BY Nuttawut Apiratwarakul
12 Apr 25 7:57 pm

มองอดีตสู่อนาคต ‘ราคาเกม’ ปัญหาใหญ่ของทั้งคนขายและคนเล่น

244 Views

หลัง Nintendo Switch 2 เปิดตัว พร้อมราคามาตรฐานใหม่สำหรับสินค้าอย่าง “เกม” ในราคา 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างเสียงฮือฮาไปทั่วทั้งวงการ 

แน่นอนว่า “เกม” จัดเป็นสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาต่อยอดมาเป็นเวลานาน และราคาของเกมก็ถูกเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดตามประวัติศาสตร์ของสื่อบันเทิงชนิดนี้

วันนี้เราจะพาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจการเดินทางของ “ราคาเกม” พร้อมแง่มุมต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าเช่นนี้ ย้อนอดีตเพื่อดูอนาคตข้างหน้าว่าราคาเกมมีแนวโน้มจะถูกปรับไปถึงระดับไหนในอนาคต

ราคาเกมในอดีต

วิดีโอเกมได้เริ่มต้นผ่านการเดินทางมาหลายทศวรรษ 

ถ้านับเอาเฉพาะเครื่องเกม Console แบบที่เรารู้จักและชื่นชอบกันดีในปัจจุบัน เครื่อง Console เครื่องแรก ๆ ที่ได้รับความนิยมจนผู้คนซื้อหามาติดบ้านก็คือเครื่อง Atari 2600 ซึ่งวางจำหน่ายในปี 1977 

เกมยอดนิยมอาจมีราคาขายอยู่ในช่วง 20-30 ดอลลาร์ (เมื่อเทียบกับสกุลเงินในสมัยนั้น) เมื่อคำนวณตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน ราคานี้อาจเทียบเท่ากับประมาณ 100-150 ดอลลาร์ในยุคปัจจุบัน 

ต่อมามีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดจำหน่ายมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ยุคของเครื่องคอนโซลยุคแรกเช่น Nintendo Entertainment System (NES) ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 เกมบน NES มักมีราคาอยู่ที่ประมาณ 40-50 ดอลลาร์ ซึ่งเมื่อนำอัตราเงินเฟ้อมาพิจารณาจะมีมูลค่าเทียบเท่ากับ 120-150 ดอลลาร์ในยุคปัจจุบัน 

เมื่อเข้าสู่ยุคของเกมคอมพิวเตอร์และคอนโซลในปี 1990-2000 เกมระดับ AAA ที่ถูกออกแบบเพื่อความสมจริงและประสบการณ์การเล่นที่ล้ำสมัยมีราคาเพิ่มขึ้นตามมาตรฐานของอุตสาหกรรม ในช่วงปลายปี 1990 เกมบนคอนโซล PlayStation อาจมีราคาขายอยู่ที่ประมาณ 50-60 ดอลลาร์ ซึ่งเมื่อคำนวณตามอัตราเงินเฟ้อแล้วจะอยู่ในช่วง 100-130 ดอลลาร์ในปัจจุบัน 

เมื่อเข้าสู่ยุคของเครื่องคอนโซลที่ใช้แผ่นซีดีหรือดีวีดีอย่าง PlayStation 2, Xbox และ GameCube ราคาของเกมก็อยู่ที่ประมาณ 50-70 ดอลลาร์บน และในยุคต่อมาขึ้นอยู่กับคุณภาพและประสบการณ์การเล่น ราคาจากเกม AAA มักอยู่ที่ประมาณ 60-70 ดอลลาร์ ซึ่งคำนวณตามอัตราเงินเฟ้อแล้วจะมีมูลค่าที่สูงขึ้นเล็กน้อย

