สำหรับแฟนเกมต่อสู้สองมิติ หลายคนย่อมต้องคุ้นเคยกับท่าปล่อยพลังอย่าง Hadouken หรือหมัดพลังคลื่นกันอย่างแน่นอนซึ่งในโลกของการต่อสู้ในชีวิตจริงนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะได้เห็นคนเราปล่อยพลังใส่กันแบบในหนังการ์ตูนหรือในเกมได้ เพราะแบบนั้นมันจึงดูตื่นตาตื่นใจ นอกจากนั้นการมาของท่า Hadouken นั้นยังเปลี่ยนรูปแบบการเล่นของเกมต่อสู้สองมิติไปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ย้อนกลับไปในยุคที่ Street Fighter II ได้รับความนิยมอย่างสูง ภาพชินตาที่เราเห็นอยู่เสมอคือการสงครามการปล่อยพลังระหว่างสองผู้เล่น ซึ่งทำให้ศัพท์เฉพาะอย่าง Spam และ Shotokan Style ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้และใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการเกมต่อสู้ และเพราะมันช่วยให้ผู้เล่นสามารถรักษาระยะห่างจากคู่ต่อสู้ได้ ทำให้มันถูกใช้เพื่อบังคับให้คู่ต่อสู้ถอยห่างจากเราเพื่อสร้างพื้นที่ให้เราเดินเกมได้อย่างสะดวก เป็นหนึ่งในยุทธวิธีที่ผู้เล่นใช้กันแพร่หลาย แม้แต่ในการแข่งขัน แต่ผู้ใช้ก็ต้องมองระยะห่างในการปล่อยพลังด้วย
ซึ่งท่า Hadouken และการปล่อยพลังแบบอื่น ๆ นั้นมีความสำคัญกับเกมอย่าง Street Fighter หรือเกมต่อสู้สองมิติอื่น ๆ เพราะมันทำให้การรักษาระยะห่างนั้นมีความหมายมากขึ้นไม่ใช่แค่สร้างความเสียหายให้กับคู่ต่อสู้เท่านั้น ในขณะที่เกมอย่าง Tekken นั้นมีการเคลื่อนแบบ 360 องศา และการหลบลูกพลังนั้นทำได้ง่ายกว่าไม่ใช่แค่กระโดดเท่านั้น หรือเกมสองมิติแนว Air Dasher อื่น ๆ เช่น Marvel vs Capcom ที่มีพื้นที่ให้ผู้เล่นเคลื่อนไหวในแนวตั้งมากขึ้น และ Super Smash Bros.ที่ฉากของเกมมีความหลากหลายในเรื่องของพื้นที่หลากหลาย จนทำให้ Fireball Game ลดความสำคัญลงไป แต่ถ้าหากเป็นเกมที่มีการเคลื่อนไหวในแนวนอนเป็นหลักนั้น การใช้ท่าปล่อยพลังแบบ Hadouken จึงเป็นสิ่งที่เอาไว้ช่วยในเรื่องของการสร้างระยะไปโดยปริยาย(สำหรับเรื่องการรักษาระยะในเกมต่อสู้จะขอยกไปพูดเต็ม ๆ ในบทความหน้าครับ)
การมีอยู่ของท่า Hadouken จะเป็นการบังคับให้คู่ต่อสู้ต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในตัวละครที่ไม่มีท่าปล่อยพลัง ผู้เล่นที่เก่งจะสามารถกะระยะในการปล่อยพลังได้ดี เพื่อบีบให้คู่ต่อสู้เข้าหาในแบบที่เราต้องการ เช่น Jump in เข้ามาในระยะที่สามารถสวนกลับได้ด้วยท่า DP(Dragon Punch) ทั้งหลาย แต่เรื่องนี้จะทำได้ยากขึ้นถ้าหากเราเจอตัวละครที่มีท่าที่สามารถพุ่งเข้าหาได้ทันทีในระยะที่ไกลมาก เช่นตัวละครที่มี Dive Kick หรือท่าหลบลูกพลังแบบต่าง ๆ นั้นยิ่งทำให้ศาสตร์ของการปล่อยท่า Hadouken มีความลึกขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นรูปแบบการเล่นที่ต้องอาศัยการเดาใจในอีกแบบหนึ่งขึ้นมา
