โจรปล้นใจพาทุกท่านย้อนอดีตไปชมประัวัติศาสตร์ความเป็นมาของเกมแนว Fighting กว่าจะมาเป็นเกมแนวต่อสู้อย่างที่เรารู้จักกันในทุกๆวันนี้ เกมแนว Fighting ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านอะไรมาบ้างไปชมกันเลย
History of Fighting Game
Fighting Game หรือเกมต่อสู้ คือแนวเกมที่มีผู้เล่นสองคนปะทะกันด้วยศิลปะการต่อสู้หรือท่าพลังในรูปแบบต่างๆ ใครที่พลังหมดก่อนหรือเมื่อเวลาหมดลงแล้วเหลือพลังน้อยกว่าก็จะเป็นฝ่ายแพ้ แม้จะมีกติกาและรูปแบบการเล่นที่เข้าใจได้ง่าย แต่เกมต่อสู้เป็นหนึ่งในแนวเกมที่เล่นให้เก่งยากที่สุดแนวหนึ่ง พอๆกับแนว Turn Base หรือ Simulation ที่มีสูตรพลิกแพลงมากมาย แม้จะมีความยากสูงที่จะเล่นให้เก่ง แต่กระนั้นมันก็ยังได้รับความนิยมและถูกบรรจุเข้าสู่รายการแข่งขัน E – Sports รายการใหญ่ๆอยู่บ่อยครั้ง และทุกๆครั้งก็จะมีคนให้ความสนใจอย่างล้นหลามเสมอๆ
จุดเริ่มต้นของเกมต่อสู้
เกมต่อสู้มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน เกมแรกที่สามารถนับเป็น Fighting เกมแรกของโลกได้ก็คือ Heavyweight Champ เกมชกมวยบนตู้อาเคตของค่าย SEGA ที่ออกมาให้เล่นกันครั้งแรกในปี 1976 หลังจากนั้นก็เป็น Karate Champ ในปี 1984 โดย Data East ที่เริ่มมีลูกเล่นมากขึ้นอย่างการโจมตีบนกลางล่าง ท่ากระโดดเตะ หรือฉากโบนัสและโหมดฝึกซ้อมที่กลายเป็นโหมดการเล่นที่ต้องมีทุกเกมในปัจจุบัน
แต่ถ้าจะนับเกมที่เริ่มปลุกกระแสเกมต่อสู้ได้อย่างเป็นจริงเป็นจังแล้วล่ะก็ ต้องยกให้ Yie Ar Kung Fu ของ Konami ในปี 1985 ที่ต่อยอดเพิ่มเติมจาก Karate Champ ด้วยการใส่ระบบบังคับ8ทิศทางและการกดปุ่มทิศทางพร้อมกับการโจมตีออกมาเป็นท่าไม้ตาย และยังมีท่าคอมโบที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของเกมแนวนี้ใส่มาอีกด้วย เพิ่มความแปลกใหม่ให้กับเกมการเล่นมากๆ และเป็นเกมต่อสู้เกมแรกที่เป็นรูปเป็นร่างแบบในปัจจุบัน
ยุคทองของเกมต่อสู้
ในปี 1987 Capcom ได้เริ่มวางตลาด Street Fighter ภาคแรกลงเครื่องอาเคต มันมาพร้อมกับระบบการป้องการโจมตีเพิ่มเข้ามา ปละเป็นเกมแรงที่ผู้เล่นสามารถหยอดเหรียญเข้ามาท้าสู้กับผู้เล่นที่เล่นอยู่ก่อนได้เป็นเกมแรกอีกด้วย แต่กระนั้นตัวละครที่ให้ผู้เล่นสามารถเลือกเล่นได้ก็มีเพียงแค่สองตัว คือริวและเคนเท่านั้น จนกระทั้งในปี 1991 Street Fighter II ก็ได้ออกมาลงตู้อาเคตอีกครั้ง คราวนี้มาพร้อมกับตัวละครให้เล่นได้เลย8ตัวและบอสอีก4ตัว ด้วยความสนุกที่ได้สู้กับผู้เล่นอื่นและระบบการเล่นทั้งการทำคอมโบ การป้องกัน รูปแบบการเล่นที่มีทั้งรุกและรับ ที่ทำออกมาได้ลงตัวอย่างมาก ประกอบกับมีตัวละครให้เลือกใช้และบอสลับให้สู้ ทำให้ Street Fighter II ดังเป็นพลุแตกในเวลาอันรวดเร็ว ไม่มีร้านเกมตู้ร้านไหนที่ไม่มีเกมนี้ให้หยอดเล่น และไม่มีตู้ใดว่างจนกระทั้งเวลาปิดร้าน กลายเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในวงการวิดีโอเกมทีเดียว
