BY Zreast
18 Jan 21 4:22 pm

เจาะลึก Granblue Fantasy กับระบบ Guild War สุดเดือดแห่งวงการเกมกาชา “ท้าทาย” หรือเป็น “หน้าที่” ?

192 Views

เมื่อพูดถึงเกมกาชาบนมือถือ หลายคนอาจนึกภาพเกมที่เข้าถึงได้ง่าย ใช้เวลาไม่นานนักต่อวัน และมีอีเวนต์น่าสนใจให้ได้เข้ามาเล่นเป็นระยะ ๆ

ทว่าก็มีเกมมือถือจำนวนหนึ่งเหมือนกัน ที่ใส่ระบบให้เกิดการแข่งขันเข้ามา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือระบบ “Guild War” ที่จะให้ผู้เล่นได้รวมตัวกันเป็นกิลด์ เข้าต่อสู้กับฝั่งตรงข้าม

วันนี้เราจะมาพูดถึงหนึ่งในเกมมือถือญี่ปุ่นที่อยู่มายาวนานอย่าง Granblue Fantasy ว่าเหตุใดจึงเป็นเกมที่ขึ้นชื่อในแวดวง เรื่องความดูดวิญญาณผลาญพลังงานชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อช่วงเวลา “Guild War” มาถึง

ทำความรู้จักกับ Granblue Fantasy กันก่อน

Granblue Fantasy เป็นเกม RPG แบบเล่นบนเว็บ ที่สามารถเล่นผ่านเบราว์เซอร์อย่าง Chrome หรือจะเล่นผ่านแอปที่เกมรองรับก็ได้เช่นกัน เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2014 ยิงยาวอัปเดตต่อเนื่องมาจนเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว นับได้ว่าเป็นหนึ่งผลงานเรือธงของค่าย Cygames ที่อยู่ยงคงกระพัน และได้รับความนิยมจนมีการต่อยอดไปเป็นโปรเจกต์อื่น ๆ มากมาย เช่น ทีวีอนิเมะ, เกมภาคไฟท์ติ้ง หรือเกม Action RPG อย่างภาค Relink (ที่จะมาปี 2022) เป็นต้น

สำหรับรูปแบบ Gameplay ของ Granblue นั้นเป็นการสู้แบบ Turn-based ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้จัดตัวละครในปาร์ตี้ เลือกใช้สกิลและ Summon ตามความเหมาะสม รวมถึงเลือกจัดเซ็ทอาวุธเพื่อเสริมพลังแก่ทีม ให้ออกมาตรงกับแนวการเล่นที่ต้องการมากที่สุด (ที่หลายคนเรียกกันว่า “จัดพูล”)

ทว่าสิ่งที่ค่อนข้างแตกต่างจากเกมอื่น ก็คือความสุดขั้วในการฟาร์มเพื่อให้ได้มาซึ่งอาวุธ รวมถึง Progression อันยาวเหยียดชนิดต้องเล่นกันหลายปีทีเดียวกว่าจะไปถึงคอนเทนต์ท้ายเกมได้ จึงทำให้คนเล่นเกิดอาการติดพัน เลิกไม่ลงเพราะเสียดายเวลาที่ฟาร์มมา แต่ถ้ามีคนถามว่าสนุกไหม หรือจะให้แนะนำมือใหม่ให้เข้ามาเล่น ก็คงต้องคิดแล้วคิดอีก (บางรายถึงกับบอกให้ “หนีไปปป” เลยก็มี)

ไม่ว่าจะเป็นดันโจว ด๊กต้า มาสเตอร์ นักเดินทาง หรือใครก็ล้วนต้อง “Thăm Ngàn”

ด้วยรูปแบบการฟาร์มอันแทบไม่สิ้นสุด ทำให้นี่เป็นเกมมือถือที่เล่นยากมากเกมหนึ่งสำหรับระยะยาว แต่กระนั้นด้วยความเอาใจใส่ของทีมงานตลอดมา ก็ทำให้ผู้เล่นรู้สึก “ทั้งรักทั้งเกลียด” กลายเป็นความเคยชินจนเอาประเด็นนี้มาล้อกันเป็นมีมบนอินเทอร์เน็ตไปแล้ว

