที แต่สิ่งที่จูงใจให้เราจมจ่อมอยู่ในเกมคือการเขียนบทที่ฉลาดหลักแหลม โดยเฉพาะบทสนทนากับตัวละครต่าง ๆ และบรรยากาศลึกลับอันอบอวลไปด้วยปริศนา

Forgotten2

ตลอดระยะเวลาราว 7-8 ชั่วโมงที่เราจะไขปริศนาและหาทางออกจากลูปเวลา (นานกว่านั้นถ้าเล่นใหม่เพื่อค้นหาฉากจบอื่น ๆ ) The Forgotten City อัดแน่นไปด้วยความคิดทางปรัชญาหลากหลายสำนัก ส่วนใหญ่นำเสนอผ่านการตั้งคำถามในบทสนทนาระหว่างเรากับตัวละครต่า งๆ รวมถึงคนที่มีอาชีพเป็น “นักปรัชญา” จริง ๆ ในเกม (ถ้าเราเคยสงสัยว่า นักปรัชญาในยุคโบราณคิดและทำงานอย่างไร เกมนี้ก็ให้คำตอบอย่างชัดเจน) ตกลงมนุษย์เรา “ดี” โดยธรรมชาติ หรือ “เลว” โดยธรรมชาติ? ระบบศีลธรรมหนึ่งเดียวที่ “ถูกต้อง” ในโลกมีอยู่จริงไหม หรือว่ามีเพียงระบบศีลธรรมที่หลากหลาย ต่างสังคมต่างความคิดที่เปรียบเทียบกันไม่ได้? เรามีเจตจำนงเสรีจริงไหม หรือว่าทุกอย่างถูกกำหนดมาแล้วโดยโชคชะตา พระเจ้า หรือธรรมชาติ? เราควรยึดมั่นในชุดศีลธรรมอะไรสักอย่างที่เป็นหลักการพื้นฐานอย่างมั่นคงไม่สั่นคลอน หรือว่าศีลธรรมของเราควรจะยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์? การสร้างอารยธรรมบนรากฐานของอารยธรรมที่เก่าแก่กว่า (ซึ่งก็คือสิ่งที่สังคมโรมันโบราณในประวัติศาสตร์ทำจริง ๆ กับอารยธรรมกรีก ส่วนกรีกก็ทำกับอารยธรรมอียิปต์ที่มาก่อนพวกเขาอีกที) ควรมองว่าเป็นความก้าวหน้า หรือว่าเป็นการยึดเอาวัฒนธรรมอื่นมาเป็นของตัวเอง (cultural appropriation) ? 

Forgotten City นำเสนอแง่มุมต่าง ๆ ของคำถามเชิงปรัชญาเหล่านี้อย่างน่าสนใจ แต่ประเด็นที่โดดเด่นที่สุดในความเห็นของผู้เขียน คือการนำเสนอเรื่อง กฎทองคำ (Golden Rule) และความเชื่อมโยงระหว่างกฎนี้กับทฤษฎีกฎธรรมชาติ (natural law)

กฎทองคำ นับเป็นกฎศีลธรรมที่เก่าแก่และเป็นสากล (พบได้ในหลายสังคมทั่วโลก) ที่สุดชุดหนึ่งของมนุษย์ ในเกม Forgotten City นำเสนอหลายเวอร์ชันของกฎทองคำ ตัวละคร อัลพิอุส นำเสนอเวอร์ชัน “อย่าทำสิ่งที่เธอไม่ชอบกับคนอื่น” เวอร์ชันนี้ของกฎทองคำเป็นกฎเชิงลบ ไม่เสนอว่าเราควรทำอะไร เพียงแต่บอกว่าเราควร ไม่ทำ อะไร (สิ่งทีเราไม่ชอบ) ตัวละครอีกคนหนึ่งนาม จอร์จิอุส นำเสนอกฎทองคำเชิงลบอีกเวอร์ชันในทัศนะของ ธาเลส นักปรัชญากรีกโบราณ นั่นคือ “อย่าทำในสิ่งที่เธอจะก่นด่าถ้าเห็นคนอื่นทำ” ส่วน คาบาช ชาวอียิปต์ในเกม เสนออีกเวอร์ชันของกฎทองคำซึ่งเขาบอกว่าคนอียิปต์ได้รับมาจาก มา’อัด เทพธิดาอียิปต์ แต่คนสมัยใหม่คุ้นเคยกว่าจากคัมภีร์ไบเบิลในศาสนาคริสต์  “ทำกับคนอื่นในสิ่งที่เธออยากให้เขาทำกับเธอ” – เวอร์ชันนี้เป็นกฎทองคำเชิงบวก เพราะวางกฎสำหรับ การกระทำ ไม่ใช่การงดเว้นการกระทำ