ในช่วงยุคดังกล่าวตลาดเกม PC ในไทยก็มีการเข้ามาทำตลาดเพื่อตั้งราคาขายแบบพิเศษ ส่งผลให้เกมดัง ๆ หลายเกมมีราคาขายบน  PC ในราคาไม่ถึงหนี่งพันบาท เป็นยุคทองที่เกมเมอร์สาย PC สามารถหาซื้อเกมดังมาเล่นได้ในราคาถูก

การที่ตัวเกมมีการปรับราคาลดลงในช่วงกลางของยุคก็เป็นเพราะ วิดีโอเกมเริ่มวางจำหน่ายได้เยอะมากขึ้น ขณะเดียวกันเทคโนโลยีออนไลน์ก็ส่งผลให้ทีมพัฒนาเกมมีช่องทางใหม่ ๆ ในการหารายได้เช่นการจำหน่ายเนื้อหาเสริมหรือการขาย Item หรือมีค่าบริการส่วนอื่นเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามวงการเกมก็เดินมาถึงการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหลังราคาเกมถูกตรึงอยู่ที่ 60 ดอลลาร์มาเป็นเวลานาน ปัจจุบันเกมระดับ AAA มีราคาขายขั้นต่ำอยู่ที่ 70 ดอลลาร์ โดยทีมพัฒนาและผู้จัดจำหน่ายยกเหตุผลสำคัญหลายข้อในการตัดสินใจขึ้นราคาดังกล่าว

ทำไมเกมถึงดูแพงขึ้นเรื่อย ๆ

ถ้าอิงจากราคาเกมและอัตราเงินเฟ้อในอดีตเราจะพอมองเห็นว่าจริง ๆ แล้ววิดีโอเกมมีการเปลี่ยนแปลงของราคาน้อยมากตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีช่วงที่ราคาเปลี่ยนแปลงขึ้นลง (และกำลังปรับตัวสูงขึ้นจริงในตอนนี้) 

ทั้งที่เป็นแบบนั้น แต่ทำไมคนเล่นเกมอย่างเรา ๆ ถึงรู้สึกว่าวิดีโอเกมมีราคาแพงมากขึ้นมาตลอดล่ะ?

เรื่องนี้มีสาเหตุจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การปรับราคาตามภูมิภาคและผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกทำให้ราคาที่ผู้บริโภคเจอในแต่ละพื้นที่อาจสูงขึ้นจริง ยังไม่รวมถึงค่าครองชีพของคนทั่วไปที่เติบโตไม่ทันอัตราเงินเฟ้อ ความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงทรัพยากรและรายได้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

ยิ่งไปกว่านั้นความคาดหวังของผู้เล่นที่มีต่อเกมก็เพิ่มมากขึ้นจริง เกมสมัยก่อนที่เราเคยเล่นสนุกใช้ทุนในการพัฒนาไม่ได้สูงมาก 

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการทำโปรโมชั่นหรือโมเดลการทำตลาดที่ทำให้เกมหลายเกมไม่มีการลดราคา เพราะบริษัทเกมเน้นเก็บกำไรจากส่วนนี้เพิ่มมากขึ้นหากเทียบกับในอดีต

ปัจจัยที่ทำให้ราคาค่าเกมสูงขึ้นในปัจจุบัน

หากจะพูดง่าย ๆ ก็ต้องบอกว่า “เกม” มีต้นทุนในการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ราคาแพง

เมื่อเทียบกับสิบปีที่แล้ว อุตสาหกรรมเกมในปัจจุบันต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น และต้องใช้งบประมาณที่สูงกว่าในการพัฒนาเกมที่มีกราฟิกคุณภาพขั้นสูง ระบบเกมเพลย์ที่ซับซ้อน และเนื้อหาที่มีความละเอียดมากขึ้น 