Unite and Fight, ระบบ Guild War เพื่อประชันผลลัพธ์จากการฟาร์ม

ในบรรดาอีเวนต์ที่มีมากมายของ Granblue Fantasy จะมีอีเวนต์ Unite and Fight ที่เป็น Guild War ของเกม ซึ่งผู้เล่นขาประจำต่างโอดครวญเมื่อมันวนมาถึง

สำหรับการ “วอร์” ในแต่ละครั้ง จะเว้นระยะห่างกัน 2 เดือน โดยจะสับเปลี่ยนธีมไปตาม “ธาตุ” ในเกม ซึ่งมีทั้งหมด 6 ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม แสง มืด ทำให้ตลอดทั้งปี ผู้เล่นจะได้วอร์ครบทุกธาตุพอดี

รูปแบบการวอร์ของเกมนี้โดยคร่าว ๆ จะมี 2 ช่วง

  • ช่วงแรก เป็นการแข่งกันทำแต้มอันดับของแต่ละกิลด์ในรอบคัดเลือก
  • เมื่อเข้าสู่รอบ Final ก็จะมีการแบ่ง “Tier” เพื่อจับคู่กิลด์ที่เหมาะสมกัน มาแข่งทำแต้มกันแบบ 1 ต่อ 1 (สมาชิก 30 คน ปะทะ 30 คน)

โดยการทำแต้มนั้นจะมาจากการตีบอสของเกมที่ถูกทำขึ้นมาโดยเฉพาะ ภาพรวมที่ออกมา จึงเป็น “การแข่งกันฟาร์ม” ระหว่างกิลด์ ใครที่มีทีมแข็งแกร่งก็จะฆ่าบอสได้ไว และส่งผลให้ทำแต้มได้ไวกว่าด้วยนั่นเอง

ภาพอธิบายระบบโดยสังเขป

การวอร์ถือเป็นหนึ่งในหมุดหมายของผู้เล่น ที่จะได้ทำทีมมาเฉิดฉายในนี้ และมันก็ไม่ได้วัดกันแค่ความเก่งอย่างเดียว หากแต่รวมถึงความขยัน และความต่อเนื่องในการตีบอสด้วย

ข้อตกลง และการขอความร่วมมือให้ช่วยตีวอร์

ผู้เล่น 2 ประเภทที่พบได้ในวันวอร์

ด้วยรางวัลอันหอมหวาน ชัยชนะจึงเป็นสิ่งที่หลายกิลด์อยากได้ และนั่นทำให้มีข้อตกลงเกิดขึ้นระหว่างผู้เล่นมากมาย เพื่อขอความร่วมมือในการช่วยเหลือวอร์ เช่น ต้องทำคะแนนขั้นต่ำในรอบคัดเลือก และในรอบ Final ตามที่กำหนด, ตั้งเป้าว่าจะทำให้ได้อันดับใดเมื่อจบวอร์ หรือแม้กระทั่งต้องตื่นมาตั้งแต่ตี 5 เพื่อทำคะแนนทิ้งห่างกดดันคู่ต่อสู้ในแต่ละวัน ก็มีเหมือนกัน

นี่จึงเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้เลือกกิลด์ที่เหมาะกับตัวเอง ถ้าเป็นกิลด์ระดับสูงที่ต้องการคะแนนต่อวันสูง ก็ต้องประเมินว่าตนสามารถตีได้ตามนั้นจริง ๆ ไม่เข้าไปกินแรงเพื่อนรอรับรางวัลฟรี ซึ่งหากใครที่ไม่ใช่สายจริงจัง ก็อาจจะมองเป็นกิลด์ที่อยู่กันชิลล์ ๆ แพ้ชนะก็ไม่ซีเรียส แต่จะได้รางวัลที่ลดหลั่นลงมาตามสภาพแทน

จะเห็นได้ว่า Granblue มีระดับความจริงจังของวอร์ที่สูงพอสมควร ซึ่งหากมีสมาชิกคนใดหนี หายตัวไปไม่บอกกล่าว แอบอู้ ทำคะแนนไม่ถึงเป้า ก็ขึ้นอยู่กับหัวหน้าว่าจะจัดการอย่างไร จะไล่ออกเลยหรือให้ตีชดเชยในครั้งถัดไปแทนหรือไม่