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็มีเกม Fighting อีกหลายเกมออกตามหลังมาอีกมากมาย บ้างก็น่าจดจำ เช่นตำนานหมาป่ากระหายเลือด Garou Densetsu หรือ Fatal Fury,จิตวิญญาณแห่งซามูไรที่เป็นเกมต่อสู้ดวลดาบอย่าง Samurai Spirit และราชันย์เจ้านักสู้ สู้กันเป็นทีม ทีมละ3คน The King of Fighters ของค่าย SNK เกมสุดโหดเลือดสาดสุดอื้อฉาวอย่าง Mortal Kombat ของ Midway เป็นต้น บ้างก็พยายามนำเสนอไอเดียใหม่ๆอย่างระบบสามมิติอย่างเช่น Dark Edge ของ Sega แต่เนื่องจากเทคโนโลยีในสมัยนั้นยังไม่ดีพอ รวมกับความไม่สนุกของเกม ทำให้เกมนี้ไม่ถูกจดจำอีกต่อไป
เรียกได้ว่าช่วงปี90 ตอนต้นๆนั้นเป็นช่วงบูมที่สุดวงการเกมไฟท์ติ้งเลยก็ว่าได้
ขยับขยายสู่ระบบสามมิติ
ในปี 1993 SEGA ก็ได้เขย่าวงการเกมต่อสู้อีกครั้ง ด้วยการเปิดตัว Virtua Fighters เกมต่อสู้ที่มีกราฟฟิกเป็นสามมิติจริงๆเป็นเจ้าแรก มาพร้อมกับระบบที่ใช้เพียงแค่สามปุ่มเท่านั้น(ต่อย,เตะ,ป้องกัน) ซึ่งก็สร้างความฮือฮาและความแปลกใหม่ในสมัยนั้นอย่างมาก ทำให้มีเกมต่อสู้แนวนี้ออกตามอีกเป็นพรวน เช่น Tekken และ Soul Edge ของ Namco ที่นับได้ว่าเป็นคู่แข่งสำคัญเลยทีเดียว และทั้งสองเกมก็มีภาคต่อมายาวนานจนถึงปัจจุบัน Dead or Alive ที่เน้นขายตัวละครหญิงเป็นสำคัญจนบางคนอาจจะลืมไปว่านี่เป็นเกมต่อสู้ ไม่ใช่เกมโป๊ 18+ และก่อนหน้า Street Fighter IV Capcom ก็เคยออก Street Fighter ในรูปสามมิติออกมาให้เล่นกันในชื่อ Street Fighter EX อีกด้วย
หรือแม้กระทั้งค่าย Nintendo ก็ยังกระโดดมาร่วมแจมในวงการเกมต่อสู้ กับเกม Smash Brothers รวมตัวละครดังๆจากค่ายของตัวเองมาตะลุมบอนในฉากด้วยอาวุธและอุปกรณ์เสริมต่างๆในฉาก แม้แฟนเกมบางคนจะไม่นับว่าเกมนี้เป็นเกมต่อสู้ แต่ถ้าหากมันสามารถนำมาแข่งขันกันได้และผู้เล่นต้องใช้ทักษะส่วนตัวมากกว่าความสามารถของตัวละคร ก็คงนับได้ว่าเกมนี้ก็เป็นเกมต่อสู้ได้เช่นกัน
ข้ามเกมกันไปชก เทรนด์ใหม่มาแรง
ในปี 1996 Capcom ได้วางจำหน่ายเกมต่อสู้ที่เอาตัวละครจากเกมของค่ายตัวเองอย่าง Street Fighter และเหล่าฮีโร่จากทีม X-Men ของ Marvel Comics มาต่อยกันบนตู้อาเคตอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ยกเอาตัวละครของทั้งสองค่ายมาสู้กันเท่านั้น แต่ยังใส่ระบบใหม่อย่างการสู้แบบ Tag Team เปลี่ยนตัวเล่น1ใน2คนได้อย่างอิสระ พร้อมท่าไม้ตายแบบผสานที่รุนแรงและประทับใจ และนั้นก็ทำให้ Capcom กลายเป็นค่ายเกมที่ทำการ Cross over หรือการ”จับตัวละครของทั้งสองเกมมาอยู่ด้วยกัน” บ่อยที่สุดค่ายหนึ่งเลยทีเดียว
