BY SEPTH
16 Apr 14 7:30 pm

Free to Play เล่นฟรี เสรีที่จะเล่น

13 Views

เรียงร้อยเรื่องราวนักเล่นจากฝั่งไปตามฝัน เพราะเรื่องเกมไม่ใช่แค่การ”เล่น”อีกต่อไป

การลดราคาอันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเกมในปัจจุบันเป็นการลดช่องว่างระหว่างผู้เล่น และผู้จัดจำหน่าย(ออนไลน์) ให้เข้าถึงเกมได้มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นการย้ำเตือนถึงสถานะเกมๆนั้นที่ “ไม่ฟรี” ให้เป็นข้อแตกต่าง โดยในเกมฟรีจะอยู่ในฐานะ Free To Play หรือ F2P ที่มีกลไกในการเรียกเงินจากผู้เล่นในอีกวิธี (เช่น Item และการซื้อสิทธิพิเศษ จนไปสู่วลีล้อเลียนว่า Pay To Win)

Ghost Recon: Phantoms (2014) เกมภาคล่าสุดของซีรีย์ที่ถูกปล่อยออกมาให้เล่นในแบบ F2P

Ghost Recon: Phantoms (2014) เกมภาคล่าสุดของซีรีย์ที่ถูกปล่อยออกมาให้เล่นในแบบ F2P

แต่ถึงแม้ F2P จะมีช่องว่างระหว่างคนจ่าย กับคนเล่นฟรีแค่ไหน อัตราการเกิดของเกม F2P ก็ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะเกม F2P แต่กำเนิด หรือเกมที่ผันเป็น F2P ในภายหลังอย่าง Team Fortress 2 ก่อนที่การสนับสนุนจะเป็นที่เด่นชัดในการมาของ Dota 2 ที่นำร่องด้วย beta key ก่อนจะเปิดตัวในเวลา

Dota หรือ Defense of the Ancients แจ้งเกิดในฐานะ mod ของเกม Warcraft III ก่อนที่จะถูก Valve ซื้อไปทำภาคต่อและให้การสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบอันนำไปสู่การแข่งขัน The International ที่รางวัลที่ 1 มีมูลค่าถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

Hyhy หนึ่งในตัวแทนจากสิงคโปร์และครอบครัว

Hyhy หนึ่งในตัวแทนจากสิงคโปร์และครอบครัว

ด้วยงบประมาณการสร้างที่ 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือที่ประมาณ 4 ล้านปลายๆบาทไทย Free to Play ทำหน้าที่นำเสนอแง่มุมของหลายชีวิตจากหลายทีม ในฐานะ “คนเล่นเกม” ที่เป็นส่วนหนึ่งของ The International ในปีแรก (2011) โดยส่วนใหญ่เป็นสมาชิกจากทีมที่ติดอันดับต้นๆในการแข่งขันในช่วงเวลาก่อน ระหว่างการแข่ง ก่อนจะนำไปสู่บทสรุปเมื่อการแข่งขันจบลง

ฉากถูกสลับไปมาระหว่างชีวิตของ Benedict “Hyhy” Lim หนึ่งในสมาชิกของ Scythe Gaming ถูกให้ภาพของความเป็น Asian ที่ยังอาศัยอยู่กับครอบครัว มีพ่อทำงานหนักเพื่อไม่ให้ลูกต้องมาเป็นเช่นเดียวกับตน Clinton “Fear” Loomis หนุ่มอเมริกันผู้ที่เป็นหัวหอกนำทีม Online Kingdom แห่งเมืองผู้ดีที่เติบโตกับแม่คนเดียว Danil “Dendi” Ishutin แห่ง Na ‘Vi ที่ผ่านประสบการณ์สูญเสียพ่อผู้เป็นที่รัก และผูมีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆที่จะทำหน้าที่ให้ข้อมูลในระดับภูมิภาคของตน

Fear ผู้ที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบ Single Mom ที่ภายหลังต้องมานั่งซ้อมแข่งเกมกับจอ CRT เก่าๆ

Fear ผู้ที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบ Single Mom ที่ภายหลังต้องมานั่งซ้อมแข่งเกมกับจอ CRT เก่าๆ

