BY Markrider
21 Apr 23 11:26 am

รู้จักกลุ่มอุปกรณ์ เกมพกพา ก่อนลุยตลาดปี 2023

135 Views

Project Q Lite ของ Sony น่าจะเป็นตัวปลุกกระแสให้คนกลับมานึกถึง เกมพกพา กันมากขึ้น หลังจาก PlayStation Portable เคยปลุกกระแสสงครามความดุเดือดของเครื่องเล่นชนิดนี้มาก่อน น่าเสียดายที่ความตื่นเต้นมันอยู่ได้ไม่นาน เพราะหลังจากนั้นไม่กี่ปี Nintendo ก็แทบจะครองตลาดส่วนนี้อย่างเบ็ดเสร็จ

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีมีความก้าวล้ำไปมากกว่าเดิม และนั่นรวมถึงเทคโนโลยีของเครื่องพกพาด้วย ทำให้ ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เกมบางชนิดเท่านั้นที่เราพกไปเล่นนอกบ้านได้ เราพกไปได้หมดแม้กระทั่งเกม PC ด้วยซ้ำ

ใครที่ห่างหายจากวงการนี้ไปนาน และกำลังตื่นเต้นกับ Project Q Lite มาดูกันหน่อยว่า ตลาด เกมพกพา ในปี 2023 ไปไกลมากแค่ไหนแล้วในวันนี้

กลุ่ม Corperate Console

ซื้อมาเพื่อ: เล่นเกมเฟิร์สปาร์ตี้

งบประมาณ: 6,000 – 15,000 บาท

กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว กับคอนโซลที่ผลิตโดยบริษัทใหญ่ ๆ เช่น Nintendo หรือ Sony แน่นอนว่าในกลุ่มนี้ Nintendo ครองตลาดมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัย Game Boy จนถึง ณ วันนี้ Nintendo Switch ก็นับว่าเป็น Corperate Console เครื่องเดียวที่ยังอยู่รอดในปัจจุบัน ในขณะที่เพื่อน ๆ อย่างพวก PS Vita และอื่น ๆ ตายหมดตลาดแล้ว

กลุ่ม Streaming/Tablet

ซื้อมาเพื่อ: สตรีมมิ่ง, มัลติมีเดีย

งบประมาณ: 9,000 – 12,000 บาท

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่กำลังได้รับความนิยมในตลาด และ Project Q Lite ของ Sony ก็น่าจะจัดหมวดหมู่อยู่ในประเภทนี้ ความสามารถที่เน้นย้ำของกลุ่มนี้คือ “ความพร้อม” ในการเล่นเกมแบบ Streaming มาจากแหล่งไหนแหล่งใดก็ตาม ให้ได้คุณภาพมากที่สุด ทั้งเรื่องประสิทธิภาพ งานประกอบ และความสะดวกสบายในการจับถือ  เหนือกว่าอุปกรณ์อื่น ๆ อย่างเช่น Smartphone ของเราที่ Streaming ได้เหมือนกัน 

เครื่องที่คนฝั่งตะวันตกน่าจะชอบกันมากคือ Logitech G Cloud ด้วยขนาดที่กำลังพอดี งานประกอบโอเค จอสวย แต่ราคาไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไหร่นัก ทำให้ Abxylute น้องใหม่กำลังจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ส่วน Razer Edge แม้รูปลักษณ์จะสู้ทั้งสองเครื่องไม่ได้ แต่เขาขายความเป็น Tablet ในตัว คือสามารถถอดประกอบคอนโทรลเลอร์ได้อย่างอิสระ ทำให้ยืดหยุ่นที่สุดนั่นเอง

แต่ใด ๆ ก็ตาม อุปกรณ์ IoT หลายอย่างในบ้านใช้บริการสตรีมมิ่งได้อยู่แล้ว ขอเพียงมี WIFI 6 ในตัว ประสิทธิภาพการสตรีมมิ่งก็จะเท่ากับอุปกรณ์เหล่านี้ทันที

กลุ่ม Single Board Computer (SBC)

ซื้อมาเพื่อ: เล่นเกมแอนดรอยด์, เล่นเกมเก่าผ่านอีมูเลเตอร์

งบประมาณ: 1,000 – 15,000 บาท

กลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มนี้ลึกที่สุดในตลาด เพราะมันเป็นกลุ่มของคนเล่นอุปกรณ์ IoT ประเภท SBC ถ้านึกไม่ออกให้นึกถึงนักศึกษาที่นั่งทำพวกกระจกอัจฉริยะ หรือกล่องทีวีอะไรพวกนั้นแหละ เพราะมันคือการดัดแปลงเอาบอร์ดพวกนี้มาทำเป็นเครื่องเกม ซึ่งในทางทฤษฏี ใครก็สามารถทำได้ถ้ามีความรู้เพียงพอ

เครื่องเล่นในกลุ่มนี้จะแตกแขนงออกไปเยอะมาก ในกลุ่มประสิทธิภาพต่ำก็อาจจะเป็นเครื่อง Linux เน้นเล่นอีมูเลเตอร์เกมเก่า ๆ สมัยเกมบอย อะไรเทือกนั้นเลย ส่วนกลุ่มประสิทธิภาพสูงทุกวันนี้แทบจะใช้ชิปเซ็ตตัวเดียวกับสมาร์ทโฟนแล้ว

และเนื่องจากชิปเซ็ตมันเป็น ARM ทำให้มันใช้งานแอนดรอยด์ได้ เครื่องในกลุ่มนี้เลยเล่นเกมแอนดรอยด์ได้ไปโดยปริยาย แต่จุดประสงค์จริง ๆ ของมันก็คือการนำมาเล่นอีมูเลเตอร์เกมเก่า ๆ นั่นแหละ

กลุ่ม Ultra Micro PC (UMP)

ซื้อมาเพื่อ: เล่นเกม PC นอกสถานที่, ทำงาน

งบประมาณ: 17,000 – 50,000 บาท

กลุ่มนี้คือกลุ่มที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะการถือกำเนิดของ Steam Deck ที่ถึงจะไม่ใช่ UMP ตัวแรกของโลก แต่มันคือ UMP ที่สมบูรณ์แบบมากพอจะเล่นเกมระดับ AAA ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ตรงนี้เป็นเพราะเทคโนโลยีต่าง ๆ มันพร้อมสนับสนุนให้ iGPU ทำงานได้ดีกว่าที่ผ่าน ๆ มา

แต่ถึงแม้ว่า Steam Deck จะเป็นเครื่องที่ได้รับความนิยมที่สุด แต่มันไม่ใช่เครื่องที่ประสิทธิภาพสูงที่สุด เพราะทุกวันนี้มีคอนโซลที่ใช้ AMD Ryzen 7 6800u โผล่ขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ความสามารถของมันมากกว่า Steam Deck ราว ๆ สองเท่าได้ แต่ก็กินกำลังไฟกว่าเป็นเท่าตัวเช่นกัน ส่วนเรื่องราคาก็ต้องคูณสองไปด้วย

ทำให้ตอนนี้ Steam Deck ยังไม่มีคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อเสียที ได้แต่หวังว่า ROG Ally ที่กำลังจะมาในอนาคตนี้ จะเปิดราคาที่ไม่ห่างกันมาก ซึ่งจากข่าวลือล่าสุด ราคาอาจจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 700 เหรียญฯ (ประมาณ 24,000 บาท) และถ้าเป็นราคานี้จริง ตลาดแตกแน่นอน

Nattapit Arsirawatvanit

มาร์ค - Senior Content Writer

Back to top