Forgotten3

กฎทองคำใน Forgotten City ไม่ใช่เพียงสิ่งที่ท่องจำกันมาหรือเป็นหัวข้อสนทนากันเล่น ๆ แต่เป็นสิ่งที่ตัดสินความเป็นความตายเลยทีเดียว เนื่องจากตัวเราและทุกคนในเกมนี้ถูกกำกับด้วยกฎทองคำที่ว่า “คนหมู่มากต้องชดใช้บาปของคนคนเดียว” ในทางปฏิบัติกฎข้อนี้หมายความว่า เมื่อใดก็ตามที่ใครสักคนในชุมชนแห่งนี้ “ทำบาป” กองทัพเทพีบินได้ก็จะกรูกันโฉบมายิงธนูใส่ทุกคน สาปให้กลายเป็นรูปปั้นทองคำ รวมทั้งตัวเราเองด้วย แต่ถ้าเราวิ่งกลับไปที่ประตูทะลุมิติทันเวลา เราก็จะเริ่มต้นลูปเวลารอบใหม่ได้ พร้อมด้วยข้าวของที่เก็บมาได้ในลูปที่แล้ว แต่ความเจ๋งของการออกแบบเกมนี้ก็คือ เราไม่จำเป็นต้องทำหลายอย่างที่เคยทำในลูปที่แล้วซ้ำอีกรอบ เราสามารถไหว้วาน กาเลริอุส ตัวละครผู้น่ารักที่มาทักทายเราเป็นแรกทุกครั้ง ให้ไปทำภารกิจสำคัญๆ ได้ ซึ่งเขาก็ทำตามอย่างว่านอนสอนง่าย เปิดโอกาสให้เราไปทำเรื่องใหม่ๆ ในลูปนี้ โดยไม่เสียเวลา

กฎทองคำข้อนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก “โทษประหารหนึ่งในสิบ” (decimation) ของกองทัพโรมันโบราณ ซึ่งจะประหารชีวิตทหารทุกสิบคนในกองพัน เมื่อใดก็ตามที่มีทหารแข็งข้อต่อผู้บังคับบัญชาหรือหนีทหาร แต่กฎทองคำใน Forgotten City เหี้ยมเกรียมกว่านั้นมากเพราะประหารชีวิตทุกคน ทันทีที่มีคนทำบาป และไม่นานเราก็จะพบว่ากฎนี้บังคับใช้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ นั่นคือ การกระทำทุกอย่างของเราต้องไม่ใช่การทำบาป และต้องหลีกเลี่ยงการทำบาปด้วย ซึ่งความล้มเหลวบางอย่างก็ถูก(พระเจ้า?)มองว่าเป็นการทำบาปเช่นกัน 

การพยายามหาคำตอบว่า การกระทำอะไรบ้างที่นับว่าเป็น “บาป” ในชุมชนนี้ คือส่วนหนึ่งของความสนุกและวิธีที่เกมกระตุกให้เราคิดใคร่ครวญ แน่นอนว่าการฆ่าคนเป็นบาป แต่ถ้าหากว่าเราจำเป็นต้องฆ่าใครสักคนเพื่อป้องกันตัวเอง หรือป้องกันไม่ให้เขาฆ่าคนอื่นล่ะ ถ้าหากว่าเราจำเป็นต้องขโมยของของใครสักคน เพื่อไปรักษาคนที่กำลังป่วยหนักใกล้ตายล่ะ การกระทำเหล่านี้เป็น “บาป” ด้วยหรือไม่ ผู้มีอำนาจเหนือมนุษย์ไหนกันที่กำลังเฝ้ามองและตัดสินชะตาชีวิตของเราและคนอื่น ๆ ? 