เพราะหลังจากนั้น Capcom ก็ได้ออกภาคต่อก็คือ Marvel Super Heroes vs. Street Fighter และ Marvel Super Heroes vs. Capcom ออกต่อกันมาติดๆแบบปีต่อปี และทั้งสามเกมก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจนมีภาคต่อมาและใช้แข่งขันกันในการแข่งใหญ่ๆมากมายอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ Capcom เองก็ยังเคยข้ามค่ายไปต่อยกับค่ายอื่นๆนอกจากนี้ด้วย เช่นเจอกับ SNK ใน Capcom vs SNK 1และ2(และ SVC Chaos SNK vs Capcom ที่สร้างโดย SNK อีกหนึ่งเกม) กับ Namco ใน Street Fighter x Tekken (และจะมี Tekken x Street Fighter โดย Namco ที่จะออกในอนาคต) และกับเหล่าพระเอกนางเอกของค่ายอนิเมชั่นชื่อดัง Tatsunoko ใน Tatsunoko vs Capcom นอกจากนี้ก็ยังมีเกมอื่นๆเช่น Mortal Kombat vs DC. Universe และ Playstation All Star Battle Royal ที่เป็นเกม Cross Over ข้ามค่ายด้วยอีกเช่นกัน
Doujin Soft ทางเลือกของทีมพัฒนาขนาดเล็กในญี่ปุ่น
แม้การแข่งขันในตลาดหลักจะร้อนแรง แต่ก็ยังเหลือที่ว่างให้กับทีมพัฒนาที่มีทุนน้อยเสมอ โดยมีทีมพัฒนาเล็กๆหลายค่ายเลือกที่จะใช้งานรวมผลคนการ์ตูนที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นอย่าง Comic Market หรือ Comiket เป็นตลาดในการวางจำหน่ายชิ้นงานของตนเองสู่สารธารณะชน อย่างเช่น French Bread กับ Glove on Fight และ Melty Blood ที่ส่งพวกเขาให้ได้ร่วมงานกับทาง Sega วางจำหน่าย Melty Blood บนเครื่องตามบ้านและบนอาเคต หรือ Team Shanghai Alice กับซีรีย์ Touhou ที่สร้างฐานแฟนๆเฉพาะกลุ่มขนาดใหญ่ขึ้นมาอย่างแพร่หลายด้วยเกม Immaterial and Missing Power และภาคต่ออย่าง Scarlet Weather Rhapsody ที่มาในแนวแปลก เป็นกึ่งๆเกม Fighting และ Shooting ในเกมเดียวกัน และยังมีระบบจัดชุดการ์ดเพื่อเอาไว้เสริมความสามารถในรูปแบบต่างๆระหว่างเล่นอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเกมต่อสู้ที่แจ้งเกิดจากการเป็น Doujin Soft แล้วได้เดบิวเป็นเกมในตลาดใหญ่อีกมากมาย เรียกได้ว่าเป็นตลาดและตัวแปรสำคัญสำหรับทีมพัฒนาขนาดเล็กเลยทีเดียว
ออนไลน์คึกคัก ร้านเกมเหงาหงอย
ตั้งแต่ช่วงกลางปี2007 เป็นต้นมา ตลาดเกมอาเคตนอกประเทศญี่ปุ่นซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด ร้านเกมตู้หลายๆร้านที่เคยเป็นศูนย์รวมเกมเมอร์จากทั่วสารทิศก็ทยอยปิดตัวลงไปเรื่อยๆ เกมต่อสู้ในตลาดเริ่มลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนเหลือเพียงแค่ซีรีย์ดังๆที่ยังคงออกวางจำหน่ายอยู่เท่านั้น เป็นช่วงขาลงอย่างแท้จริงของเกมต่อสู้
แต่กระนั้นทางค่ายเกมที่ยังพัฒนาเกมต่อสู้อยู่ก็ยังไม่ยอมแพ้ Capcom ซึ่งเป็นหัวหอกแถวหน้าของทีมพัฒนาเกมต่อสู้ได้ทดลองใช้ระบบออนไลน์บนเกมต่อสู้ครั้งแรกกับเกม Capcom vs SNK2 : EO บนเครื่อง XBOX และ Game Cube ซึ่งบน XBOX นั้นจะเล่นออนไลน์ผ่านทาง XBOX Live และก็ทำออกมาได้ดี เล่นได้ลื่นไหล ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีความพยายามกันมาก่อนในส่วนของ Doujin Soft หลายๆเกมที่พึ่งโปรแกรมแบบ 3rd party เข้ามาเสริม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