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าผู้เล่นบางคนถึงกับเคยเอ่ยว่า ท่า Hadouken คือท่าที่มีไว้เพื่อฆ่าผู้เล่นแบบ Casual โดยเฉพาะ เพราะผู้เล่นมือใหม่มักจะทำตัวไม่ถูกหรือคาดเดาได้ง่ายเวลาที่ถูก Spam ด้วยท่าปล่อยพลังรัว ๆ ถ้าไม่กันอยู่กับที่จนตายไปเองก็กระโดดเข้าไปโดน DP จนอิ่มหนำ แต่นั้นก็เป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่ง เป็นสไตล์การเล่นที่ผู้เล่นใช้เอาชนะคู่ต่อสู้ ถ้าต้องการเอาชนะก็ต้องหาวิธีแก้ตามที่ผู้เขียนได้อธิบายไปก่อนหน้า ถ้าหากเรียนรู้และแก้ไขได้ก็ถือว่าฝีมือของเราพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น และเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของเกมต่อสู้แบบสองมิติที่ชัดเจนมากที่สุด
อีกข้อหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะอธิบายเรื่องของ Hadouken ได้ดีอีกอย่างก็คือการ Bluff ถ้าหากคิดว่าการเล่นเกมต่อสู้นั้นเหมือนกับการประลองบนโต๊ะพนันไพ่ Poker ที่ใช้ดวงน้อยลงมา หากแต่ยังต้องใช้ฝีมือในการ Bluff คู่ต่อสู้ที่เราคิดว่าถือไพ่เหนือกว่าได้ การหลอกให้คู่ต่อสู้กะระยะพลาดจากการหลบลูกพลังของเราถือเป็นการ Bluff อย่างหนึ่งที่ผู้เล่นสามารถทำได้ และยังมีอีกหลายวิธีโดยมีท่าปล่อยพลังเป็นส่วนประกอบ เป็นการต่อสู้อีกต่อหนึ่งนอกจากในจอ แต่เป็นนอกจอที่ผู้เล่นต้องใช้ชั้นเชิงในการหลอกล่อคู่ต่อสู้ให้มากที่สุดด้วยเช่นกัน(เกมอย่าง Tekken ก็มีรูปแบบการ Bluff ที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้เล่นด้วยเช่นกัน แต่จะแตกต่างกันออกไปอีกแบบหนึ่ง) ได้ผลมากหรือน้อยนั้นก็อยู่รูปแบบการเล่นว่าสามารถหลอกล่อให้คู่ต่อสู้ทำตามที่เราวางแผนเอาไว้หรือเปล่า
จะเห็นได้ว่าท่า Hadouken เพียงท่าเดียวนั้นช่วยให้เกมต่อสู้แบบสองมิติมีรูปแบบการเล่นที่แตกต่างและหลากหลายมากกว่าแค่การเตะต่อยเพียงอย่างเดียว และก็มีหลายเกมที่นำรูปแบบของท่าปล่อยพลังไปปรับใช้กับเกมของตัวเองอย่างหลากหลายและพัฒนาขึ้นตามกาลเวลา และเพิ่มความลุ่มลึกให้กับระบบการเล่นของเกมต่อสู้ในยุคนี้อย่างมาก จนเป็นศาสตร์ที่ควรค่าแก่การศึกษาเพื่อพัฒนาความคิดและฝีมือให้มีติดตัวและปรับใช้กับเกมแนวอื่น ๆ ได้อีกด้วยครับ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง – Analysis: How the Hadouken Reinvented 2D Fighting