ผู้เล่นเก่งขึ้น ทีมงานก็ยิ่งต้องทำให้ยากขึ้น

ด้วยความที่เกมอยู่มานาน ผู้เล่นก็เก่งขึ้นได้เรื่อย ๆ จากการฟาร์มสะสมในทุกวัน ทีมงานจึงต้องขยันเติมคอนเทนต์ท้ายเกมเข้ามาเรื่อย ๆ เพื่อให้มั่นใจว่านี่จะเป็น “ลูปการฟาร์มอันไม่สิ้นสุด” เปรียบประดุจการเล่นไล่จับระหว่างเกมเมอร์และนักพัฒนา

เช่นเดียวกันกับกิลด์วอร์ ที่เมื่อก่อนการจะตีบอสตัวย่อยต้องวางแผนอย่างดี แต่พอเกมอัปเดตจนผู้เล่นเก่งทะลุเพดานไปแล้ว จึงสามารถเปลี่ยนมาเป็นการวางแผนเพื่อทำ OTK (ฆ่าในหนึ่งเทิร์น) หรือแม้กระทั่งทำ OTK แบบกดแค่ 2 สกิล, 1 สกิล หรือไม่กดเลยก็มีเหมือนกัน เพื่อให้ทำแต้มออกมาได้ไวที่สุด จนพักหลังก็เริ่มลามไปยันการทำ OTK กับบอสตัวใหญ่กันแล้ว

นี่จึงเป็นหน้าที่ของทีมงานที่จะต้องสร้างกำแพงหนาขึ้นกว่าเดิม ทำบอสให้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกรอบ ไม่ว่าจะเป็นการใส่ดีบัฟสุดกวน หรือใส่ท่าไม้ตายบอสที่แก้ทางทีม Meta ขณะนั้นได้ สุดสารพัดวิธีจะตะโกนหาสรรหามาใช้ จนบางครั้งก็มีกระทั่งกลไกของบอสที่แก้ทางได้ด้วยตัวละครที่เพิ่งอัปเดตใหม่ก่อนวอร์ไม่นาน กลายเป็นว่าทุกครั้งในช่วงที่ใกล้จะถึงวอร์ ผู้เล่นต้องคอยจับตามองตัวละครใหม่ในตู้กาชา หรือตัวละครที่มีการ “บัฟ” เอาไว้ให้ดี เพราะมีสิทธิ์จะเฉิดฉายสูงมาก

แต่แม้ว่าทีมงานจะทำให้ยากเพียงใด สุดท้ายแนวโน้มที่ออกมา คะแนนในภาพรวมก็เฟ้อขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ดี ไม่ว่าจะปัจจัยเรื่องผู้เล่นเก่งขึ้น หรือการที่อัปเดตให้ตีวอร์แบบ Full Auto ได้ ก็ล้วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

ตัวอย่างทวีตด้านบนนี้ เป็นตารางสรุปคะแนนผู้เล่นที่ทำได้ในรอบคัดเลือกเมื่อวอร์ครั้งก่อน (วอร์ธาตุมืด – คอลัมน์สีม่วง) เทียบกับวอร์ล่าสุดที่เพิ่งจบรอบคัดเลือกไปเมื่อวันที่ 16 มกราคม (วอร์ธาตุแสง – คอลัมน์สีเหลือง) เผยให้เห็นว่าคะแนนที่ผู้เล่นทำได้นั้นยังคงเติบโตขึ้นจากคราวที่แล้ว มีเพียงกิลด์ระดับบน ๆ 300 อันดับแรกเท่านั้นที่ทำคะแนนรอบคัดเลือกต่ำลงกว่าเดิมเล็กน้อย

จากทวีตด้านบนนี้เป็นอีกตัวอย่างของความ “สุดโต่ง” อันเป็นภาพคะแนนของกิลด์ pleiades กิลด์อันดับต้น ๆ ของเกม ที่พ่ายแพ้ฝ่ายตรงข้ามไปแบบสูสี โดยทำไปแทบจะถึง 3 หมื่นล้านคะแนนทีเดียวในวันนั้น