จนกระทั้งการมาของ Street Fighter IV ในปี 2009 ที่ปรับปรุงระบบการเล่นใหม่หมดให้คล้ายกับภาคสองที่เคยได้รับความนิยมอย่างสุดขีด และก็เป็นจริงตามนั้น เกมเมอร์ทั่วโลกหันกลับมาจับตามองภาคล่าสุดของถนนนักสู้เส้นนี้อย่างไม่วางตาในระบบอาเคต และเครื่องคอนโซลในปีถัดมา ที่มาพร้อมพร้อมกับระบบการออนไลน์ที่ได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดี สร้างผู้เล่นใหม่ๆและดึงคนเล่นเก่าๆกลับมาอย่างคึกคักพร้อมเพรียง ช่วยปลุกกระแสที่ซบเซากลับมาได้อย่างเต็มภาคภูมิอีกครั้ง เป็นตัวเร่งให้ค่ายอื่นๆหันมาพัฒนาเกมต่อสู้ของตนเอง เพื่อมาแย่งชิงตลาดแข่งกับ Street Fighter IV โดยเฉพาะ เช่น Tekken 6, Virtua Fighter 5 Final Showdown, The King of Fighters XIII, Blazblue และเกมอื่นๆอีกมากมายที่กำลังจะออกมาในอนาคตอันใกล้นี้
นอกจากนี้การมาของสิ่งที่เรียกว่า Download Content หรือ DLC ก็ช่วยยืดอายุให้กับเกมต่อสู้ได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นชุด เสื้อผ้า หรือของประดับของตัวละครในเกม ตัวละครใหม่ที่แยกขายออกมาแบบเดี่ยวๆหรือเป็น Pack ที่ออกมาดูดเงินในกระเป๋าเราเรื่อยๆ จนกว่าภาคใหม่จะออกนั้นเลยทีเดียว
อนาคตของเกมต่อสู้
ปัจจุบันเกมต่อสู้ขยับขยายตัวเองมาสู่ระบบใหม่แต่ทุกคนคุ้นเคยกันดีอย่าง PC ผ่านระบบ Steam กรุยทางโดย Street Fighter IV ที่เป็นเกมต่อสู้ในตลาดใหญ่กลับมาลงให้กับระบบ PC อีกครั้งในรอบหลายปี หลังจากที่ผ่านมานั้นมีเพียงแค่เกมต่อสู้แบบ Doujin Soft หรือ Emulator จำลองระบบเล่นบน PC เท่านั้น จนทำให้หลายๆค่ายเริ่มสนใจที่จะนำเกมต่อสู้ของตนเองมาลงด้วยมากขึ้น เช่น BlazBlue ของ Arc system, Mortal Kombat ภาคใหม่และ Injustice : God Amount Usของ Warner Bros. และอื่นๆอีกมากมาย เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับผู้เล่นใหม่ๆเพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่ง
ถ้าจะให้คาดการณ์ถึงอนาคตของเกมต่อสู้ในยุคถัดจากนี้ไป ระบบ Microtransactions หรือที่เราชอบเรียกกันว่า “จ่ายอีกนิด เล่นได้อีกหน่อย” จะมามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต ซึ่งระบบนี้ทาง Namco ได้นำไปใช้กับ Tekken Revolution ที่เป็นเกมต่อสู้แบบเปิดให้เล่นฟรี แต่อาจจะต้องใช้เงินจริงในการซื้อเงินในเกมเพื่อปลดล็อกตัวละครใหม่ๆแทน หรืออย่าง Tecmo ที่มี Dead or Alive 5 Ultimate แบบเล่นฟรี แต่จะเล่นได้แค่ตัวที่กำหนดไว้ในแต่ละสัปดาห์เท่านั้น ถ้าอยากเล่นตัวใดตัวหนึ่งก็ต้องเสียเงินซื้อเป็นตัวๆไป หรือไม่ก็ซื้อแบบเหมาหมดในราคาที่ถูกกว่า พร้อมกับ DLC ชุดเสื้อผ้าที่พร้อมเพรียงมาดูดเงินคนเล่นอยู่เรื่อยๆ ไม่มีขาดแคลน
และไม่แน่ว่าเกมต่อสู้ของบางค่ายเกม อาจจะนำเสนอความสะดวกสบายในรูปแบบที่ทุกๆคนคุ้นเคย เช่นไอเท็มเพิ่มความแรงให้กับการโจมตี หรือความเร็วในการออกท่าต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นตอนนั้น ไม่แน่ว่า กลุ่มคนเล่นเกมต่อสู้อาจจะผลัดเปลี่ยนจากคนเล่นรุ่นเก่า ไปสู่ยุคใหม่ และล่มสลายไปในที่สุด ก็อาจเป็นได้