คำถามที่ว่า การกระทำแบบไหนกันที่เป็น “บาป” และ “ใคร” ที่มีอำนาจตัดสิน เป็นคำถามที่ Forgotten City ให้เราสำรวจทุกแง่มุมอย่างสนุกสนาน รวมทั้งบทสนทนาอันเยี่ยมยอดเฉียบคมกับฤาษีผู้เป็นนักปรัชญาในเกม (ซึ่งน่าจะถอดแบบมาจาก โสเกรตีส หรือ ไดโอจีนีส นักปรัชญากรีกโบราณ) และคำถามนี้ก็โยงกับความคิดเรื่อง กฎธรรมชาติ (natural law) ซึ่งเกมนี้ก็ชวนคิดอย่างสนุกสนานเช่นกัน 

Forgotten4

ทฤษฎีกฎธรรมชาติมีหลายแนวคิดและสำนักคิด แต่แก่นสารอยู่ที่คำถามว่า กฎมีอำนาจบังคับใช้มาจากไหน? พูดง่าย ๆ คือ ทำไมเราถึงต้องทำตามกฎที่ถูกประกาศออกมา? บางคนอาจตอบว่า เราควรทำตามเพราะอำนาจของกฎนั้นมาจากคุณค่าทางศีลธรรมอะไรสักอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เราควรทำตามกฎหมายที่ห้ามฆ่าคน เพราะการฆ่าคนผิดศีลธรรม แต่บางคนก็อาจแย้งว่า กฎ กับ ศีลธรรม ไม่ใช่เรื่องเดียวกันและไม่จำเป็นจะต้องสอดคล้องกันเสมอไป เรามีตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์ที่กฎหมายถูกบิดเบือนเพื่อรับใช้ผู้มีอำนาจ รวมถึงทรราชทั้งหลายด้วย

Forgotten City นำเสนอทั้งสองมุมมองนี้อย่างเฉียบแหลม ยกตัวอย่างเช่น แมยิสเตรด (magistrate ข้าราชการระดับสูงที่มีทั้งอำนาจบริหารและตุลาการ) ในเมืองใต้ดินแห่งนี้บังคับใช้กฎหมายของอาณาจักรโรมันโบราณ เพื่อหลีกเลี่ยงความคลุมเครือเรื่องนิยามของ “บาป” ในช่วงแรกของเกม เราจะได้ยินคำอธิบายว่านี่เป็นเพราะแมยิสเตรดเชื่อว่ากฎหมายโรมันสะท้อนชุดศีลธรรมที่สูงส่งที่สุดแล้ว ซึ่งเรา (ซึ่งไม่ได้เป็นคนโรมัน แต่มาจากศตวรรษที่ 21) ก็สามารถแย้งเขาได้ว่า ไม่เห็นจะจริงเลย กฎหมายโรมันยอมรับให้การมีทาสและค้าทาสเป็นเรื่องถูกกฎหมาย และไม่ให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง 

ภารกิจที่เราต้องทำในเกมนี้มีความหลากหลาย หลายภารกิจมีวิธีไขปริศนามากกว่าหนึ่งทาง แทบทุกภารกิจกระตุกให้ไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะอยู่กับเราไปนานหลังจากที่เดินทางมาถึงฉากจบ และหลายคนก็จะอยากเล่นใหม่เพื่อค้นหาฉากจบให้ครบทั้งสี่แบบ รวมถึงฉากจบ “สมบูรณ์แบบ” ซึ่งระหว่างทางจะให้เราได้ประลองกำลังทางปัญญากับเทพโรมัน

ในสายธารประวัติศาสตร์อันยาวนานของเกม Forgotten City ไม่ใช่เกมแรกที่วาง “ปรัชญา” เป็นแก่นสารของการเดินเรื่องและกลไกเกม แต่เป็นเกมเกี่ยวกับปรัชญาที่ดีที่สุดที่ผู้เขียนเคยเล่น ด้วยบทที่เฉียบคม ความลึกและรอบด้านของการนำเสนอแนวคิดทางปรัชญา วิธีทำงานของปรัชญา รวมถึงอิทธิพลและความสำคัญของปรัชญาในชีวิตประจำวัน

สฤณี อาชวานันทกุล

Back to top