ตัวเลขนี้บ่งบอกถึงความโหดอย่างไร ? เราคำนวณมาคร่าว ๆ ได้ดังนี้

  • ทวีตดังกล่าวของหัวหน้ากิลด์ มาจากวันที่ 18 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นรอบ Final วันที่ 2 จาก 4 วัน บอสที่ยากที่สุดขณะนั้นคือบอสเลเวล 95 ที่ฆ่าแล้วได้ประมาณ 9 แสนคะแนนต่อตัว
  • กิลด์ที่ชนะ ทำคะแนนรวมประมาณ 28,000 ล้าน
  • สมาชิกในกิลด์มีสูงสุดได้ 30 คน แปลว่าเฉลี่ยคนละ 933 ล้านคะแนน
  • หมายความว่าสมาชิกทุกคนต้องตีบอส (คาดว่าน่าจะ Solo เองได้อยู่แล้ว) คนละประมาณ 1,000 ตัวต่อ 1 วัน
  • เวลาในการวอร์ เริ่มตั้งแต่ตี 5 ไปจนถึง 4 ทุ่มตามเวลาประเทศไทย รวมถึงสิ้น 17 ชั่วโมง หรือ 1,020 นาที
  • โดยสรุป สมาชิกต้องฆ่าบอสให้ได้โดยเฉลี่ยนาทีละ 1 ตัวแบบไม่มีพัก
  • ส่วนตัวผู้เขียนต้องบอกสั้น ๆ ว่า “เหนือมนุษย์” เพราะลำพังผู้เล่นระดับสูงที่เล่นมานาน บางคนยังใช้เวลา Solo ตัวละ 4-5 นาทีเสียด้วยซ้ำ

จากตัวอย่างที่เรายกมานี้ คือบรรดาผู้เล่นที่ไปจนสุดทางในด้านการวอร์โดยแท้จริง แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้เล่นอีกมากที่พยายามอย่างเต็มที่ เท่าที่จะแบ่งเวลาจากภาระการงานในแต่ละวันมาเล่นไหว โดยไม่เดือดร้อนจนเกินไปนัก

สรุปแล้ว “ท้าทาย” หรือ “หน้าที่” ?

Yukihana Lamy หนึ่งในวีทูบเบอร์ขี้เมาชื่อดัง ก็ให้กำลังใจแฟนคลับมาแล้ว ในยามศึก Guild War ของ Granblue

Unite and Fight คืออีเวนต์ที่คุณสามารถมีส่วนร่วมได้หลายแบบ จะเป็นแนวหน้าปั่นคะแนนไม่ยั้ง เพื่อรับผลตอบแทนที่สูง หรือจะตีสบาย ๆ ปล่อยแพ้ทำแต้มขั้นต่ำ เอาของรางวัลเท่าที่พึงพอใจ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของทั้งกิลด์

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้เล่นสามารถหาจุดที่เหมาะสมในการวอร์ ได้เจอกับคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ ทำแต้มเบียดกันตลอดวันจนต้องวัดกันยันนาทีสุดท้าย ก็ถือเป็นความสนุกท้าทาย ยิ่งถ้าชนะมาแบบฉิวเฉียด โมเมนต์ตอนได้ขอบคุณสมาชิกทุกคนที่ร่วมเหน็ดเหนื่อยมาด้วยกัน ถือว่าน่าประทับใจไม่น้อยเลย

นอกจากนั้นก็ยังมีความท้าทายที่จะแข่งกันเองขำ ๆ ภายในกิลด์ได้ด้วย ว่าใครจะทำแต้มได้เป็นอันดับ 1 ซึ่งถึงคนที่ทำแต้มเยอะสุดจะไม่ได้รับรางวัลเยอะกว่าคนอื่น (ในวันนั้น ๆ) แต่ก็เป็นอีกแรงจูงใจสำหรับผู้เล่น End-game ที่มองหาความท้าทายใหม่ ๆ วัดกันว่าใครจะเป็นที่สุดของแต่ละธาตุ ไม่ใช่แค่ว่าทำแต้มให้ถึงขั้นต่ำเสร็จก็เลิกแล้วกันไป

ในอีกมุมมองหนึ่ง สำหรับกิลด์ที่จริงจังกับวอร์ นี่ก็เป็น “หน้าที่” ที่คุณควรจะต้องทำตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้แต่แรก แม้มันอาจดูโอเวอร์ไปนิดสำหรับเกมมือถือ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือการเข้าสังคมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหาก “หน้าที่” นี้มันหนักหนา เบียดเบียนเวลาชีวิตจนคุณไม่มีความสุข ทางแก้ก็คงต้องพูดคุยเจรจาเงื่อนไขกัน หรือเลือกจะเดินจากกิลด์นั้น ๆ ออกมา เพราะนั่นอาจไม่ใช่ที่ ๆ เหมาะสมสำหรับคุณ

