หากพูดถึงเครื่องเกมมือถือที่เด็กในยุค 90 หลายคนมีในครอบครองและโปรดปราน ก็คงหนีไม่พ้น Gameboy จาก Nintendo อย่างแน่นอน ด้วยเกมที่มีหลากหลายและราคาที่จับต้องได้ ซึ่งในยุคนั้นคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง Sega เองก็ไม่อยู่เฉย ส่งเครื่องเกมมือถือมาลงตลาด ด้วยทุกอย่างที่ล้ำหน้ายิ่งกว่าที่ Gameboy มี นั่นก็คือ Game Gear นั่นเอง
อย่างที่ได้เกริ่นไป ว่า Sega ในช่วงยุคปี 80 – 90 นั้นคือคู่แข่งในวงการเกมที่สมน้ำสมเนื้อกับ Nintendo อย่างแท้จริง ทั้งสองค่ายต่างขับเคี่ยวสู้กันด้วยเครื่องเกมคอนโซลของตนมาโดยตลอด มีการส่งคลิปโฆษณาข่มกันทางโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องว่าเครื่องของตนเองนั้นเจ๋งกว่าฝ่ายตรงข้ามกันแทบจะทุกวัน โดยเฉพาะทางฝั่ง Sega ที่จัดหนักทุกโฆษณาแบบไม่มีไว้หน้ากันเลย
ตัวอย่างโฆษณาของ Sega ยุค 90 ที่ขิงคู่แข่งอย่างไม่ไว้หน้าใครหน้าไหน
แน่นอนว่า Sega เองก็เคยคิดจะพัฒนาเครื่องเกมสำหรับพกพาเอาไว้อยู่แล้ว โดยการพัฒนานั้นใช้ชื่อว่า Project Mercury และถูกนำมาท้าชนกับ Gameboy ที่วางจำหน่ายในปี 1989 โดยเฉพาะ และ Game Gear จาก Sega ก็ออกวางจำหน่าย พร้อมด้วยสเปกที่เหนือล้ำกว่าทุกอย่าง แบบที่ Gameboy เทียบไม่ติด เพื่อแสดงศักยภาพในการเอาชนะคู่แข่งในเรื่องของกราฟิกและแสงสีเสียงของเครื่องเล่นเกมมือถือที่ตนเองพัฒนา
Game Gear มาพร้อมกับหน้าจอแบบสีมีไฟสว่างสดใสขนาด 3.2 นิ้ว ความละเอียด 160 x 144 Pixel มีจำนวนสีบนหน้าจอสูงถึง 4096 สี แสดงผลได้สูงสุด 32 สี และด้วยพลังการประมวลผลของ CPU Zilog Z80 ความเร็ว 3.5MHZ ทำให้ภาพและเสียงที่ได้นั้นดูดีพอ ๆ กับการเล่นบนจอทีวีได้เลย
ซึ่งเทียบกับจอขาวดำและไม่มีแสงไฟของ Gameboy แล้ว Game Gear เหนือกว่าแบบไม่ต้องสืบ
ตัวเครื่องเองก็ถูกออกแบบมาให้มีรูปทรงคล้ายคลึงกับคอนโทรลเลอร์ของเครื่อง Mega Drive หรือ Genesis เพื่อเพิ่มความสบายในการถือเล่น และใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ขนาด AA 6 ก้อน เล่นได้ประมาณ 4 – 6 ชั่วโมง แต่ในภายหลังก็มีการออกตัว Adapter หรือหม้อแปลงเพื่อต่อเล่นกับไฟบ้านและบนรถยนต์ได้ในเวลาต่อมา
ส่วนเกมที่มีให้เล่นนั้นเรียกว่าเพียบพร้อมและมีคุณภาพจัดจ้านไม่น้อย เช่น Column เกม Puzzle แสนสนุก, Sonic the Hedgehog, The GG Shinobi , Street of Rage, Space Harrier และอีกมากมายที่เรียกได้ว่าแทบจะใกล้เคียงกับการเล่นบนเครื่อง Mega Drive เสียด้วย แค่มีปุ่มที่น้อยกว่าเท่านั้น แม้จำนวนเกมในแบบ 3rd Party หรือของผู้พัฒนาเจ้าอื่นจะมีไม่มาก แต่เกมที่อยู่บนระบบ Game Gear นั้นก็มีจำนวนกว่า 300 เกมเลยทีเดียว