วิดีโอเกมสมัยก่อนอาจประกอบขึ้นด้วยระบบการเล่นและงานภาพง่าย ๆ แต่ปัจจุบัน “คนเล่นเกม” คาดหวังมาตรฐานในทุกภาคส่วนของเกม ไม่ว่าจะเป็นงานภาพ เสียง เนื้อเรื่อง หรือแม้แต่คุณภาพการพากย์และโหมดออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ต้นทุนทั้งหมดของการผลิตเกมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การปรับมาตรฐานและการเปลี่ยนแปลงของสื่อดิจิทัล

การเปลี่ยนผ่านของสื่อเกมจากสินค้าที่วางจำหน่ายแบบ Physical ไปสู่การจัดจำหน่ายดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Steam, PlayStation Store และ Xbox Live ทำให้เกิดโมเดลการตั้งราคาที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค 

ในตลาดประเทศที่มีเศรษฐกิจไม่แข็งแรงหรือผู้บริโภคไม่ได้มีรายได้สูงอย่างใน เช่น ไทย อินเดีย แอฟริกา หรือ อาเจนตินา ราคาค่าเกมที่สูงขึ้นอาจทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงสำหรับผู้เล่นส่วนใหญ่ ค่ายเกมมีทางเลือกใหม่ในการวางจำหน่ายเกมในราคาที่ถูกกว่าในประเทศเหล่านี้

บริษัทเกมขนาดใหญ่ มักจะมีการใช้กลยุทธ์การตั้งราคาที่แตกต่างกันไปตามความสามารถในการจ่ายเงินของตลาดในแต่ละภูมิภาค ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากความต่างทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจสร้างความสับสนหรือความรู้สึกของการถูกกีดกันสำหรับผู้เล่นในบางพื้นที่ที่ราคาถูกตั้งอยู่ในระดับที่สูงกว่าความเป็นจริง (ผู้เล่นชาวไทยเราเองก็รู้สึกมาโดยตลอดว่าราคาเกมในไทยนั้นถือว่าสูงมากหากเทียบกับค่าครองชีพของเรา) 

ยังไม่รวมถึงปัญหาในการล็อกโซนเครื่องหรือตัวเกมที่แต่ละค่ายก็มีนโยบายในส่วนนี้แตกต่างกันออกไป เป็นปัญหาที่ยังไม่มีมาตรฐานกลางของวงการและต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มในอนาคต

เมื่ออนาคตของอุตสาหกรรมเกมเดินหน้าไปในทิศทางของเทคโนโลยีที่สูงขึ้นและการแข่งขันที่เข้มข้น ราคาค่าเกมก็ดูเหมือนจะยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อไป แม้ว่าจะมีความพยายามในการปรับปรุงโมเดลธุรกิจและหาวิธีลดต้นทุนผ่านการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ 

ถ้าย้อนดูจากในอดีตจะเห็นว่า “ราคาเกม” ปรับตัวตามกลไกตลาดมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันด้วยนวัตกรรมที่ปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและการปรับตัวของอุตสาหกรรมในทุกด้าน ราคาค่าเกมที่สูงขึ้นเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความคาดหวังและคุณค่าที่ผู้เล่นได้รับจากประสบการณ์การเล่นในยุคใหม่ 

อย่างไรก็ตาม การตั้งราคาเกมอย่างยุติธรรมยังคงเป็นความท้าทายที่ “บริษัทเกม” คงต้องปรับปรุงกันอย่างต่อเนื่อง และน่าจะเป็นหัวข้อที่จะถูกหยิบมาพูดถึงได้อีกนาน

เราก็หวังว่าสุดท้ายแล้ววงการเกมจะเดินหน้าปรับปรุงในเรื่องกลไกราคาเกม เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความบันเทิงและนวัตกรรมของวงการเกมในรูปแบบที่เท่าเทียมกันทั่วโลก มีความยุติธรรมต่อทั้งผู้เล่น ผู้พัฒนา และนักลงทุน ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นได้ก็คงต้องใช้เวลากันอีกนานเลยทีเดียว

 

Nuttawut Apiratwarakul

โน้ต - Co-Founder / Editor-in-chief

Back to top
×