ดังนั้น ถ้าผู้เล่นยังคงสนุกกับเกมนี้อยู่ การตีวอร์ก็จะมอบความ “ท้าทาย” ให้ได้แน่นอน แม้จะเป็น “หน้าที่” ที่ต้องทำด้วย

แต่สำหรับกิลด์ไหนที่เป็นศูนย์รวมของคนหมดไฟ ผ่อนปรนความจริงจังลงมาแล้ว การตีวอร์ก็เป็นเพียง “หน้าที่” อย่างเดียว ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ได้แย่นัก หากจุดที่คุณอยู่คือบาลานซ์ที่คุณโอเคกับมันแล้ว

สุดท้ายนี้. Granblue ไม่ได้มีแค่เรื่องวอร์ แต่ยังมีเทศกาลแจกฟรีที่ใครก็ชอบ

ไลฟ์สตรีมล่าสุดของงาน Granblue Fes 2020 ก็ยังคงมีของมาแจกผู้เล่นมากมายเหมือนเคย

แม้ตลอดที่กล่าวมาจะดูเหมือนเกมนี้ช่างทารุณกับผู้เล่นเหลือเกิน แต่ในอีกมุมหนึ่ง ทีมงานก็มีลูกล่อลูกชน เหนี่ยวรั้งไม่ให้คนเลิกเล่นไปเสียก่อนได้ตลอด นั่นก็คือมหกรรมการแจกไอเท็มฟรีนั่นเอง

โดยปกติในปีหนึ่ง ๆ Granblue มีการแจกฟรีหลายช่วงมาก แถมมาแต่ละทีก็แจกหนักแจกจริงราวกับเกมจะเจ๊งให้ได้ (แต่ Cygames ก็ยังดูอู้ฟู่ดี) และอีเวนต์เหล่านี้ก็คือ “สิ่งเติมพลัง” ที่จะทำให้ผู้เล่นกลับมามีไฟอีกครั้ง ใครที่เงียบหายไปนานคลับคล้ายว่าจะเลิกเล่นไปแล้ว พอถึงช่วงนี้ทีไรก็จะคืนชีพกลับมากดกาชาฟรีกันทุกราย จนมีชื่อเรียกกลุ่มคนเหล่านี้กันขำ ๆ ว่า “Seasonal Player” (ผู้เล่นตามฤดูกาล)

เช่นเดียวกันกับวอร์ที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะบทจะแจกฟรี ทีมงานก็หาเรื่องมาแจกเยอะขึ้นได้ทุกปี โดยฟีเจอร์เด็ดขณะนี้ที่หลายคนไม่เคยเบื่อหน่ายเลย ก็คือ “รูเล็ต” ที่ทุกวันช่วงกิจกรรม จะได้หมุนเสี่ยงโชคว่าคุณจะได้สิทธิ์กดกาชาฟรีกี่ครั้ง มีตั้งแต่ 10, 20, 30, 100 จนถึง 200 ครั้งทีเดียว และหลัง ๆ ก็หนักข้อไปขนาดว่ามีระบบเป่ายิงฉุบเพื่อคูณจำนวนกดฟรีเป็น 2 เท่าได้อีก แถมมีการันตีกดฟรี 200 ครั้งในวันสุดท้ายด้วย

เมื่อกดกาชาได้ตัวละครดี ๆ -> ผู้เล่นก็จะกลับมามีไฟเล่น มีแรงฮึดปั้นตัวละครที่ได้มาใหม่ -> เอาไปฟาร์มต่อ -> และมาจบที่วอร์ ตีกันจนเบื่อหน่ายไปข้าง รอช่วงแจกฟรีวนมาอีก เป็นวัฏจักรที่หล่อเลี้ยงให้ Granblue Fantasy อยู่ยืนยงมาได้จนเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเกมกาชาที่มีความครบรส และมีคอนเทนต์ระบบ Guild War ที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว.. แม้จะไม่ค่อยน่าหลวมตัวเข้าไปลอง “ทำหน้าที่” เองสักเท่าไรนัก

เล่น Granblue ได้ที่นี่ – http://game.granbluefantasy.jp

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก – http://game.granbluefantasy.jp

Memes – Granblue Fantasy International Facebook

Satthathan Chanchartree

ฟ่าง - Content Writer

Back to top