และอุปกรณ์เสริมนั้นก็มีมากมายไม่แพ้กัน นอกจากอุปกรณ์จำพวกเคสใส่เครื่องหรือ Adapter แล้ว ยังมี TV Tuner ที่เปลี่ยน Game Gear ให้กลายเป็นทีวีขนาดจิ๋วได้ด้วย ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็เคยมีอยู่ตัวหนึ่ง แต่เนื่องจากเสารับสัญญาณของบ้านเราในยุคนั้นค่อนข้างจะจำกัด และมีสัญญาณรบกวนมาก ทำให้ใช้งานได้ไม่เวิร์คเท่าใดนัก หรือ Master Gear Converter ที่แปลงให้เครื่อง Game Gear สามารถเล่นเกมของเครื่อง Master System ได้ แต่ในบ้านเราเจ้าเครื่อง Master System นี้ไม่ได้รับความนิยมนัก ทำให้มันถูกลืมไปอย่างรวดเร็ว
แม้ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะเหนือกว่าคู่แข่ง แต่จุดอ่อนอันใหญ่หลวงของ Game Gear ก็มาจากประสิทธิภาพของมันเอง
ด้วยการที่ตัวของมันเองนั้นใช้แบตเตอรี่ค่อนข้างเยอะ และเล่นได้ไม่นานเพียง 4 ชั่วโมง ทำให้ไม่สะดวกแก่การนำไปเล่นนอกบ้านหรือตอนเดินทางมากนัก ในยุคนั้นค่าแบตเตอรี่แบบ AA 6 ก้อนก็มีราคาที่สูงเอาเรื่องอยู่
เมื่อนำมาเทียบกับ Gameboy ที่ใช้ถ่านแค่สี่ก้อนแถมเล่นได้นานกว่า(แค่เล่นในที่มืดไม่ได้) เท่านี้ก็แทบจะเทียบกันไม่ติดแล้ว แถมด้วยจำนวนเกมแบบ 3rd Party ที่มากกว่าอย่างมหาศาล มีตัวเลือกเพื่อความสนุกที่มากกว่า และด้วยราคาที่สูงถึง $150 แพงกว่า Gameboy ที่ขายเพียง $90 จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้เล่นส่วนใหญ่จะเลือก Gameboy กันมากกว่าเพราะความคุ้มค่าที่กินขาดนี้นั่นเอง
แม้ยอดขายจะเทียบคู่แข่งไม่ติด Game Gear ก็ยังขายไปได้ถึง 10.62 ล้านเครื่อง นับตั้งแต่วางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นวันแรกจนถึงวันสุดท้ายในปี 1997 และยังสามารถเอาชนะเครื่องเกมมือถือเจ้าอื่นที่ตามมาอย่าง Atari Lynx และ NEC Turbo Express ไปได้ อีกทั้งยังเป็นเครื่องเกมที่มอบประสบการณ์ในการเล่นที่ยอดเยี่ยมไม่น้อย ด้วยภาพและเสียงที่สุดกว่าเจ้าอื่น ๆ แถมยังเป็นเครื่องที่บ่งบอกฐานะด้วยว่า คนที่ครอบครองมันนั้นต้องมีเงินในระดับหนึ่งอีกด้วย
ปัจจุบันนี้ Sega ไม่ได้พัฒนาเครื่องเกมรุ่นใหม่ออกมาหลังจากการล่มสลายของ Dreamcast และพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเกมเพียงอย่างเดียว กระนั้นสิ่งที่พวกเขาเคยสร้างเอาไว้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการเกมสามารถก้าวไปข้างหน้าได้จนถึงทุกวันนี้ รวมไปถึงเครื่อง Game Gear เองก็สามารถไปนั่งอยู่ในใจผู้ที่เคยครอบครองมันในช่วงเวลาหนึ่ง ด้วยกราฟฟิกและสีสันเฉพาะตัวแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน รวมไปถึงตัวของผู้เขียนเองด้วยเช่นกันครับ