บุคคลเหล่านี้ถูกนำเสนอทั้งในฐานะ “ผู้เล่น” และ “ผู้แข่งขัน” ท่ามกลางความคลุมเครือจากสายตาภายนอกที่โต้ตีกับภายในถึงความชอบธรรมของวีดีโอเกมในฐานะ “กีฬา” (E-Sports) ที่มีงานแข่งเป็นศูนย์รวมคนเล่นร้อยพ่อพันแม่โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเงินล้าน ที่ไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนของการแลกเปลี่ยน แต่อำนาจเงินยังบ่งบอกถึง “การยอมรับ” ที่นักเล่นเกมโหยหา ตั้งแต่ Benedict ที่ต้องเลือกที่จะแข่งขันแทนที่จะไปสอบเมื่อตารางเวลาชนกัน Clinton ที่ต้องต่อสู้กับชีวิตในการออกจากบ้านเพื่อทุ่มเท และ Danil ที่ต้องการความสำเร็จเพื่อช่วยครอบครัวหลังปราศจากผู้นำ

หากจะเปรียบกับการเล่นเกม ผู้เล่นเหล่านี้ก็เปรียบได้กับตัวละคร ที่มีเงินเป็นการจบเกม ไม่ว่าจะเป็นการจบ Match ในโหมดเล่นหลายคนหรือ Playthrough ในโหมดคนเดียวที่มีอุปสรรคต่างๆที่พร้อมจะบั่นทอนกำลังใจและตั้งคำถามถึงสิ่งที่ทำในเวลาเดียวกันที่เป็นเรื่องของความซับซ้อนเปราะบางในการมองเกมที่นำมาถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ การถ่ายทอดภาพเหล่านี้จึงเป็นการเสนอความชอบธรรมให้แก่เกม ให้เป็นมากกว่าของเล่นหรือสื่อบันเทิง ให้ไปอยู่ในระดับกีฬา ที่มีการฝึกฝนเป็นระบบระเบียบ และมีนักแข่งเสมือน Rockstar

Dendi จาก Ukraine หนึ่งในผู้ที่พาทีม Na 'Vi คว้ารางวัลอันดับหนึ่งในการแข่งขัน The International 2011

Dendi จาก Ukraine หนึ่งในผู้ที่พาทีม Na ‘Vi คว้ารางวัลอันดับหนึ่งในการแข่งขัน The International 2011

แต่ตัวละครในโลกของ Free to Play ถูกนำเสนอให้มีความเป็นมนุษย์ผ่านข้อขัดแย้งและความผิดหวัง ความผิดหวังที่จะได้รับการเข้าใจ ความผิดหวังในความสัมพันธ์ (เลิกกับแฟน ทะเลาะกับทางบ้าน) ความผิดหวังในการพ่ายแพ้ โดยที่ทีมของหนึ่งในนี้อาจไม่ได้ขึ้นหิ้งหนึ่งในสามของการแข่งขันด้วยซ้ำ ในขณะที่ทีมอันดับต้นการแข่งขันอย่าง EHOME จากจีนแผ่นดินใหญ่ก็กลับไม่ได้มีบทบาทในเรื่องราวเท่า Scythe ที่ชนะมา

Free to Play จึงเป็นเครื่องยืนยันอันย้อนแย้งต่อตัววลีที่จะบอกถึงความ “ไม่ฟรี” ในชีวิต ที่ไม่ใช่เพียงการเล่นเกม แต่รวมทั้งการใช้ชีวิต นำไปสู่การดิ้นรนที่จะเล่น ที่จะมีชีวิต แม้ชื่อจะบอกว่าเล่นได้ฟรี แต่ผู้เล่นก็ต้อง Free อันเป็นความหมายว่าปราศจาก หรือเป็นอิสระ เพื่อที่จะเล่น อันเป็นราคาที่ต้องจ่ายชดเชยมูลค่าหลักของเกม และยังเป็นการบ่งบอกถึงการปลดปล่อย (liberate) การเล่น ให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อที่จะได้เล่นต่อไป

Kittipong Songkasri

เป้ง - Content Writer

Back to top